ที่มาของแป้นพิมพ์เกษมณี และชุดอักษร ‘ฟ ห ก ด  ่ า ส ว’

ที่มาของแป้นพิมพ์เกษมณี และชุดอักษร ‘ฟ ห ก ด  ่ า ส ว’
‘ฟ ห ก ด  ่ า ส ว’  นอกจากจะใช้แทนความรู้สึกที่ยากเกินจะอธิบายแล้ว ที่มาจริง ๆ ของชุดตัวอักษรนี้ คืออักษรบนแป้นหลักสำหรับวางนิ้วมือบน ‘แป้นพิมพ์เกษมณี’ ที่เราใช้กันในคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมแป้นพิมพ์เหล่านี้จึงไม่เรียงตามตัวอักษร ? และทำไมแป้นพิมพ์นี้ถึงมีชื่อว่า เกษมณี ? เรื่องราวต่อไปนี้คือคำตอบ…   พิมพ์ดีดไทยเครื่องแรก กับ ฅ และ ฃ ที่หายไป ในยุคสมัยที่เรายังไม่มีแป้นพิมพ์ การจารึกลงบนศิลา หรือเขียนลงบนใบลานย่อมเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมรูปแบบตัวอักษร และจัดระเบียบให้อยู่บนบรรทัดเดียวกัน นั่นทำให้เริ่มมีการผลิตเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยให้ตัวอักษรมี ‘มาตรฐานกลาง’ ร่วมกันโดยชาวอังกฤษนามว่า ‘เฮนรี มิลล์’ (Henry Mill) คือผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ดีดขึ้นมาเครื่องแรกในปี พ.ศ. 2237 แล้วเรียกอุปกรณ์ชนิดนี้ว่า ‘Writing Machine’  ราวหนึ่งร้อยกว่าปีถัดมา ทางฝั่งอเมริกาก็ไม่น้อยหน้าเพราะ วิลเลียม ออสติน เบิร์ต  (William Austin Burt) ได้ผลิตเครื่องเขียนหนังสือขึ้นมาเช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า Typographe แต่ถึงอย่างนั้นเครื่องพิมพ์ดีดยังเป็นอุปกรณ์นิรนามที่ชาวสยามไม่เคยรู้จัก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2434 เอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ (Edwin Hunter McFarland) ชาวอเมริกันผู้ข้ามทวีปมารับราชการตำแหน่งเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ริเริ่มไอเดียการผลิตแป้นพิมพ์ฉบับภาษาไทยขึ้น โดยไอเดียที่ว่านี้ มาจากตอนที่แมคฟาร์แลนด์เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด แล้วพบว่ามีอุปกรณ์อย่างเครื่องพิมพ์ดีดซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานเอกสารของคนไทย แมคฟาร์แลนด์จึงเดินเข้าออกบริษัททำเครื่องพิมพ์ดีดหลายแห่ง เพื่อหาบริษัทที่สามารถผลิตเครื่องพิมพ์ดีดขนาดใหญ่พอจะบรรจุอักษรภาษาไทยได้ครบถ้วน ในที่สุด แมคฟาร์แลนด์ก็ได้พบกับเครื่องพิมพ์ดีดที่ตรงใจ นั่นคือยี่ห้อ Smith Premier Typewriter แต่ยังคงเป็นแป้นพิมพ์แบบ 7 แถว ซึ่งไม่สามารถพิมพ์สัมผัส (พิมพ์ด้วยนิ้วทั้ง 10 นิ้ว โดยไม่ต้องมองแป้นพิมพ์) และยังพบปัญหาตัวอักษรไทยที่เกินมา 2 ตัว แมคฟาร์แลนด์จึงต้องคัดตัวอักษรที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย แล้วตัดสินใจตัด ฅ ฅน กับ ฃ ฃวด ออกไป เพราะแทบไม่ได้ใช้งานตัวอักษรเหล่านี้ (ซึ่งต่างจากแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันที่มีทั้ง ฅ และ ฃ ปรากฏอยู่ฝั่งขวาสุด) และแล้วเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรกก็สำเร็จในปี พ.ศ. 2435   กำเนิดแป้นพิมพ์เกษมณี ฟหกด่าสว และแป้นพิมพ์หนักขวา ต่อมาแมคฟาร์แลนด์ได้นำแป้นพิมพ์ภาษาไทยกลับมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อให้ทดลองใช้เป็นพระองค์แรก ก่อนจะเริ่มมีการนำเข้าเพิ่มอีก 17 เครื่องเพื่อใช้ในงานราชการ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงย้ายไปปฏิบัติหน้าที่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แมคฟาร์แลนด์จึงพ้นจากตำแหน่ง พร้อม ๆ กับเสียงร่ำลือถึงเครื่องพิมพ์ดีดที่ค่อย ๆ เลือนหายไป หลังจากนั้นแมคฟาร์แลนด์ได้เดินทางกลับไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2438 สิ่งที่เหลือทิ้งไว้มีเพียงพินัยกรรมที่มอบกรรมสิทธิ์เครื่องพิมพ์ดีดให้กับน้องชาย นั่นคือนายแพทย์ยอร์ช แบรดเลย์ แมคฟาร์แลนด์ (George Bradley McFarland) หรืออำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม ผู้คืนชีพให้กับเครื่องพิมพ์ดีดอีกครั้งหนึ่ง  โดยพระอาจวิทยาคมได้เปิดห้างสมิทพรีเมียร์ เพื่อจำหน่ายสินค้านานาชนิดรวมทั้งเครื่องพิมพ์ดีดรูปแบบเดิม และเมื่อผู้คนได้เข้ามาเยี่ยมชมสินค้าภายในห้างฯ พวกเขาก็เริ่มซื้อเครื่องพิมพ์ดีดกลับไปใช้งาน จนกลายเป็นอุปกรณ์ประจำสำนักงานหลายแห่งไปโดยปริยาย ต่อมาพระอาจวิทยาคมได้นำเข้าเครื่องพิมพ์ดีดขนาดกะทัดรัดมากยิ่งขึ้น แต่ยังมีข้อบกพร่องบางอย่าง โดยจากข้อมูลในเว็บไซต์ราชบัณฑิตยสภาระบุว่า แป้นพิมพ์ในยุคสมัยนั้น ต้องพิมพ์ตัว ฝ ด้วยการพิมพ์อักษร ผ แล้วต่อหางอีกครั้งหนึ่ง หรือการพิมพ์คำว่า กิน โดยพิมพ์สระอิ ก่อนพยัญชนะ ก และ น เป็นต้น พระอาจวิทยาคมจึงปรึกษากับพนักงานสองคนให้ลองคิดค้นแป้นพิมพ์รูปแบบใหม่ในปี พ.ศ. 2467 โดยพนักงานคนแรกคือ นายสวัสดิ์ มากประยูร ผู้ออกแบบและประดิษฐ์ก้านอักษร ส่วนพนักงานคนที่สองคือ นายสุวรรณประเสริฐ เกษมณี ผู้ออกแบบจัดวางตำแหน่งแป้นอักษร ซึ่งทั้งคู่ใช้เวลาพัฒนาแป้นพิมพ์นี้ยาวนานถึง 7 ปี โดยศึกษาจากคำที่ใช้บ่อยจำนวน 167,456 คำ ในหนังสือ 38 เล่ม จนออกมาเป็นต้นแบบแป้นพิมพ์ที่ผู้ใช้งานสามารถพิมพ์ได้ถนัดมือและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นในปี พ.ศ. 2474 โดยผู้คนเรียกแป้นพิมพ์รูปแบบนี้ว่า ‘แป้นพิมพ์เกษมณี’ ตามนามสกุลของผู้ออกแบบ คือ นายสุวรรณประเสริฐ เกษมณี  และแป้นพิมพ์รูปแบบนี้ได้กลายเป็นแป้นพิมพ์มาตรฐานที่เราใช้กันจนถึงปัจจุบัน นั่นคือแป้นหลักแถวที่สองนับจากด้านล่างจะมีอักษร ‘ฟหกด ่าสว’  อย่างไรก็ตาม เคยมีผู้วิจัยจุดอ่อนและข้อบกพร่องของแป้นพิมพ์เกษมณีแล้วพบว่า ตัวอักษรที่ใช้บ่อย เช่น ค น า ส ว ท มักจะอยู่ฝั่งทางขวา ทำให้ผู้คนต้องใช้มือขวามากกว่ามือซ้ายมากจนเกินไป จึงเกิดการพัฒนาแป้นพิมพ์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า แป้นพิมพ์ปัตตะโชติ โดยตั้งชื่อตามนามสกุลของผู้คิดค้นคือ นายสฤษดิ์ ปัตตะโชติ และแป้นพิมพ์ชนิดนี้สามารถพิมพ์ได้รวดเร็วกว่าแบบเกษมณีถึง 25.8% ทั้งยังสามารถลดอาการปวดนิ้วมือจากการพิมพ์ได้อีกด้วย แต่ท้ายที่สุด ผู้คนก็เลือกความเคยชินเดิม นั่นคือแป้นพิมพ์แบบเกษมณี จนกลายเป็นแป้นพิมพ์มาตรฐานที่เราใช้กันมาจนถึงในปัจจุบัน   ที่มา: https://www.museumsiam.org/da-detail2.php?MID=3&CID=177&CONID=2685&SCID=242 https://issuu.com/83799/docs/pattachote_artwork__1revised  https://www.orst.go.th/FILEROOM/CABROYINWEB/DRAWER004/GENERAL/DATA0000/00000628.FLP/html/85/#zoom=z  https://www2.si.mahidol.ac.th/siriraj130years/media/timeline/684/2469_Typewritter.pdf http://www.cvc.ac.th/cvc2011/external_newsblog.php?links=72 http://km.atcc.ac.th/external_newsblog.php?links=652