“เทอร์รี กัว” ผู้ก่อตั้ง Foxconn ที่รับผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งโลก เคยเป็นเซลส์แมนที่ถูกยามไล่มาก่อน

“เทอร์รี กัว” ผู้ก่อตั้ง Foxconn ที่รับผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งโลก เคยเป็นเซลส์แมนที่ถูกยามไล่มาก่อน

ผู้ก่อตั้ง Foxconn ที่รับผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งโลก เคยเป็นเซลส์แมนที่ถูกยามไล่มาก่อน

“เทอร์รี กัว” (Terry Gou) หรือ “กัว ไทหมิง” ผู้ก่อตั้ง Foxconn บริษัทรับผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่หลายบริษัทชั้นนำ ไม่ว่า Apple, Amazon, Google, Huawei, Intel, Nintendo, Microsoft, Dell และ Sony ต่อคิวใช้บริการอย่างต่อเนื่อง แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ถ้าย้อนกลับไปช่วงแรก เขาเคยต้องวิ่งเข้าหาลูกค้าด้วยตัวเอง ถึงขั้นแอบเข้าไปขายของจนยามไล่ออกจากบริษัทมาเลยทีเดียว แต่ละวัน iPhone XR กว่า 300,000 เครื่อง ชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่อง PlayStations 4, Kindle รวมถึงผลิตภัณฑ์อีกหลายตัวของ Xiaomi ถูกผลิตและประกอบจากโรงงานของ “เทอร์รี กัว” ถ้าตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก Foxconn ก็น่าจะครองโลกการผลิตสินค้าเทคโนโลยีเกือบทั้งหมด ด้วยลูกตื๊อที่เป็นพลังพิเศษของ เทอร์รี กัว นี่แหละ เทอร์รี กัว เกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน พ่อของเขาเป็นทหารพ่ายสงครามในกองทัพของเจียงไคเช็ค ที่ต้องอพยพมาตั้งรกรากที่ไต้หวัน แล้วมาเริ่มงานใหม่จากตำรวจชั้นผู้น้อย ความลำบากในวัยเด็กทำให้เขาต้องทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย ตั้งแต่โรงงานผลิตยาง ใบหินเจียร โรงงานยา จนกระทั่งวันหนึ่งเขาเห็นลู่ทางจากเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของไต้หวัน เลยตัดสินใจขอเงินจากแม่ประมาณ 200,000 บาท เพื่อตั้งโรงงานของตัวเอง ในปี 1974 ที่มีชื่อว่า บริษัท หองไห่ พรีซีชั่น อินดัสทรี จำกัด โดยเป็นโรงงานที่รับจ้างผลิตปุ่มสำหรับโทรทัศน์ สินค้าที่ขายดีที่สุดในยุคนั้น ต่อมาโรงงานเล็กๆ นี้ได้รับออร์เดอร์ล็อตใหญ่จากอาตาริ (Atari) เพื่อผลิตสายไฟให้กับเครื่องเกม สุดยอดนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่มาแรงมาก ทำให้โรงงานของเขาขยายขนาดอย่างรวดเร็ว จากแรกเริ่มที่มีพนักงานแค่ 10 คน ทำให้เขาต้องเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อมองหาออร์เดอร์ มารองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ที่นี่เป็นจุดเริ่มของตำนานสุดยอดเซลส์แมน จากการที่กัวไปดักรอหน้าไอบีเอ็ม (IBM) อยู่นานหลายวัน จนสุดท้ายเขาสามารถเข้าไปขายงานและได้รับงานผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์จำนวนหลายรายการติดมือออกมา รวมไปถึงงานรับจ้างอื่นๆ อีกจำนวนมากจากบรรดาบริษัทไอทีหลายราย ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่การตื๊อไม่ยอมถอย และดื้อดึงหน้ามึนเข้าไปขายของโดยไม่ได้ขออนุญาตมาก่อนของ เทอร์รี กัว ทำให้เขาถูกยามหน้าบริษัทไล่ออกมา ซึ่งบางทีอาจบ่อยครั้งยิ่งกว่าการที่ได้เข้าไปคุยงานและปิดจ็อบดีลงานได้เสียอีก ตลอด 11 เดือนที่เขาตระเวนทั่วสหรัฐอเมริกาช่วยให้ บริษัท หองไห่ เติบโตรวดเร็วจนหยุดไม่อยู่ ทำให้กัวต้องก้าวครั้งสำคัญโดยบุกเบิกเข้าไปเปิดโรงงานที่เซินเจิ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อปี 1988 ซึ่งสุดยอดนักขายอย่าง เทอร์รี กัว มองเห็นอนาคตของเซินเจิ้น ตั้งแต่วันที่ยังมองไปไหนก็มีแต่ทุ่งนาเต็มไปหมด ไม่เหมือนปัจจุบันที่ถูกแทนที่ไปด้วยตึกสูงใหญ่สุดไฮเทค การตัดสินใจครั้งนั้นทำให้ บริษัท หองไห่ ของเขาเป็นเพียงไม่กี่บริษัทที่สามารถรับจ้างผลิตสินค้าเทคโนโลยีคุณภาพดีได้ในปริมาณมาก ในราคาที่ถูกที่สุด จากความได้เปรียบด้านต้นทุนราคาค่าจ้างแรงงานที่ต่ำมากของจีนในอดีต โรงงานของเขามีขนาดใหญ่แค่ไหนเหรอ? ลองคิดตามง่ายๆ ว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมครบวงจร ที่มีตั้งแต่หอพัก โรงพยาบาล โรงอาหาร ฟาร์มเลี้ยงไก่ ไปจนถึงสถานที่สำหรับฌาปนกิจให้พนักงาน !! ปัจจุบัน บริษัท หองไห่ เปลี่ยนชื่อมาเป็น Foxconn Technology Group รายได้ปีล่าสุด 4.7 ล้านล้านเหรียญไต้หวัน หรือประมาณ 5 ล้านล้านบาท มีพนักงานกว่า 803,126 คน ที่ปฏิบัติงานในโรงงานทั่วโลก ทั้ง สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก ญี่ปุ่น อินเดีย ฮังการี โดย Foxconn เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน โดยตัว เทอร์รี่ กัว เองยังถือหุ้นอยู่ 9.36% นั้นทำให้นักธุรกิจวัย 68 คนนี้ รั้งตำแหน่งอภิมหาเศรษฐีอันดับ 181 ของโลก และอันดับสองของไต้หวัน ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 193,000 ล้านบาท จากการจัดอันดับของ Forbes ในปีล่าสุด เคล็ดลับในการสร้างความมั่งคั่งด้วยตัวเองของกัว ส่วนหนึ่งอาจมาจากลูกตื๊อ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ วิสัยทัศน์ในการมองแนวโน้มธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับจ้างผลิตสินค้าที่กำลังเป็นกระแส และได้รับความนิยมในอนาคต อย่างเช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นเกม ไปจนถึงโทรศัพท์ และสมาร์ทโฟน โดยที่แทบไม่ต้องผลิตสินค้าและทำการตลาดขายสินค้าของตัวเองเลย จากที่เคยแอบเข้าไปง้อขายของจนถูกยามไล่ตะเพิดออกมา ตอนนี้เจ้าของแบรนด์ต่างๆ จากทั่วโลกต้องมาต่อคิวให้ผู้ชายที่ชื่อว่า “เทอร์รี กัว” คนนี้ผลิตสินค้าให้   ที่มา : https://www.bloomberg.com/billionaires/profiles/taiming-gou/