เทสซา ธอมป์สัน จากคำกลั่นแกล้งสู่กระบอกเสียงผิวสี และ LGBTQ

เทสซา ธอมป์สัน จากคำกลั่นแกล้งสู่กระบอกเสียงผิวสี และ LGBTQ
นักแสดงสาวสายลุยผู้มีภาพลักษณ์เท่และแข็งแรง ทำให้มีโอกาสแสดงบทบาทที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา เทพธิดา และล่าสุดคือ สายลับ ที่มาพร้อมกับสูทและแว่นตาดำ ให้ความรู้สึกเป็นนักธุรกิจสาวผู้สยบทุกเหล่าร้าย ซึ่งเธอไม่ได้เป็นนักสู้เพียงแค่ในจอเท่านั้น นอกจอยังเป็นนักสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงผิวสีและ LGBTQ อีกด้วย จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เทสซา ธอมป์สัน (Tessa Thompson) ธอมป์สันได้ฝากผลงานไว้กับวงการหนังมากมาย เช่น  Dear white people (2014), Creed (2015), Thor: Ragnarok (2017), Avengers: Endgame (2019) รวมถึงผลงานล่าสุดเธอกลับมาพร้อมกับบทบาท “เอเจนท์ เอ็ม” ใน Men in Black: International (2019) เธอได้ก้าวผ่านข้อจำกัดทั้งทางเชื้อชาติและเพศ ด้วยการเป็นลูกครึ่งอเมริกัน – เม็กซิกัน และเป็นผู้หญิงผิวสี ทำให้นักแสดงสาวมากความสามารถผู้นี้ต้องเผชิญกับการเหยียดสีผิวมากมาย ชีวิตวัยเด็กเธอถูกเพื่อนวัยเดียวกันเรียกว่า “nigger” ซึ่งเป็นคำที่ไว้ใช้เรียกคนผิวสี และถูกเรียกคำนั้นในสนามเด็กเล่น ทั้ง ๆ ที่สนามเด็กเล่นควรเป็นที่ที่เด็กทุกคนมาเพื่อเล่นและสร้างความสนุกร่วมกัน จนกระทั่งเธอต้องขอแม่ย้ายออกจากโรงเรียนเอกชนเพื่อไปโรงเรียนรัฐบาล เพราะคิดว่าโรงเรียนรัฐบาลมีความหลากหลายมากกว่า “ฉันมีทุกอย่างที่กลุ่มเพื่อนของฉันมี ยกเว้นผิวขาว” เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาทำงานนักแสดงอย่างที่ฝัน ธอมป์สันรับรู้ได้ถึงความเหยียดสีผิวของฮอลลีวู้ด อย่างในภาพยนตร์เรื่อง Creed ก็มีข่าวออกมาว่า ที่เธอได้รับบท “บิอันก้า” เป็นเพียงเพราะสีผิวที่ไม่เข้มมากจนเกินไป “มันเป็นช่วงเวลาที่ยากมากสำหรับฉัน เพราะฉันไม่เชื่อว่ามันจริง” [caption id="attachment_8896" align="alignnone" width="1066"] เทสซา ธอมป์สัน จากคำกลั่นแกล้งสู่กระบอกเสียงผิวสี และ LGBTQ เทสซา ธอมป์สัน ใน Creed (2015)[/caption]   ธอมป์สันต่อสู้มาตลอดเพื่อพิสูจน์ว่าเธอไม่ได้รับบทบาทเพียงเพราะสีผิว แต่เป็นเพราะการแสดงของเธอต่างหาก นักแสดงสาวกล่าวว่า “สำหรับผู้หญิงทั่วไปเรียกร้องสิทธิให้เท่าเทียมกับผู้ชาย แต่สำหรับผู้หญิงผิวสีเป็นอะไรที่ไกลกว่านั้น” จากนั้นเธอมีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่อง Dear White People นำเสนอชีวิตของคนผิวสีที่ไม่ใช่เพียงแง่มุมการถูกเหยียดเท่านั้น เธอได้รับบทเป็น “ซาเเมนธา ไวท์” ผู้จัดรายการวิทยุที่มีชื่อว่า Dear White People ในมหาวิทยาลัยวินเชสเตอร์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งตัวละครดังกล่าวเปรียบเสมือนกระบอกเสียงของคนผิวสีในมหาวิทยาลัยที่มีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ และคนผิวสียังถูกจับให้รวมในหอพักเดียวกันแยกกับคนขาวอย่างสิ้นเชิง และในภาพยนตร์จักรวาล Marvel อย่าง Thor: Ragnarok ธอมป์สันก็ได้รับบทเป็น “วัลคีรี” เทพธิดาผู้รับใช้ “โอดิน” ผมดำเข้มที่มาพร้อมชุดหนังและดาบที่สวย สง่างาม และแข็งแกร่ง เรียกได้ว่าเธอเป็นหนึ่งในนักแสดงผู้หญิงผิวสีคนแรก ๆ ของมาร์เวล (Marvel) ที่ไม่ต้องถูกทาสีเขียวหรือม่วงตามบทบาทที่ได้รับ และได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ตัว วัลคีรี ตามการ์ตูนนั้นมีลักษณะผิวขาวและผมสีบลอนด์ ซึ่งเป็นความงามครบสูตรตามแบบฉบับตะวันตก แต่ทางมาร์เวลได้เปิดรับความงามในแง่มุมที่กว้างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น สิ่งนั้นทำให้เธอเป็นหนึ่งตัวอย่างความเป็นสมัยใหม่ของมาร์เวล (A modern marvel) และความเปิดกว้าง ที่ไม่จำกัดว่า ฮีโร จะเป็นเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่ทุกคนก็สามารถเป็นฮีโรได้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติไหนหรือเพศใดก็ตาม [caption id="attachment_8898" align="alignnone" width="1401"] เทสซา ธอมป์สัน จากคำกลั่นแกล้งสู่กระบอกเสียงผิวสี และ LGBTQ เทสซา ธอมป์สัน ใน Thor: Ragnarok (2017)[/caption]   นอกจากนี้ เทสซา ธอมป์สัน ยังลุกขึ้นมาเป็นเสียงให้กับชาว LGBTQ อีกด้วย หลังจากที่เธอได้ออกมาเปิดตัวว่าได้มีความสัมพันธ์กับนักแสดง/นักร้องสาว เจแนลล์ โมเน (Janelle Monae) ด้วยความที่โตมาในครอบครัวที่ให้อิสระ เธอมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเรื่องทางเดินที่ต้องการ และไม่จำเป็นต้องปิดบังความเป็นตัวเอง “ไม่ว่าฉันจะพาคนรักเพศชายหรือหญิงไปพบ ครอบครัวของฉันก็จะรับได้เสมอ” หญิงผู้รักอิสระคนนี้จึงอยากให้ทุกคนได้รับอิสระอย่างที่เธอได้รับ ธอมป์สันเลยออกมาเปิดเผยตัวตน เพื่อเป็นพลังจุดประกายให้กับชาว LGBTQ ทุกคน กล้าออกมายอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นอย่างภาคภูมิใจ และไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวคำตัดสินจากใคร ธอมป์สันยังมีความตั้งใจที่จะนำเสนอตัวละครวัลคีรีในรูปแบบ Bisexual ที่สามารถรักเพศใด ๆ ก็ได้ ไม่จำกัดว่าเป็นเพศชายหรือหญิง เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า“วัลคีรีเป็น Bisexual คุณเห็นเธอกับทั้งชายและหญิง เพราะฉันตั้งใจแสดงให้เธอเป็น” ถึงแม้เราอาจจะไม่ได้เห็นฉากที่แสดงถึงความเป็น Bisexual ของวัลคีรี เนื่องจากเรื่องราวความรักของ “ฮีโร” ดูเหมือนจะเป็นเรื่องรองแทนการกู้โลกหรือปราบวายร้ายที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องหลักของภาพยนตร์มาร์เวล แต่เธอก็พยายามจะสื่อให้ออกมาเป็นอย่างนั้น “สำหรับเธอช่วงเวลาที่แข็งแกร่งที่สุดคือช่วงเวลาที่เราสามารถรักใครก็ได้ที่เราอยากจะรัก และพวกเราสามารถเป็นคนที่พวกเราต้องการ นั่นแหละเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก” เธอได้มองภาพความรักของตัวละครวัลคีรีไว้อย่างไม่มีคำจำกัดความใด ๆ ในความรักของวัลคีรีเลย มองว่าวัลคีรีสามารถรักได้ทุกคน มีภาพในหัวที่มองว่าสามารถรักได้ทั้ง “ธอร์” เทพเจ้าสายฟ้า และ “กัปตันมาร์เวล” ฮีโรผู้หญิงที่มาพร้อมพลังสุดเลิศล้ำ และก็ยังหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะได้มีซูเปอร์ฮีโรที่เป็น LGBTQ ให้เราได้เห็นกันจริง ๆ [caption id="attachment_8897" align="alignnone" width="1280"] เทสซา ธอมป์สัน จากคำกลั่นแกล้งสู่กระบอกเสียงผิวสี และ LGBTQ เทสซา ธอมป์สัน และ คริส เฮมส์เวิร์ธ[/caption]   ในปี 2019 เธอได้รับบทบาทเอเจนท์ เอ็ม คู่กับ “เอเจน เอช” รับบทโดย คริส เฮมเวิร์ธ (Chris Hemsworth) ที่กลับมาเจอกันถึงรอบที่ 3 แล้ว ความที่เคมีของทั้งคู่ช่างเข้ากัน จนผู้อำนวยการสร้างอย่าง แบร์รี ซอนเนนเฟลด์ (Barry Sonnenfeld) เห็นแววของเธอและเขา เมื่อหนังภาคนี้เป็นคู่หูใหม่มาแทนคู่หูเก่าที่ ซอนเนนเฟลด์ ได้ทำให้เรื่องราวเดิมจบลงไปอย่างสมบูรณ์แบบ และให้ธอมป์สันได้มาเป็นผู้หญิงคนแรกที่มาร่วมงานกับองค์กร Men in Black (MIB) ในการปกป้องโลก จากสิ่งแปลกปลอมและอันตรายนอกโลก และภารกิจของเธอไม่ใช่แค่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นภารกิจสุดหินมีอยู่ในทั่วทุกมุมโลก กล่าวได้ว่า MIB รอบนี้ ไม่ใช่ MEN in black อีกต่อไป แต่เป็น “Man and Women in black” “ถึงแม้ว่าในวงการภาพยนตร์จะยังไม่มีหนังที่มีผู้หญิงแสดงนำมากนัก แต่ฉันหวังว่า Men in Black จะจุดประการให้มีหนังที่แสดงนำโดยผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นอีก” ธอมป์สันกล่าว   ที่มา buzzfeednews toofab imdb cinemablend nangdee thematter   เรื่อง: อนัญญา นิลสำริด (The People Junior)