แร็ปเปอร์ไทย: YOUNGOHM, MILLI และ RAP AGAINST DICTATORSHIP เมื่อคลื่นลูกใหม่ของเพลงไทยขับเคลื่อนด้วย ‘บีท’ และ ‘ไรห์ม’

แร็ปเปอร์ไทย: YOUNGOHM, MILLI และ RAP AGAINST DICTATORSHIP เมื่อคลื่นลูกใหม่ของเพลงไทยขับเคลื่อนด้วย ‘บีท’ และ ‘ไรห์ม’
/ เดินและเดิน และเดิน เดิน เดิน เดิน ย่ำ ซ้าย ขวา Twerk Twerk Twerk Twerk / เสียงแร็ปมีเอกลักษณ์เข้ากับเสียงรัวกลองโยธวาทิตเป็นจังหวะ MILLI - มินนี่-ดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์สาววัย 17 ปี ก้าวเข้าฉากพร้อมไม้ดรัมเมเยอร์ในมือ เธอย่ำเท้าเป็นจังหวะรับกับท่อน ‘เดินและเดิน เดิน เดิน เดิน เดิน’ ในเพลง ‘สุดปัง’ ที่ปล่อยออกมาเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2563 ภาพและเสียงในฉากนั้นเรียกได้ว่าเป็นท่อนเปิดมิวสิกวิดีโอที่ ‘ปัง’ สมชื่อเพลง และยิ่งปังขึ้นไปอีกเมื่อเนื้อหาของเพลงนั้นสื่อถึงความ ‘สวย’ และ ‘ดูดี’ ที่มีอยู่ในตัวผู้หญิงทุกคน พร้อมทั้งบอกกับผู้หญิงที่ไม่ว่าจะตรงตามค่านิยมหรือไม่ก็ตาม ว่า “มั่นใจอิหล่า follow your way” ก็ยิ่งทำให้เพลงสุดปังนั้น ‘ตุยเย่ วาตานาเบ้ ไอโกะ’ ขึ้นอีกเป็นกอง ท่ามกลางกระแสการต่อสู้ทางการเมืองที่เดือดพล่าน ท่ามกลางปัญหาโรคระบาดโควิด-19 เสียงเพลง ‘สุดปัง’ ของ MILLI ถูกเปิดตามร้านรวงต่าง ๆ ถูกดาวน์โหลดและสตรีมผ่านสตรีมมิงโดยผู้ฟังจำนวนมาก ร่วมกับเพลงอื่น ๆ ของศิลปินอีกหลายคนที่มีทิศทางการทำดนตรีเดียวกัน และกลายมาเป็น ‘mainstream’ อย่างหนึ่งในยุคปัจจุบัน  ดนตรีแขนงนั้นคือดนตรีแร็ป เสียงแร็ปหนัก ๆ ผสมด้วยคำด่าที่ดูเกรี้ยวกราด รับกับบีทดุดัน เป็นภาพจำของเพลงแร็ปไทยในสมัยหนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อสักยี่สิบปีที่แล้ว เพลงแร็ปคือสิ่งที่ผลิตและขายกันในหมู่ใต้ดินกับกลุ่มคนฟังที่จำเพาะและจำกัด ดาจิม, ไทยเทเนียม, โจอี้ บอย, อิลสลิก, ฟักกลิ้ง ฮีโร คือนักแร็ปเลือดไทยที่พาให้วงการนี้ก้าวขึ้นมาสู่บนดินทีละเล็กทีละน้อย โดยยังคงเอกลักษณ์ดิบ ๆ บางประการของความเป็น ‘แร็ป’ และ ‘ฮิปฮอป’ เอาไว้ ผสานด้วยกลิ่นอายของป็อปและแนวเพลงแขนงอื่น จนทำให้เพลงติดตลาดและร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่หลายเพลง ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยดนตรีป็อป - ร็อก ที่กลายเป็นกระแสหลักของยุค 1990s-2000s ไปในที่สุด   การกลับมาของเด็กแร็ป แม้กลุ่มผู้ฟังจะไม่ใช่ตลาดแมส แต่เหล่าแร็ปเปอร์ก็ไม่ได้ย่อท้อหรือหายหน้าหายตาไปไหน หลายคนเกาะกลุ่มเป็น community เป็น gang เป็น crew บ้างก็ลับฝีมือด้วยการซ้อมเขียน rhyme ไม่ก็ทำเพลง mixtape แล้วปล่อยลงในช่องทางต่าง ๆ  ในช่วงที่วงการแร็ปซบเซาในตลาด mainstream นี่เอง ที่ ‘Rap is Now’ รายการแร็ปแบตเทิลที่เป็นเวทีให้ผองเพื่อนนักแร็ปมารวมตัวเพื่อ ‘diss’ กันออกไมค์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น / ทำอะไรก็ได้กูไม่ได้ขอตังค์ใคร หาเงินด้วยตัวเองกูทำให้แม่ภูมิใจ / YOUNGOHM - โอม-รัธพงศ์ ภูรีสิทธิ์ แม้จะเริ่มแร็ปตั้งแต่ ม.1 แต่ก็เก็บความฝันที่อยากเป็นแร็ปเปอร์ไว้กับตัวเงียบ ๆ มาตลอดจนกระทั่งมัธยมฯ ปลาย ก่อนจะจริงจังกับการแร็ปจนกลายมาเป็น YOUNGOHM ที่ ‘หาเงินด้วยตัวเองกูทำให้แม่ภูมิใจ’ ได้ในทุกวันนี้ จุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งของเขาคือการได้ดูรายการ Rap is Now  “ช่วงผม ม. 4 มันมีรายการ Rap is Now มาพอดี ผมก็เฮ้ย! มันมีรายการแบบนี้ด้วยเหรอ แร็ปด่าแบบเดือดจัดก็เลยอยากลอง หลังจากนั้นก็แร็ปกับเพื่อนกันทุกวันเลย” ขณะที่ YOUNGOHM เข้ามาสนใจเพลงแร็ปเต็มตัวได้เพราะรายการแร็ปที่ด่ากันด้วยไรห์มเดือด ๆ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน MILLI กลับต่อต้านรายการประเภท ‘แร็ปแบตเทิล’ อย่างสุดกู่  “เราเคยมองแร็ปหรือฮิปฮอปของไทยแย่มาก เพราะเคยดูรายการที่แร็ปแบตเทิล รู้สึกว่าด่ากันแรงจังเลย หนูรับไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันชอบมาก ด่ากันสิ (หัวเราะ) ตอนนั้นเราหันหลังให้กับวงการแร็ปไทยไปเลย” MILLI เคยให้สัมภาษณ์กับ a day magazine ไว้แบบนั้น สิ่งที่ทำให้ MILLI กลับมาเปิดใจและสนใจในเพลงแร็ปคือรายการ The Rapper Season 1 (2561) และความคิดสร้างสรรค์ของผู้เข้าแข่งขันรายหนึ่งที่ชื่อว่า KQ จุดนั้นเองที่ทำให้ MILLI เริ่มหัดแร็ปและแต่งเพลงจนสกิลเริ่มเข้าที่เข้าทาง และก้าวเข้าสู่วงการแร็ปไทยอย่างมั่นใจด้วยรายการ The Rapper Season 2 Rap is Now เป็นจุดเปลี่ยนของ YOUNGOHM The Rapper เป็นจุดเปลี่ยนของ MILLI วงการดนตรีไทยเปลี่ยนไปช้า ๆ และหมุนกลับมาเป็นเวลาของเพลงแร็ปที่ขึ้นครองตลาดดนตรีอีกครั้ง   เล่าถ้อยร้อยเรียงrhyme แร็ปคืองานศิลปะอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากเพลงแนวอื่น เพราะสามารถพูดถึงท็อปปิกที่เราจะพูดได้อย่างตรงไปตรงมา เพลงแนวอื่นมีความสละสลวยในทำนองหรือเมโลดี้ แต่พอมันเป็นแร็ป แค่มีสัมผัส คุณสามารถพูดได้เลยว่าคุณคิดยังไงกับประเด็นนี้ ไม่จำเป็นต้องอ้อมค้อม นี่คือความเจ๋งและความเป็นเอกลักษณ์ของแร็ป” (บทสัมภาษณ์จาก a day: MILLI แร็ปเปอร์สุดปั้วะ เจ้าของตำแหน่ง ‘ลูกหลาวกะเลย’ คนล่าสุดผู้จะไม่มีวันหยุดพัก) คือคำพูดของ MILLI เมื่อถามถึงเสน่ห์ของเพลงแร็ป เพลงแนวนี้เปิดโอกาสให้เธอได้นำเสนอผลงานอย่างหลากหลาย และสามารถใส่อะไรก็ได้ลงในบีทที่ถูกโปรดิวซ์ ไม่ว่าจะเป็นภาษาถิ่น ภาษาลู หรือภาษาอะไรก็ไม่รู้อย่าง ‘ปัง ปะรารังปังปี้’ ลงในเพลงได้อย่างไม่ขัดเขิน ไม่แปลกหู และยังดูเข้ากับบุคลิกอีกด้วย เช่นเดียวกับ YOUNGOHM ที่เชื่อว่าความเจ๋งของเพลงแร็ปคือการรวมร่างกันระหว่างศิลปะและความจริงใจ พร้อมทั้งบอกอีกว่า ถ้าใครอยากด่าเขา หรือเขาอยากด่าใคร ก็ให้ไปพูด (ด่า) กันในเพลงจะดีกว่า “เพลงคือที่ที่ผมพูดได้ทุกอย่าง บางทีผมโกรธนะที่มีคนมาตัดสิน แต่ผมไม่พูด ใช้เขียนเพลงออกมาแทน แร็ปเป็นเซฟโซนที่ผมได้ใช้ศิลปะถ่ายทอดความรู้สึกทุกอย่าง” (บทสัมภาษณ์จาก The Standard Pop: YOUNGOHM บทเรียนของเด็กถือป้ายคอนโด ที่ทำให้รู้ว่าชีวิตนี้ต้องกำหนดด้วยตัวเอง) ทุก ๆ rhyme ทุก ๆ bar ที่ปรากฏในเพลงของแร็ปเปอร์แต่ละคนล้วนสะท้อนตัวตนของพวกเขาและเรื่องที่พวกเขาอยากจะเล่าแบบไม่หมกเม็ด  แร็ปเปอร์อีกกลุ่มที่จะขาดไม่ได้ เมื่อพูดถึงการสะท้อนตัวตนและเล่าบางอย่างผ่านเพลง สำหรับกลุ่มแร็ปเปอร์ที่เรียกตัวเองว่า RAP AGAINST DICTATORSHIP พวกเขาไม่ได้สะท้อนแต่เพียงตัวตนของตัวเองเท่านั้น แต่ยังสะท้อน ‘การเมือง’ ผ่านเพลงได้อย่างดุเดือดจนเป็นกระแสอย่างมากในเพลงแรกของพวกเขาอย่าง ‘ประเทศกูมี’   rhymeไม่ใช่crime_แร็ปไม่ใช่อาชญากรรม / ประเทศที่ปลายกระบอกคอยจ่อที่ปลายกระเดือก ประเทศที่บอกเสรีแต่ดันไม่มีสิทธิ์เลือก / RAP AGAINST DICTATORSHIP เริ่มจากแร็ปเปอร์สี่คนที่อยากเล่าปัญหาสังคมและการเมืองผ่านเพลงแร็ป และได้รวมกลุ่มกับแร็ปเปอร์อีกหลายคนเพื่อทำความต้องการนั้นให้สำเร็จ หลังเพลง ‘ประเทศกูมี’ เป็นที่รู้จัก พวกเขาก็มีเพลงสะท้อนปัญหาในบ้านเราออกมาอีกหลายเพลง ไม่ว่าจะเป็น ‘250 สอพลอ’, ‘ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง’ หรือ ‘ปฏิรูป’ นอกจากนี้พวกเขายังเป็นกลุ่มแร็ปเปอร์ที่เคลื่อนไหวและแสดงออกทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ ในฐานะ ‘กระบอกเสียง’ ของฝ่ายประชาธิปไตย HOCKHACKER หนึ่งในสี่แร็ปเปอร์ผู้ก่อตั้ง RAP AGAINST DICTATORSHIP ได้ให้สัมภาษณ์กับ a day magazine ไว้ว่า  “แร็ปเป็นเพลงพูด ถ้าเปรียบเทียบเป็นเพลงไทยก็คงเป็นเพลงฉ่อย โดยปกติเพลงพูดจะมีคำพูดหรือเนื้อเพลงมากกว่าเพลงประเภทอื่น ๆ อย่างเพลงร็อก เพลงป๊อปก็มีรูปแบบของตัวเองซึ่งสามารถใส่เนื้อหาได้ประมาณหนึ่ง แต่ในเพลงแร็ป เวิร์สหนึ่งมีตั้ง 32 บาร์ เนื้อหามันมาเป็นหน้ากระดาษเลย มันเหมาะกับการพูดเนื้อหาอยู่แล้ว” การแสดงออกทั้งผ่านเพลงและช่องทางอื่น ๆ ของศิลปิน ‘แร็ปต่อต้านเผด็จการ’ กลุ่มนี้ ทำให้สมาชิกภายในกลุ่มร่ำ ๆ จะถูกดำเนินคดีอยู่หลายครั้ง ซึ่งสมาชิกต่างก็บอกว่ามีการเตรียมใจไว้สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่บ้าง ขณะเดียวกัน บทเพลงของพวกเขาก็เป็นความจริงที่จำเป็นต้องเล่า จำเป็นต้องพูด นอกจาก RAP AGAINST DICTATORSHIP แล้ว YOUNGOHM เองก็มีเพลงการเมืองด้วย / สุขสบายกันไหมล่ะครับท่าน เงินที่ได้จากการคอร์รัปชัน ไม่เห็นมีหมาตัวไหนออกมายอมรับมั่ง สงสัยเราจะคนละชั้น พวกผมคงไม่ใช่คนละมั้ง / เพลง ‘บางกอก เลกาซี่’ จากอัลบั้มชื่อเดียวกันเมื่อปี 2563 คือเพลงแรกที่ YOUNGOHM เปิดหน้าแร็ปเรื่องการเมืองพร้อมกับทำการ ‘เลือกข้าง’ ผ่านเพลงไปในตัว ซึ่ง YOUNGOHM ก็ได้พูดถึงประเด็นนี้ใน ป๋าเต็ดทอล์ก ไว้ว่า “ผมอยากให้ประเทศนี้มันเป็น free speech ที่เราสามารถพูดกันได้ตรง ๆ สามารถติกันได้ และอีกหลาย ๆ เรื่องที่ผมคิดว่าเราไปได้ไกลกว่านี้ เราทำได้ดีกว่านี้ ไม่ว่าจะเรื่องของงานศิลปะหรือเรื่องอื่น ๆ เยอะมาก ผมไม่ได้คิดถึงตัวผมนะ ผมคิดถึงคนอื่น และผมรู้สึกว่าหลายคนหรือเพื่อนผมที่เดือดร้อนมันมีจริง ๆ และผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่ออกมาพูด การเมืองมันเป็นเรื่องของเราอ่ะครับ เราเป็นประชาชน ยังไงมันก็เกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว ผมคิดว่าเรามีสิทธิ์พูดอยู่แล้วว่าเราไม่โอเคตรงไหน มันเป็นประชาธิปไตย มันน่าจะพูดได้” เรียกได้ว่า community แร็ปไทยในวันนี้ค่อนข้างครบเครื่อง ทั้งเพลงแร็ปเรื่องรัก เพลงแร็ปแบบงานปาร์ตี้ เพลงแร็ปที่พูดถึงประเด็นทางสังคม และเพลงแร็ปที่พูดเรื่องการเมืองแบบไม่อ้อมค้อม นอกจากศิลปินทั้งสามที่ยกมาเพื่อให้เห็นภาพ ก็ยังมีแร็ปเปอร์อีกมากที่ปล่อยเพลงสู่ท้องตลาด ให้ผู้ฟังได้ฟังเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ บ้างก็เพื่อโหมไฟให้มีแรงไปทำอะไรสักอย่าง แม้วันนี้เพลงแร็ปไทยจะไม่ได้ดีพร้อม มีเนื้อหาบางท่อนบางตอนในเพลงที่ถูกวิจารณ์ให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ แต่บทเพลงคือการถ่ายทอดความคิดของมนุษย์ และมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้และพัฒนาได้เสมอ จึงน่าสนใจว่าทิศทางของเพลงแร็ปปาร์ตี้ในปี 2564 ของแต่ละศิลปินจะลบตำหนิในเพลงก่อน ๆ ได้หรือไม่ (เหมือนที่ MILLI แก้ไขข้อตำหนิในเพลง ‘พักก่อน’ ได้ในเพลง ‘สุดปัง’) และแร็ปการเมืองจะสามารถสร้าง movement หรือแรงกระเพื่อมใหม่ ๆ ในสังคมอีกระลอกในทิศทางใด คงทำได้เพียงรักษาตัวเองให้ปลอดจากโรคโควิด-19 ให้ดีเพื่อรอชม   ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=40licIaSzDs https://adaymagazine.com/milli/?fbclid=IwAR1NdqcugvClPRliWn1BnKAyLqacF_GFVetRIqNAi2FGrtLblAjrpCwaAuk https://thestandard.co/youngohm/ https://www.beartai.com/lifestyle/507136 https://adaymagazine.com/rap-against-dictatorship/ https://www.sanook.com/music/2423553/ https://prachatai.com/journal/2018/12/80261