แป๊ะเจี๊ยะ ระบบประมูลเช่าที่ดินจากพระคลังข้างที่ มีมาแต่สมัย ร.5

แป๊ะเจี๊ยะ ระบบประมูลเช่าที่ดินจากพระคลังข้างที่ มีมาแต่สมัย ร.5
“แป๊ะเจี๊ยะ” เป็นภาษาปากคำยืมจากภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า “เงินกินเปล่า” คำนี้มักจะเป็นที่คุ้นเคยกันในวงการศึกษา เนื่องจากมักจะมีข่าวดังหลายระลอกออกมาถึงกรณีโรงเรียนดี ๆ ดัง ๆ มักจะเรียก “แป๊ะเจี๊ยะ” จากผู้ปกครองที่ยื่นซองประมูลเก้าอี้ในห้องเรียนโรงเรียนชั้นนำให้กับลูก ๆ  มีหลายคนแก้ต่างให้กับระบบแป๊ะเจี๊ยะว่า “ก็มันเป็นความสมยอม ไม่มีใครเสียหายอะไรนิ” แต่ข้ออ้างดังกล่าวมิได้พิจารณาบนฐานที่ว่า การศึกษาเป็นสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับอย่างเท่าเทียม การรักษาระบบแป๊ะเจี๊ยะไว้ในแวดวงการศึกษาจึงเป็นการรักษาความได้เปรียบทางสังคมให้กับคนที่มีกำลังจ่าย เพื่อแลกกับผลประโยชน์เป็นตัวเงิน ต่อให้คนให้เต็มใจให้ และคนรับเต็มใจรับ ทั้งสองฝ่ายอาจไม่เสียหายก็จริง แต่สังคมโดยรวมย่อมเสียหาย ถึงอย่างนั้น การประมูลเรียกแป๊ะเจี๊ยะก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเสียหายไปทั้งหมด ข้อดีสำคัญของแป๊ะเจี๊ยะก็คือ การช่วยให้เจ้าของทรัพย์สินแสวงหาประโยชน์สูงสุดในตลาดทุนนิยมเท่าที่สภาวะตลาดในขณะนั้นอำนวย กล่าวคือ หากทรัพย์สินนั้นเป็นที่ต้องการสูงคนย่อมเสนอราคาที่สูง แต่หากตลาดซบเซาเจ้าของทรัพย์ก็ยังสามารถหาประโยชน์จากทรัพย์นั้นได้สูงสุดเท่าที่ตลาดจะสนองได้  เช่นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่การเรียก “แป๊ะเจี๊ยะ” ยังเป็นธรรมเนียมที่แพร่หลาย และมีหลักฐานเก่าแก่อย่างน้อยถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยตัวอย่างสำคัญก็คือ ระบบประมูลเช่าที่ดินของ “พระคลังข้างที่”  ในวิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ของ ชลลดา วัฒนศิริ เรื่อง พระคลังข้างที่กับการลงทุนธุรกิจในประเทศ พ.ศ. 2433-2475 ได้กล่าวถึงระบบการหาผู้เช่าที่ดินของพระคลังข้างที่เอาไว้ว่า  "วิธีการประมูลค่าเช่านี้เริ่มปรากฏมาตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 สำหรับกรณีที่มีผู้เช่าหลายรายต้องการเช่าตึกแถวของพระคลังข้างที่พร้อมกัน พระคลังข้างที่จะใช้วิธีให้ผู้ต้องการเช่าเหล่านี้ประมูลเสนอเงินกินเปล่า หรือที่เรียกกันว่า 'แป๊ะเจี๊ยะ' แข่งกัน ผู้ที่ประมูลเงินกินเปล่าสูงสุดจะได้รับอนุญาตให้เช่าสถานที่นั้น ระยะเวลาตามที่กำหนดในสัญญา วิธีการประมูลสมัยนั้นใช้วิธีประมูลด้วยวาจาในที่สาธารณชน เมื่อพนักงานเคาะไม้เป็นอันตกลงว่าผู้นั้นเป็นผู้ประมูลสูงสุด และได้เป็นผู้เช่าต่อไป" ชลลดากล่าวต่อไปว่า "วิธีการประมูลแป๊ะเจี๊ยะแข่งกันในกรณีที่มีผู้ต้องการเช่าเหมาตึกจำนวนมากเช่นนี้เป็นทางเพิ่มผลประโยชน์รายได้ให้พระคลังข้างที่จำนวนมาก โดยไม่รวมถึงค่าเช่ารายเดือนที่ได้รับต่างหาก จนบางครั้งมีหนังสือพิมพ์วิจารณ์ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระคลังข้างที่หาวิธีที่จะให้มีการประมูลบ่อย ๆ โดยทำสัญญาเช่ากำหนดช่วงเวลาให้สั้นลง  “นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาจากผลของการประมูลคือ ผู้ที่ประมูลได้นำตึกแถวหรือห้องเช่าไปแบ่งให้มีผู้เช่าช่วงเพื่อเอากำไรต่อ และเรียกเก็บเงินกินเปล่าจากผู้เช่ารายย่อยอีกครั้งหนึ่งทำให้ผู้เช่าหลายรายได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้เช่ารายย่อยเป็นพ่อค้าที่ค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ พอมีพอกินเท่านั้น ไม่สามารถไปประมูลแข่งกับพ่อค้ารายใหญ่ได้ จึงต้องใช้วิธีเช่าช่วงต่อจากพ่อค้ารายใหญ่เหล่านี้" แม้จะมีการประมูลอย่าง “โปร่งใส” แต่จะเห็นว่า ระบบแป๊ะเจี๊ยะสมัยนั้นก็ออกจะคุ้มครองประโยชน์ให้กับเจ้าที่ดินกับคนกลางเป็นหลัก ส่วนผู้ที่อยู่ระดับล่างสุดซึ่งเป็นผู้ที่ต้องดิ้นรนทำให้ที่ดินตรงนั้นงอกเงยผลประโยชน์ขึ้นมาก็ถูกรีดผลประโยชน์สูงสุด เมื่อคนกลางพร้อมที่จะประมูลในราคาสูง เพราะรู้ว่าตัวเองยังสามารถนำไปหาประโยชน์ต่อได้อย่างแน่นอน และการที่พระคลังข้างที่กำหนดว่าผู้เช่าจะต้องจ่ายแป๊ะเจี๊ยะทุกครั้งที่ทำสัญญาก็เกิดปัญหาเมื่อคนกลางเกิดผิดสัญญา  เช่นในสมัยรัชกาลที่ 6 คนกลางที่ชื่อว่า “ยู่กิม” ได้ประมูลเช่าห้องแถวด้วยเงินแป๊ะเจี๊ยะ 5,000 บาท กับค่าเช่าเดือนละ 171 บาท ทำสัญญา 1 ปี เขาได้นำไปปล่อยเช่าต่อ พร้อมเรียกเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะอีกทอดด้วยราคาห้องละ 700-1,300 บาท ค่าเช่าอีกเดือนละ 12-15 บาทต่อห้อง ปรากฏว่า ยู่กิมเกิดผิดสัญญาขึ้นมา พระคลังข้างที่จึงเรียกตึกคืนทั้งหมดแล้วนำไปประมูลใหม่ ขณะที่ผู้เช่าช่วงจ่าย “แป๊ะเจี๊ยะ” ให้กับยู่กิมไปก่อนแล้ว ผู้เช่าจึงพากันร้องเรียนว่าการประมูลใหม่จะทำให้พวกเขาเสียหายหลายซ้อน สุดท้ายพระคลังข้างที่จึงหาทางออกด้วยการยกเลิกการประมูล แต่เรียกเก็บแป๊ะเจี๊ยะจากผู้เช่าในอัตราห้องละ 100-400 บาทแทน  ซึ่งก็แปลว่า ถึงอย่างไรผู้เช่าลำดับสุดท้ายก็เป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ดี ชลลดากล่าวว่า “ปัญหาดังกล่าวได้มีผู้ร้องเรียนอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 7 และเจ้าหน้าที่พระคลังข้างที่ก็มักตอบเพื่อเลี่ยงการแก้ปัญหาเสมอ เช่น ว่า ถ้าแพงก็ไม่ต้องเช่าเพราะมิได้บังคับเป็นความพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริไม่ประสงค์ให้เกิดปัญหาเหล่านี้อีก โดยมีพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า "...ในการที่ยอมให้ผู้อื่นไปให้เช่าช่วงขูดเลือดเช่นนี้ ฉันไม่อยากให้มีเสียงอย่างนี้เลย เวลานี้การให้เช่าช่วงตึกของพระคลังข้างที่ ก็ออกจะเอิกเกริกอื้อฉาวเงินงามอยู่แล้ว..."  ทางแก้ไขในตอนนั้นก็คือ ให้ผู้เช่าเหมาทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่นำไปให้เช่าช่วงโดยเรียกเก็บแป๊ะเจี๊ยะซ้ำอีก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพระคลังข้างที่ ปัญหาดังกล่าวจึงพอทุเลาลงไปบ้าง ทั้งนี้ คำว่าแป๊ะเจี๊ยะนั้น ตามธรรมเนียมจีนอาจจะต่างจากธรรมเนียมไทย ตรงที่ฝ่ายไทยนำมาใช้ในการเรียกกระบวนการหาผลประโยชน์สูงสุดตามระบบทุนนิยม แต่ทางธรรมเนียมจีน แป๊ะเจี๊ยะเป็นเรื่องของ “มารยาท” มากกว่า  "คนจีนมีวัฒนธรรมว่า ไปหาใครต้องเอาของไปให้" ผศ. ดร. ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญธรรมเนียมจีนกล่าวกับ Thai PBS ก่อนเสริมว่า "อย่างคนจะไปค้าขายที่ไหนเขาก็จะต้องเอาของไปกำนัลไปเป็นค่าน้ำร้อนน้ำชาของผู้มีอิทธิพล” “มันเกิดจากผู้ให้สมัครใจเองโดยผู้รับไม่ได้เรียกร้อง" ถาวรกล่าว ด้วยเหตุนี้ “การเรียกแป๊ะเจี๊ยะ” ในสังคมไทยจึงต่างจากธรรมเนียมจีน (ตามที่ถาวรอ้างถึง) เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจของไทย “เรียกร้อง” แป๊ะเจี๊ยะ เพื่อให้ผลประโยชน์อื่นใดเป็นการต่างตอบแทน ต่อให้ทั้งสองฝ่ายสมัครใจ แต่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เรียกร้อง ซึ่งหากอีกฝ่ายไม่ทำตามก็ย่อมไม่ได้รับการสนองประโยชน์ สำหรับ "พระคลังข้างที่" นั้นมีรากประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานนับร้อยปี แต่เพิ่งมีการปฏิรูปตั้งขึ้นเป็นกรมตามพระราชบัญญัติเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 มีใจความสำคัญในกฎหมายดังกล่าวบางตอนว่า "...เพื่อทำหน้าที่ดูแลจัดการพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งในด้านของการเบิกจ่าย การจัดการหาผลประโยชน์รายได้เพื่อเพิ่มพระราชทรัพย์ และจัดการนำส่งกระทรวงพระคลังสมบัติ...บรรดาเงินภาษีอากรต่าง ๆ ซึ่งแบ่งเป็นเงินงวด และเงินพระคลังข้างที่ทั้งปวงให้บวกเป็นเงินแผ่นดินอย่างเดียวกันทั้งสิ้น และเงินแผ่นดินปีหนึ่งได้รับเท่าใด ให้หักเป็นเงินส่วนพระคลังข้างที่ ร้อยละ 15" สมัยรัชกาลที่ 5 จึงเป็นสมัยแรกที่มีการแยกเงินแผ่นดินกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก็ยังได้รับแบ่งจากเงินแผ่นดินในอัตราที่สูง การตั้งกรมพระคลังข้างที่ยังช่วยส่งเสริมให้พระราชทรัพย์งอกเงยตามสภาพเศรษฐกิจ  พระคลังข้างที่จึงอยู่ในฐานะผู้ลงทุนรายใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นเจ้าของเงินทุนสำหรับให้กู้ที่สำคัญในยุคที่ธนาคารพาณิชย์ยังเพิ่งตั้งตัว มีการลงทุนในหลายด้าน และด้วยอำนาจรัฐเอื้ออำนวย จึงสามารถจับจองพื้นที่ได้ก่อนเมื่อมีโครงการตัดถนนใหม่ ๆ และยังมีการเวนคืนที่ดินจากหน่วยงานราชการมาอยู่กับพระคลังข้างที่ได้ตามพระราชประสงค์ (มีพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า "...เมื่อที่ตกเปนเหลวงฉนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็มีอำนาจที่จะยกให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเปนสิทธิ์ขาดได้ตามพระราชประเพณีซึ่งเปนพระบรมราชานุภาพแห่งพระเจ้าแผ่นดินอันเปนอยู่ในกาลบัดนี้”) จึงทำให้พระคลังข้างที่มีที่ดินมูลค่าสูงมากมายสืบมา