ทัตสึฮิโกะ อาคาชิ: กล่องสุ่มเจ้าหมี BE@RBRICK ของเล่นผู้ใหญ่ที่มีไว้โชว์

ทัตสึฮิโกะ อาคาชิ: กล่องสุ่มเจ้าหมี BE@RBRICK ของเล่นผู้ใหญ่ที่มีไว้โชว์
ถ้าพูดถึงของเล่นที่ไม่ได้มีไว้เล่น แต่มีไว้โชว์ คงจะหนีไม่พ้นเจ้าหมีรูปร่างเหมือนคนในรูปแบบคล้ายเลโก้ ที่เหล่าคนดังไม่ว่าจะเป็น ท็อป บิ๊กแบง (T.O.P BIGBANG) บอย-ปกรณ์ หรือหมอเจี๊ยบ ต่างก็มีเจ้าตัวนี้วางเรียงรายอยู่ในบ้านทั้งนั้น เพราะถ้าจะให้เอามาเล่นจนพัง ก็คงจะเสียดายแย่ เพราะแต่ละชิ้นนั้นมีราคาสูงเสียจนไม่กล้าหยิบออกมาเล่น ได้แต่อยู่ในตู้โชว์ของนักสะสมทั่วโลก จนได้ชื่อว่า ‘เป็นของเล่นของผู้ใหญ่’  เจ้าหมีเหล่านี้คือ BE@RBRICK (อ่านว่า แบร์บริค) ตุ๊กตาหมีพลาสติกรูปร่างแปลกตาที่เกิดจากการออกแบบและผลิตของบริษัท MediCom Toy ภายใต้การดูแลของ ทัตสึฮิโกะ อาคาชิ (Tatsuhiko Akashi) เด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่น ที่เกิดในมินาโตะ ก่อนจะย้ายมาทำธุรกิจในย่านชิบูย่า ในช่วงเริ่มแรก อาคาชิเริ่มทำงานในบริษัทคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่ง ที่แม้จะมีรายได้ที่ดีมาก แต่ต้องแลกมาด้วยการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยงานและรูทีน จนไม่มีเวลาให้กับตัวเอง จนกระทั่งวันหนึ่งที่เขาได้มีโอกาสออกไปเดินเล่นในชิบูย่า ทำให้อาคาชิได้พบกับ ZAAP ร้านขายของเล่นอเมริกันร้านหนึ่งเข้าโดยบังเอิญ “ตอนนั้นในกระเป๋าเงินมีเงินอยู่ประมาณ 800 ดอลลาร์ และสุดท้ายก็ใช้เงินไปทั้งหมด” การใช้เงินกับความสุขในวันนั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจลาออกจากงานและเริ่มต้นสร้างบริษัทของเล่นเป็นของตัวเองในเวลาต่อมา  ในปี 1996 อาคาชิเริ่มต้นสร้างบริษัท MediCom Toy ขึ้นจากพื้นที่เล็ก ๆ ในชิบูย่าที่มีพื้นที่เพียง 6 ตารางเมตร  โดยเริ่มจากการสร้างของเล่นในรูปแบบของ ‘Kubrick’ โมเดลบล็อกของสะสมที่มีลักษณะเป็นเลโก้ในรูปร่างคนที่แตกต่างกันออกไป ทัตสึฮิโกะ อาคาชิ: กล่องสุ่มเจ้าหมี BE@RBRICK ของเล่นผู้ใหญ่ที่มีไว้โชว์ โดยคำว่า Kubrick นั้นมีที่มาจากการตั้งชื่อตามผู้กำกับในตำนานอย่างสแตนลีย์ คูบริค (Stanley Kubrick) กับการเล่นคำกับคำว่า ‘Ku’ ที่ออกเสียงคล้ายเลข 9 เพราะตัวของเล่นสามารถขยับข้อต่อได้ 9 ส่วน และ ‘Brick’ ที่หมายถึงอิฐที่ใช้ในการประกอบให้กลายเป็นของเล่นขึ้นมา หลังจากปล่อยออกมาได้ไม่นาน Kubrick ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากทั่วโลก ด้วยกระแสของภาพยนตร์ของสแตนลีย์ในช่วงนั้น จนทางบริษัทได้รับลิขสิทธิ์ในการผลิตฟิกเกอร์จำนวนมากให้กับภาพยนตร์ต่อมาอีกหลายเรื่อง และขยายการผลิตไปถึงตัวการ์ตูนในหนังสืออย่าง Berserk, Marvel Comics และ DC Comics ด้วย จนกระทั่งในปี 2001 ผู้จัดงาน World’s Character Convention ได้ติดต่ออาคาชิ เพื่อสั่งทำ Kubrick ในจำนวนที่มากถึง 10,000 ชิ้น เพื่อแจกเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้เข้าร่วมงาน จำนวนที่มีปริมาณมากและเวลาที่กระชั้นชิด กลายเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายสำหรับอาคาชิเป็นอย่างมาก เพราะในการทำ Kubrick หนึ่งตัวจะต้องใช้ต้นทุนในแต่ละตัวสูงมาก เนื่องจากมีรูปร่างที่ต่างกันออกไป จำเป็นต้องใช้แรงงานและเวลาเป็นอย่างมากในการทำแม่พิมพ์ที่แตกต่างขึ้นมา อาคาชิจึงเสนอไอเดียในการทำแม่พิมพ์เพียงครั้งเดียว ด้วยลักษณะหัวที่เป็นหมีและตัวที่เป็นคน แต่ยังคงลักษณะข้อต่อ 9 ชิ้นเหมือนใน Kubrick เอาไว้ เพื่อประหยัดแรงงาน ราคา และสามารถทำเสร็จได้ในเวลาที่มีเพียงน้อยนิด และเรียกมันว่า BE@RBRICK โดยขายไอเดียการเปลี่ยนลวดลายบนตัวแทนการเปลี่ยนรูปร่าง ให้ตัวหมีเปรียบเสมือนผ้าใบวาดภาพที่ใครจะวาดอะไรลงไปก็ได้  เรียกได้ว่าทำได้ง่าย แต่สร้างมูลค่าได้มหาศาล ส่วนตัว @ ในชื่อ BE@RBRICK ก็มาจากการปั๊มเครื่องหมาย @ ลงใน  BE@RBRICK ที่แจกในงานนั่นเอง ทัตสึฮิโกะ อาคาชิ: กล่องสุ่มเจ้าหมี BE@RBRICK ของเล่นผู้ใหญ่ที่มีไว้โชว์ ด้วยเหตุนี้ BE@RBRICK จึงได้ถือกำเนิดขึ้น ก่อนจะกลายเป็นของเล่นตัวใหม่ที่ครองใจนักสะสม และสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับอาคาชิและ MediCom Toy ในเวลาต่อมา ถึงแม้ว่า BE@RBRICK จะมีรูปร่างแบบเดียว แต่ขนาดของมันมีให้ผู้บริโภคเลือกมากถึง 6 ขนาด และอาคาชิสร้างพิเศษให้มันด้วยการเรียกแต่ละขนาดเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยไล่ตั้งแต่ 50% (3.5 เซนติเมตร) ไปจนถึง 1000% (70 เซนติเมตร) ให้เลือกสะสม แต่จะให้มาเลือกซื้อเหมือนของสะสมทั่วไป มันก็คงไม่ใช่ BE@RBRICK  เพราะอาคาชิวางขาย BE@RBRICK ในรูปแบบ ‘Series’ ที่แต่ละตัวจะมีหมายเลขและลวดลายที่แตกต่างกันตามแต่ละธีม และวางขายเพียง 2 ครั้งต่อปี คือในฤดูร้อนและฤดูหนาว โดยในแต่ละ ‘Series’ ถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ‘Type’ ได้แก่ Basic, Standard, Artist และ Secret  แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเลือกซื้อตัวที่เราอยากได้ได้เลยจากการไปเลือกที่ร้านหรือซื้อจากออนไลน์ เพราะทุกตัวนั้นถูกขายในรูปแบบกล่องแบบปิด (Blind Box) มองไม่เห็นภายใน ดังนั้นการที่เราจะซื้อสักตัวจึงเป็นการสุ่ม คล้ายการหมุนกาชาปอง ที่มีแค่เงินไม่พอ ต้องมีดวงด้วย ถึงจะได้ตัวที่แรร์หรือเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ถ้าใครที่รู้สึกว่าไม่อยากสุ่มเลย เพราะดวงไม่ดี ทาง BE@RBRICK ก็มีทางเลือกอื่นให้ ด้วยการออกคอลเลกชันทั่วไป ปีละ 2-3 คอลเลกชันเสมอ แต่ก็ต้องใช้จังหวะและความเร็วในการแย่งชิงอยู่ไม่น้อย และลายที่ได้ก็จะไม่ซ้ำกับใน Series ที่เคยปล่อยออกมาแล้วด้วย การมีอยู่อย่างจำนวนจำกัด และหายาก ทำให้หลังจากการเปิดขาย BE@RBRICK ก็มักจะตามมาด้วยการเปิดประมูล หรือแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ซื้ออยู่เสมอเพื่อให้ได้ตัวที่ตัวเองสนใจ  และก็สมกับที่ถูกเรียกว่าเป็นของเล่นของผู้ใหญ่ที่รวยอย่างแท้จริง เพราะสถิติการประมูลสูงสุดที่เคยมี คือการประมูล ‘Qiu Tu’ 1000% BE@RBRICK ผลงานการออกแบบของ Yue Minjun ในปี 2008 ไปด้วยราคาที่สูงถึง 157,000 ดอลลาร์ (5.2 ล้านบาท) เลยทีเดียว ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 25 ปีแล้ว หลังจากที่อาคาชิก่อตั้งบริษัทขึ้นมา แต่กระแสการสะสม BE@RBRICK ก็ยังคงความนิยมจากผู้คนทั่วโลกเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น จากการวางแผนการตลาดที่เยี่ยมยอดจากอาคาชิ รวมไปถึงการร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ หรือศิลปินชื่อดังตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพราะอาคาชิมองว่า BE@RBRICK เป็นมากกว่าแค่ของเล่นหรือของสะสม เขาต้องการทำให้ BE@RBRICK กลายเป็นศูนย์กลางในการสร้างความสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่จะสามารถเชื่อมศิลปินหรือแบรนด์ต่าง ๆ ให้ใกล้ชิดกับคนที่ชื่นชอบพวกเขาได้มากขึ้น ผ่านการสะสมเจ้าหมีตัวนี้   เรื่อง: มณิสร วรรณศิริกุล ภาพ: http://www.bearbrick.com/ และ https://www.youtube.com/watch?v=KOfGmyh2urY . อ้างอิง: https://hypebeast.com/2016/1/bearbrick-beginners-guide https://www.lifestyleasia.com/kl/culture/art-design/what-is-bearbrick/ https://www.highsnobiety.com/tag/bearbrick/ https://www.prestigeonline.com/th/pursuits/art-culture/what-is-bearbrick/ https://jerrylu.substack.com/p/bearbrick-the-new-lego-for-adults https://otakumode.com/news/595b4fa494ca98ae673a6b75/Art-of-Figure-Making-MEDICOM-TOY-and-BE-RBRICK https://www.shibuyabunka.com/keyperson/?id=65&wovn=en