หนึ่ง-ณัฐพล ลอยกุลนันท์ : ยูทูบเบอร์ไทยในอเมริกาที่เริ่มเรียนภาษาจาก ‘อู่ซ่อมรถ’

หนึ่ง-ณัฐพล ลอยกุลนันท์ : ยูทูบเบอร์ไทยในอเมริกาที่เริ่มเรียนภาษาจาก ‘อู่ซ่อมรถ’
‘TeamKondee ทีมคนดี’ คือช่องยูทูบของ หนึ่ง-ณัฐพล ลอยกุลนันท์ ยูทูบเบอร์ไทยในอเมริกาที่มียอดผู้ติดตามกว่า 4 หมื่นคน ภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งปี โดยช่องยูทูบนี้บอกเล่าเรื่องราวการทำงานของ ‘ช่างหนึ่ง’ ในอู่ซ่อมรถ บ้างก็มีภรรยากับ ‘คนดี’ ลูกชายแสนน่ารักของทั้งคู่แวะเวียนมาแจมในวิดีโอเป็นครั้งคราว The People มีโอกาสได้พูดคุยกับหนึ่ง-ณัฐพล ถึงเรื่องราวก่อนชีวิตจะลงตัวในสหรัฐฯ ซึ่งเรียกได้ว่ามีคอนเซปต์แบบเพลงของ getsunova ตั้งแต่การเป็นคนไทยในอเมริกาที่เริ่มต้นด้วยทักษะภาษาอังกฤษเกือบติดลบ ไปจนถึงการเป็นยูทูบเบอร์ที่แทบจะไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดีย   เมื่ออู่ซ่อมรถคือโรงเรียนสอนภาษา ก่อนหน้านี้หนึ่งเป็นพนักงานบริษัททั่วไปในประเทศไทยก่อนจะย้ายมาลงหลักปักฐานที่เมืองฮิวสตัน (Houston) รัฐเท็กซัส (Texas) สหรัฐอเมริกาในปี 2019 ด้วยกรีนการ์ด (green card) หรือบัตรประจำตัวที่รัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตให้ผู้ถือบัตรเข้ามาอยู่อาศัยได้อย่างถูกกฎหมาย   “ชา ภรรยาของผมเคยอยู่ที่อเมริกา แล้วก็มีคนดี (ลูกชาย) ผมก็เลยคิดว่ามีโอกาสที่จะได้มาอเมริกา ผมเลยตัดสินใจมาใช้ชีวิตที่นี่ เพราะมันมีหลาย ๆ ด้านที่คิดว่าเป็นผลที่ดีกับครอบครัวเรา” หนึ่ง-ณัฐพล ลอยกุลนันท์ : ยูทูบเบอร์ไทยในอเมริกาที่เริ่มเรียนภาษาจาก ‘อู่ซ่อมรถ’ เมื่อทำเรื่องย้ายมาที่สหรัฐฯ ได้เรียบร้อย ด่านต่อไปคือการเริ่มต้นชีวิตใหม่จากงานนอกออฟฟิศและทักษะภาษาอังกฤษที่แทบจะติดลบของเขา “ตอนผมมาอเมริกาคือว่างก่อน 2 เดือน แล้วมีโอกาสได้ทำงานเหมือนบ้านพักคนชรา ทำอยู่ที่นั่นประมาณ 3-4 เดือน แล้วก็ได้เป็นช่างที่อู่ เพราะระหว่างอยู่ที่ไทย ผมชอบทำรถ ชอบเกี่ยวกับเรื่องรถมาตั้งแต่สมัยเรียน ก็เลยเก็บเกี่ยวประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องรถมาเรื่อย ๆ แล้วมาที่นี่ก็มีจังหวะ โอกาสเข้ามาทำ “ตอนนั้นคือผมเอารถเข้าไปทำที่อเมริกานี่แหละครับ ก็ได้คุยกับลุงบุญ คนกัมพูชาแต่อยู่อเมริกามานานมากแล้ว เขาพูดภาษาไทยได้เพราะเคยอยู่ที่ไทย พอคุยกันถูกคอ เขาก็เลยชวนให้ผมมาทำงานกับเขา “ตอนแรกผมไม่ได้ภาษาแล้วเจ้าของอู่เขาจะไม่รับผม แต่ลุงบุญเขาบอกว่า ‘ให้โอกาสเขา แล้วดูเขาทำงาน’ ผมก็เลยทำงานให้เขาเห็น แต่ผมต้องแข่งกับอีกคนหนึ่งว่าเขาจะเลือกผมหรือเลือกคนนั้น ผมเลยใช้วิธีไม่พูดแต่ทำงาน เขาก็มองทิศทางที่ว่า เห้ย! คนนี้ทำงานดีกว่า แล้วผมก็ฝึกภาษาให้เขาเห็นว่า เห้ย! ฉันพยายามนะ ผมก็เลยมีโอกาสได้ทำงาน” ช่วงแรก ๆ หนึ่งมีภรรยาที่ช่วยเรื่องภาษาและเอกสารต่าง ๆ แต่ตอนที่เข้าไปทำงานหนึ่งต้องฝึกภาษาด้วยตนเอง เขาจึงใช้วิธีการจดคำศัพท์และประโยคภาษาอังกฤษที่ใช้บ่อย ๆ ไว้ในสมุดเล่มเล็ก “พอลืมเราก็เอาสมุดเล่มนั้นมาดู แล้วก็คุยกับเขา อันนี้คือที่ผมทำ แล้วประโยคต่าง ๆ มันก็จะมาเอง แล้วที่ทำงานก็ช่วย ผมก็บอกว่าคุณคือครูของผม ช่วยสอนภาษาให้ผมด้วย เขาก็จะเข้าใจ ถ้าผมพูดผิดเขาก็จะบอกว่ามันไม่ได้พูดแบบนี้ มันต้องพูดแบบนี้ เพราะฉะนั้นที่ทำงานก็คือโรงเรียนผมด้วย ถ้าพูดตรง ๆ คือเขาไม่ได้สนใจเรื่องแกรมมาร์เป๊ะ ๆ เขาคุยกันง่าย ๆ แค่ให้เข้าใจว่าคุณต้องการอะไร ฉันต้องการอะไร ผมดูจากสิ่งที่ผมเจอ แล้วผมเจอแบบนี้ว่า ฉันคุยกับคุณ คุณเข้าใจฉัน โอเค งานเราก็ไปต่อได้”   ชีวิตในช่วงโควิดกับระบบการแพทย์ในอเมริกา นอกจากเรื่องภาษา หนึ่งมองว่าระบบการแพทย์ของสหรัฐอเมริกามีทั้งข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19  “เรื่องโควิด การฉีดวัคซีนตอนนี้คือคนในประเทศก็ทยอยไปฉีดกันได้ ลงทะเบียนแล้วก็ไปฉีดเลย ที่นี่เขาไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล มันเป็นเหมือนศูนย์แพทย์ ถ้าบ้านเราก็เหมือนพวกบิ๊กซี โลตัสที่เขาจะมีแผนกยาอยู่ แค่ลงทะเบียน นัดวัน เขาก็จะส่งกลับมาให้ว่าเราไปฉีดที่ตรงนี้เวลานี้ แล้วก็ไปตามนั้น” แม้การฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ จะทำให้หนึ่งค่อนข้างอุ่นใจ แต่เขาเองก็เคยมีประสบการณ์เรื่องข้อจำกัดด้านการแพทย์ของที่นี่เช่นเดียวกัน “ระบบแพทย์ที่เจอมากับตัว ผมจะยกตัวอย่างประสบการณ์ตรงเลย คือครั้งหนึ่งลูกผมหัวแตก ไปรออยู่โรงพยาบาล 9 ชั่วโมง อันดับแรกคือเราได้ทำแผลไปแล้วระดับหนึ่ง พันผ้าปิดแผลไว้ แล้วไปนอนรออยู่ตรงล็อบบี้โรงพยาบาล รออยู่ตรงนั้นตั้งแต่ 6 โมงเย็น ลูกผมได้เย็บตอนตีสามกว่า เขาให้เหตุผลมาว่าลูกคุณยังโอเคอยู่ ลูกคุณยังรอได้ วันนั้นเป็นวันที่คนไข้เด็กไปเยอะมาก เขาบอกว่า จะให้แพทย์ดูแล้วตัดสินใจว่าเคสนี้ควรมาก่อนไหม เคสไหนรอได้ก็รอไป อะไรอย่างนี้ครับ ถ้าอาการคุณไม่หนักมากจนเสี่ยงตายก็รอไปก่อน” นอกจากนี้หนึ่งยังเล่าอีกว่าหากต้องการไปพบแพทย์ที่สหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ต้องมีการนัดหมายวันเวลาล่วงหน้า ก่อนเดินทางไปรับการรักษา ต่างจากประเทศไทยที่สามารถเข้าไปยังโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า YouTuber ที่แทบจะไม่เล่นโซเชียลฯ หลังจากปรับตัวในถิ่นใหม่ได้สักพัก หนึ่งได้เริ่มทำช่องยูทูบเป็นของตัวเอง โดยเน้นการบอกเล่าชีวิตการทำงานในอู่ซ่อมรถเป็นหลัก  “เหมือนธุรกิจครอบครัว” (หัวเราะ) หนึ่งบอกกับเราเมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นของช่อง ‘TeamKondee ทีมคนดี’ ที่ตั้งตามชื่อ ‘คนดี’ ลูกชายตัวน้อยของเขา แม้ช่องนี้จะมีเรื่องราวของหนึ่งเป็นหลัก แต่เขากลับเป็นยูทูบเบอร์ที่ไม่สันทัดเรื่องโซเชียลมีเดียสักเท่าไร เพราะคนที่ดูแลช่องทางยูทูบ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไปจนถึงการออกไอเดียทำช่องดังกล่าวคือภรรยาของเขาเอง  “ผมจะถ่ายแล้วก็ตัด ๆ ว่า อันนี้สำคัญนะ ๆ ชาก็จะเอาไปดูแลต่อ เหมือนเรื่องเพจต่าง ๆ ชาก็เป็นคนดูครับ แต่ผมจะอ่านคอมเมนต์ในยูทูบ หรือคอมเมนต์ที่ชาตอบไม่ได้ ผมก็จะเข้าไปช่วยตอบ คือตอนแรกผมไม่ได้คิดจะทำเลย เพราะผมเป็นคนไม่ชอบโซเชียลฯ แต่ชาเขาอยากให้ผมทำ เพราะผมมีโอกาสที่จะได้ทำ อย่างน้อยก็ทำเก็บเอาไว้ดูเอง ก็เลยเริ่มทำออกมาคลิปแรก “แล้วก่อนหน้านี้ผมรู้จักกับจิโร่ ช่อง Mr.Jiro Chan  ผมดูสื่อจากเขา ช่องยูทูบเขาตั้งแต่อยู่ที่ไทย พอมีโอกาสได้รู้จักกัน ผมได้ไปออกช่องเขา แล้วคนเห็นผมเยอะในช่องนั้น คนเขาก็แบบคนนี้คือใคร ๆ ผมเห็นว่ามีจังหวะก็เลยลองทำดู ก็ทำเองตามสไตล์เรา แล้วก่อนหน้านี้ผมก็เสพสื่อเรื่องการทำรถ ผมดูว่าเอ้ยทำไมไม่เน้นตรงนี้ให้หน่อย เราจะได้รู้มากกว่านี้ ผมก็เลยเอาข้อที่ผมคิดว่าผมอยากให้มันเป็น ใส่ลงไปในช่องของผมเอง” หนึ่ง-ณัฐพล ลอยกุลนันท์ : ยูทูบเบอร์ไทยในอเมริกาที่เริ่มเรียนภาษาจาก ‘อู่ซ่อมรถ’

ที่มาภาพ https://www.instagram.com/streetmetal/ 

นอกจากเหตุผลที่อยากถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานและชีวิตคนไทยในสหรัฐฯ ให้ผู้ติดตามรับชมแล้ว อีกเหตุผลสำคัญของการทำช่อง ‘TeamKondee ทีมคนดี’ คือการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของคนไกลบ้านให้คนที่บ้านของเขาได้ดู “พอเรามีโอกาสได้มา ก็เลยทำยูทูบเผื่อให้คนบ้านเราที่ไทยได้ดูว่าในมุมมองของผมมันเป็นยังไง ได้เห็นอะไรแปลกใหม่บ้าง แล้วผมอยากให้คนในครอบครัวผมดูตลอด ให้คลายความคิดถึง บางเวลาเราไม่ได้คุยกัน เขาก็ได้เห็นจากช่องของผม เพราะว่ามันไกลบ้าน” แม้ทุกอย่างจะเริ่มลงตัว บวกกับคุณภาพชีวิตในสหรัฐอเมริกาจะส่งผลดีต่อหนึ่งและครอบครัวมากกว่า แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่อาจจะลบความรู้สึก ‘คิดถึงบ้าน’ ของเขาได้ ยิ่งช่วงวิกฤตโควิด-19 ยิ่งกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ไทยได้ยากมากยิ่งขึ้น หนึ่งจึงทิ้งท้ายไว้กับเราว่า “ความคิดส่วนตัวผมคือยังไงไทยก็น่าอยู่ที่สุด เพราะว่าบ้านก็คือบ้าน ผมเคยคุยกับพี่ผมคนหนึ่ง เขาเรียนอยู่ที่อังกฤษแล้วกลับมา ผมก็ถามเขาว่ากลับมาทำไม ทำไมไม่อยู่ที่นู่นเลย ที่นู่นน่าอยู่ ทั้ง ๆ ที่ผมไม่เคยไปอยู่ แล้วเขาก็พูดกับผมว่า ‘บ้านยังไงก็คือบ้าน บ้านน่าอยู่ที่สุด’ เขาพูดกับผมแบบนี้ แล้วจนผมมาอยู่ที่นี่ ผมมานึกคำพูดเขา มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะยังไงบ้านก็คือบ้าน”