สุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ ปั้นจักรยานพันล้าน “LA Bicycle”

สุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ ปั้นจักรยานพันล้าน “LA Bicycle”
ถึงชื่อจะเป็นฝรั่ง แต่จักรยาน LA Bicycle ที่ สุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ เป็นผู้ก่อตั้ง คือจักรยานแบรนด์ไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ และได้รับความนิยมจากผู้ใช้มาหลายปีดีดักจนขึ้นแท่นเป็นเจ้าตลาดจักรยานเมืองไทยด้วยส่วนแบ่งเกินครึ่ง พร้อมกำลังการผลิตมหาศาลที่ถ้านับรวมทั้งหมดแล้วก็แตะหลักล้านคันต่อปีเลยทีเดียว!  ก่อนจะมาเป็นยักษ์ใหญ่วงการจักรยาน สุรสิทธิ์เคยอยู่ในแวดวงสิ่งทอมาก่อน เขาเติบโตในครอบครัวคนจีนที่ทำธุรกิจขายผ้าอยู่ที่สำเพ็ง เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเผยอิง (รุ่นเดียวกับ “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่ง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่) ก่อนไปต่อที่โรงเรียนสีตบุตรบำรุง กิจวัตรประจำวันหลังเลิกเรียนคือถ้าไม่ทำการบ้านก็ช่วยครอบครัวขายผ้า กระทั่งอายุ 19 ปี ก็ไปเรียนภาษาจีนและเรียนสายพาณิชย์ที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย อยู่ที่นั่นราว 3 ปี ก็กลับมาช่วยพ่อดูแลกิจการสิ่งทอในชื่อ บริษัท สามพรานการทอ จำกัด ที่ จ.นครปฐม ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2510 สุรสิทธิ์ใช้ชีวิตกับธุรกิจสิ่งทอกว่า 20 ปี กระทั่งปี 2531 เพื่อนชาวไต้หวันเปิดบริษัทเทรดดิ้งจักรยานส่งขายต่างประเทศ สุรสิทธิ์ซึ่งมีความรู้ภาษาจีนอยู่แล้วจึงร่วมทุนด้วย เพราะเห็นว่าธุรกิจนี้มีแนวโน้มไปได้ดี จากนั้นอีก 2-3 ปีต่อมาก็เลิกกิจการเทรดดิ้งจักรยาน และขยับไปสู่การก่อตั้ง บริษัท บางกอกไซเคิ้ล อินดัสเตรียล จำกัด ทำธุรกิจโรงงานผลิตจักรยานเด็ก ขนาดล้อ 20 นิ้ว ในรูปแบบ OEM (รับจ้างผลิต) ส่งออกไปทั้งตลาดเดิมคือไต้หวันและหลายประเทศในยุโรป เพราะช่วงนั้นเมืองไทยยังไม่ค่อยมีการผลิตจักรยานเพื่อส่งออก อีกทั้งเศรษฐกิจของไต้หวันและประเทศปลายทางหลายแห่งก็อยู่ในช่วงขาขึ้น ถึงอย่างนั้น การรับจ้างผลิตจักรยานเด็กก็กลับไม่ได้ให้รายได้อย่างที่เขาตั้งใจไว้เท่าไหร่นัก แล้วบทพิสูจน์ความแกร่งบนเส้นทางสายธุรกิจของสุรสิทธิ์ก็มาถึงในปี 2540 เมื่อวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” พ่นพิษ ทำเอานักธุรกิจชาวไต้หวันที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่แรกทนไม่ไหวขอถอนตัว สุรสิทธิ์จึงต้องรับซื้อหุ้นส่วนนั้นมาดูแล พร้อมกับเยียวยาอาการบาดเจ็บจากพิษเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย จากการรับจ้างผลิตเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียว สุรสิทธิ์เปลี่ยนโมเดลใหม่ คราวนี้เขากระจายความเสี่ยงด้วยการหันกลับมาลุยสร้างแบรนด์ในประเทศด้วยโนว์ฮาวที่มี กลายเป็นจุดกำเนิดแบรนด์ LA Bicycle ภายใต้ บริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด ที่จดทะเบียนในปี 2545 ซึ่งที่มาของชื่อแบรนด์มาจากสุรสิทธิ์ประทับใจการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงนำชื่อเมืองมาเป็นชื่อแบรนด์ พร้อมคิดสโลแกนให้จดจำง่ายว่า “เท่ถึงใจ สไตล์อเมริกัน” “ตอนนั้นในไทยมีจักรยานยี่ห้อเดียวที่ขายอยู่ ดังนั้นคู่แข่งถือว่าน้อย เราก็บอกว่าจะนำสิ่งใหม่ ๆ มาสู่เมืองไทย เพราะเราส่งออกมานานและรู้ว่ามาตรฐานสากลเป็นอย่างไร สีสันและรูปแบบเป็นอย่างไร ตอนนั้นตลาดจักรยานค่อนข้างนิ่งก็จริง การค้าขายทุกอย่างก็มีความเสี่ยง แต่ถ้าเราเชื่อมั่นว่าเรามีเทคโนโลยีด้านนี้เพราะเราทำส่งออก และถ้าเราเชื่อมั่นว่าฝีมือเราถึง มันก็ทำได้” สุรสิทธิ์บอก [caption id="attachment_11289" align="aligncenter" width="420"] สุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ ปั้นจักรยานพันล้าน “LA Bicycle” จักรยานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สุรสิทธิ์ออกแบบให้มีสีสันน่าใช้มากขึ้น (ภาพจาก Facebook: LA Bicycle)[/caption] เขาสร้าง LA Bicycle ให้เป็นที่รู้จักด้วยการผลิตจักรยานเด็กและจักรยานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเป็นจักรยานแบบซิงเกิลสปีดซึ่งได้รับความนิยมในขณะนั้น วางตำแหน่งให้เป็นจักรยานแบรนด์ไทยราคาย่อมเยา มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพราะใช้มาตรฐานเดียวกับที่ผลิตเพื่อส่งออกประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ใส่ความเป็นสิ่งทอเข้าไปในธุรกิจจักรยานด้วยการใช้สีสันและรูปแบบที่หลากหลาย เน้นความทนทานของสินค้าด้วยการรับประกันเฟรมจักรยาน 3 ปี นับเป็นผู้ผลิตรายแรกในไทยที่ทำแบบนี้ ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สุรสิทธิ์ก็ผลิตจักรยานสปีดเกียร์ที่ออกแบบให้เหมาะกับสภาพถนนลาดชันและเพื่อทดแรงผู้ปั่น ภายหลังเมื่อจักรยานสปีดเกียร์ได้รับความนิยมมากขึ้นตามไลฟ์สไตล์กลางแจ้งของคนยุคใหม่ เขาก็เจาะตลาดนี้แบบเต็มสูบด้วยการสร้างแบรนด์ Infinite (อินฟินิท) พุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักปั่นหรือนักแข่งที่มีกำลังซื้อระดับกลางค่อนไปทางสูง พร้อมสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ด้วยการจับมือกับ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด สร้างทีมแข่ง Singha Infinite Cycling Team ในปี 2557 เพื่อลงแข่งรายการใหญ่ระดับนานาชาติ เป็นการสร้างความมั่นใจว่าแบรนด์ Infinite ทนทานใช้งานได้จริง รวมทั้งนำเข้าแบรนด์ Cube (คิวบ์) เป็นการสร้างความหลากหลายในตลาดจักรยานสปีดเกียร์ “จักรยาน LA และ Infinite ผลิตในไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีนำเข้ามาสวมรอย ผมไปสัมมนาหรือไปเปิดตัวที่ไหนก็แล้วแต่ ผมจะชี้ไปที่จักรยานผม แล้วบอกว่าจักรยานคันนี้มันผิดนิดเดียวที่เป็นสัญชาติไทย ผมพูดแบบนี้จริง ๆ คนก็เริ่มหัวเราะ แล้วผมก็บอกต่อว่าด้วยรูปลักษณ์อย่างนี้ คอนเซปต์แบบนี้ แอคเซสซอรีส์แบบนี้ มันดูแพง แต่เราผลิตในไทย ทำให้สามารถลดต้นทุนและขายในราคาไม่แพง ทำไมผมกล้าผลิตจักรยาน ทำไมผมกล้าสร้างทีมแข่ง เพราะผมมีเทคโนโลยีที่ได้มาฟรี ๆ ผมทำ OEM ให้แบรนด์ใหญ่ ๆ อย่างของฝรั่งเศส เป็นต้น เราทำให้เขา ส่งให้เขา แล้วเขาก็ส่งกลับมาขายในเมืองไทยในยี่ห้อเขา ผมอยากเตือนใจคนไทยว่าถ้าราคาพอสู้ได้ รูปแบบสวย เราจะไม่สนับสนุนสินค้าไทยได้อย่างไร” [caption id="attachment_11290" align="aligncenter" width="420"] สุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ ปั้นจักรยานพันล้าน “LA Bicycle” จักรยานเด็กลายลิขสิทธิ์ Angry Birds ของ LA Bicycle (ภาพจาก Facebook: LA Bicycle)[/caption] การฉีกภาพจำแบบเดิมของจักรยานและการนำเสนอสินค้าคุณภาพสูงในราคาเอื้อมถึง ทำให้ภายในเวลาไม่กี่ปี แบรนด์ LA Bicycle ก็เข้าไปอยู่ในใจผู้ใช้จักรยานเรียบร้อย พร้อม ๆ กับการที่แบรนด์พัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง จนมีสินค้าให้เลือกใช้ตามความชอบและฟังก์ชันใช้งานไม่ต่ำกว่า 300 ตัว รวมถึงจักรยานไฟฟ้าที่ช่วยทุนแรง เหมาะสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้หญิง ซึ่งช่วงที่จักรยานได้รับความนิยมมาก ๆ แบรนด์ LA Bicycle เคยผลิตได้สูงสุดถึง 600,000 คันต่อปี และมีรายได้รวมพุ่งแตะหลักพันล้านบาทมาแล้วในปี 2557 และ 2558 ที่มีรายได้รวม 1,001.18 ล้านบาท และ 1,177.55 ล้านบาท ตามลำดับ ถึงจะปักหลักเป็นเบอร์หนึ่งได้แล้ว แต่สุรสิทธิ์ก็ไม่วายต้องเผชิญหน้ากับจักรยานจากจีนที่ทะลักเข้ามาตีตลาดในราคาที่ถูกกว่าแบรนด์ของเขาอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหากระทบธุรกิจจนเขาต้องเรียกประชุมทีมงานเพื่อแก้เกม “เราต้องรู้ว่าจุดอ่อนของเราอยู่ที่ไหน พอรู้แล้วก็ต้องเสริมให้แข็งแรงขึ้น” สุรสิทธิ์บอก ทางแก้ของเขาไม่ใช่การผลิตจักรยานสายเลือดไทยแบรนด์ใหม่ขึ้นมาสู้ แต่เป็นการนำเข้าจักรยานจากจีนมาขายเองเสียเลย “ผมให้ชื่อแบรนด์ว่า Forte ภาษาอิตาเลียนแปลว่าแรง ผมจะประกาศชัดเลยว่าแบรนด์นี้มาจากเมืองจีน ผมไม่ได้ทำเอง แต่ผมควบคุมคุณภาพอย่างดี ผมไม่โกหกลูกค้าเพราะเขาคือผู้มีพระคุณ คือบอกให้ชัดไปเลย และให้ผู้ใช้เป็นผู้เลือก” สุรสิทธิ์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ ซึ่งนี่นับเป็นอีกแผนในการแตกไลน์สินค้า เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของผู้มีกำลังซื้อทุกระดับ สุรสิทธิ์ไม่หยุดแค่ตลาดจักรยานเมืองไทย นอกจากการผลิตจักรยานแบบ OEM เพื่อส่งออกต่างประเทศที่ยังคงทำมาตลอดหลายสิบปี (บางปีเคยผลิตแบบ OEM เพื่อส่งออกได้ถึง 780,000 คัน ไม่นับรวมการผลิตแบรนด์ของตัวเอง) เขายังส่งออกแบรนด์ LA Bicycle ไปยังเกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งพาธุรกิจจักรยานโกอินเตอร์ไปตลาดอินเดีย ภายใต้ชื่อบริษัท LA Sovereign Bicycles Pvt. Ltd. ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างสุรสิทธิ์กับ Sovereign บริษัทสัญชาติอินเดียที่คร่ำหวอดในธุรกิจค้าขายจักรยานที่นั่นมากว่า 40 ปี อีกด้วย หัวใจสำคัญที่ทำให้แบรนด์ LA Bicycle ยืนอย่างมั่นคงได้ในธุรกิจ สุรสิทธิ์เคยบอกไว้ว่าคือเรื่อง “คุณภาพ” และต้องเปิดหูเปิดตาอยู่ตลอดเวลา มีงานจักรยานระดับนานาชาติที่ไหน สุรสิทธิ์และทีมงานนับสิบต้องเดินทางไปออกบูธและดูงานแทบทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Taipei Cycle ที่ไต้หวัน หรือ Eurobike ที่เยอรมนี ขาดไม่ได้คือคำสอนของพ่อที่เขานำมาถ่ายทอดสู่ลูก ๆ ที่มีทั้งเข้ามาช่วยดูแลกิจการจักรยานและกิจการอื่น ๆ พ่อผมสอนไว้ให้ไปดูความเจริญของคนอื่นเพื่อจะได้มาเปรียบเทียบกับของเราได้ ผมจึงสอนลูกว่าให้ไปเปิดหูเปิดตาดูว่าคนอื่นเขาเหมือนหรือต่างจากเราอย่างไร อีกอย่างผมบอกลูก ๆ เสมอว่าอย่าเอาเปรียบคน คนเราอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ เอาเปรียบชาวบ้านก็ไม่มีใครคบ”   ที่มา นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพฤษภาคม 2559 http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=46002 https://www.mixmagazine.in.th/view.php?ref=00000391 www.facebook.com/labicycle/ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า