ต้น-เอกภณ เศรษฐสุข ผู้กำกับ ‘เทอมสองสยองขวัญ’ จากเส้นทางสายโฆษณา สู่หนังผี

ต้น-เอกภณ เศรษฐสุข ผู้กำกับ ‘เทอมสองสยองขวัญ’ จากเส้นทางสายโฆษณา สู่หนังผี
ใครบ้างจะรู้ว่าเบื้องหลังผู้สร้างโฆษณาและมิวสิกวิดีโอที่มีชื่อเสียงจำนวนมากที่อาจเคยผ่านสายตาเราไปอย่างงานโฆษณาของ ‘GrabFood’ ‘GrabMart’ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงงานมิวสิกวิดีโออย่าง ‘รอยยิ้ม - Scrubb’ ‘เส้นผมบังภูเขา - Stamp x TwoPee SouthSide’ ‘Heavy Rotation - BNK48’ ‘คุยคนเดียวเก่ง - Three Man Down’ และอื่น ๆ อีกมากมาย จะเป็นฝีมือการกำกับของชายผู้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตอย่าง ต้น - เอกภณ เศรษฐสุข

จุดเริ่มต้นของการพบตัวตนที่ซ่อนอยู่

ต้น - เอกภณ จบจากโรงเรียนชายล้วนที่มีชื่อเสียงอย่างโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตของเขาในช่วงวัยนั้นคือการได้เล่นดนตรีกับกลุ่มเพื่อน จนนำพาพวกเขาไปประกวดงานเทศกาลดนตรี Hot Wave ที่หากคุณมีวงดนตรีตอนมัธยม แน่นอนว่าเวทีนี้ต่างเป็นความใฝ่ฝันของเด็กจำนวนมากที่มีความหลงใหลในเสียงดนตรี ต้นเล่าถึงความหลังให้เราฟังอย่างออกรสว่า เขาสนุกมากกับการได้เล่นดนตรีในช่วงเวลานั้น วงของเขาเข้ารอบสุดท้ายของการแข่งขันถึง 2 ปีซ้อน “เราอยากให้วงของเรามีความเอนเตอร์เทน เราเลยใส่มุกเข้าไปเวลาทำการแสดง อย่างเช่นมีการคลานออกมาจากข้างเวทีที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ทุกวันนี้ยังโดนแซวอยู่เลย แต่ก็เป็นความสนุกที่เราชอบ” จนเมื่อเข้าสู่ปีสุดท้ายของการเป็นนักเรียนมัธยมปลาย เพื่อน ๆ ร่วมวงต่างต้องหันไปจริงจังเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งขณะเดียวกัน ต้นยังคงค้นหาว่าจริง ๆ แล้ว ตนต้องการเดินทางไปในเส้นทางใด เขาจึงเลือกใช้ประสบการณ์ของการเล่นดนตรีที่ผ่านมาเป็นสารตั้งต้น “พอมานั่งคิดดู การเล่นดนตรีมันสอนอะไรเราบางอย่าง เวลาเราทำโชว์ของ Hot Wave หรือของที่ไหนก็ตาม จะเป็นเราเองที่จะคอยควบคุมภาพรวมว่า พอโชว์ออกไปแล้วคนที่นั่งดูเราอยู่ด้านล่างจะเห็นเราในมุมไหน “เราชอบคุมอะไรบางอย่างเป็นก้อน ๆ เลยคิดว่า งั้นน่าจะเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ สายงานนี้น่าจะเหมาะกับเรา ก็เลยเข้าเรียนที่วารสารธรรมศาสตร์” การทำมิวสิกวิดีโอจึงเป็นเสมือนจุดที่นำความชอบทั้งของต้นทั้งดนตรีและการเล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหวของเขามาบรรจบกัน “เรียกว่าเป็นการชอบดนตรีในสมัยเด็ก ๆ ก็แล้วกัน เพราะเราไม่ได้จับนานแล้ว ตอนเด็ก ๆ ที่แกะเพลง เราก็จะชอบดูมิวสิกวิดีโอไปด้วย พอเรียนจบแล้วมาทำงานตรงนี้ การทำมิวสิกวิดีโอก็เป็นเหมือน Safe Zone ผู้กำกับหลายคนก็พูดเหมือนกันว่าเป็นโซนที่เอาไว้พักผ่อน หรือว่าจะเครียดกว่าเดิมก็ไม่รู้นะ” (หัวเราะ) การเข้าเรียนที่วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ต้นก้าวเท้าเข้าสู่โลกของการเรียนภาพยนตร์อย่างเต็มตัว ในช่วงเวลานั้น หนังประกวดของต้นมักจะพูดถึงประเด็นทางสังคมและการเมืองอย่างภาพยนตร์ที่ได้รางวัลช้างเผือก จากเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 15 ที่มีชื่อว่า ‘กลียุค’ บอกเล่าเรื่องราวของนักการเมืองที่เป็นดั่งชนชั้นปกครองในประเทศไทยว่าในอนาคตอีก 10 ปีต่อมาจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้บ้าง “เราแค่อยากทำหนังเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ตั้งแต่ตอนมหา’ลัยเลย พอเรียนจบมา คำนี้มันก็ยังจำได้อยู่” แต่เมื่อเรียนจบและชีวิตต้องเติบโต ความฝันต่อสิ่งนี้ยังคงอยู่ภายในลึก ๆ ของต้น - เอกภณ บางสิ่งบางอย่างในชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยเรียนทั้งเรื่องของเวลาและสายงานที่จับพลัดจับผลูมาทำสายโฆษณาซะส่วนใหญ่ โดยต้นกล่าวเสริมกับ The People ว่า คงจะเป็นการดีอย่างมากหากนักทำหนังได้มีโอกาสสร้างสรรค์เรื่องราวต่าง ๆ ที่สามารถออกไปไกลกว่ากรอบเดิม ๆ ที่ครอบเราเอาไว้

การใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงขับเคลื่อนชีวิต

นอกจากพาร์ตของการทำงานเป็นผู้กำกับแล้ว ต้น - เอกภณยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นดั่งความหลงใหล นั่นคือการทำสตูดิโอที่มีชื่อว่า ‘Maneemejai Home’s Space’ และ ‘Sailom Sangdad Homey Studio’ ที่ทำร่วมกับคุณอุ๊ มานีมีใจ สตูดิโอที่ให้ความรู้สึกเหมือนดั่งบ้านที่อบอุ่น โดยจุดเริ่มมาจากเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่ต้นอยากจะลองเริ่มธุรกิจสักอย่าง ซึ่งจะสามารถทำให้เกิดความมั่นคงนอกเหนือจากการเป็นผู้กำกับที่ตนทำอยู่ “เพราะเราทำงานสายนี้มา เราจึงรู้ว่า Production ต้องการอะไร ที่เป็นบ้านเพราะชอบมั้ง เราไม่อยากทำสตูดิโอแข็ง ๆ ที่เป็นห้องสี่เหลี่ยม ซึ่งแบบนั้นมันก็ไม่ได้ผิด เพียงแต่ไม่ได้เป็นสไตล์ของเราเฉย ๆ เราอยากทำอะไรที่มัน Homey Homey มากกว่า “เราคิดว่าถึงจะมีธุรกิจต่อไป ก็ต้องมีสิ่งที่เรารักอยู่ในนั้นด้วย มันต้องมีบางอย่างที่เป็นตัวตนของเราอยู่ในนั้นเราถึงจะอินไปกับมัน เวลาเราทำอะไร เราต้องรู้สึกอินกับมันก่อนเราถึงจะทำได้” การทำงานที่มีตัวตนของตัวเองอยู่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับต้น - เอกภณ โดยคอนเซ็ปต์ของสตูดิโอจะดีไซน์แต่ละห้องให้เป็นเหมือนดั่งซีนในภาพยนตร์ ทุกห้องทุกโซนจะเป็นเหมือนตัวแทนของตัวละครที่มีคาแรคเตอร์แตกต่างกันออกไป เช่น ห้องของคุณยาย ห้องของชายหนุ่มผู้รักสัตว์ หรือจะเป็นห้องของหญิงสาวแสนเปรี้ยวผู้มีโลกส่วนตัวสูง “สุดท้ายเราก็ใช้ความคิดสร้างสรรค์นำมาก่อนเลย เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเรามีหัวธุรกิจมากแค่ไหน ก็แก้ปัญหาทุกอย่างด้วยสไตล์ของตัวเอง ด้วยสไตล์แบบคนโฆษณาที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปแก้ไขสิ่งต่าง ๆ”

หนังผีผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่

ภาพยนตร์ ‘เทอมสองสยองขวัญ’ เป็นภาพยนตร์สั้น 3 เรื่องประกอบกันอยู่ในตัวหนัง โดยเรื่องที่ต้น - เอกภณ รับผิดชอบเป็นเรื่องสั้นลำดับที่ 3 ชื่อว่า ‘ตึกวิทย์เก่า’ นำแสดงโดย เบลล์ - เขมิศรา กับ กิต Three Man Down บอกเล่าตำนานความเชื่อมหาวิทยาลัยที่ถูกแช่แข็งไว้นานหลายสิบปี หนังผีดูจะเป็นเรื่องที่ถูกผลิตขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์บ้านเรา ในทัศนะของบางคน หากพูดถึงหนังผีไทย คงจะมีภาพจำและรู้สึกคุ้นชินกับวิธีการเล่าที่ผ่านมา ต้น - เอกภณบอกกับ The People ว่า ในครั้งนี้จะเป็นเรื่องเล่าผีที่แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นวิธีเล่าเรื่องตำนานผีผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ และยังแฝงทัศนะบางอย่างที่เชื่อมโยงกับเรื่องในสังคมปัจจุบัน “ลึก ๆ แล้วเรามองเป็นหนังการเมือง มันเป็นเรื่องของคนยุคเก่ายุคใหม่” ปัญหา ณ ปัจจุบันที่เกิดขึ้นและเห็นได้อย่างเด่นชัดอย่างหนึ่งคือเรื่องของ Generation Gap ที่เป็นการปะทะทางความคิดระหว่างคนสองยุคที่อยู่กันคนละจุด “ผีเป็นเหมือนคนยุคเก่าที่ไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้แล้ว ถูกฟรีซ(แช่แข็ง)ไว้แบบนั้น แต่ฝั่งคนที่มันยังเป็นมนุษย์นี่แหละที่ยังสามารถเรียนรู้ได้ ยังต่อยอดได้ สามารถเปลี่ยนแปลงแล้วก็ปรับตัวได้ “ไม่ว่าจะเรื่องของเราหรืออีก 2 เรื่องที่เหลือ เรามองว่าเป็นเหตุผลเดียวกัน เพราะเขายังยึดติดอยู่ ยึดติดก็เลยไปไหนไม่ได้ ยึดติดก็เลยไม่มีการเรียนรู้อะไร เขาก็เป็นผีที่ถูกฟรีซไว้อย่างนั้นและยังวนเวียนอยู่ จะ 10 ปี 20 ปี 30 ปี เขาก็ยังวนเวียนอยู่ตรงนี้ ซึ่งถ้าหากสองฟากนี้มาเจอกันมันจะเกิดอะไรขึ้น” ต้นกล่าวเสริมว่าจริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้จะออกมาให้เห็นได้เด่นชัดมากน้อยขนาดไหนในภาพยนตร์คงจะขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ชมแต่ละคนด้วย เพราะสิ่งนี้เป็นเพียงสิ่งที่ตนคิดจะแฝงเอาไว้อย่างแนบเนียนไปพร้อม ๆ กับความสนุกในแบบฉบับของหนังสยองขวัญ โดยต้นได้ทิ้งท้ายกับ The People ไว้ว่า สุดท้ายแล้วหนังผีก็ยังไม่ตาย แต่การหามุมมองใหม่ ๆ มาเล่าเป็นสิ่งสำคัญและค่อนข้างเป็นความท้าทายสำหรับตัวเขาเองว่า จะสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกมาอย่างไรให้น่าสนใจและแปลกใหม่กว่าที่ผ่านมา “คนยุคใหม่แบบเรามองเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ตอนนี้มองอย่างไรบ้าง มันมองไม่เหมือนเดิมแน่ ๆ นี่คือสิ่งที่เราตั้งเอาไว้ “แล้วถ้าจะฝากไว้ เราว่าน่าดู มันค่อนข้างครบรสอยู่สำหรับ 3 เรื่องนี้ แล้วก็น่าดูในโรงภาพยนตร์ด้วย เพราะว่าถ้าวิเคราะห์จริง ๆ เราว่ามันค่อนข้างเหมาะกับการดูเป็นหมู่คณะ (หัวเราะ) สนุกแน่นอนครับ” เรื่อง : ดวงนฤมล วงศ์ใหญ่