ซูซุกิ นาโอมิจิ: วาทะ“พร้อมที่จะตายที่ฮอกไกโด” ของผู้ว่าฯ กับการต่อสู้ COVID-19

ซูซุกิ นาโอมิจิ: วาทะ“พร้อมที่จะตายที่ฮอกไกโด” ของผู้ว่าฯ กับการต่อสู้ COVID-19
ในสถานการณ์ข่าว COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่นที่คนญี่ปุ่นต้องรับมืออย่างหนักหน่วง(ไม่ต่างจากอีกหลายประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับโรคระบาดนี้) หนึ่งในใบหน้าที่ทำให้ผู้คนจดจำมากที่สุดคือใบหน้าของ ซูซุกิ นาโอมิจิ (Suzuki Naomichi) ผู้ว่าราชการจังหวัดฮอกไกโด ที่ออกมาประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วจังหวัดฮอกไกโด หลังพบผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในญี่ปุ่น  มาตรการที่ออกมาต่อสู้กับโรคระบาดในฮอกไกโดนั้นมีความเข้มข้นเป็นอย่างมาก เช่น เริ่มจากการประกาศให้ปิดโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นเวลา 7 วัน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ และประกาศมาตรการฉุกเฉิน โดยขอให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ จนเกิดเสียงทัดทานว่าอาจส่งผลกระทบต่อการการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจหลักของฮอกไกโด  แต่ด้วยท่วงท่าในการแถลงข่าวด้วยความมั่นใจ ตอบคำถามของนักข่าวอย่างฉะฉาน ยิ่งไปกว่านั้นคือการประกาศว่าจะรับผิดชอบการกระทำของตนเอง ทำให้ผู้ว่าฯ ซูซุกิ โด่งดังชั่วข้ามคืน ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คน โดยเฉพาะกับกลุ่มสาว ๆ และโลกออนไลน์ จนกระทั่งเกิดแฮชแท็ก #fightsuzukinaomichi #fighthokkaido #สู้ๆผู้ว่าซูซุกินาโอมิจิ และ #สู้ๆฮอกไกโด เป็นต้น   นี่คือเรื่องราวชีวิตของ ซูซุกิ นาโอมิจิ คนสู้ชีวิต เส้นทางชีวิตของผู้ว่าฯ หนุ่มวัย 38 คนนี้นับว่าไม่ธรรมดา เขาเกิดที่จังหวัดไซตามะ ชานกรุงโตเกียว พ่อแม่หย่าร้างกันเมื่อเขาเรียนอยู่ชั้นมัธยมตอนปลาย ด้วยเหตุผลทางการเงินของครอบครัว ทำให้ซูซุกิต้องล้มเลิกความตั้งใจที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา และสอบเข้าเป็นข้าราชการประจำที่ว่าการนครโตเกียวในปี 1999 ตอนอายุเพียง 18 ปี  แม้ว่าจะไม่ได้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาเพราะเงื่อนไขชีวิต แต่ที่สุดแล้ว เขาก็ขวนขวายหาลู่ทางการศึกษาด้วยตัวเอง ในขณะที่ทำงานเป็นข้าราชการอยู่นั้น ซูซุกิได้สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโฮเซ โดยเลือกเรียนวิชาเอกการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นหลักสูตรภาคค่ำที่ต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย และระหว่างที่เรียน ซูซุกิยังเคยเป็นประธานชมรมมวย เคยได้อันดับที่ 2 ในการแข่งคัดเลือกตัวแทนนักกีฬามวยสากลของกรุงโตเกียวด้วย    ผลงานชิ้นโบว์แดง การฟื้นฟูเมืองยูบาริที่ล้มละลาย ช่วงที่ทำงานเป็นข้าราชการอยู่ที่ว่าการนครโตเกียว เขาทำงานในสายงานด้านสาธารณสุขและสวัสดิการมาโดยตลอด กระทั่งปี 2008 ซูซุกิได้เป็นหนึ่งในข้าราชการผู้ได้รับมอบหมายจากที่ว่าการนครโตเกียว ให้ไปช่วยงานเมืองยูบาริซึ่งอยู่ในภาวะล้มละลาย เพื่อทั้งช่วยเหลือและเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานเพิ่มเติม เมืองยูบาริในอดีตรุ่งเรืองด้วยอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินที่คอยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจทั้งของเมืองเองและของจังหวัดฮอกไกโด จนได้รับการขนานนามว่าเมืองหลวงแห่งถ่านหินของญี่ปุ่น จนกระทั่งนโยบายพลังงานของรัฐบาลเปลี่ยนไป ลดการพึ่งพาถ่านหินลง นำไปสู่การปิดเหมืองถ่านหินทั่วประเทศ เมืองยูบาริได้ปิดเหมืองแห่งสุดท้ายลงในปี 1990 นับจากนั้นมา เมืองยูบาริก็ถึงคราวถดถอย  ปัญหาของเมือง เริ่มจากเทศบาลเมืองยูบาริทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อซื้อโครงสร้างพื้นฐานเดิมของบริษัทเหมืองถ่านหินที่ถือครองอยู่ ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาล อาคารที่พักอาศัย ระบบน้ำประปา ฯลฯ เมื่อมีการตรวจสอบภายหลังจึงพบว่าเมืองยูบาริเข้าซื้อโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นในราคาที่สูงเกินกว่าปกติ อีกทั้งเมืองยูบาริยังลงทุนเป็นจำนวนเงินมหาศาลเพื่อสร้างสวนสนุกและลานสกี ด้วยหวังจะเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้าที่จะขอยื่นล้มละลายนั้น หนี้ของเมืองยูบาริมีสูงถึง 3.5 หมื่นล้านเยน เกินความสามารถที่เมืองจะชำระหนี้ได้ ในปี 2006 เมืองยูบาริได้กลายเป็นหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่นแห่งแรกเพียงแห่งเดียวในญี่ปุ่นที่ประสบภาวะล้มละลาย  ซูซุกิ นาโอมิจิ: วาทะ“พร้อมที่จะตายที่ฮอกไกโด” ของผู้ว่าฯ กับการต่อสู้ COVID-19 นโยบายรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังมอบให้เมืองยูบาริดำเนินการเพื่อแลกกับการให้กู้ยืมเงินดอกเบี้ยขั้นต่ำนั้นบีบให้เมืองต้องลดและหยุดการให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานรับเลี้ยงเด็ก และห้องสมุดล้วนถูกนำมาปฏิบัติใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย เมืองยูบาริยังเพิ่มอัตราภาษีผู้อาศัยและค่าสาธารณูปโภคด้วย เมื่อประชาชนต้องเสียภาษีและค่าสาธารณูปโภคที่สูงกว่าเมืองอื่นในประเทศญี่ปุ่นโดยที่ขาดสวัสดิการขั้นพื้นฐานจึงยิ่งบีบให้คนในวัยทำงานและวัยเด็กหนีออกจากเมือง ในช่วงเวลาที่ซูซุกิย้ายไปประจำการชั่วคราวไปในปี 2008 ประชากรเมืองยูบาริที่เคยมีมากถึง 1.2 แสนคน ลดลงเหลือเพียง 1.2 หมื่นคน และเกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ ความยากลำบากและความแร้นแค้นของประชาชนในเมืองยูบาริ ทำให้ซูซุกิผู้เคยผ่านประสบการณ์ยากลำบากมาก่อนรู้สึกผูกพันกับเมืองนี้เป็นอย่างมาก ระหว่างที่เขาประจำการที่นี่ ซูซุกิทำงานใกล้ชิดกับชาวเมืองโดยไม่สนใจว่าจะเป็นงานสกปรกและยากลำบากเพียงใด จนเขากลายเป็นที่รักของชาวเมืองยูบาริ เมื่อถึงคราวที่ต้องกลับไปประจำการที่ที่ทำการเมืองโตเกียว ก็มีชาวเมืองยูบาริจำนวนมากไปคอยส่งเขาที่ที่ทำการเมืองยูบาริ  ประสบการณ์ที่ซูซุกิได้รับจากการประจำการที่เมืองยูบาริ ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากการเป็นข้าราชการ และลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองยูบาริในปี 2011 ในฐานะผู้สมัครอิสระ ความยึดมั่นของซูซุกิที่คิดว่า “พร้อมที่จะตายที่ฮอกไกโด” ทำให้เขาได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น และสามารถเอาชนะผู้รับสมัครรายอื่น ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองยักษ์ใหญ่ จนกลายมาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองที่อายุน้อยที่สุดในญี่ปุ่นด้วยวัยเพียง 30 ปี  ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีสองสมัย ซูซุกิได้ฝากผลงานเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การลดเงินเดือนนายกเทศมนตรีของตนลงถึง 70% จนเหลือเพียง 2.6 แสนเยนต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้นายกเทศมนตรีเมืองที่ต่ำที่สุดในญี่ปุ่น (และต่ำกว่าพนักงานบริษัททั่วไปด้วยซ้ำ) และยังดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดต่าง ๆ ทั้งลดเงินเดือนและตัดเงินเกษียณอายุของข้าราชการ อีกทั้งขอความร่วมมือให้ข้าราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ระดับบริหารเกษียณอายุก่อนกำหนด รวมถึงสร้างแบรนด์เมล่อนยูบาริให้กลายเป็นสินค้าพรีเมียมในระดับโลก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนเป็นจำนวนมาก ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี เขาประสบความสำเร็จในการลดหนี้ของเมืองยูบาริลงได้ถึงกว่า 40%  ด้วยผลงานอันโดดเด่นที่สามารถพลิกฟื้นเมืองที่ล้มละลายให้กลับมามีชีวิตขึ้นได้เช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อเขาตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการเมืองฮอกไกโด ในนามผู้สมัครอิสระ ในปี 2019 แล้วได้รับความไว้วางใจจากชาวเมืองฮอกไกโดอย่างล้นหลาม ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ ที่อายุน้อยที่สุด ด้วยวัยเพียง 38 ปี ในฐานะผู้ว่าฯ เขายังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เช่น ย้ายออกจากจวนผู้ว่าฯ ไปอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ธรรมดาเพื่อลดงบประมาณ และยังคงคิดนโนบายใหม่ ๆ ทั้งนโยบายเชิงรุกและเชิงรับ อีกทั้งนโยบายเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส สมกับเป็นผู้ว่าฯ หัวก้าวหน้า ที่เป็นความหวังของชาวเมืองฮอกไกโด  สถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ที่ฮอกไกโดคราวนี้ นับเป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่ทดสอบฝีมือผู้ว่าฯ หัวก้าวหน้าและมากความสามารถอย่างซูซุกิอีกครั้ง ได้แต่หวังว่าญี่ปุ่นและฮอกไกโดจะผ่านพ้นวิกฤตไวรัสในคราวนี้ไปได้ด้วยดี อ้อ แต่สำหรับสาวน้อยสาวใหญ่ที่กรี๊ดผู้ว่าฯ ซูซุกิ อาจจะต้องอกหักกันเป็นแถว เนื่องจากผู้ว่าฯ นั้น “ไม่โสด” แล้ว . ที่มา https://www.naomichi-suzuki.com/ https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/greyest-city-in-japan-fights-depopulation-bankruptcy https://www.city.yubari.lg.jp/gyoseijoho/tokeidata/jinkosuii/suiikokusei.files/jinkousuii.pdf?fbclid=IwAR1FD-TQX2a_CvuS1GTyIqEW2Yy2rDLX--xvpNUWfmTU1TlEXJCq2fy_g-g http://yubaricci.sakura.ne.jp/revival.html?fbclid=IwAR2c7IibhgmDZriXO1sAz4cisIfQDoHG6HMAsO8VKe_LVRrXg9GWjIJPALU https://www.sbbit.jp/article/cont1/32043?fbclid=IwAR1BcgGNOuEwV-rFXd3S-9DGUNlalvrKyaSqmVeESMzOXa70dfqp6NUDOHY https://bunshun.jp/articles/-/36415?fbclid=IwAR0cIrjdwyYYA_m30fvvh8tq8Kh8UsjC2QcEGcA8h5chkX8FXvVks32rak8   เรื่อง: วีรยา เจนจิตติกุล ภาพ: จากเพจ 北海道知事 鈴木直道