แก๊สน้ำตา : จากอาวุธสงครามสู่การปราบจลาจลบนท้องถนน

แก๊สน้ำตา : จากอาวุธสงครามสู่การปราบจลาจลบนท้องถนน
“เพราะมันไม่ทิ้งรอยเลือด มันจึงไม่เหลือร่องรอยใด ๆ”
แม้ว่าตามอนุสัญญาเจนีวาจะระบุว่าห้ามมิให้ใช้แก๊สน้ำตาในภาวะสงคราม แต่กลับยังมีการใช้แก๊สน้ำตาในการปราบปรามประชาชนอยู่ และสำหรับคนที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าที่จริงแล้ว แก๊สน้ำตาเคยถูกใช้เป็นอาวุธสงคราม บทความนี้อาจช่วยตอบคำถามว่า เหตุใดอาวุธอันตรายจึงกลายมาเป็นสิ่งที่ถูกใช้กับประชาชน ช่วงเดือนสิงหาคมปี 1914 เมื่อกองทัพฝรั่งเศสเริ่มยิงระเบิดบรรจุแก๊สที่มีฤทธิ์แสบร้อนเข้าไปในสนามเพลาะซึ่งเป็นสมรภูมิรบระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมัน ทั้งที่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับระเบิดชนิดดังกล่าวในตอนนั้น แต่นักประวัติศาสตร์ก็ระบุว่าสงครามพรมแดนซึ่งเป็นช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 คือจุดกำเนิดของ ‘แก๊สน้ำตา’ แก๊สน้ำตาในช่วงต้น เป็นผลมาจากความพยายามของนักเคมีชาวฝรั่งเศสในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ศตวรรษที่ 20 ตอนนั้นนักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศที่กำลังทำสงครามกันต่างก็แข่งกันพัฒนาอาวุธทางเคมีมาใช้ในสนามรบ เรียกได้ว่าเป็นอีกช่วงเวลาที่มีการคิดค้นอาวุธเคมีมาใช้ในการประหัตประหารเข่นฆ่ากันในสงครามมากที่สุด แม้จุดเริ่มต้นของแก๊สน้ำตาจะมาจากทางฝรั่งเศส แต่ชาติที่มีความสนใจจะพัฒนาอาวุธชนิดนี้กลับเป็นฝ่ายเยอรมัน พวกเขาคิดค้นอาวุธทางเคมีขึ้นมามากมายในตอนนั้น และนับเป็นฝ่ายแรกที่นำมันมาใช้ในสนามรบอย่างเต็มรูปแบบ หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงปี 1920 มีหน่วยชื่อ Chemical Warfare Service ซึ่งเป็นทีมนักวิทยาศาสตร์จากกองทัพสหรัฐฯ พัฒนาแก๊สน้ำตาขึ้นมาจากอาวุธเคมีที่เคยถูกใช้ในช่วงสงคราม พวกเขาตั้งชื่ออาวุธเคมีชนิดใหม่ว่า ‘CS gas’ ซึ่งเป็นตัวย่อจากนามสกุลของ 2 นักวิทยาศาสตร์ เบน คอร์สัน (Ben Corson) และ โรเจอร์ สตัฟตัน (Roger Stoughton) ผู้ร่วมกันคิดค้นมันขึ้นมา โดยจุดประสงค์แรกเริ่มของแก๊สน้ำตา คือ การป้องกันการรวมกลุ่มและควบคุมฝูงชน แม้จะชื่อ ‘แก๊สน้ำตา’ แต่ที่จริงส่วนผสมด้านในไม่ได้มีน้ำตาผสมอยู่ ชื่อของมันเป็นผลมาจากฤทธิ์แสบร้อน ที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้สัมผัส โดยชนิดของแก๊สน้ำตาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีทั้งเจ้าตัว CS ที่ถูกคิดค้นขึ้นทางฝั่งอเมริกา (มันมีสารประกอบภายในชื่อว่า 2-chlorobenzalmalononitrile ซึ่งกระตุ้นความเจ็บปวด) กับแก๊สประเภท OC (ย่อมาจากชื่อสารประกอบภายใน Oleoresin Capsicum ซึ่งคือน้ำมันพริกที่เป็นส่วนประกอบของสเปรย์พริกไทย) แต่ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีตัวไหนก็เป็นอันตรายต่อผู้สัมผัสไม่ต่างกัน อาการหลังสูดแก๊สน้ำตา โดยทั่วไปจะเริ่มมีการระคายเคืองในเยื่อบุจมูก เมื่อสูดเข้าไปเป็นจำนวนมาก อาจทำให้มีอาการไอและจาม ไปจนถึงหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบได้ แม้หลายคนจะคิดว่าแก๊สน้ำตาไม่น่ามีฤทธิ์ถึงตาย แต่ภาพความทุกข์ทรมานของคนที่สัมผัสแก๊สตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นเครื่องการันตีว่ามันไม่ควรเป็นเรื่องปกติที่จะนำมาใช้กับประชาชน แก๊สน้ำตาถูกห้ามนำมาใช้เป็นอาวุธสงคราม หลังมีการพิสูจน์ว่าทำให้เกิดอันตรายต่อระบบประสาท โดยมีการลงนามในอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Protocol) ช่วงปี 1925 ระบุว่า ห้ามมิให้ใช้แก๊สน้ำตาในภาวะสงคราม แต่เพราะสิ่งที่เขียนในอนุสัญญาครอบคลุมเฉพาะการใช้ในกลุ่มทหารและการสงคราม แต่ไม่ได้ระบุถึงการใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ช่องว่างดังกล่าวจึงถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการใช้มันปราบจลาจลตลอดหลายสิบปี     ที่มา https://www.nationalgeographic.com/news/2013/6/130612-tear-gas-history-science-turkey-protests/ https://www.theatlantic.com/international/archive/2014/08/100-years-of-tear-gas/378632/ https://www.sciencehistory.org/distillations/a-tear-gas-tale https://www.vox.com/2020/6/3/21277995/police-tear-gas-protests-history-effects-violence