สำรวจตลาดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชในประเทศไทย

สำรวจตลาดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชในประเทศไทย
บทความนี้ ปรับปรุงจากงานวิจัยที่เคยทำไว้เมื่อปี 2561 ข้อมูลอาจไม่ได้เป็นปัจจุบันที่สุด แต่จากลักษณะของธุกิจประเภทนี้ที่เน้นการลงทุนระยะยาว คิดว่าข้อมูลหลายส่วนอาจไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก จากการสืบค้นฐานข้อมูลบริษัทจดทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมกับข้อมูลของสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (Thai Seed Trade Association – THASTA) จะพบว่าในประเทศไทยมีบริษัทวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ยังดำเนินการอยู่ 20 ราย หากนำรายได้ในปี 2559 ของบริษัททั้ง 20 แห่ง มารวมกันจะเป็นเงิน 29,956 ล้านบาท   ต่างชาติเยอะ แต่ครองตลาดโดยไทย ตลาดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชมีขนาดของผู้ประกอบการที่หลากหลาย ตั้งแต่ใหญ่มาก ไปจนถึงเล็กมาก  โดยมีทุนจดทะเบียนต่ำสุด 4 ล้านบาท และสูงสุด 1,184 ล้านบาท และหากศึกษาโครงสร้างการถือหุ้นของทั้ง 20 บริษัท จะพบว่า 10 บริษัท เป็นนิติบุคคลต่างชาติเนื่องจากมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลต่างด้าวถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง ในประเทศไทย การทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ห้ามต่างชาติทำ แต่งดก็แปลว่าทำได้อยู่ โดยการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บัญชีสาม ซึ่งมี 5 บริษัทที่ใช้ช่องทางนี้ ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ไม่ชัดเจนว่าต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่งได้อย่างไร แต่จากการสัมภาษณ์สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย พบว่า บริษัทเมล็ดพันธุ์ส่วนมากจะมีแผนกที่ทำวิจัยและพัฒนาเป็นของตนเอง เนื่องจากต้องการรักษาความลับเกี่ยวกับการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของบริษัท ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงไม่ได้ให้บริการแก่ภายนอก จึงอาจไม่เข้าข่ายประกอบธุรกิจ นอกจากนี้แล้ว ยังมีบางบริษัทที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นบริษัทต่างชาติทางพฤตินัยหรือไม่ เช่น บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ จํากัด แม้จะเป็นนิติบุคคลไทยโดยมีกรรมการสัญชาติไทยในสัดส่วนที่มากกว่ากรรมการต่างชาติ (3:1)  แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท โนวาร์ตีส ครอป โพรเทคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือโนวาร์ติส ซึ่งเป็นบริษัทยาข้ามชาติขนาดใหญ่จากสวิสเซอร์แลนด์ ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2543 บริษัท โนวาร์ตีส ครอป โพรเทคชั่น (ประเทศไทย) ได้ควบรวมกับ บริษัท Astra Zeneca หลังจากนั้นได้มีการรวมธุรกิจด้านการเกษตรของทั้งสองบริษัทมาเป็น บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ซึ่งศูนย์วิจัยของซินเจนทา จำนวน 2 ใน 5 แห่งในประเทศไทย คือ บริษัทโนวาร์ตีส นอกจากนี้ บริษัท โนวาร์ตีส ครอป โพรเทคชั่น (ประเทศไทย) ยังคงมีสถานะคงอยู่ และมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัทซินเจนทา พาร์ติซิเทชั่น เอจี จึงอาจกล่าวได้ว่าบริษัทโนวาร์ตีส และซินเจนทามีการถือหุ้นไขว้ (cross shareholding) และนับเป็นบริษัทเครือเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตุว่า บริษัทขนาดใหญ่ส่วนมาก (4 ใน 6) เป็นบริษัทต่างชาติ  โดยสัญชาติของบริษัทต่างชาติมีตั้งแต่ อเมริกัน ฝรั่งเศส ดัชท์ สวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย บางบริษัทเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น มอนซานโต้ มีสัดส่วนในตลาดโลกใหญ่ที่สุด (ร้อยละ 20 ของตลาดโลก)     แต่จากการวิเคราะห์รายได้ของบริษัทวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ในปี 2559 พบว่า บริษัทสัญชาติไทยยังคงครองตลาดในประเทศไทยอยู่ประมาณร้อยละ 70 โดยบริษัทที่มีรายได้สูงสุด คือ บริษัท เจียไต๋ จำกัด มีส่วนแบ่งตลาดเกินกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 58.27) โดยมีรายได้ 17,456 ล้านบาท ตามด้วยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โปรดิ๊วส์ จำกัด (ร้อยละ 10) ซึ่งมีรายได้ 2,995 ล้านบาท จึงทำให้กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์มีส่วนแบ่งในตลาดวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์เกิน 2 ใน 3 (ร้อยละ 68.27) อันดับสาม คือ บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ จํากัด (ร้อยละ 6.36) ซึ่งหากรวมกับบริษัทโนวาร์ตีส ครอป โปรเทคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จะมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันร้อยละ 6.91 เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์แล้ว บริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาด 10 อันดับแรกล้วนเป็นบริษัทต่างชาติ หรือมีความสัมพันธ์กับบริษัทต่างชาติทั้งสิ้น เมื่อวิเคราะห์อัตราการกระจุกตัว (Concentration ratio) พบว่า บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ครองตลาดอันดับหนึ่งและสอง (CR1) อยู่ที่ร้อยละ 68.27 เมื่อรวมกับบริษัท ซินเจนทา ซีดส์ จํากัด และบริษัทโนวาร์ตีส ครอป โปรเทคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน จะทำให้อัตราการกระจุกตัว (CR2) อยู่ที่ร้อยละ 75.18 และเมื่อรวมกับบริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด (CR3) จะเป็นร้อยละ 81.31 สะท้อนว่าตลาดการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยมีการกระจุกตัวสูงมาก   มาก่อนได้เปรียบ ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ต้องอาศัยความชำนาญและการเก็บสะสมเชื้อพันธุกรรม ที่ผ่านมาถือเป็นธุรกิจที่มีกำไรน้อยอยู่ที่เพียง 10-15% เท่านั้น แต่ต้องการการลงทุนที่สูงและใช้ระยะเวลานาน ทั้งยังต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่มาก จึงทำให้บริษัทที่อยู่มาก่อนได้เปรียบ โดยผู้เล่นหน้าใหม่ไม่สามารถเข้ามาในตลาดได้อย่างง่ายดายนัก การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์นั้นมีต้นทุนที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ขนาดและทำเลที่ตั้งของสถาบันวิจัย ขนาดของโครงการ เมล็ดพันธุ์ที่เลือกจะวิจัย กระบวนการและเครื่องมือ อย่างไรก็ดี การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ใช้ระยะเวลายาวนานหลายปีกว่าที่จะได้เมล็ดพันธุ์ที่ต้องการและผู้ลงทุนจะสามารถทำกำไรจากการปรับปรุงพันธุ์ได้ ดังนั้น การทำธุรกิจนี้จึงต้องอาศัยต้องอาศัยความอดทนและเงินทุนสำรองในการใช้จ่ายต้นทุนคงที่และต้นทุนดำเนินการในช่วงต้นของการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะกีดกันผู้ที่อยากจะเข้ามาในตลาด (Barrier to Entry) โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก นอกจากนี้ ธุรกิจวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์จะต้องมีนักปรับปรุงพันธุ์ (Breeder) ที่มีประสบการณ์และความเข้าใจสภาพแวดล้อมที่จะปลูกพืช และมีความรู้ด้านชีววิทยาที่สูงมาก ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความเข้าใจทางด้านการตลาดเพื่อที่จะตอบคำถามให้ได้ว่าจะพัฒนาอะไร จะพัฒนาเพื่อใคร และยังต้องตอบคำถามทางด้านเทคนิคให้ได้ด้วยว่าจะพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์อย่างไรจะใช้วิธิใดจึงจะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยเครือข่ายสูง ทั้งเครือข่ายกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในประเทศ และเครือข่ายกับต่างประเทศเนื่องจากพืชหลายชนิดไม่มีแหล่งกำเนิดในไทย จึงต้องมีการนำเข้าและการแลกเปลี่ยนความรู้และเชื้อพันธุ์กับหน่วยงานอื่น จึงอาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์นั้นไม่ใช่ธุรกิจที่จะสามารถเข้ามาสู่ตลาดได้ง่ายนัก   ศักยภาพในการแข่งขันของคนไทย ธรรมชาติของธุรกิจการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชนั้นเป็นระบบที่ปิด กล่าวคือ เป็นธุรกิจที่มีการรักษาความลับทางการค้าอยู่มาก การทดสอบและพัฒนาพันธุ์ใหม่ต้องทำอยู่ตลอดเวลาให้ทันโลก และเพื่อรักษาความลับทางการค้า บริษัทที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชส่วนมากจะมีแผนกวิจัยและพัฒนาของตนเอง หากจะใช้บริการบุคคลภายนอกบริษัทก็มักเลือกบริการของภาครัฐหรือมหาวิทยาลัยมากกว่าที่จะเลือกบริษัทในตลาดเดียวกันที่เป็นคู่แข่ง เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐไม่ได้มีศักยภาพในการนำผลงานวิจัยไปพัฒนาเป็นสินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดได้ ซึ่งในปัจจุบัน หน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชนที่รับทำวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเช่นนี้ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ห้องปฏิบัติการของภาครัฐนั้นมีบุคลากรและเครื่องมือจำกัดทำให้ต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ด้วยจำนวนห้องปฏิบัติที่มีคุณภาพสูงนั้นมีไม่กี่แห่ง ทำให้มีการจองคิวรับบริการที่มากต้องรอเป็นเวลานานและอาจจะต้องจองกันข้ามปี ตลาดของเมล็ดพันธุ์พืชนั้นสามารถแบ่งตามประเภทของพันธุ์พืชซึ่งประกอบไปด้วยพืชเขตร้อน กึ่งเขตร้อน เขตอบอุ่น และเขตหนาว ซึ่งบริษัทไทยนั้นมีศักยภาพในการแข่งขันในกลุ่มตระกูลพืชเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในขณะที่กลุ่มพืชเขตอบอุ่นและเขตหนาวนั้นเป็นตลาดของบริษัทต่างชาติ ซึ่งไทยไม่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญเข้าไปแข่งด้วย อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะตลาดในประเทศไทยพบว่า ผู้ประกอบการไทยรายใหญ่มีศักยภาพสูงและอยู่ในตลาดเดียวกันกับบริษัทต่างชาติรายใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาแข่งกับไทยก็จำเป็นที่จะต้องใช้นักปรับปรุงพันธุ์ (breeder) ชาวไทย เพราะการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบัน นักปรับปรุงพันธุ์ในไทยมีจำนวนน้อยและส่วนมากต้องการทำงานกับบริษัทใหญ่ซึ่งจำนวนมากเป็นต่างชาติ แม้ว่าบริษัทที่ครองตลาดใหญ่ที่สุดคือบริษัทไทยในเครือเจริญโภคภัณฑ์ แต่บริษัทไทยรวมทั้งเกษตรกรไทยส่วนมากเป็นรายย่อย คาดว่ามีครัวเรือนเกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์เองประมาณ 80,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ  จึงอาจมีปัญหาขาดแคลนนักปรับปรุงพันธุ์ซึ่งจะกระทบศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อย   รัฐทำอะไรได้บ้าง ข้อแรก รัฐควรมีมาตรการเก็บรักษาพันธุ์พืชเชิงรุกที่จะไม่ทำให้พันธุ์พืชท้องถิ่นหายไป และเป็นแหล่งพันธุ์พืชท้องถิ่นที่เกษตรกรที่ต้องการจะเพาะปลูกเพื่อการค้าสามารถมาขอเมล็ดพันธุ์ได้ เนื่องจากการมุ่งวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่เป็นพืชพาณิชย์ที่ขายง่าย ปลูกง่ายและเป็นที่นิยม เช่น ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง หรือมะม่วงน้ำดอกไม้ อาจกระทบต่อความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นมาสักพักแล้ว งานวิจัยของกรมการข้าวที่ได้มีการรวบรวมข้าวพันธุ์พื้นเมืองระหว่างปี 2538-2542 พบว่า ประเทศไทยเคยมีข้าวพันธุ์พื้นเมืองถึง 5,928 สายพันธุ์ งานวิจัยของกฤษฎา แก้วแก่นคูณ และคณะ (2559) พบว่าพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เคยมี 1,564 สายพันธุ์ ปัจจุบันนั้นเหลือเพียง 129 สายพันธุ์เท่านั้น ดังนั้น รัฐควรมีมาตรการเก็บรักษาพันธุ์พืชเชิงรุกที่จะไม่ทำให้พันธุ์พืชท้องถิ่นหายไป และเป็นแหล่งพันธุ์พืชท้องถิ่นที่เกษตรกรที่ต้องการจะเพาะปลูกเพื่อการค้าสามารถมาขอเมล็ดพันธุ์ได้ ข้อสอง เพิ่มจำนวนศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐานสากลในพื้นที่อื่นเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น สถานีวิจัยและพัฒนาของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์นั้นอยู่ในกำกับดูแลของ กรมวิชาการเกษตร โดยมีกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเป็นผู้ดูแลโดยตรง ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชมีอยู่ 5 ศูนย์กระจายออกไปทุกภาคทั่วประเทศ แต่มีเพียงศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลกเท่านั้นที่ได้การยอมรับว่ามีห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ตามมาตรฐานสากลจาก ISTA หรือ สมาคมทดสอบเมล็ดพันธุ์นานาชาติ (International Seed Testing Association) ข้อสาม เพิ่มจำนวนนักปรับปรุงพันธุ์พืช จำนวนนักปรับปรุงพันธุ์พืชทั้งหมดในประเทศไทยมีเพียง 253 คนเท่านั้น จากการวิเคราะห์สถานภาพความต้องการบุคลากรด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชของ รังสฤษดิ์ กาวิต๊ะ พบว่า ร้อยละ 82.81 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นว่าหน่วยงานของตนนั้นมีความขาดแคลนนักปรับปรุงพันธุ์อย่างมาก โดยร้อยละ 77.75 ของหน่วยงานทั้งหมด มีความต้องการนักปรับปรุงพันธุ์เพิ่มอีก 1-2 ตำแหน่ง (เฉลี่ยต่อหน่วยงาน) ทั้งนี้ อาชีพนักปรับปรุงพันธุ์พืชถือว่าเป็นหนึ่งใน 10 อาชีพวิทยาศาสตร์ที่ประเทศไทยขาดแคลนมากที่สุด จากการสัมภาษณ์พบว่า สาเหตุหลักของการขาดแคลน คือ การขาดแรงจูงใจในการประกอบวิชาชีพนักปรับปรุงพันธุ์ เนื่องจากเป็นงานที่หนัก ประสบความสำเร็จช้าและไม่ได้เงินเดือนที่สูง ทำให้แม้แต่นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาทางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยตรง จำนวนมากเลือกที่จะไปประกอบอาชีพอื่น ดังนั้นภาครัฐควรจะมีแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการสร้างแรงจูงใจแก่คนรุ่นใหม่ให้มาประกอบอาชีพนักปรับปรุงพันธุ์มากขึ้น ซึ่งตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2551 หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการพัฒนานักปรับปรุงพันธุ์พืชให้เพียงพอ คือ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) โดยสวทน.อาจต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อหามาตรการสร้างแรงจูงใจให้บัณฑิตที่จบการศึกษาสายนี้โดยตรงหันมาประกอบอาชีพนักปรับปรุงพันธุ์มากขึ้น   เรื่อง บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย   ที่มา โครงการศึกษาธุรกิจบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เสนอต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ คำนวนจากฐานข้อมูลนิติบุคคลในประเทศพร้อมระบบวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ โดย BOL เกรียงศักดิ์ สุวรรณธราดล, “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์” http://www.ap.mju.ac.th/webpage/seminar/download/27%20feb%202014/1400-1500%20เกรียงศักดิ์.pdf (สืบค้นเมื่อ 4 ส.ค. 2561). จากการสัมภาษณ์ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) 24 เมษายน 2561 14.00-15.00. สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย, “อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของไทย : โอกาสและความท้าทาย,” http://seed.or.th/documents/thseedindustry.pdf (สืบค้นเมื่อ 24 พ.ค. 2561). ฉวีวรรณ วุฒิญาโณ. 2543. เอกสารวิชาการ พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ไทย. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ กฤษฎา แก้วแก่นคูณ และคณะ, “การอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นบ้านโดยชุมชน: บทเรียนการอนุรักษ์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.” https://ag2.kku.ac.th/kaj/PDF.cfm?filename=P146%20Ext23.pdf&id=2858&keeptrack=2 (สืบค้นเมื่อ 2 ส.ค. 2561). รศ.ดร.รังสฤษดิ์ กาวิต๊ะ, “การศึกษาสถานภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้สอดคล้องต่อการขับเคลื่อนให้เกิดศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์” http://thaist.sti.or.th/album/knowledge/pdf/92cd8a201a976f178553a95bb30bbc64.pdf (สืบค้นเมื่อ 3 ส.ค. 2561). มติชน,“10 อาชีพวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยขาดแคลนหนัก”https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_3453 (สืบค้นเมื่อ 3 ส.ค. 2561).   ที่มาภาพ https://www.thasta.com/