เทะสึกะ โอะซะมุ ตำนานแห่งปรมาจารย์ ต้นกำเนิด “เจ้าหนูปรมาณู” ทั้งชีวิตอุทิศเพื่อการ์ตูน

เทะสึกะ โอะซะมุ ตำนานแห่งปรมาจารย์ ต้นกำเนิด “เจ้าหนูปรมาณู” ทั้งชีวิตอุทิศเพื่อการ์ตูน

เทะสึกะ โอะซะมุ ตำนานแห่งปรมาจารย์ ต้นกำเนิด “เจ้าหนูปรมาณู” ทั้งชีวิตอุทิศเพื่อการ์ตูน

การ์ตูนญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันว่า “มังงะ (Manga)” นั้น จริง ๆ แล้วมีมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 12 หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่พบคือภาพเขียนรูปสัตว์อย่าง นก กระต่าย หรือ กบ เพื่อล้อเลียนวิถีชีวิตของชนชั้นสูงในญี่ปุ่นสมัยก่อน จนกระทั่งศิลปินที่ชื่อ คัทซึชิกะ โฮะคุไซ ซึ่งมีชีวิตอยู่ตั้งแต่ ค.ศ.1760-1849 เป็นผู้พัฒนาการเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นให้เกิดมีเรื่องราว และเป็นคนแรกที่ตั้งชื่อให้ภาพเขียนแนวนี้ว่า “มังงะ” (漫画) ซึ่งหมายถึง ภาพเขียนอันหาแก่นสารหรือสาระใด ๆ ไม่ได้

คัทซึชิกะ โฮะคุไซ เป็นจิตรกรภาพพิมพ์ไม้แกะสลักที่เรียกว่าภาพ “อุคิโยะ” (浮世絵) และมีผลงานอันมีชื่อเสียงมากมายเช่น ภาพเขาฟุจิ 36 มุม หรือ ภาพคลื่นยักษ์ เขาได้ใช้ความรู้ในภาพอุคิโยะมาพัฒนาเป็นงานเขียนแนวมังงะ และยังเขียนตำราวิธีการเขียนภาพมังงะเบื้องต้นเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันด้วย

การ์ตูนญี่ปุ่นได้มีการพัฒนามาตลอด แต่ผู้ที่ทำให้การพัฒนาก้าวกระโดดจนกลายเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นในปัจจุบัน และกลายเป็นมรดกไว้ให้ชาวญี่ปุ่นรุ่นหลังและชาวโลกได้ชื่นชมกัน คือ เทะสึกะ โอะซะมุ (手塚治虫) นั่นเอง โอะซะมุสร้างคุณูปการให้การ์ตูนทั้งทางตรงคือสร้างผลงานมังงะและอนิเมะมากมาย และทางอ้อมคือมีส่วนสร้างนักเขียนการ์ตูนรุ่นหลังหลายคนด้วยกัน เช่น ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ผู้เขียนโดราเอมอน หรือ อิชิโนะโมะริ โชทะโร่ ผู้เขียนคาเมนไรเดอร์

โอะซะมุเกิดในปี1928 ในตอนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงเมื่อปี 1945 นั้น เขามีอายุได้ 17 ปีพอดี ซึ่งเป็นวัยที่โตมาพอจะเข้าใจความหายนะที่ญี่ปุ่นได้รับ หลังจากสงครามโลก ญี่ปุ่นก็เปิดรับอารยธรรมตะวันตกผ่านทางอเมริกาอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งคริสตศาสนา ลัทธิปัจเจกนิยม ลัทธิทุนนิยม ประชาธิปไตยแบบอเมริกา การศึกษา การเมืองการปกครอง รวมทั้งรับ ป๊อป คัลเจอร์ จากอเมริกาด้วย ทั้งการ์ตูน Disney อย่างพวก Mickey Mouse หรือ Donald Duck รวมทั้งพวก Superman โอะซะมุที่เกิดในครอบครัวฐานะค่อนข้างดี (เป็นระดับ upper-middle class) จึงมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะซื้อหาการ์ตูน Disney และภาพยนตร์จากอเมริกาและยุโรปมาชื่นชมได้ ในขณะที่คนญี่ปุ่นจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงสื่อจากตะวันตกเหล่านี้

นอกจากวาดการ์ตูนแล้ว เขามีงานอดิเรกอีกอย่างคือสะสมแมลงนานาชนิด ซึ่งประสบการณ์จากสื่อของอเมริกาและข้อมูลเกี่ยวกับแมลงจำนวนมากนี้ มีผลต่อการออกแบบพล็อตและตัวละครต่าง ๆ ในการ์ตูนของโอะซะมุในเวลาต่อมา เขาจึงเอาอักษร “แมลง” (虫) ใส่ลงไปในนามปากกาของเขาด้วย และเนื่องจากเขาเรียนจบวิทยาลัยแพทย์ ทำให้ความคิดทางแพทย์มีอิทธิพลอย่างมากในการ์ตูนคุณหมอ Black Jack และมีอิทธิพลต่อการตั้งคำถามถึงความหมายของชีวิตในการ์ตูนหลายเรื่องของเขา

เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในสภาพเกือบล้มละลายในตอนนั้น ธุรกิจสิ่งพิมพ์ก็ร่อแร่ ทำให้มังงะกลายเป็นสื่อเดียวที่ราคาถูกและสามารถหล่อเลี้ยงจิตใจคนญี่ปุ่นที่บอบช้ำในยุคนั้นได้ เป็นจังหวะดีที่โอะซะมุเริ่มการผสมผสานแนวคิดมังงะญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมเข้ากับแนวคิดต่าง ๆ ของตะวันตก และค่อย ๆ พัฒนามังงะญี่ปุ่นเข้าสู่รูปแบบของการ์ตูนญี่ปุ่นในปัจจุบัน

สำหรับยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังไม่ได้มีธุรกิจการ์ตูนขึ้นมาในประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นรูปเป็นร่างเหมือนปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความกล้าอย่างมากสำหรับคนเรียนจบแพทย์ที่จะลุกขึ้นประกาศตัวว่า “ฉันไม่อยากเป็นหมอโว้ย แต่ฉันจะเป็นนักเขียนการ์ตูน” ที่จริงต้องขอบคุณคุณแม่ของโอะซะมุที่ให้การสนับสนุนให้ลูกชายเดินตามความฝัน เพราะจริง ๆ แล้วโอะซะมุเรียนจบวิทยาลัยแพทย์ แต่ระหว่างที่เรียน ก็ยังชอบวาดการ์ตูนอยู่ตลอด เมื่อลูกชายไปปรึกษาแม่ว่าควรจะเลือกอาชีพอะไรในอนาคต แม่ของเขาก็บอกให้ “ทำสิ่งที่ชอบ” ทำให้โอะซะมุไม่ลังเลที่จะผันตัวเองมาเป็นนักวาดการ์ตูน และสนับสนุนนักเขียนรุ่นน้อง ๆ ที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน เป็นการสร้างบุคลากรคนสำคัญ ๆ ต่อวงการการ์ตูนในเวลาต่อมา

โอะซะมุประสบความสำเร็จเป็นเรื่องแรกจากเรื่อง “เกาะมหาสมบัติแห่งใหม่” (新宝島) ซึ่งเป็นการนำนิยายตะวันตกเรื่อง “เกาะมหาสมบัติ” ของโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเฟนสัน มาประยุกต์ให้เกิดเป็นเรื่องราวใหม่ ได้รับเสียงตอบรับอย่างงดงามจากนักอ่านในญี่ปุ่น

เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้พัฒนาแนวทางใหม่ ๆ อย่างพัฒนาแนวการแต่งเนื้อเรื่องหลายเรื่องของเขาให้มีความซับซ้อนเป็นเรื่องยาวระดับเป็นนวนิยาย (จากเดิมที่การ์ตูนมักเป็นแค่การ์ตูน 4 ช่องล้อเลียนการเมือง) และพัฒนาวิธีการวาดมังงะญี่ปุ่นแบบใหม่ จากเดิมที่นิยมวาดเป็นกรอบ ๆ ช่อง ๆ แต่โอะซะมุตัดสินใจวาดแบบให้ตัวละครสามารถทะลุกรอบช่อง ๆ ในเล่มได้ คือเขาวาดภาพนิ่งแต่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังดูภาพยนตร์อยู่ คือมีการเคลื่อนไหว มีความลึกของฉาก มีความสามารถในการเข้าออกจากสถานที่นั้น ๆ ได้

โอะซะมุยังเป็นคนแรกที่ริเริ่มการวาด “ดวงตาที่โตมาก ๆ” เพราะต้องการให้ตัวละครแสดงความรู้สึกได้ชัดเจน จึงวาดตาโตเพื่อให้ใส่รายละเอียดทางอารมณ์ได้ และสไตล์การวาดตาโตก็กลายเป็นบรรทัดฐานกระแสหนึ่งในการ์ตูนญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ เขายังเป็นนักเขียนการ์ตูนคนแรกที่ริเริ่มให้มีการจ้าง “ผู้ช่วย” อย่างเป็นทางการ เพื่อแบ่งเบาภาระของนักเขียนหลัก ทำให้นักเขียนการ์ตูนหลายคนหันมาจ้างผู้ช่วยแบบโอะซะมุกันหมด

ในแง่เนื้อเรื่อง โอะซะมุเชื่อว่า เนื้อเรื่องไม่จำเป็นต้องจบแบบแฮปปี้ เอ็นดิ้ง ทำให้หลาย ๆ เรื่องของเขานั้นมีความหดหู่แต่ก็ลึกซึ้งมาก ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะประสบการณ์การเรียนแพทย์ บวกกับประสบการณ์เลวร้ายของการได้อยู่ร่วมสมัยกับตอนปรมาณูลงที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ผนวกกับการเห็นญี่ปุ่นย่อยยับหลังสงครามโลก ย่อมทำให้เขามีปมบางอย่างในจิตใจและไม่สามารถมองโลกให้เป็นแง่บวกหรือมองโลกให้สวยงามได้อีกต่อไป

งานเขียนของเขาจึงเต็มไปด้วยความคิดเชิงวิพากษ์ การตั้งคำถามต่อชีวิต ต่อโลกมนุษย์ และมีสีเทา ๆ เจืออยู่แทบทุกเรื่อง และกลายเป็นบรรทัดฐานของการ์ตูนญี่ปุ่นจำนวนมากในยุคหลังว่าเนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับวันสิ้นโลก หรือความหายนะในวงกว้างแบบดิสโทเปีย มีความก้าวร้าวรุนแรง ความปวดร้าว ความตาย แต่ก็เปี่ยมไปด้วยความหวังและแสงสว่าง โอะซะมุทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นกลายเป็นสื่อแนวใหม่ที่ “ไม่ใช่ญี่ปุ่นและไม่ใช่อเมริกัน” แต่เป็นการผสมผสานอารยธรรมจากตะวันออกที่ดำรงอยู่ในญี่ปุ่น เข้ากับอารยธรรมตะวันตกต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นรับผ่านอเมริกา จนกลายเป็นเนื้อเรื่องแนวใหม่ที่ไม่เคยมีประเทศใดในโลกสร้างขึ้นมาก่อน

งานเขียนของโอะซะมุหลายเรื่องจัดเป็นงาน “ขึ้นหิ้ง” ที่แม้แต่ Disney ยังยอมรับ (ถึงขั้นเคยมีดราม่าว่า Lion King เลียนแบบเรื่อง Kimba ของโอะซะมุ แต่ทีมงานของโอะซะมุประกาศแล้วว่า Disney ไม่ได้เลียนแบบนะ) ผลงานเด่นของโอะซะมุที่คนไทยคุ้นเคยกันดีก็เช่น Astro Boy (เจ้าหนูปรมาณู), Princess Knight, Black Jack, Buddha, Phoenix

โอะซะมุ ไม่ได้มีอิทธิพลแค่หนังสือการ์ตูนเท่านั้น เขายังเป็นเจ้าพ่อแห่งอนิเมะทางโทรทัศน์อีกด้วย เขาผลิตอนิเมะทางโทรทัศน์ในราคาที่ “ถูกแสนถูก” จนทำให้นักเขียนการ์ตูนและค่ายผลิตอนิเมะค่ายอื่นแทบล้มละลาย เพราะโอะซะมุคือตัวท็อปของประเทศ แต่เก็บค่าแรงถูกราวกับเหวี่ยงทิ้ง ทำให้ค่ายอื่นไม่สามารถขึ้นราคาค่าแรงให้สมกับที่ลงทุนไปได้ ในวงการอนิเมะถึงขั้นเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “คำสาปแห่งโอะซะมุ” ทำให้ศิลปินด้านการ์ตูนและอนิเมะมีรายได้ไม่คุ้มกับการลงทุนลงแรงไปเลย แต่ที่โอะซะมุทำแบบนี้ก็เพราะต้องการให้งานการ์ตูนและอนิเมะเป็นที่ยอมรับในวงกว้างเร็ว ๆ นั่นเอง เรียกว่าเป็นคนที่ยอมทำทุกอย่างไม่เลือกวิธี เพื่อให้การ์ตูนกลายเป็นสื่อกระแสหลักของญี่ปุ่นให้ได้

นอกจากการสร้างผลงานมังงะและอนิเมะให้กับวงการการ์ตูนญี่ปุ่นแล้ว โอะซะมุยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสนับสนุนนักเขียนหน้าใหม่จนกลายเป็นนักเขียนชื่อดังหลายคน

จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญก็ได้ คือโอะซะมุเกิดที่โอซาก้า แต่เข้ามาทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูนที่โตเกียว ตอนแรกเขาไปเช่าห้องพักราคาถูกแบ่งให้เช่าที่อยู่ชั้น 2 ของร้านขายผักแห่งหนึ่งในชินจุกุ แต่เนื่องจากโอะซะมุเริ่มมีชื่อเสียงพอดีในตอนนั้น และโอะซะมุเป็นคนบ้างานมาก ทำงานแบบทั้งวันทั้งคืนก็บ่อย และนิสัยเสียคือปฏิเสธไม่เป็น รับเขียนหลายเรื่องมากในเวลาเดียวกัน ปั่นยังไงก็ไม่ทันเลยทีเดียว แล้วยังมีแขกจากสำนักพิมพ์ มีทีมบรรณาธิการ เข้า ๆ ออก ๆ ห้องพักของเขาตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน จนไปรบกวนเจ้าของร้านขายผักที่ให้เขาเช่าห้อง เขาจึงต้องหาที่อยู่ใหม่ จังหวะเหมาะที่มีการสร้างหอพักโทะคิวะเสร็จพอดี สำนักพิมพ์กะคุโดชะ (学童社) ที่โอะซะมุเขียนมังงะไปตีพิมพ์อยู่ตอนนั้น จึงแนะนำให้โอะซะมุย้ายไปพักที่หอโทะคิวะ หลังจากนั้น นักเขียนหน้าใหม่ที่เขียนงานให้สำนักพิมพ์เดียวกันนี้ จึงได้รับคำแนะนำให้ไปพักที่หอโทะคิวะ ทำให้เกิดเป็นระบบนิเวศแห่งนักเขียนการ์ตูนขึ้นในหอพักนี้

ถ้าให้ยกตัวอย่างก็เช่น ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ผู้เขียนโดราเอมอนทั้ง 2 คนที่ใช้นามปากกาเหมือนมีนักเขียนแค่คนเดียว ก็คลั่งไคล้บูชาโอะซะมุมาก ถึงขั้นที่ผลงานยุคแรก ๆ ของฟุจิโกะ ฟุจิโอะ อยากใช้นามปากกาว่า “เทะสึกะ ฟุจิโอะ” ด้วยซ้ำ แต่ตอนหลังก็ตระหนักได้ว่าพวกตัวเองฝีมือไม่ถึงจะเป็น “เทะ (มือ)” ของโอะซะมุด้วยซ้ำ เลยหันไปใช้นามปากกาแรก ๆ ว่า “อะชิสึกะ ฟุจิโอะ” (อะชิ แปลว่า เท้า) แทน เพราะมีฝีมือเป็นได้แค่เท้าของโอะซะมุเท่านั้น แต่ในที่สุดก็ลงตัวที่นามปากกาว่า ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ

ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ได้ย้ายเข้าพักที่หอโทะคิวะ โดยได้ใช้ห้องหมายเลข 14 ซึ่งเป็นห้องที่โอะซะมุเคยอาศัยอยู่ และยังได้ใช้โต๊ะเขียนงานตัวเดียวกับที่โอะซะมุทิ้งเอาไว้ให้ยุวชนรุ่นหลังอีกด้วย เรียกว่างานเขียนยุคแรก ๆ ของฟุจิโกะ ฟุจิโอะ นั้นคือนั่งเขียนบนโต๊ะของโอะซะมุเลยก็ว่าได้ และ ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ก็กลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของโอะซะมุด้วย ก่อนที่จะประสบความสำเร็จอย่างมากกับโดราเอมอน

โอะซะมุนั้นเปรียบเหมือน “พระเจ้า (神)” สำหรับทั้งฟุจิโกะ ฟุจิโอะ โอะซะมุค่อนข้างบ้างาน ใช้งานผู้ช่วยจนดึกดื่นค่ำคืนหรือแม้กระทั่งโต้รุ่งอยู่บ่อย ๆ และที่โหดอีกอย่างคือหลายครั้งที่ปั่นงานไม่ทัน ถึงขั้นต้องเขียนงานบนรถแท็กซี่ไปด้วย ซึ่งยากมากที่จะวาดและแรเงาบนรถที่กำลังวิ่งอยู่ได้ แต่โอะซะมุก็อยากให้ผู้ช่วยทำได้แบบเดียวกันเพราะว่างานเยอะมากจนทำไม่ทันนั่นเอง ทำให้ทั้ง 2 คนได้เรียนรู้ทั้งเทคนิค ฝีมือ แนวคิด ความบ้างาน ทุกอย่างจากโอะซะมุไปไม่น้อย และมีโอกาสได้สนทนากับนักเขียนคนอื่นที่ใช้ชีวิตอยู่ที่หอโทะคิวะนี้ เปิดโลกทัศน์ได้อีกมากมาย

นอกจาก ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ แล้ว ก็ยังมี อิชิโนะโมะริ โชทะโร่ ผู้เขียนคาเมนไรเดอร์ ที่เคยเป็นผู้ช่วยของโอะซะมุ โชทะโร่มีโอกาสได้เขียนงานลงนิตยสารเดียวกับที่โอะซะมุเขียนอยู่ และพอโอะซะมุได้อ่านงานของโชทะโร่ ก็ประทับใจในพรสวรรค์ ทำให้เริ่มรู้จักกัน โอะซะมุจึงขอให้โชทะโร่มาเป็นผู้ช่วยของตัวเองในที่สุด โดยเริ่มจากเป็นผู้ช่วยโอะซะมุเขียนเรื่อง “เจ้าหนูปรมาณู” (鉄腕アトム) ก่อน

งานผู้ช่วยหนักมากจนกระทั่งโชทะโร่ถึงกับต้องพักการเรียนเพื่อมาทำงาน โอะซะมุมีชื่อเสียงและรับงานไม่เลือก ทำให้งานล้นมือ ผู้ช่วยกี่คนก็ไม่พอ แต่ถึงจะยุ่งอย่างนั้น ก็ยังมีหลายครั้งที่โอะซะมุหาโอกาสพาโชทะโร่ไปโรงหนังเพื่อดูหนังสร้างจินตนาการใหม่ ๆ และในที่สุดก็โอะซะมุนี่เองที่พาโชทะโร่ไปแนะนำให้บรรณาธิการของนิตยสารการ์ตูนต่าง ๆ และหาทางป้อนงานเขียนให้ จนโชทะโร่โด่งดังขึ้นมาเป็นนักเขียนการ์ตูนอาชีพเต็มตัว

นอกจากผลิตผลงานมังงะ อนิเมะ และสนับสนุนนักเขียนมังงะรุ่นน้องหลาย ๆ คนแล้ว อิทธิพลของโอะซะมุในด้านอนิเมะก็ทำให้เกิด มิยะซะกิ ฮะยะโอะ (宮﨑 駿) แห่ง Ghibli Studio ในภายหลังอีกด้วย

มิยะซะกิ ฮะยะโอะ เกิดในปี 1941 เขาชื่นชมโอะซะมุมาก แต่ก็เกลียดบางอย่างในตัวโอะซะมุมากเช่นกัน ฮะยะโอะเกลียดความจริงที่ว่าการ์ตูนจะเป็นอนิเมะทางโทรทัศน์ได้แค่ความยาว 27 นาที (เพื่อให้รวมโฆษณาแล้วเป็นครึ่งชั่วโมงพอดี) เกลียดการมองแต่ความสูญเสียและความตายแบบที่โอะซะมุเขียนในงาน เกลียดการที่ต้องเขียนเป็นหนังสือการ์ตูนก่อนจึงทำเป็นอนิเมะได้ เกลียดคำสาปแห่งโอะซะมุที่ทำให้ศิลปินได้รายได้ไม่คุ้มกับความสามารถ

ฮะยะโอะจึงเกิดความคิดใหม่ที่จะ “สร้างภาพยนตร์อนิเมชั่น โดยไม่ต้องผ่านการตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูน” และ “อนิเมชั่นที่ไม่ต้องผ่านโทรทัศน์” และ “สร้างรายได้คุ้มกับความสามารถ” ทำให้เกิดเป็นโมเดลใหม่ของ Ghibli Studio ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากทั่วโลก รวมทั้งในอเมริกาด้วยตามที่เรา ๆ ท่าน ๆ ทราบกันดีว่า Ghibli ร่วมมือกับ Disney ในการเผยแพร่สื่อของ Ghibli ในอเมริกา

ทั้งหมดที่ว่ามาจึงกล่าวได้ว่า เทะสึกะ โอะซะมุ คือบิดาแห่งการ์ตูนญี่ปุ่นยุคใหม่อย่างแท้จริง ถ้าไม่มีโอะซะมุ ก็คงไม่มีฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ไม่มีอิชิโนะโมะริ โชทะโร่ ไม่มีนักเขียนดัง ๆ อีกหลายคนที่สร้างผลงานให้เราได้อ่าน ไม่มีมิยะซะกิ ฮะยะโอะ และคงไม่มี Ghibli การ์ตูนญี่ปุ่นคงไม่พัฒนาแนวทางมาจนถึงระดับที่ข้ามพรมแดนไปโด่งดังในหลาย ๆ ประเทศอย่างปัจจุบันได้

ทั้งหมดต้องขอบคุณความเชื่อมั่นในความฝัน ความบ้างาน การอุทิศตัวเพื่อวงการการ์ตูนของโอะซะมุผู้นี้