รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล: วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และสังคมไทย ต้องไปด้วยกัน

รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล: วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และสังคมไทย ต้องไปด้วยกัน
วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และสังคมไทย ต้องไปด้วยกัน เมื่อพูดถึงปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้า แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องของ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หากมองไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว เห็นได้ชัดว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก มีการสร้างนวัตกรรม มีการสนับสนุนงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประชาชนในประเทศก็มีความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก แล้วในประเทศไทยของเรามีทิศทางกับเรื่องนี้อย่างไร The People ชวนมาอ่านมุมมองของ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับสังคมไม่มากก็น้อย หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักกับหน่วยงานของ สกสว. มากนัก สรุปแบบสั้น ๆ สกสว. คือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำหน้าที่ “กำหนดทิศทางและจัดสรรงบประมาณกองทุน ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ” โดยมีภารกิจสำคัญ คือ การสนับสนุน ส่งเสริม ขับเคลื่อน ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อก่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้และเกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ รศ. ดร. ปัทมาวดี ได้กล่าวถึงเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทยไว้ว่า พื้นฐานที่คนไทยต้องมีคือความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ แต่หมายถึงความคิดที่มีเหตุผล ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ มีความสามารถที่จะวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่ได้มา ซึ่งสามารถเสริมสร้างได้ตั้งแต่วัยเด็ก และอีกอย่างคือความเข้าใจใน Digital Literacy หรือ ทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นความรู้ที่ทุกคนต้องมี แต่มันมีเรื่องบทบาทหน้าที่ของรัฐที่ต้องส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงการใช้ประโยชน์ และมีโอกาสที่จะเรียนรู้จากเทคโนโลยีดิจิทัล รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล: วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และสังคมไทย ต้องไปด้วยกัน “บ้านเราไม่ค่อยมีฮีโร่ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ทั้ง ๆ ที่มีนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์เก่ง ๆ อยู่เยอะ” ที่ผ่านมาคนไทยอาจมองวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากและไกลตัว แต่ถ้ามองง่าย ๆ เช่น การเปิดฝาขวด มันก็ใช้เรื่องฟิสิกส์ คานดีด คานงัด มันใกล้ตัวมาก ๆ ซึ่งคนอาจจะมองไม่เห็นหรือมองข้ามมันไป เห็นเป็นวัตถุ สิ่งของ อุปกรณ์ มากกว่าจะเห็นเนื้อในของมันว่านี่คือ วิทยาศาสตร์ การสร้างแรงบันดาลใจก็เป็นสิ่งสำคัญ คิดว่าคนไทยต้องการฮีโร่ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งบ้านเรายังไม่ค่อยเห็นมากนัก ทั้ง ๆ ที่มีนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการเก่ง ๆ อยู่เยอะ หลายคนก็สร้างคุณูปการให้กับโลกไม่น้อย แต่คนเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกพูดถึงมาก หรือถูกพูดถึงในช่วงสั้น ๆ แล้วเลื่อนหายไป คิดว่าการสร้างแรงบันดาลใจจากอาชีพ หมอ นักวิทยาศาสตร์ นักวิทย์การเกษตร ทำให้เด็ก ๆ เห็นว่า ประเทศไทยเรามีนักคิด มีคนเก่ง ๆ มากมาย แล้วศึกษาว่าพวกเขามีวิธีเรียนรู้และพัฒนาความรู้ได้ยังไง สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ รศ. ดร. ปัทมาวดี ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้คนยุคนี้หันมาสนใจและเข้าหาวิทยาศาสตร์มากขึ้น อย่างแรกคือการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เพราะเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนเห็นถึงความสำคัญ อย่างที่สองคือการแพทย์ เป็นเรื่องที่ช่วงหลัง ๆ คนให้ความสนใจ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์สามารถใช้รับมือและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนไทยเห็นว่าวิทย์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ ทาง สกสว. ก็มีบทบาทที่ช่วยรับมือ โดยในปีงบประมาณ 2563 สกสว. ได้จัดสรรงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กว่า 1,000 ล้านบาท ให้กับ 7 หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม หรือ ‘พีเอ็มยู’ (PMU: Program Management Unit) รวมถึงมีการปรับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผน ววน.) เพิ่มเติมโปรแกรมที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถให้ทุนสนับสนุนนักวิจัยในการแก้ปัญหาวิกฤตเร่งด่วนซึ่งมีผลงานจำนวนมากที่ออกมาล้วนมีคุณค่าและสร้างประโยชน์แก่สังคม เช่น นวัตกรรมชุด PPE หรือ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ที่กันน้ำและสามารถซักได้ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง / หุ่นยนต์โรยละอองยาฆ่าเชื้อ ช่วยลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน / หน้ากากอนามัย WIN-Masks ที่ทำจากผ้าเคลือบสารนาโนป้องกันไวรัส สามารถซักได้ 30 ครั้ง และ พัฒนา Chest X-Ray ที่ช่วยวินิจฉัยการติดเชื้อ COVID-19 ด้วย AI เป็นต้น รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกุล: วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และสังคมไทย ต้องไปด้วยกัน รศ. ดร. ปัทมาวดี ได้กล่าวถึงองค์ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่คนไทยควรศึกษา มีอยู่ 5 ด้าน ซึ่งจะสอดคล้องกับการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันและความต้องการในอนาคต
  1. วิเคราะห์ข้อมูลเป็น (นักวิเคราะห์ข้อมูล) เป็นพื้นฐานการวิเคราะห์ที่ต้องเสริมสร้างตั้งแต่กระบวนการเรียนการสอน ฝึกให้ทำความเข้าใจกับมัน ทำยังไงให้คนไม่กลัวข้อมูลตัวเลข
  2. ด้าน AI Machine Learning (ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI) การพัฒนาด้าน AI ในประเทศไทยอาจยังไม่สูง แต่การเติบโตในแง่ความต้องการมีค่อนข้างสูง คิดว่าเป็นเรื่องที่คนไทยต้องมีความรู้
  3. ด้าน Big Data (ผู้เชี่ยวชาญ Big Data) ปัญหาของประเทศไทยคือ ยังไม่ค่อยมี Big Data และข้อมูลยังกระจัดกระจายอยู่ การมีแอปพลิเคชันเยอะ ๆ แต่ท้ายที่สุดข้อมูลกระจัดกระจาย ไม่ถูกรวมเพื่อที่จะเอามาใช้วิเคราะห์ได้ นี่คือจุดอ่อนของเรา
  4. ด้านตลาด Digital (ผู้เชี่ยวชาญการตลาดดิจิตอลและกลยุทธ์) เครื่องมือดิจิตอลที่จะช่วยในการทำมาหากิน เรื่องของการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนออนไลน์ คิดว่าเป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสนใจมาก
  5. ด้าน Process Automation เป็นทักษะที่อนาคตกำลังต้องการ เพราะเราเริ่มใช้ AI เข้ามาในระบบการผลิต ต้องมีคนที่มาทำงานกับเครื่องจักร หุ่นยนต์ ซึ่งน่าจะเป็นอีกชุดหนึ่งของกลุ่มคนแล้วก็ความรู้ที่ประเทศต้องการ
“รัฐมีส่วนสำคัญในการออกกฎกติกา ทำให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ในสังคมไทย” รศ. ดร. ปัทมาวดี ได้ทิ้งท้ายว่า ไม่อยากให้มองว่าเราพัฒนาวิทยาศาสตร์เพื่อวิทยาศาสตร์ ท้ายที่สุดวิทย์มันต้องตอบโจทย์ของสังคม นโยบายวิทยาศาสตร์ที่ดีจะต้องมองในเรื่อง ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มในโอกาสของการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทางกระทรวง อว. หรือ สกสว. อย่างเดียวอาจจะไม่พอ ซึ่งยังต้องการความร่วมมือจากบทบาทของภาครัฐ กระทรวงต่าง ๆ รวมถึงภาคเอกชนร่วมมือกันในการสร้างสมดุลระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กับคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อม ๆ กัน ไม่ผูกขาดเทคโนโลยี ไม่แสวงผลประโยชน์ส่วนตัว ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ควบคู่กับการยกระดับสังคม ภาครัฐเองมีส่วนสำคัญในการช่วยออกกฎกติกา ทำให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ในสังคมไทย สำหรับคนที่สนใจข่าวสารวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี งานวิจัยใหม่ ๆ ของไทย สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ https://www.tsri.or.th/ และทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ สกสว.