"ทีมฮอยต์" เรื่องราวของพ่อ ที่เข็นลูกชายลงแข่งรายการวิ่งมาแล้วกว่าพันครั้ง

"ทีมฮอยต์" เรื่องราวของพ่อ ที่เข็นลูกชายลงแข่งรายการวิ่งมาแล้วกว่าพันครั้ง
มาราธอน คือการแข่งขันวิ่งระยะยาวที่นักวิ่งต้องอาศัยทั้งพลังกาย พลังใจ และการเตรียมพร้อมอย่างดีที่สุด ลำพังการวิ่งมาราธอนคนเดียวก็ยากที่จะเอาชนะความเหนื่อยล้าและพาตัวเองไปถึงเส้นชัยที่ 42.195 กิโลเมตร แต่ถ้าต้องวิ่งไปด้วยและต้องเข็นคนอื่นไปด้วย ความยากจะเพิ่มขึ้นขนาดไหน? แต่นี่คือสิ่งที่ ดิค ฮอยต์ (Dick Hoyt) สุดยอดคุณพ่อทำมาตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี เพื่อสานความฝันของลูกชายให้เป็นจริงให้ได้  ปี 1962 ดิครับรู้ข่าวอันน่าเศร้าจากหมอว่า ริค ฮอยต์ (Rick Hoyt) ลูกชายที่เพิ่งเกิดของเขาจะเป็นอัมพาต เพราะมีภาวะขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ริคจะไม่สามารถบังคับอวัยวะที่อยู่ต่ำลงไปกว่าคอได้ และต้องใช้ชีวิตบนเตียงอย่างเดียวดายด้วยการนอนเป็นผัก หลายคนแนะนำให้ดิคส่งริคไปที่ศูนย์พักพิงเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลต่อดีกว่า แต่ดิคและ จูดี้ ภรรยาของเขากลับปฏิเสธข้อเสนอนั้น “พวกเราร้องไห้กันนิดหน่อย แต่ก็ตัดสินใจแล้วว่า ไม่มีทาง เราจะไม่ทิ้งเขา เราจะพาเขากลับบ้าน” เด็กชายริคได้รับการเลี้ยงดูไม่ต่างจากเด็กคนอื่น ๆ แม้ริคจะไม่สามารถขยับร่างกายได้ แต่พ่อแม่ของเขาเชื่อว่าเด็กคนนี้จะเติบโตมามีสติปัญญาดี สังเกตจากแววตาใส ๆ ที่ดูจะสนอกสนใจบทสนทนาของทุกคนในบ้าน พวกเขาค่อย ๆ ใช้เวลาในการสอนริคให้รู้จักตัวอักษรและวิธีจดจำคำศัพท์ แน่นอนว่าต้องใช้ทั้งเวลาและความอดทน แต่ในที่สุดริคก็ส่งสัญญาณว่าเขาสามารถจำคำศัพท์และวิธีอ่านเขียนได้ "ทีมฮอยต์" เรื่องราวของพ่อ ที่เข็นลูกชายลงแข่งรายการวิ่งมาแล้วกว่าพันครั้ง ตอนริคอายุ 12 ดิคและจูดี้มอบคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งให้เขา มันเป็นคอมพิวเตอร์พิเศษที่ต่อแป้นพิมพ์จากหน้าจอมาไว้ที่ด้านหลังศีรษะ เพื่อให้ริคสามารถขยับคอและบังคับหัวให้กดลงไปบนแป้นพิมพ์ เพื่อส่งข้อความสื่อสารกับครอบครัวเขาได้ นี่เป็นครั้งแรกที่ริคพิสูจน์ให้หลายคนเห็นว่าเขาสามารถอ่านออกเขียนได้จริง ๆ แม้จะขยับร่างกายไม่ได้เหมือนคนอื่นก็ตาม ริคจึงมีโอกาสเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลใกล้บ้าน ก่อนจะเรียนต่อจนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยบอสตัน และได้รับการว่าจ้างให้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยหลังจบการศึกษา เย็นวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิปี 1977 จู่ ๆ ริคก็ใช้คอมพิวเตอร์ส่งข้อความบอกพ่อว่า เขาอยากเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนเพื่อช่วยเหลือนักกีฬาที่ประสบอุบัติเหตุและกลายเป็นอัมพาต ข้อความนี้คงไม่ดูเป็นเรื่องแปลกอะไรเลย ถ้าริคไม่ได้เป็นเด็กที่ใช้ชีวิตบนรถเข็นมาตลอด  “เขากลับมาบ้าน แล้วก็บอกผมว่า ‘พ่อครับ ผมคิดว่าผมต้องทำอะไรสักอย่าง ผมอยากทำให้เขารู้ว่าชีวิตมันยังไปต่อได้แม้ว่าจะพิการ ผมอยากร่วมแข่งในรายการนี้’”  แม้จะเป็นงานวิ่งการกุศลที่มีระยะทางเพียง 5 ไมล์ แต่ปัญหาคือดิคไม่ใช่นักวิ่ง แม้จะเคยมีอาชีพเป็นทหารในกองทัพอากาศ แต่เขาเป็นเพียงคุณพ่อวัย 40 ที่ไม่ได้มีเวลาออกกำลังกายบ่อยนัก แต่เพราะนี่เป็นครั้งที่แรกที่เขาเห็นลูกชายอยากช่วยเหลือคนอื่น ความรักอันยิ่งใหญ่ที่ดิคมีต่อลูกทำให้เขาไม่อาจปฏิเสธคำขอนั้นได้ ปี 1977 ดิคจบการลงแข่งวิ่งโดยเข็นลูกชายวัย 15 ปีไปตลอดระยะทาง 5 ไมล์ในการแข่งนั้น "ทีมฮอยต์" เรื่องราวของพ่อ ที่เข็นลูกชายลงแข่งรายการวิ่งมาแล้วกว่าพันครั้ง “ทุกคนคิดว่าเราคงไปได้ไม่ไกล และต้องออกจากการแข่งขันก่อน แต่ไม่เลย เราสองคนจบระยะทางทั้งหมดนั่น และเข้าเส้นชัย” ดิคบอกว่าเขาภูมิใจมาก และคิดว่าคงเป็นความสำเร็จครั้งหนึ่งที่ลูกชายเขาจะจดจำเอาไว้ เขาไม่เคยคิดเลยว่าการแข่งครั้งนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งวิ่งอีกมากมายนับพันรายการ เพียงเพราะประโยคเดียวที่ริคบอกกับเขาหลังจบการแข่งขันว่า “พ่อครับ ตอนที่ผมแข่งวิ่ง ผมรู้สึกเหมือนไม่ใช่คนพิการ” แม้ตลอดการแข่งขัน คนที่ออกแรงวิ่งจะเป็นฝ่ายพ่อ แต่ริคกลับรู้สึกเหมือนเป็นร่างกายของเขาเองที่กำลังขยับ “เขาเรียกตัวเองขณะวิ่งว่า Free bird เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกว่าตัวเองสามารถวิ่งได้เหมือนคนอื่น ๆ” ดิคจึงสัญญากับตัวเองว่าเขาจะต้องทำให้ลูกชายได้สัมผัสกับความรู้สึกนี้อีกให้ได้ และนั่นก็เป็นทางเลือกที่ทำให้ชีวิตของดิคและริคเปลี่ยนไปตลอดกาล “หลังจบการแข่งครั้งแรก ผมแทบเดินไม่ได้ไป 2 อาทิตย์ ผมคิดว่าถ้าอยากจะลงแข่งต่อ คงต้องทำอะไรสักอย่างกับรถเข็นของลูก” ด้วยเหตุนี้ ดิคจึงสั่งทำรถเข็น 3 ล้อแบบพิเศษที่จะไม่ลื่นไถลออกนอกทิศทาง และเหมาะกับการบังคับจากการเข็นทางด้านหลัง พวกเขาเริ่มต้นจากการลงแข่งในสนามมาราธอนรายการต่าง ๆ ก่อนจะตัดสินใจขยับไปสมัครเข้าร่วมงานแข่งวิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุด นั่นคือ บอสตัน มาราธอน (Boston Marathon) แม้ทีแรกผู้จัดงานจะคัดค้านการเข้าร่วมของพวกเขา แต่สุดท้ายดิคและริคก็ได้ลงแข่ง และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของตำนานพ่อลูก ‘ทีมฮอยต์’ ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของบอสตัน มาราธอน หลังจากนั้น ตลอดระยะเวลา 37 ปี พ่อลูกทีมฮอยต์เข้าร่วมการแข่งขันมาแล้วกว่า 1,130 รายการ เป็นมาราธอนมากกว่า 70 ครั้ง ไตรกีฬากว่า 200 ครั้ง พวกเขายังเคยลงแข่งในสนาม Ironman Triathlons ที่ นอกจากต้องวิ่งเป็นระยะทางกว่า 26 ไมล์แล้ว ยังต้องปั่นจักรยาน แถมต้องว่ายน้ำต่อไปอีก 2.4 ไมล์ เพื่อพิชิตการแข่ง แม้จะดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยจักรยานสั่งทำพิเศษที่เสริมเบาะนั่งของริคไว้ด้านหน้า และห่วงยางที่ดิควางร่างของริคลงไปก่อนจะว่ายน้ำและลากลูกชายไปจนถึงฝั่ง ในที่สุดทีมฮอยต์ก็สามารถพิชิตการแข่งขันนั้นมาได้ ดิคให้สัมภาษณ์หลังจบการแข่งว่า ไม่ใช่แค่มีใจสู้แล้วจะสามารถทำได้ แต่ยังต้องอาศัยการฝึกซ้อม ดิคตื่นมาซ้อมวิ่งโดยเข็นรถเข็นที่บรรจุถุงปูนซีเมนต์ทุก ๆ วัน และทำแบบเดียวกันกับจักรยาน และห่วงยางที่เขาต้องใช้แข่ง นี่จึงไม่ใช่ชัยชนะที่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นการเตรียมตัวอย่างดี สองพ่อลูกยังอึดถึงขั้นเคยลงแข่งในการวิ่งและปั่นจักรยานข้ามสหรัฐอเมริกาเป็นระยะทางกว่า 3,745 ไมล์ภายใน 45 วันมาแล้วด้วย "ทีมฮอยต์" เรื่องราวของพ่อ ที่เข็นลูกชายลงแข่งรายการวิ่งมาแล้วกว่าพันครั้ง แม้จะผ่านการแข่งขันมาอย่างโชกโชน แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา หลังเวลาผ่านไปเกือบ 40 ปี ร่างกายของดิคที่แข็งแรงก็ค่อย ๆ ร่วงโรยตามกาลเวลา ดิคในวัย 73 และริคในวัย 52 สองพ่อลูกที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมาย ตัดสินใจว่ามันคงถึงเวลาแล้วที่จะจบตำนานของทีมฮอยต์ลงเสียที พวกเขาตกลงกันว่าจะให้การแข่งขันบอสตัน มาราธอน ปี 2013 สนามที่แจ้งเกิดชื่อของพวกเขา เป็นสนามสุดท้ายที่จะลงแข่ง แต่เพราะการแข่งขันในปีนั้นเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญอย่างการวางระเบิดบริเวณหน้าเส้นชัยของการแข่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นักวิ่งมากมายต้องออกจากการแข่ง รวมถึงพ่อลูกทีมฮอยต์ที่เพิ่งจะวิ่งไปได้ราว 23 ไมล์ ดังนั้นเขาสองคนจึงกลับมาใหม่ในการแข่งขันบอสตัน มาราธอน ปี 2014 แม้ทั้งคู่จะมีปัญหาบาดเจ็บรบกวนบ้าง แต่ทีมฮอยต์ก็สามารถทำเวลาได้ 7:37:33 ชั่วโมง ซึ่งยังคงเป็นตัวเลขที่น่าพอใจในการแข่งวิ่งมาราธอนครั้งสุดท้ายของพวกเขา. ทุกวันนี้ แม้ดิคและริคจะไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน แต่ก็ยังคงสนิทชิดเชื้อและไปเที่ยวด้วยกันอยู่บ่อย ๆ สองพ่อลูกทีมฮอยต์ได้กลายมาเป็นตำนานและสัญลักษณ์ของความรัก ความพยายาม ความอดทน และความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นจากครอบครัวที่คงหาไม่ได้ง่าย ๆ  ครั้งหนึ่งเคยมีคนถามริคว่า ถ้าเขาสามารถให้อะไรก็ตามกับพ่อของเขาได้ เขาจะอยากให้อะไร ริคตอบว่า “ถ้าเป็นไปได้ ผมขอให้พ่อของผมได้มีโอกาสนั่ง แล้วให้ผมมีโอกาสเข็นเขาสักครั้งก็คงดี”     ที่มา https://www.masslive.com/sports/2020/02/as-team-hoyt-father-and-son-inducted-into-triathlon-hall-of-fame.html http://www.teamhoyt.com/About-Team-Hoyt.html https://www.runnersworld.com/news/a27135864/rick-hoyt-not-attending-boston-marathon/ https://howtheyplay.com/individual-sports/A-Fathers-Dedication-The-Racing-World-of-Dick-and-Rick-Hoyt