Take Me To Church: นิยามรักหลากหลาย, อคติที่ ‘ป่วยไข้’ และคำถามต่อศาสนาของ Hozier

Take Me To Church: นิยามรักหลากหลาย, อคติที่ ‘ป่วยไข้’ และคำถามต่อศาสนาของ Hozier
My lover’s got humor She’s the giggle at a funeral Knows everybody’s disapproval I should’ve worshiped her sooner If the Heavens ever did speak She’s the last true mouthpiece Every Sunday’s getting more bleak A fresh poison each week “We were born sick”, you heard them say it   (คนรักของผมเธอเป็นคนมีอารมณ์ขัน เธอหัวเราะคิกคักได้แม้อยู่ในงานศพ เธอรู้ว่าทุกคนคงไม่ชอบนัก แต่ผมคิดว่าผมควรจะ (รัก) และบูชาเธอให้เร็วกว่านี้ ถ้าสวรรค์ (และ/หรือพระเจ้า) พูดอะไรออกมา พระองค์คงเอ่ยวาจาผ่านริมฝีปากของเธอนี่แหละ ทุก ๆ วันอาทิตย์ช่างว่างเปล่าและหดหู่ ด้วยยาพิษที่โปรยออกมาในทุกวัน “พวกเราเกิดมาป่วยไข้” คุณได้ยินเขาพูดกันแบบนั้น) ภาพวิดีโอขาวดำ-ทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ ริมลำธารน้ำเย็นใส ไกลห่างจากผู้คน ที่ตรงนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ชายหนุ่มสองคนสามารถนัดพบกันเพื่อปลดปล่อยความรักที่มีต่อกันและกันออกมาได้อย่างพรั่งพรู แต่ทว่าโลกใบนี้ไม่เคยมีความลับใดถูกปกปิดไปได้ตลอดกาล ทันทีที่กลุ่มชายฉกรรจ์ผู้สถาปนาตนว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคมได้แอบสืบจนรู้แน่แล้วว่าชายทั้งสองคนนี้มีความรักต่อกัน ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องผิดแปลกแหวกธรรมเนียม เป็นของต้องห้ามในสายตาของพวกเขา พวกเขาจึงออกไล่ล่าตามหาชายทั้งสอง จนสามารถจับตัวชายหนุ่มมารับโทษทัณฑ์ นี่ไม่ใช่ฉากจากภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากแต่เป็นเพียงเรื่องราวในมิวสิกวิดีโอเพลง Take Me To Church ของ โฮซิเออร์ (Hozier) ที่เนื้อหาในมิวสิกวิดีโอและเนื้อเพลงผูกพันเอาไว้อย่างลึกซึ้งกับค่านิยมของความรักในบางความเชื่อ ที่ว่าความรักระหว่างเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ เปรียบเสมือนกับบาปที่แสดงออกมาผ่านอาการ ‘ป่วยไข้’   My church offers no absolutes She tells me, “Worship in the bedroom” The only Heaven I’ll be sent to Is when I’m alone with you I was born sick, but I love it Command me to be well A-, Amen, Amen, Amen   (“ที่โบสถ์ของผมไม่มีทางออกให้ผมที่สมบูรณ์ เธอเลยบอกผมว่า ‘บูชาในห้องนอนสิ’ และทางเดียวที่ผมจะได้ขึ้นสวรรค์คือช่วงเวลาที่ผมได้อยู่เพียงลำพังกับเธอ ผมเกิดมาพร้อมความป่วยไข้ แต่ผมก็รักที่จะเป็นอย่างนั้น สั่งผมให้ผมเป็นคนดีสิ อาเมน อาเมน) Take Me To Church เพลงที่เนื้อหาแหลมคมเสียดแทงตรงใจกลางความเชื่อเรื่องความรักที่ไม่ควรถูกจำกัดไว้ภายใต้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น เนื้อหาของเพลงนี้งดงามราวกวีศิลป์ที่เปรียบเปรย จิกกัดไปจนถึงตั้งคำถามกับความเชื่อและคำสอนของศาสนาไว้อย่างน่าสนใจ เช่น การเปรียบเปรยถึงช่วงเวลาที่เขาได้อยู่กับคนรักเพียงลำพัง ก็เหมือนดั่งว่าเขาได้อยู่บน ‘สรวงสวรรค์’ Clifford Stumme อาจารย์สอนวรรณกรรมจากมหาวิทยาลัย Liberty University ผู้สร้างเว็บไซต์และช่องยูทูบ Pop Song Professor (ศาสตราจารย์เพลงป็อป) อธิบายนิยามคำว่า ‘โลกแห่งสวรรค์’ ของโฮซิเออร์ไว้ว่า สวรรค์ของโฮซิเออร์คือการได้ใช้เวลาอยู่กับคนรักเพียงลำพัง ก็น่าจะตีความได้ว่าเขาเป็นคนสุขนิยมกับสิ่งที่สามารถสัมผัสและประจักษ์อยู่ตรงหน้า ฉะนั้นคำว่า ‘สวรรค์’ ของโฮซิเออร์จึงไม่ใช่โลกแห่งสวรรค์หลังความตายที่มองไม่เห็น เป็นสวรรค์ที่อยู่ตรงหน้าและจับต้องได้ หรือแม้แต่ท่อนสั้น ๆ ที่ร้องว่า “I was born sick, but I love it. Command me to be well” (แปลได้ว่า: ผมเกิดมาพร้อมความป่วยไข้ แต่ผมก็รักที่จะเป็นอย่างนั้น สั่งผมให้ผมเป็นคนดีสิ) สอดคล้องกับใจความในเพลงท่อนก่อนหน้าที่พูดถึงความเชื่อทางศาสนา ในที่นี้คือ ศาสนาคริสต์ ที่ดูเหมือนตัวเพลงกำลังยั่วเย้ากับการเล่นคำระหว่าง เราเกิดมาพร้อมกับความป่วยไข้ (sick) แต่บริบทที่รอบล้อมเนื้อเพลงที่เต็มไปด้วยกลิ่นของศาสนาทำให้เหมือนกับว่า นี่คือ บาป (sin) ติดตัวมาตั้งแต่เกิดในแบบความเชื่อทางศาสนามากกว่า ใช่หรือไม่ว่า ‘ความป่วยไข้’ ที่โฮซิเออร์ ตั้งคำถามผ่านเนื้อเพลงและมิวสิกวิดิโอ นั่นคือ อคติของหลายคนที่มีต่อความรักในความหลากหลายทางเพศแล้วมองว่านั่นคือ ‘บาป’? แล้วชวนให้มีคำถามตามต่อมาว่า ตกลงแล้วฝั่งไหนกันแน่ที่มี ‘ความป่วยไข้’ ดังที่ว่ามา? หรือสิ่งนี้ แท้จริงแล้วมันคืออคติของคนบางกลุ่มกันแน่?   Take me to church I’ll worship like a dog at the shrine of your lies I’ll tell you my sins and you can sharpen your knife Offer me that deathless death Good God, let me give you my life   (นำผมไปที่โบสถ์สิ ผมจะกราบบูชาเยี่ยงสุนัขบนแท่นบูชาแห่งคำลวงของคุณ ผมจะสารภาพบาปของผม และคุณเตรียมลับมีดเอาไว้ลงโทษผมได้เลย เชิญลงโทษผมให้ตายทั้งเป็นได้ พระเจ้า...ผมยินดีจะถวายชีวิตแด่พระองค์) โดยปกติท่อนฮุคของเพลง จะประกอบไปด้วยท่อนดนตรีที่ฟังติดหูที่สุดเสมือนหนึ่งจุดไคลแมกซ์ของเพลง และหากเปรียบฮุคของเพลงนี้กับอาวุธของนักมวย ก็คงจะเป็นฮุคหมัดหนักที่ชกเข้าอย่างจังตรงเป้าของคู่ชก Clifford Stumme (ศาสตราจารย์เพลงป็อปคนเดิม) ตีความไว้ว่าท่อนฮุคของเพลงนี้ โฮซิเออร์น่าจะหมายความถึง การลงโทษของศาสนา (ใด ๆ ก็ตาม) ที่ลงทัณฑ์ต่อผู้นับถือ หากผู้นับถือไม่ปฏิบัติตามความเชื่อที่ถูกสอนโดยศาสนา ผู้ฝ่าฝืนคนนั้นก็จะถูกด้อยค่าลง มาจนถึงตรงนี้ถึงแม้จะดูเหมือนว่าโฮซิเออร์พูดเสียดสีและตั้งคำถามกับศาสนาแบบไม่ได้ระบุเจาะจงว่าเป็นศาสนาใดแบบชัด ๆ แต่อย่างที่ว่าไว้ทั้งหมดในข้างต้น หลายคนออกมาตีความว่าเพลงนี้น่าจะพูดถึง ศาสนาคริสต์ ทั้งคำว่า ‘โบสถ์’ ‘สรวงสวรรค์’ ‘ทุกวันอาทิตย์’ ‘สารภาพบาป’ อีกทั้งเนื้อหาในมิวสิกวิดีโอที่แสดงถึงการต่อต้านความรักแบบชายรักชาย ล้วนแล้วแต่เป็นบริบทที่เราได้ยินบ่อย ๆ ในกลุ่มคนบางกลุ่ม (ที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม) ที่นับถือศาสนาคริสต์  การตั้งประเด็นในเพลงชวนให้ตีความแบบนี้ จนมีคนไปถามโฮซิเออร์ว่าได้รับการต่อต้านหรือข่มขู่ใด ๆ จากกลุ่มคนที่เคร่งศาสนา (คริสต์) บางกลุ่ม บ้างหรือไม่หลังจากปล่อยเพลง Take Me to Church ออกไป และคำตอบก็คือ “ผมไม่เคยได้รับการคุกคามต่อต้านอะไรในไอร์แลนด์เลย อาจจะเป็นเพราะว่าเพลงมันไม่ได้ดังอะไรมากมายด้วยครับในตอนแรก...ส่วนในอเมริกา ผมไม่เคยถูกข่มขู่หรือได้รับอีเมลที่มีข้อความเกลียดชังอะไรนะครับ จะมีก็แต่จดหมายเปิดผนึกสองสามฉบับจากคุณพ่อที่เขียนมาร่วมยินดีกับเพลงของผมครับ” หากจะรู้จักเบื้องหลังวิธีคิดในการแต่งเพลงนี้ของโฮซิเออร์ที่เปิดกว้างในเรื่องศาสนา ความรัก และความหลากหลายทางเพศ อาจจะต้องย้อนกลับมาดูชีวิตวัยรุ่นของเขากันหน่อย Take Me To Church: นิยามรักหลากหลาย, อคติที่ ‘ป่วยไข้’ และคำถามต่อศาสนาของ Hozier เรื่องราวทั้งหมดเริ่มขึ้นที่ วิทยาลัย Trinity College Dublin ในไอร์แลนด์ ปี 2018 หนุ่มมาดเซอร์สูงโปร่งกำลังร้องเพลงคัฟเวอร์ของ Bee Gees อยู่กับเพื่อน ๆ นักศึกษาสาขาดนตรีในงานของวิทยาลัย สมาชิกของวงเล่นดนตรีป็อปดิสโก้ และเพลงบัลลาดซึ้ง ๆ ด้วยความสนุกสนาน แต่พวกเขาไม่รู้เลยว่า มีตัวแทนจากค่ายเพลงใหญ่ Universal Music Ireland ยืนปะปนอยู่ด้านล่างเวทีในวันนั้น (น่าเสียดายที่วิดีโอการแสดงวันนั้นไม่สามารถหาชมได้ ไม่เช่นนั้นเราอาจได้เห็นโฮซิเออร์ร้องเพลง How Deep is Your Love ก็เป็นได้) ภายหลังจากที่โชว์ของโฮซิเออร์ได้จบลง ตัวแทนจาก Universal Music Ireland ก็เข้าไปติดต่อพูดคุยให้โฮซิเออร์เซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัดทันที และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้โลกได้รู้จักกับ โฮซิเออร์ โฮซิเออร์ (Hozier) หรือชื่อเต็ม ๆ คือ แอนดริว โฮซิเออร์ เบิร์น (Andrew Hozier Byrne) ศิลปินหนุ่มชาวไอริชผู้เกิดมาในครอบครัวศิลปินอย่างแท้จริง โดยคุณพ่อของเขา จอห์น เบิร์น (John Byrne) เป็นนักดนตรีบลูส์ ส่วนคุณแม่ เรน โฮซิเออร์ เบิร์น (Raine Hozier Byrne) ศิลปินไอริชผู้เป็นคนออกแบบหน้าปกอัลบั้มแรกให้ลูกชายตัวเอง  ด้วยใบหน้าอันหล่อเหลา ผมหยักศกยาวประบ่าสีน้ำตาลกับรูปร่างสูงโปร่งเกือบ 2 เมตรของหนุ่มไอริชคนนี้แล้ว หลายคนอาจจะคิดว่าโฮซิเออร์ต้องเป็นหนุ่มป็อปตอนวัยรุ่น หรืออารมณ์ประมาณว่าเป็นพรอมคิงของรุ่นแน่ ๆ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นเลย โฮซิเออร์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการทอล์กโชว์ของนอร์เวย์-สวีเดน Skavlan ว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ผมไม่อยากกลับไปเป็นวัยรุ่นหรอกครับ...ตอนเป็นวัยรุ่นผมเป็นตัวตลกประจำชั้นเรียนครับ” แต่ใครจะรู้ว่าคนที่เคยถูกมองว่าเป็นเสมือนตัวตลกประจำรุ่น มาวันนี้เขาจะกลายเป็นหนึ่งในหนุ่มเนื้อหอมที่สุดที่ผู้คนต่างพากันกล่าวถึงความหล่อคม ทรงผมยาวฟูที่แลดู ‘เซอร์’ แบบเป็นธรรมชาติ แถมเพลงที่เขาร้องอย่าง Take Me To Church ยังดังระเบิด และเคยขึ้นอันดับสูงสุดที่อันดับ 2 ของบิลบอร์ดชาร์ตในปี 2014 อีกด้วย และในปีเดียวกันนั่นเองแหละที่หนุ่มโฮซิเออร์ผู้เคยเป็นตัวตลกของเพื่อน ๆ ตอนวัยรุ่นได้ถูกเลือกให้ขึ้นโชว์ร้องเพลงเคียงข้างกับเหล่าบรรดานางฟ้า Victoria Secret บนเวทีแฟชั่นโชว์ประจำปี ทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติที่ดูมีเสน่ห์เท่แบบหนุ่มนักดนตรีไอริชของเขาแต่เขากลับไม่ได้มีข่าวคบหาใครเป็นแฟนแบบจริงจัง มีเพียงข่าวลือว่าเขาเดทอยู่กับเซอร์ชา โรนัน (Saoirse Ronan) นักแสดงสาวดาวรุ่งเชื้อสายไอริช แต่ทั้งคู่ก็ไม่เคยออกมายอมรับว่าคบหาดูใจกันและกัน ประกอบกับการเขียนเพลงเพลงนี้ที่มีเนื้อหาพุ่งตรงไปที่การตั้งคำถามถึงความเชื่อและการลงโทษผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามครรลองที่ศาสนากำหนดไว้ ทำให้หลายคนต่างมองว่า เขาเป็น LGBTQ+ หรือเปล่า? รอยเตอร์เคยสัมภาษณ์โฮซิเออร์หลังเวทีคอนเสิร์ตในกรุงลอนดอนพร้อมกับถามตรง ๆ โฮซิเออร์ได้แต่ยิ้มแล้วตอบกลับ “คนชอบคิดว่าผมเป็น (เกย์) ซึ่งมันโอเคที่เขาจะคิดกันแบบนั้น เพราะสำหรับผมแล้ว ผมคิดว่ามันไม่สำคัญว่าผม (หรือคนอื่น ๆ) จะรักหรือชอบเพศไหน” แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่เปิดกว้างทางเพศของเขาได้เป็นอย่างดี แม้ว่าโฮซิเออร์ไม่ได้ตอบคำถามแบบตรง ๆ ว่าเขาชอบหญิงหรือชาย แต่สื่อต่าง ๆ ก็พากันคาดเดาว่าโฮซิเออร์น่าจะไม่ใช่เกย์ เพราะโฮซิเออร์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ใน observer.com ว่า เขาเขียนเพลง Take Me to Church ทันทีหลังจากเลิกรากับแฟนสาวคนแรก ตรงนี้เองทำให้สื่อหลายสำนักเองก็พยายามที่จะไปค้นหาว่าใครกันคือแฟนสาวคนแรกของโฮซิเออร์ ผู้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนเพลงนี้ แต่โฮซิเออร์เป็นคนเสมอต้นเสมอปลายเสมอในเรื่องการเก็บความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นความลับ ตราบจนวันนี้จึงไม่มีใครทราบว่าใครคือสาวคนนั้นกันแน่ แต่ท้ายที่สุดก็คงจะเป็นอย่างที่โฮซิเออร์ว่า ประเด็นสำคัญของความรัก ไม่ได้อยู่ที่คำว่าคุณรักเพศไหน เพราะไม่ว่าคุณจะรักเพศไหน ยังไงมันก็คือความรัก อีกคำถามสำคัญที่หลายคนอาจสงสัยว่าโฮซิเออร์เชื่อในอะไร? ทำไมเขาจึงเขียนและร้องเพลงที่ถูกตีความว่ากำลังวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามกับคนที่นำความเชื่อทางศาสนามาใช้เป็นเครื่องมือในการเลือกปฏิบัติทางเพศ? แม้โฮซิเออร์ถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวคาทอลิกเคร่งศาสนาในไอร์แลนด์ แต่ตัวเขาก็สร้างทางเลือกชีวิตด้วยตัวเอง เมื่อเขาเติบโตขึ้น โฮซิเออร์ไม่ได้ประกาศตนเป็นคริสต์ศาสนิกชนเหมือนกับพ่อแม่ แต่เขาเองก็ปฏิเสธเช่นกันว่า เขาไม่ใช่คนไร้ศาสนา “ผมไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นคนไร้ศาสนา มันดูสุดโต่งจนเกินไป แต่ผมก็ไม่มีความเชื่อ (ในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง)...สรุปคือผมไม่มีคำตอบครับ (ว่าผมนับถือหรือไม่นับถือศาสนาอะไร)” การเลือกหยิบยกเอาประเด็นที่อ่อนไหวต่อสังคมและศาสนามาเขียนเป็นเพลง (แล้วมันก็ดันดังเป็นพลุแตกได้เข้าชิงรางวัล Grammy Awards สาขาเพลงแห่งปี 2014) ทำให้โฮซิเออร์มีโอกาสพูดถึงมุมมองของเขาต่อเรื่องแรงบันดาลใจที่มีต่อเพลงนี้อยู่เสมอ หลายครั้ง โฮซิเออร์ใช้สถานะของเขาในการตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจของผู้คน หรือหน่วยงาน/องค์กรที่มีอำนาจล้นเหลือ และผู้คนต่างพากันเชื่อถือว่าสิ่งที่เขา/พวกเขาพูดและทำนั้น เขาทำในนามของพระเจ้า โฮซิเออร์เชื่อว่ายิ่งเขา/พวกเขามีอำนาจมากเท่าไร เรายิ่งต้องสามารถวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามได้ (จากบทสัมภาษณ์ของโฮซิเออร์ในรายการ Skavlan วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2019 https://www.youtube.com/watch?v=qtn-gAQX2z4) ทั้งเนื้อหาและการสัมภาษณ์ที่จริงใจตรงประเด็นของโฮซิเออร์อาจจะทำให้ดูเบาละมุนลงได้ด้วยบุคลิกที่สุภาพและอ่อนโยนของเขา แต่ทว่าหลายคนก็ต่างมีความเห็นที่อดเป็นห่วงเขาไม่ได้ถึงการแสดงออกทางความคิดที่อาจขัดแย้งต่อความเชื่อของคนบางกลุ่ม ซึ่งโฮซิเออร์ตระหนักดีถึงความอ่อนไหวนี้ “ผมรู้ดีครับว่าอาจมีคนคิดว่างาน (เพลง) ของผมมันดูเสียดสีและไม่น่าฟัง แต่นั่นคือความเสี่ยงที่ผมต้องยอมแบกรับถ้าผมคิดจะทำงานที่ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเอง...เชื่อผมเถอะครับ ถ้าผมอยากจะทำเพลงป็อป ผมก็คงทำเพลงป็อปและมันคงง่ายกว่านี้เยอะ “ผมเขียนเพลงให้ตัวผมเอง ผมเขียนถึงสิ่งที่ผมชอบหรือสิ่งที่ผมเชื่อ...ผมไม่เขียนเพลงเพื่อที่จะให้ตัวเองดัง จริง ๆ ผมไม่ได้เขียนเพลงเพื่อคนฟังด้วยซ้ำ คือคุณเข้าใจไหม คุณแค่เขียนเพลงเกี่ยวกับตัวคุณเอง และถ้าคุณโชคดีจะมีคนอื่น ๆ ชอบในสิ่งเดียวกับที่คุณชอบ” และโฮซิเออร์คือชายโชคดีคนนั้น เมื่อสิ่งที่เขาเขียนคือสิ่งที่อีกหลายล้านคนบนโลกใบนี้บังเอิญชอบเช่นกัน และความรักที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ มันไม่ใช่ ‘ความป่วยไข้’ ทั้งยังเป็นความเชื่ออีกแบบที่ควรได้รับความเคารพไม่ต่างจากความเชื่ออื่น, ที่คนจำนวนมากบนโลกนี้ เชื่อมั่นและศรัทธาเช่นกัน   ที่มา: https://www.imdb.com/name/nm6494594/bio https://www.irishtimes.com/culture/music/hozier-if-i-wanted-to-make-a-f-king-pop-song-i-would-1.3794161?mode=amp https://www.independent.ie/style/beauty/hair/hozier-reveals-his-hair-inspiration-his-dad-john-31311703.html-- https://www.celebheights.com/s/-Hozier-48365.html https://www.youtube.com/watch?v=qtn-gAQX2z4 https://www.billboard.com/music/hozier/chart-history/MRT/song/810203 https://www.lifeandstylemag.com/posts/victoria-secrets-performers-166617/ https://www.theguardian.com/culture/2015/apr/30/hozier-delightful-letters-pastors-take-me-to-church https://www.reuters.com/article/us-people-hozier-idUSKBN0L61QV20150203 https://www.her.ie/entertainment/hozier-new-girlfriend-shes-famous-346018#:~:text=Hozier%20is%20reportedly%20dating%20Saoirse,and%20are%20apparently%20getting%20close.&text=The%2027%2Dyear%2Dold%20singer,to%20be%20having%20a%20ball. https://www.youtube.com/watch?v=qtn-gAQX2z4 https://www.rte.ie/entertainment/2014/0609/622594-hozier/ https://www.grammy.com/grammys/artists/andrew-hozier-byrne/18491#:~:text=Hozier%20was%20nominated%20for%20Song,On%20You%22%20with%20Annie%20Lennox. https://observer.com/2014/10/for-hozier-and-take-me-to-church-a-four-year-overnight-success-story/   ภาพ: Getty Images