"ถุงยางอนามัย" สินค้ายอดฮิตช่วงกักตัวโควิด...จริงหรือ?

"ถุงยางอนามัย" สินค้ายอดฮิตช่วงกักตัวโควิด...จริงหรือ?
กักตัวอยู่บ้านหลายสัปดาห์ หลายคนเลยคิดเล่น ๆ ว่า ยอดขาย “ถุงยางอนามัย” น่าจะพุ่ง แต่จะเป็นอย่างที่ว่าจริงหรือเปล่า มาลองหาคำตอบกัน ก่อนอื่นมาสำรวจตลาดถุงยางอนามัยในบ้านเราดูก่อน ผลสำรวจพบว่า ปี 2561 ตลาดถุงยางอนามัยของเมืองไทยมีมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท (ลดลงจากปี 2560 ราว 2.9%) ผู้เล่นเบอร์หนึ่งคือแบรนด์อินเตอร์อย่าง Durex (ดูเร็กซ์) ที่ครองส่วนแบ่งไปเกือบครึ่งคือ 49.4% รองลงมาคือถุงยางอนามัยแบรนด์ไทย ONETOUCH (วันทัช) ด้วยสัดส่วน 27.1% ส่วนเบอร์สามคือ Okamoto (โอกาโมโต) ถุงยางอนามัยนำเข้าจากญี่ปุ่น ที่ครองตลาดไป 11.7% “ตลาดถุงยางอนามัยในไทยมีการเติบโตเรื่อย ๆ บางปีตัวเลขอาจลดลงบ้าง แต่ก็ไม่ได้ลดอย่างน่าตกใจ เพราะถุงยางอนามัยยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย” ธนรัตน์ รักอริยะพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮายาชิ โปรดักส์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายถุงยางอนามัย Okamoto บอก ธนรัตน์นำเข้าและจัดจำหน่ายถุงยางอนามัย Okamoto อย่างเป็นทางการมาได้เกือบสิบปีแล้ว แม้ตอนนั้นเมืองไทยจะมีเจ้าใหญ่ครองส่วนแบ่งอยู่ก่อน แต่จุดเด่นของ Okamoto ที่ทำให้ธนรัตน์ตัดสินใจเดินหน้านำแบรนด์นี้เข้ามาทำตลาดก็คือ การเป็นถุงยางอนามัยเพียงรายเดียวที่ทำถุงยางธรรมชาติบางที่สุดในโลกได้คือ 0.03 มิลลิเมตร ถึงช่วงแรก ๆ ของการนำเข้ามาจำหน่ายจะขลุกขลัก เพราะผู้บริโภคยังติดกับแบรนด์อื่น แต่ผ่านไปสักพัก สินค้าก็เริ่มติดลมบน โดยเฉพาะซีรีส์ 003 ซึ่งเป็นถุงยางที่บางสุด ส่งให้ยอดขาย 4-5 ปีแรกเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 20% ขึ้นไปทุกปี โดยมีฤดูกาลที่ขายดีสุด ๆ คือ เดือนธันวาคม-มกราคม ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าเข้าปีใหม่ เป็นบรรยากาศแห่งความสุขและการเฉลิมฉลอง ส่วนปีที่แล้ว เขาเล่าว่า ยอดขายถุงยางอนามัย Okamoto ถือว่ายังทรง ๆ ไม่ได้ดีขึ้นหรือน้อยลงเท่าไหร่ ถ้าให้สรุปก็คงแตกต่างจากปีก่อน ๆ ไม่มาก แต่สิ่งที่ต้องระวังและต้องเตรียมแผนไว้คือ เศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของทุกคน “แบรนด์ของเรามีราคาค่อนข้างสูงกว่าแบรนด์อื่น ถ้าคนมีรายได้น้อยลง เขาก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ที่ราคาถูกกว่า” ธนรัตน์ บอก   มาปีนี้ที่โควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้คนส่วนมากกักตัวเพื่อความปลอดภัย แถมยังมีแคมเปญ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" อาจเกิดการสานรักสานสัมพันธ์กันมากขึ้น หลายคนจึงอดแซวกันขำ ๆ ไม่ได้ว่า สงสัยยอดขายถุงยางน่าจะพุ่ง กลายเป็นสินค้าขายดีอย่างเงียบ ๆ เรื่องนี้จริงหรือไม่จริงกันแน่? “มันก็อาจมีส่วนจริงอยู่บ้าง” ธนรัตน์ ให้ความเห็น แล้วบอกต่อว่า แต่บางคนที่เป็นคนรักหรือเป็นแฟนกัน ไม่ได้เจอกันก็มี บางคนทำงานกลุ่มเสี่ยงหรือกลับจากประเทศเสี่ยง เลยเลือกจะกักตัวด้วยการแยกห้องกันอยู่หรืออยู่ห่าง ๆ กันไปเลย ส่วนหนึ่งเพื่อความปลอดภัยของอีกฝ่ายและคนในครอบครัว เพราะไม่อยากให้ใครต้องตกอยู่ในความเสี่ยงไปด้วย เพราะฉะนั้น 14 วันที่กักตัว ก็มีแนวโน้มที่จะไม่มีอะไรกันอยู่แล้ว แต่ละคนเจอกันน้อยลง ปฏิสัมพันธ์ก็น้อยลงตามหลัก “อาบอบนวดที่ต้องใช้ถุงยางแน่นอนอยู่แล้วก็ปิดไปแล้ว สถานบันเทิงก็ปิดทุกแห่ง คือสถานบันเทิงเขาไม่ได้ใช้ถุงยาง แต่ลูกค้าที่ไปเที่ยวมักจะพกถุงยาง ซึ่งตอนนี้ไม่มีแล้ว ยิ่ง one night stand ตอนนี้ยิ่งไม่มีใครกล้าเสี่ยง ขนาดแฟนบางคนยังไม่เสี่ยงเลย คือหลายอย่างส่งผลให้การใช้ถุงยางลดลง แต่ก็คงมีคนที่อยู่บ้านแล้วมีเซ็กซ์กันก็มี แต่โดยรวมก็ไม่ใช่ว่าทุกคนอยู่บ้านแล้วจะว่าง ๆ ไม่เครียด มีความสุข แล้วมีเซ็กซ์ เพราะตอนนี้บางคนไม่มีงาน ไม่มีเงิน ถามว่าจะมาทำตรงนี้ไหม ก็อาจไม่มีอารมณ์จริง ๆ” สถานการณ์เหล่านี้ รวมถึงการกำหนดเวลาเปิดปิดร้านสะดวกซื้อที่ไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมงเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ยอดขายถุงยางของ Okamoto ตกลงราว 20-25% ธนรัตน์คาดการณ์ว่า ยอดที่ตกน่าจะเกิดขึ้นกับตลาดถุงยางเมืองไทยโดยรวมเช่นกัน เขาจึงต้องปรับตัวรับมือด้วยการเน้นสื่อสารและขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งเว็บไซต์ของตัวเองอย่าง Okamoto Thailand รวมทั้งแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Lazada, Shopee แต่เนื่องจากยังมีการสั่งปิดสถานบันเทิงและอาบอบนวด ลูกค้าที่สั่งซื้อถุงยางออนไลน์เพื่อเอาไปใช้ตามสถานที่เหล่านี้ก็อาจยังไม่ซื้อ เพราะไม่มีที่ใช้ “เพราะฉะนั้น เลยไม่ได้หมายความว่าคนไม่ออกจากบ้านแล้วจะหันมาซื้อถุงยางอนามัยออนไลน์กันเยอะขึ้น แต่ยังไงก็ตาม ยอดขายออนไลน์ก็ยังไปได้เรื่อย ๆ ไม่ตกชัดเจนเท่ายอดขายออฟไลน์” เขาสรุป ในโมงยามที่ทุกธุรกิจต่างต้องเอาตัวรอด ไม่เว้นแม้แต่ถุงยางอนามัย ที่แม้ธนรัตน์จะบอกว่าตอนนี้ยังโชคดีที่โควิด-19 ยังไม่ค่อยกระทบการดำเนินงานของบริษัทในภาพรวมเท่าไหร่นัก แต่เขาก็ไม่ประมาท ต้องคิดหาแผนเตรียมรับสถานการณ์อยู่ตลอด “ทุกคนต้องปรับตัวกับสถานการณ์นี้ มันจะสั้นหรือจะยาว เราก็ต้องผ่านพ้นมันไปด้วยกันให้ได้ เข้าใจว่าบางธุรกิจปรับยากจริง ๆ ยิ่งงานบริการยิ่งยาก แต่ในวิกฤตยังมีโอกาส ลองคิดหาทางแก้ คิดหาทางออก ตอนนี้เอาแค่พอรอด แค่พอให้หายใจได้ พอจ่ายค่าข้าว พอจ่ายค่าเช่า อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกัน ประคับประคองกัน แล้วเราจะรอดไปด้วยกันได้อย่างแน่นอน”