ทาเคชิ บีต คิตาโนะ: ชายผู้มี “จังหวะ” ชีวิต จากดาวตลก สู่ ผู้กำกับหนังยากูซ่าชั้นครู

ทาเคชิ บีต คิตาโนะ: ชายผู้มี “จังหวะ” ชีวิต จากดาวตลก สู่ ผู้กำกับหนังยากูซ่าชั้นครู
เคยไหม? ที่จังหวะชีวิตเล่นตลกกับคุณอย่างจัง บิดพลิ้วไปไกลจากเส้นทางที่คุณเคยเดินจนคุณใจหายว่ามันเดินทางมาขนาดนี้ได้อย่างไร สิ่งนี้เกิดขึ้นกับชายผู้มี “จังหวะ”(Beat) อยู่ในชื่อ ทาเคชิ “บีต” คิตาโนะ นักแสดงและผู้กำกับชาวญี่ปุ่นผู้เป็นทุกอย่างให้คนดู ไม่ว่าจะเป็น บทเจ้าของวาทะ “สุขสันต์วันคริสต์มาส มิสเตอร์ลอว์เรนซ์” จากเรื่อง Merry Christmas, Mr. Lawrence, ครูจอมโหด ผู้บังคับนักเรียนให้ฆ่ากันเองในหนังเชือดคลาสสิก Battle Royale, เป็นผู้กำกับและแสดงนำในบท ซาโตอิจิ ไอ้บอดซามูไร(Zatoichi) ด้วยฝีมือการแสดงที่รับบทหลากหลายอารมณ์ มีความตลกหน้าตาย อบอุ่น และมีเสน่ห์ ผลงานของเขาจึงคุ้นตาและคุ้นหูชาวไทยได้ไม่ยากนัก “จังหวะ” ชีวิตของเขาบิดมาไกลจนดังระดับสากลได้อย่างไรกัน ชีวิตวัยเด็กของคนตลก ที่ไม่ตลกเลยสักนิด ทาเคชิ คิตาโนะ เกิดและโตที่โตเกียว มีพ่อเป็นช่างทาสีบ้าน คิตาโนะเล่าถึงพ่อของเขาว่า “บ้างก็ว่าพ่อผมเหมือนยากูซ่า หรือไม่ก็คนหัวขบถทำนองนั้น” ส่วนแม่ของคิตาโนะเป็นคนทำงานหนัก กลางวันทำงานโรงงานผลิตเค้กถั่ว ตกกลางคืนทำงานโรงงานผลิตของเล่น แต่ด้วยความที่แม่มองการณ์ไกล เธอเลยส่งลูกให้เรียนหนังสือท่ามกลางสภาพสังคมที่มีแต่คนจน คิตาโนะพูดถึงช่วงเวลาวัยเด็ก “เพื่อนบ้านผมเป็นคนชั้นแรงงาน รอบตัวผมเลยมีแต่ถ้าไม่เป็นยากูซ่าก็เป็นช่างปั้นไปเลย” ต่อมาญี่ปุ่นเจริญเติบโตเร็วอย่างต่อเนื่อง แม่ของคิตาโนะเลยขอให้เขาไปเรียนอะไรก็ได้ในสายวิทยาศาสตร์ จนคิตาโนะบ่นว่า “ผมไม่ได้อ่านหนังสือการ์ตูน อ่านนิยาย ดูหนัง จะว่าเป็นเด็กเรียนเต็มขั้นก็ว่าได้ จนผมสอบติดมหาวิทยาลัยสาขาวิศวกรรม” เมื่อคิตาโนะนึกย้อนกลับไปถึงสมัยเด็ก เขาได้กล่าวขอบคุณแม่ “ถ้าแม่ผมไม่เข้มงวดด้านการศึกษา มันคงต้องกลายเป็นยากูซ่าอย่างแน่นนอน” แต่โชตชะตาพาเล่นตลกกับเขาอีกครั้ง เพราะสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้คิตาโนะดันเป็นหนังยากูซ่าเสียเอง ชื่อด้วยคำว่า “จังหวะ” (Beat) ชื่อนี้มีที่มา โชคชะตาพาเขาหลุดออกจากเส้นทางชีวิตที่แม่วางไว้ เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1960 นักเรียนมหาศาลต่างพากันประท้วงและมหาวิทยาลัยต่างปิดตัว ณ เวลาเดียวกันนั้น โตเกียวเกิดกลุ่มละครเวทีกันเยอะ เพื่อน ๆ ของเขาต่างสนใจการทำงานในย่านบันเทิงแถบอาซากุสะ วันหนึ่งขณะคิตาโนะทำงานก็พบเจ้าของโชว์กำลังลิสต์มุกตลกอยู่เพราะนักแสดงคนหนึ่งป่วยพอดี คิตาโนะเลยขออาสาร่วมเล่นด้วย จนทำให้เห็นทักษะการแสดงตลกของเขาในเวลาต่อมา คิตาโนะได้มาเจอกับ นิโร คาเนโกะ (หรือชื่อในวงการว่า คิโยชิ คาเนโกะ) จึงเกิดไอเดียการแสดงทอล์คโชว์ไมค์ตลกคู่หู (Manzai) โดยนิโรจะรับแสดงเป็นคนฉลาด ส่วนคิตาโนะแสดงเป็นคนป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ด้วยจังหวะสองจังหวะนี้เองเลยเป็นที่มาชื่อวงการว่า “Two Beat” โดยเรียกนักแสดงทั้งสองคนว่า บีต ทาเคชิ และ บีต คิโยชิ และมีชื่อเสียงโด่งดังมากในช่วงทศวรรษ 1970 ด้วยมุกตลกล้อคนในสังคม มีทั้งคนแก่ ,ผู้หญิง ,เด็ก ,คนพิการ เรียกได้ว่ามีอะไรให้ล้อก็ขนมาหมด แต่สุดท้ายคิตาโนะขอแยกวงมาเป็นตลกเดี่ยวแทน ถึงแม้ทั้งสองวงจะแยกกัน คิตาโนะก็ยังคงชื่อ “บีต” ไว้ระลึกเป็นชื่อในวงการจนถึงปัจจุบันว่า “ทาเคชิ บีต คิตาโนะ” จุดเปลี่ยนจากดาวตลกสู่นักแสดงขายฝีมือ ในแง่ผลงานการแสดงของคิตาโนะ โอกาสมีน้อยนิดนักเนื่องจากชีวิตเขาวนเวียนอยู่กับภาพลักษณ์นักแสดงตลก เขาจึงได้รับแต่บทเล็ก ๆ มาตลอด จนกระทั่งคิตาโนะเจอคำชวนของผู้กำกับดังที่พาเขาเปลี่ยนจังหวะอีกครั้ง คิตาโนะเล่าว่า “คนญี่ปุ่นต่างรู้จักผมไปทั่วในฐานะนักแสดงตลก แต่ผมก็รู้ว่ามันคงอยู่ได้ไม่นานหรอก ผมอยากทำอะไรที่แตกต่างบ้าง พอคุณนางิสะ โอชิมะ (ผู้กำกับชื่อดังชาวญี่ปุ่น) เสนอบท Merry Christmas Mr. Lawrence (1983) ผมไม่รู้หรอกนะว่าการแสดงมันต้องเล่นยังไง กำกับต้องทำยังไง ผมตอบ ‘โอเค มันต้องออกมาดีแน่ ๆ ครับ’” คิตาโนะคิดว่า ผลงานชิ้นนี้แหละที่จะพาเขาฉีกออกจากภาพตัวตลกที่ติดตัว คิตาโนะเลยแอบไปดูหนังร่วมกับคนดูเพื่อทดสอบปฏิกิริยาของพวกเขา แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับตรงกันข้าม เขารำลึกช่วงเวลาดังกล่าวได้อย่างดี “ฉากแรกที่ผมปรากฏตัว คนดูทั้งโรงหัวเราะลั่นกันสนั่น ผมเสียเชิงเลย เพราะตัวละครออกจะโค-ตะ-ระ น่ากลัวและลึกลับซะด้วยซ้ำ” คิตาโนะหัวเราะ ก่อนทำหน้าขรึม “หลังจากนั้น ผมเลยรับแต่หนังประเด็น มีความดำมืด หรือเป็นตัวร้าย มันเลยใช้เวลาถึง 10 ปีเลยนะคุณ กว่าคนจะคิดว่าผมเป็นนักแสดงบทซีเรียสได้” มีคนเคยถาม นางิสะ โอชิมะ ถึงฝีมือการแสดงของคิตาโนะ นางิสะพูดถึงฝีมือการแสดงของเขาว่า “เมื่อเขาอยู่ต่อหน้ากล้อง วินาทีนี้ไม่มีคนชื่อ บีท คิตาโนะ เขาเป็นตัวละครโดยสมบูรณ์ แถมไม่เปลืองเวลาถ่ายด้วยซ้ำ การแสดงของคิตาโนะทำได้ดีเกินคาด เห็นได้ชัดว่าเขาเป็นคนมีความสามารถเห็น ๆ” เผยพรสวรรค์การกำกับภาพยนตร์ สู่สายตาคนต่างชาติ ช่วงปี 1989 โปรดิวเซอร์ คาซุโยชิ โอคุยามะ เข้ามาชักชวนคิตาโนะกำกับหนังเรื่อง Violent Cop หลังจากที่ผู้กำกับคู่บุญของคิตาโนะคือ คินจิ ฟุคาสากุ ผู้เก่งทำหนังเจ้าพ่อ (ที่ไทยรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับ Battle Royale) ดันถอนไปก่อนเพราะตารางงานชน โอกาสกำกับงานชิ้นแรกของคิตาโนะจึงมาอยู่ในมือทันที คิตาโนะเอ่ยถึงช่วงเวลารับงานชิ้นนี้ว่า “โดยพื้นฐาน ผมแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการใช้กล้องเลย ภาพในหนังเรื่อง Violent Cop เลยเหมือนกับภาพถ่ายของที่ระลึกเลยแหละ” คิตาโนะกล่าวถึงงานกำกับเรื่องแรกอย่างถ่อมตน แต่ผลลัพธ์ที่ได้นับว่าเหนือคาดมาก หนังสามารถกวาดเงินที่ญี่ปุ่นได้ถึง 780 ล้านเยน ส่วนนิตยสารหนังเจ้าเก่าแก่ของญี่ปุ่นอย่าง คิเนมะ จัมโปะ ก็ให้ Violent Cop ติดในลิสต์ 10 หนังยอดเยี่ยมในช่วงปีนั้น และสำคัญที่สุด คิตาโนะได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ครั้งแรก ในชีวิตจากเทศกาลภาพยนตร์โยโกฮามาอีกต่างหาก จบจากงานชิ้นแรก คิตาโนะได้พัฒนางานจนกลายเป็นลายเซ็น ตั้งแต่การทิ้งกล้องยาว ๆ (Long Take) เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้สึกตัวละคร เน้นเคลื่อนไหวกล้องและบทพูดให้น้อย ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครตลกหน้าตาย ออกจะดูเป็นหนังตลก แต่ทุกสิ่งที่กล่าวมาจะถูกเล่าด้วยเรื่องเกี่ยวพันกับหนังแบบแก็งสเตอร์ หรือวงการตำรวจแทน ตบท้ายด้วยเหตุการณ์รุนแรงชนิดที่คนดูไม่สามารถตั้งตัวได้ ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวทำให้งานหนังคิตาโนะมีโอกาสโลดแล่นตามเทศกาลต่างประเทศต่าง ๆ รวมถึงได้ชิงและกวาดรางวัลสำคัญกลับบ้านอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น A Scene at the Sea (1992) หนังคู่รักหูหนวก-คนใบ้ เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมครั้งแรกของคิตาโนะ ในเวที Japan Academy Prize หรือออสการ์ญี่ปุ่น, Kikujiro (1999) หนังลุงหน้ายากูซ่าพาเด็กน้อยตามหาแม่ กับ The Outrage หนังยากูซ่าหักเหลี่ยม (2010) ต่างชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และ Hana-bi (1997) หนังตำรวจปล้นเงินพาเมียป่วยหนี กลายเป็นหนังที่คว้ารางวัลสิงโตทองคำ รางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังเวนิสที่เป็นหนึ่งในสามเทศกาลหนังเก่าแก่ที่สุดในโลก ทำไมต้องเป็นหนังยากูซ่า? คิตาโนะให้เหตุผลเชื่อมโยงกับวัยเด็กของตนเอง “เพื่อนบ้านผมมีคนอยู่สองประเภทที่ผมว่าเท่นะ ถ้าไม่เป็นนักเบสบอลมืออาชีพไปเลย ก็ยากูซ่านี่แหละ แค่การแต่งตัวมันก็เท่แล้วคุณ ยากูซ่ามักแสดงบทพ่อพระต่อเด็กเสมอ พวกเขามักให้เงินเอย ลูกกวาดเอย ของใช้เอย มีหมด ขณะเดียวกันพวกเขาก็สอนการใช้ชีวิตให้เราด้วย ถ้าพวกเขาเห็นเราสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า ก็จะด่าทันทีว่า ‘ทำดีกับพ่อแม่ให้มากเข้าล่ะ เรียนหนังสือก็ด้วย ไม่งั้นจะลงเอยแบบพวกฉัน’ มันดูประหลาดใจไหมล่ะ แต่มันเป็นเรื่องจริง” ด้วยเหตุนี้เองหนังยากูซ่าของคิตาโนะจึงออกมาดูเป็นมนุษย์ที่จับต้องได้ เผยความหวานเจือความเหงาแบบที่เห็นในปัจจุบัน จังหวะชีวิตของคิตาโนะ จังหวะที่ลิขิตด้วยสัญชาตญาณ ครั้งหนึ่งสื่อต่างประเทศเคยถามถึงแรงบันดาลใจการสร้างหนังของคิตาโนะ เจ้าตัวกล่าวออกมาอย่างเขิน ๆ แต่ภาคภูมิใจว่า “มันเป็นเรื่องน่าอายที่ผมพูดว่า ผมไม่เคยเข้าโรงหนังเลยเมื่อครั้งวัยเยาว์ ผมไม่เคยเป็นแฟนหนังเสียด้วยซ้ำ ผมมาดูหนังจริงจังก็ตอนที่ผมรับงานเป็นผู้กำกับนี่แหละ ตอนบรรดาสื่อต่างรุมถามผมว่าได้รับแรงบันดาลใจจากผู้กำกับ ฌอง ลุค โกดาร์ด หรือ อากิระ คุโรซาวะ บ้างไหม ผมบอกเลยนะว่าผมไม่เคยได้ยินชื่อพวกเขามาก่อนเลย! หลังผมกลับจากญี่ปุ่น ผมก็บอกเลขาฯ ของผมให้หาหนังเหล่านั้นมา แล้วผมค่อยศึกษาต่อเอา” เมื่อสื่อขอให้คิตาโนะแนะนำคนรุ่นใหม่สำหรับการทำหนังเรื่องแรก “คำแนะนำนะ อย่าเชื่อใจใคร อย่าฟังใครพูดก็ตาม แค่จับปืน (กล้อง) ของคุณและเชื่อในสัญชาตญาณของคุณนั่นแหละ ถ้าคุณฟังผู้คนและนำไอเดียเหล่านั้นมาใส่ในหนังเรื่องแรก หลังจากนั้นคุณจะถ่อมตนไปเรื่อย คุณก็จะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณจะฟังคำแนะนำได้ก็ต่อเมื่อคุณทำหนังเรื่องที่สาม ที่สี่ของคุณเท่านั้น แต่เรื่องแรกเนี่ย จับปืนคุณให้มั่น เตรียมติดฉลากคุณไว้เลยว่า ‘หนังกูโคตรไม่ทำเงิน’ ผมใช้หลักการนี้แหละ เลยเป็นอยู่ทุกวันนี้” คิตาโนะหัวเราะตบท้าย ถึงแม้ปีที่แล้ว (2018) ทาเคชิ คิตาโนะ จะประกาศ “แขวนนวม” จากการกำกับหนัง โดยให้เหตุผลว่า อยากใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวมากขึ้น แต่เมื่อรำลึกกลับไปในประวัติคิตาโนะ ใครจะไปนึกออกว่าโชคชะตาของเด็กชายคนหนึ่งที่เกือบจะเป็นยากูซ่า พลิกผันมาเป็นนักแสดงตลก นักแสดงขายฝีมือ และผู้กำกับมากฝีมือในคนเดียวกันได้จากการเลือกทำตามสัญชาตญาณเท่านั้น ที่มา: http://thehollywoodinterview.blogspot.com/2008/11/beat-takeshi-hollywood-interview.html https://www.japantimes.co.jp/news/2018/03/31/national/media-national/takeshi-kitano-abandon-army-talent/#.XXlDOC2B2YU https://www.japantimes.co.jp/culture/2019/03/01/films/takeshi-kitano-manzai-comic-giant-japanese-film/#.XXlF9S2B2YU https://www.asiaone.com/News/Latest%2BNews/Showbiz/Story/A1Story20100220-199835.html http://www.electricsheepmagazine.co.uk/2011/12/06/outrage-interview-with-takeshi-kitano/ http://eigageijutsu.blogspot.com/2009/03/on-merry-christmas-mr-lawrence.html เรื่อง: ธนพัฒน์ วงษ์วิสิทธิ์