ธนดล สถาวรเวทย์: จาก "เด็กค่าย" แรงบันดาลใจสู่การเป็นปลัดอำเภอนักพัฒนา

ธนดล สถาวรเวทย์: จาก "เด็กค่าย" แรงบันดาลใจสู่การเป็นปลัดอำเภอนักพัฒนา
"ค่ายอาสาพัฒนา" เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีกลุ่มกิจกรรมนี้เพื่อให้นักศึกษาได้ออกไปเรียนรู้สังคมอื่นที่อยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย ให้เห็นความแตกต่างของพื้นที่อื่นในประเทศ ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคใต้ ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้สังคมที่แตกต่างแล้ว ยังเป็นการปลูกหน่อความคิดในการทำงานพัฒนาสังคมเกิดขึ้นอีกด้วย ปลัดบอม-ธนดล สถาวรเวทย์ คือหนึ่งใน "เด็กค่าย" ที่เคยออกค่ายอาสาพัฒนาในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เขาเลือกเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสาขาบริหารรัฐกิจ ซึ่งในความคิดแรกของเขาก็คือ หากเขาเรียนจบแล้ว ถ้าไม่ทำงานราชการ การเรียนในสาขาบริหารรัฐกิจยังสามารถเชื่อมไปทำงานเอกชนในอนาคตได้อีกด้วย แต่ความคิดของเขาเปลี่ยนไปเมื่อเข้ามาทำค่ายอาสาพัฒนาของคณะ... "ตอนนั้นยังไม่มีเป้าหมายชีวิตชัดเจน คิดว่าเรียนจบคงทำงานเอกชนสักที่ จุดเปลี่ยนมาเกิดขึ้นตอนปี 1 ผมไปออกค่ายอาสาของคณะ มันทำให้เราได้เห็นสังคม ได้เห็นโลกอีกมุมมองหนึ่ง ที่เกี่ยวกับเรื่องของต่างจังหวัด เรื่องของชนบท ซึ่งความที่เราเป็นเด็กกรุงเทพ เราที่ผ่านมามันไม่เคยได้สัมผัสกับตรงนี้มาก่อน ก็เลยรู้สึกว่ามันน่าสนุก มันน่าสนใจ มันเป็นอีกมิติหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ เราได้ประสบการณ์ แล้วก็เราได้ช่วยเหลือคนอื่นไปในตัวด้วย เราก็เห็นเรื่องของวิถี การใช้ชีวิตของชาวบ้าน การทำนา การทำบุญ วัฒนธรรม ประเพณี ของเขา เราก็ได้เห็นเรื่องของอัธยาศัยใจคอ แล้วก็ได้เรียนรู้พวกประเด็นทางสังคม ทางชนบทของเขา เกี่ยวกับเรื่องการทำเกษตร ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าสนใจดี อีกอย่างคือเราก็มีโอกาสที่ว่าได้ช่วยเหลือเขา ผ่านกิจกรรมนี้" ในช่วงเวลาที่เขาทำค่ายตลอดสี่ปีที่เรียนหนังสือในรั้วมหาวิทยาลัย กลุ่มคนที่เขาต้องประสานงานด้วยในช่วงการลงพื้นที่ทำค่าย คือ ข้าราชการ โดยเฉพาะปลัดอำเภอที่ดูแลพื้นที่ ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเป็นข้าราชการเพื่อเข้ามาพัฒนาสังคม "คนที่เรียนในทางรัฐศาสตร์ จุดมุ่งหมายหนึ่ง เหมือนเป็นกระแสหลักอยู่แล้วคือทำราชการ แล้วก็ถ้าพูดถึงในสายงานราชการของรัฐศาสตร์ที่เป็นดั้งเดิม ที่ตรงที่สุดแล้วก็คือสายงานปลัดอำเภอ ทางปกครอง คือพอเราได้ไปประสานงานในพื้นที่ เราได้ไปถึงจังหวัด ถึงอำเภอ เราได้ไปเห็นเขาโดยตรง ได้รู้หน้างาน เราเลยคิดว่าตรงนี้เขาได้อยู่กับพื้นที่ เขาได้ทำงานกับคนในพื้นที่ ได้ไปหมู่บ้าน ได้ไปเจอตรงนี้โดยตรง ผมว่ามันน่าสนใจ มันตอบโจทย์กับงานที่เรารักได้ ณ ตอนทำค่าย มันสามารถที่จะยกระดับเราได้ ผมจึงไปค่ายอาสาทุกปีจนเรียนจบ ทั้งหนองบัวลำภู น่าน กาฬสินธุ์ เชียงราย อุทัยธานี พะเยา แล้วสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือเรามีความคิดที่ว่า เวลาเราไปค่ายต่าง ๆ ชาวบ้านก็จะมีความต้องการว่าอยากจะให้ค่ายทำอะไร หลัก ๆ ส่วนใหญ่ถ้าเขาบอกที่เป็นความต้องการ เช่นเรื่องของถนน ซึ่งแน่นอนถ้ามองในมิติของคนทำค่ายคือเราทำให้เขาไม่ได้ งบฯ ไม่พอ เวลาไม่พอแต่ว่าเราเกิดความคิดต่อไปว่า ถ้าเรามาได้เป็นปลัดอำเภอ อะไรในสายงานตรงนี้ เรามีอำนาจหน้าที่มากขึ้น ที่เราสามารถที่จะทำให้เขาตรงนี้ได้ เราสามารถของบทำถนน ทำประปา หรืออะไรที่มันใหญ่ขึ้นกว่าในเสกลของค่ายให้เขาได้ ผมก็เลยคิดว่ามันเป็นทางเลือกที่ดีที่น่าสนใจ" หลังจากเรียนจบแล้ว แม้ว่าในช่วงแรกธนดลจะทำงานเอกชน ที่เขาก็รอคอยฝั่งข่าวคราวการเตรียมสอบปลัดอำเภอ และอ่านหนังสืออย่างหนักเพื่อเตรียมสอบให้ได้ในงานที่เขาฝัน และเมื่อถึงเวลา เขาก็เข้าสอบปลัดอำเภอจนผลปรากฏว่า เขาสอบได้ที่ 1 ของการสอบปลัดอำเภอทั่วประเทศในรอบนั้น แล้วเลือกไปในพื้นที่ต่างจังหวัดที่กันดาร เพื่อเข้าไปพัฒนาท้องถิ่นในทันที “สำหรับคนเรียนรัฐศาสตร์แล้วมีเป้าหมายที่งานราชการ อาชีพ ‘ปลัดอำเภอ’ ถือเป็นอุดมคติเลย แต่กว่าจะได้เป็นต้องผ่านหลายขั้นตอน ผมสอบผ่านภาค ก (สอบความรู้ทั่วไป) ตอนปี 2556 หลังจากนั้นต้องทำงานเอกชนไปก่อน แล้วมาสอบภาค ข (สอบเฉพาะตำแหน่ง) ของปลัดอำเภอตอนปี 2558 ผมเรียนรัฐศาสตร์มา มันเป็นแนวคิดและหลักการบริหาร แทบไม่ได้เรียนตัวบทกฎหมาย เลยต้องอ่านใหม่ทั้งหมด แล้วถึงมาสอบภาค ค (สอบสัมภาษณ์และทดสอบร่างกาย) พอถึงวันประกาศผล ตอนนั้นผมอยู่ฝ่ายบุคคลของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อนที่สอบด้วยกันโทรมาบอกว่า 'ดีใจด้วย สอบได้ที่หนึ่งของประเทศ' ตื่นเต้นนะ ขนาดนั้นเลยเหรอ มันตื้นตัน ความพยายามของผมสำเร็จแล้ว “ผมบรรจุที่แรกที่อำเภอเวียงแหง อยู่ติดชายแดนของจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นอำเภอเล็ก ๆ เลยต้องรับผิดชอบหลายบทบาท โชคดีที่เจอผู้บังคับบัญชาเป็นนายอำเภอไฟแรง เลยได้ขับเคลื่อนหลายอย่าง ตอนนั้นรัฐบาลมีโครงการให้งบประมาณห้าล้านบาทไปในแต่ละตำบล ผมต้องลงพื้นที่ไปสำรวจความต้องการของชาวบ้าน แล้วมาประเมินว่าในทางกฎหมายทำได้ไหม เมื่อก่อนลงพื้นที่ในฐานะนักศึกษา ตอนนี้ลงพื้นที่ในฐานะปลัดอำเภอ ก็รู้สึกดีนะครับ เวลาผ่านไปเดือนกว่า นายอำเภอต้องย้ายไปอำเภออมก๋อย ผมเลยย้ายตามไปด้วย เวียงแหงอยู่เหนือสุด อมก๋อยลงมาใต้สุด ที่นั่นน่าจะเป็นหนึ่งในอำเภอที่กันดารที่สุดของประเทศไทยแล้ว" ในการทำงานที่อำเภออมก๋อย ปลัดบอมเล่าให้ฟังว่า เหมือนฝันกลายเป็นจริง เขาได้ทำงานพัฒนาพื้นที่ที่ไปได้ไกลกว่าการเป็น "เด็กค่าย" แล้ว “ช่วงเป็นปลัดอำเภอที่อำเภออมก๋อย ผมต้องดูความต้องการของพื้นที่ เพื่อนำไปของบประมาณจากทางจังหวัด อย่างที่เล่าว่าคนทำค่ายอาสามีข้อจำกัดในการทำโครงการใหญ่ ๆ แต่ผมกำลังจะได้ทำเต็มตัว หนึ่งในนั้นคือโครงการถนนวงแหวนที่เป็นเส้นหลักในการสัญจรบนดอย เป็นการเชื่อมโยง 4 ตำบลในพื้นที่ เมื่อก่อนเวลาเข้าหน้าฝน การสัญจรบนดอยลำบากมาก ถนนเป็นโคลนเลนเละเทะ ผมได้ร่วมผลักดันกับนายอำเภอ ประสานงานไปยังหน่วยงานใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งกรมทางหลวงชนบทรับเข้าไปในโครงการหลัก เพื่อสำรวจพื้นที่ทำเป็นถนนคอนกรีตหรือลาดยางในระยะต่อไป ช่วงเวลาเกือบสองปีที่นั่น ถือเป็นงานในอุดมคติเลย ทั้งตัวพื้นที่ ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และความท้าทายในงาน “หลังจากประจำที่อำเภออมก๋อย ผมย้ายมาช่วยราชการที่กรุงเทพฯ วันนั้นเปิดอินเทอร์เน็ตเจอว่าโรงพยาบาลอมก๋อย (สาขาแม่ตื่น) เปิดบริจาคเงินไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ปกติการสอบปลัดอำเภอจะมีติวเตอร์ทำชีทอ่านเตรียมสอบออกมาขาย แล้วถ้าเราขายชีทเหมือนกัน แต่เอาเงินไปช่วยคนล่ะ คิดมาสักพักแล้ว เลยสบโอกาสได้ทำจริง ผมปรึกษากับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอมก๋อย เขาก็โอเค ผมรวบรวมแนวข้อสอบต่าง ๆ แล้วอธิบายคำตอบอย่างละเอียด ตั้งใจว่าคงสัก 200-300 เล่ม อาศัยเครดิตคนสอบได้ที่หนึ่งของประเทศมาช่วยให้ขายได้ ปรากฏว่าขายได้ 600 เล่ม บางคนโอนเงินมาเกินด้วย เงินบริจาคทั้งหมดเจ็ดหมื่นกว่าบาท ดีใจนะ นอกจากงานปกติแล้ว ผมได้ใช้ความรู้ความสามารถมาช่วยเหลือคนที่ขาดแคลน แล้วไม่ใช่แค่เงินให้เปล่า แต่การขายชีทเป็นการแลกเปลี่ยน คนได้เอาไปอ่านสอบด้วย ... “หลังจากนั้นผมย้ายขึ้นไปอําเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมย้ายมาอยู่อำเภอสบเมย ตลอดหลายปีในอาชีพปลัดอำเภอ ผมรับผิดชอบงานหลายแบบ ทั้งโครงการใหญ่ ๆ อย่างการทำถนน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ รวมไปถึงงานรับเรื่องร้องทุกข์แล้วเข้าไปไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของชาวบ้าน เราได้รับรู้ปัญหาและหาทางแก้ไข โอเค คงช่วยไม่ได้ทุกเรื่องหรอก ถ้าไม่ใช่ความรับผิดชอบโดยตรงก็เป็นกระบอกเสียงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ โดยรวมแล้วเป็นอาชีพที่ตอบโจทย์ชีวิตมาก ผมได้ใช้ชีวิตในชนบท ได้ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ และได้ช่วยเหลือชาวบ้าน ผมมีความสุขที่ได้ทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้นนะ”   เรื่อง: ณัฐกร เวียงอินทร์ ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ(แอดมินเพจ มนุษย์กรุงเทพฯ)