แท้ ประกาศวุฒิสาร ผู้บันทึกภาพยนตร์การก่อรัฐประหาร ปี 2490

แท้ ประกาศวุฒิสาร ผู้บันทึกภาพยนตร์การก่อรัฐประหาร ปี 2490

ผู้บันทึกภาพยนตร์การก่อรัฐประหาร ปี 2490

รู้จักกับชายผู้บันทึกเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่น้ำท่วมกรุงเทพ ปี 2485 จนถึงรัฐประหาร 2490 ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2561 นับเป็นวาระพิเศษที่ควรค่าต่อการเฉลิมฉลองของวงการภาพยนตร์ไทย เมื่อ แท้ ประกาศวุฒิสาร นักสร้างภาพยนตร์ไทยผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2542 ได้ดำเนินชีวิตมาจนมีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์  แต่ช่วงเวลาอันเป็นมงคลนี้กลับดำรงอยู่ได้เพียงไม่นาน ก็ต้องผันเปลี่ยนไปสู่บรรยากาศแห่งความอาลัยในอีกไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อนักทำหนังไทยผู้มีอายุยืนนานที่สุดในประวัติศาสตร์ท่านนี้ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบในวันที่ 12 สิงหาคม ปี 2561 แม้ดวงวิญญาณจะล่วงลับ แต่สิ่งที่ แท้ ประกาศวุฒิสาร สร้างสมไว้ให้แก่วงการหนังไทยและสังคมไทยนั้น ย่อมไม่อาจดับสูญตามไปด้วย  นี่คือ “มรดก” ที่ แท้ ประกาศวุฒิสาร ทิ้งเอาไว้ในฐานะต่าง ๆ จากชีวิตอันโลดเต้นและหายใจเข้าออกเป็นงานภาพยนตร์   ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์ จิตวิญญาณการเป็นนักบันทึกภาพของ แท้ ประกาศวุฒิสาร นั้นปรากฏมาให้เห็นตั้งแต่เด็ก เมื่อเขาเริ่มซื้อกล้องถ่ายรูปเองตั้งแต่อายุเพียง 14 ปี และต่อมาขณะเรียนอยู่โรงเรียนเพาะช่าง เขายังได้ตัดสินใจย้ายจากแผนกฝึกหัดครูวาดเขียนมาเรียนวิชาถ่ายรูป รวมทั้งยึดชีวิตช่างถ่ายรูปเป็นอาชีพเริ่มต้น  ด้วยใจที่รักในภาพยนตร์เช่นเดียวกัน จากช่างถ่ายรูป แท้จึงก้าวไปสู่การเป็นนักถ่ายหนังในเวลาต่อมา โดยนอกจากการถ่ายหนังในอุตสาหกรรมที่ทำให้เขามีชื่อเสียงนั้น ความเป็น “นักเลงกล้อง” ทั้งโดยฝีมือและสัญชาตญาณ ทำให้เขาได้ใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์สำคัญของประเทศเอาไว้มากมาย ซึ่งบางเรื่องนั้นได้ตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง จนกลายเป็นมรดกความทรงจำของบ้านเมืองและจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์อันมิอาจประเมินค่าได้    เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพ (2485) เดือนตุลาคม พ.ศ.2485 ขณะที่ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ไปทั่วกรุงเทพมหานคร เมื่อถึงระยะที่น้ำท่วมสูงสุด แท้ ประกาศวุฒิสาร วัย 24 ปี ผู้กำลังว่างงาน ได้ลงทุนเสาะหาซื้อฟิล์มภาพยนตร์ซึ่งหาได้ยากยิ่งในช่วงสงครามเพื่อมาบันทึกภาพเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ไว้ ที่สุดแล้วเขาสามารถหาฟิล์ม 16 มม. ขาวดำมาได้ 3 ม้วน จากห้างฮัมบรูกส์-สยาม ของชาวเยอรมัน และเช่าเรือจ้างลำหนึ่งออกตระเวนถ่ายหนังไปทั่วกรุงเทพฯ พร้อมกับเพื่อน ๆ อย่างสนุกสนาน ทั้งยังได้ถ่ายเหตุการณ์ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั่งเรือมาประชุมสภาฯ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งปรากฏให้เห็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย อาทิ พระยาพหลพลพยุหเสนา ควง อภัยวงศ์ ประยูร ภมรมนตรี ฯลฯ จากหนังที่ตั้งใจถ่ายไว้แค่ “ดูเล่นเป็นที่ระลึก” ปัจจุบัน น้ำท่วมกรุงเทพ ของ แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้กลายเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ถึงสภาพบ้านเมืองและผู้คนในมหาอุทกภัยครั้งนั้นที่มีชีวิตชีวาอย่างไม่อาจหาได้จากสื่อบันทึกอื่นใด    ประชาธิปัตย์หาเสียง (2489) เมื่อเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 ของประเทศไทย ในวันที่ 5 สิงหาคม 2489 ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปีเดียวกัน ได้กลายเป็นพรรคแรกในประวัติศาสตร์ที่หาเสียงด้วยวิธีการปราศรัย โดยมีนักปราศรัยคนสำคัญ คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในการปราศรัยครั้งหนึ่งที่ลานกว้างหน้าพระปฐมบรมราชานุสรณ์ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้นำกล้องถ่ายภาพยนตร์มาบันทึกไว้ โดยหนังปรากฏให้เห็นการขึ้นพูดของพี่น้องตระกูลปราโมชทั้งสองคน รวมทั้งสมาชิกพรรคคนสำคัญอื่น ๆ เช่น ใหญ่ ศวิตชาติ รวมทั้งเห็นภาพประชาชนที่มาร่วมฟังกันอย่างเนืองแน่น นับเป็นภาพยนตร์บันทึกการปราศรัยหาเสียงของไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน   รัฐประหาร 2490 ภาพยนตร์บันทึกการก่อรัฐประหารครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อจอมพลผิน ชุณหะวัณ นำกำลังทหารยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และแต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งชาติ ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา  เมื่อทราบว่าเกิดการรัฐประหารนี้ขึ้นเมื่อเวลา 05.00 น. แท้ได้รีบคว้ากล้องถ่ายรูปและกล้องถ่ายภาพยนตร์พร้อมด้วยฟิล์ม 16 มม. ไปยังกระทรวงกลาโหม เพื่อถ่ายเหตุการณ์โดยรอบเอาไว้ รวมถึงได้บันทึกช่วงเวลาสำคัญทั้งการแถลงข่าวของจอมพลผิน ชุณหะวัณ และภาพบรรดานายทหารที่พากันแบกจอมพล ป. ขึ้นบ่าไปยังห้องประชุม  ต่อมา เจ้าของโรงภาพยนตร์นิวโอเดียนได้ขอนำภาพยนตร์นี้ไปฉายประกอบเป็นหนังข่าวก่อนหน้าฉายภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องหนึ่ง ซึ่งแท้รับหน้าที่เป็นผู้ฉายด้วยตนเอง และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อย่างเข้าสู่การฉายวันที่สาม ขณะที่กำลังจะเริ่มฉายได้มีกลุ่มตำรวจและทหารบุกเข้ามาเชิญตัวแท้ให้นำหนังนี้ไปฉายให้หลวงกาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) หนึ่งในหัวหน้าคณะรัฐประหารดูก่อนที่วังสวนกุหลาบ (นัยว่าเพื่อเซ็นเซอร์ แม้ตามกฎหมายหนังข่าวไม่ต้องผ่านเซ็นเซอร์) เมื่อชมเสร็จ หลวงกาจสงครามได้กล่าวว่า “ไม่เห็นมีอะไรเลย เอาไปฉายได้” พร้อมทั้งเขียนข้อความอนุญาตและเซ็นชื่อกำกับให้ แท้ ประกาศวุฒิสาร เดินทางกลับ นำภาพยนตร์มาฉายให้คนดูได้ทันหลังจากที่หนังเรื่องยาวจบ   พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 8 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (2493) พ.ศ. 2493 มีพระราชพิธีสำคัญเกิดขึ้น คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ในวันที่ 29 มีนาคม 2493 และ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 2493 ซึ่งแท้ ประกาศวุฒิสาร ผู้ที่ได้มีโอกาสบันทึกภาพเหตุการณ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์อยู่บ่อยครั้ง ได้ทำหน้าที่บันทึกภาพงานพระราชพิธีภายนอกทั้งสองงานโดยตลอด  ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องที่แท้ถ่ายด้วยฟิล์มสี Kodachrome 16 มม. นี้มาประมวลเข้ากับภาพพระราชพิธีภายในส่วนพระองค์ ที่ถ่ายเป็นภาพยนตร์ 16 มม. ขาวดำ เพื่อนำออกฉายให้ประชาชนดูที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง นับเป็นภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดแรกที่ออกฉายสู่สาธารณชน หลังจากนั้น แท้ ประกาศวุฒิสาร ได้นำภาพยนตร์ชุดนี้ตระเวนไปจัดฉายตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ และเมื่อฉายเสร็จแล้ว จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายส่วนที่เป็นภาพยนตร์สีที่เขาถ่ายทั้งหมด แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก่อนที่จะมอบเศษฟิล์มภาพยนตร์บันทึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 8 ที่คงเหลือจากการตัดต่อ แก่หอภาพยนตร์ในเวลาต่อมา ซึ่งแม้จะไม่ครบสมบูรณ์ แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในจดหมายเหตุเกี่ยวกับพระราชพิธีประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบัน   รถรางวันสุดท้าย (2511) วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2511 เป็นวันสุดท้ายที่รถรางในกรุงเทพมหานครที่เปิดใช้งานมากว่า 80 ปี ได้ออกรับส่งผู้โดยสาร แท้ ประกาศวุฒิสาร ผู้ใช้บริการรถรางมาตั้งแต่เป็นนักเรียน จึงได้ออกตระเวนทั่วกรุงเทพฯ พร้อมกับ โสภณ เจนพานิช ช่างถ่ายภาพยนตร์ ในวันที่ 30 กันยายน เพื่อบันทึกภาพรถรางสายที่ออกวิ่งรอบเมือง โดยพวกเขาได้บันทึกภาพการวิ่งของรถรางสายนี้ ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้า พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง วัดโพธิ์ ฯลฯ จนไปสุดที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า นับเป็นบันทึกความทรงจำครั้งสำคัญของสังคมไทยและประวัติศาสตร์การขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร นอกจากภาพยนตร์ข่าวแล้ว แท้ ประกาศวุฒิสาร ยังเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์สำคัญแก่วงการหนังไทย เช่นการสร้างหนัง สุภาพบุรุษเสือไทย ผู้นำด้านนวัตกรรมในการโฆษณาหนังไทย เช่น การคิดสโลแกนภาพยนตร์ เห่าดง ใน ปี 2501 ที่ว่า “บอกตรงตรง เห่าดงดีจริงจริง” จนถูกนำมาพูดถึงกันอย่างติดปาก อีกด้วย    เรื่อง: พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู