ศาลฎีกาไทย ไม่เชื่อว่าคนไทยเป็นคนออกแบบอุลตร้าแมน

ศาลฎีกาไทย ไม่เชื่อว่าคนไทยเป็นคนออกแบบอุลตร้าแมน
หลายครั้งที่มีประเด็นเรื่องของ "อุลตร้าแมน" ขึ้นมา ก็จะมีเรื่องเล่าหนึ่งประกอบด้วย (ไม่ว่ามันจะมีคุณค่าพอที่จะเพิ่มน้ำหนักให้ประเด็นหลักมากน้อยเพียงใด) นั่นก็คือเรื่องที่ว่า อุลตร้าแมนต้นฉบับนั้น คนไทยมีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย อย่างกรณีที่มีนักศึกษาไทยรายหนึ่งวาดภาพอุลตร้าแมนในลักษณะของพระพุทธรูป หรือพระพุทธรูปในเครื่องแต่งกายคล้ายอุลตร้าแมน ก็มีความเห็นเช่น "ส่วนอุลตร้าแมนนั้น คนไทยไม่ค่อยทราบกันว่าออกแบบโดยคนไทย คือสมโพธิ แสงเดือนฉาย ตอนไปทำงานให้กับบริษัทสึบุราย่าแห่งประเทศญี่ปุ่น คุณสมโพธิเล่าไว้ในคลิปที่สามารถหาชมได้ในยูทิวป์ว่า เขาเอาใบหน้าอุลตร้าแมนมาจากพระพุทธรูปสุโขทัย ซึ่งก็มีแบบมาจากพระพุทธรูปคันธาระอีกที" ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัว (facebook.com/prinya.thaewanarumitkul) "ที่ อาจารย์เขียน ผมเคยศึกษามาบ้าง เรื่องศาสนา และ การเป็นไปของพระพุทธรูป คันธาระ กับ อุลตร้าแมน ที่ คุณอาสมโพธิ แสงเดือนฉาย จริงทุกประการครับ และลิขสิทธิ์อุลตร้าแมน เป็นของคุณอา สมโพธิ จริงครับ ยกเว้นข้อกฎหมายที่ผมไม่ทราบ ที่เหลือนั้นขอรับรองอีกเสียงว่า จริงทุกประการครับ" ผู้ติดตามรายหนึ่งของปริญญาแสดงความเห็น  เรื่องนี้แม้จะมีคนพูดถึงน้อยลง (ตามความนิยมของตัวซีรีส์) แต่ความเชื่อที่ว่า คนไทยเป็นผู้ (มีส่วนร่วม) ออกแบบอุลตร้าแมนก็ยังคงมีต่อมาอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าศาลฎีกาของไทยจะเห็นตรงกันข้าม พร้อมด้วยเหตุผลประกอบที่น่ารับฟังยิ่งกว่าก็ตาม  ต้นกำเนิดข้อพิพาทนี้มาจากการอ้างของ สมโพธิ แสงเดือนฉาย ว่าเขาคือผู้สร้างสรรค์อุลตร้าแมน จากคราวที่ไปศึกษาดูงานการทำภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่นโดยได้รับทุนจากธนาคารออมสินและมิตซุย และเป็นผู้เสนอความคิดให้ เอยิ สึบูรายะ (Eiji Tsuburaya) ใช้พระพุทธรูปสุโขทัยเป็นต้นแบบ ภายหลังทางสึบูรายะโปรดักชันส์ (Tsuburaya Productions) ผู้ผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมนจากญี่ปุ่นประสบปัญหาด้านการเงิน เขาที่คุ้นเคยกับทางผู้บริหารจึงได้ให้สึบูรายะยืมเงินไปสร้างภาพยนตร์เรื่องจัมโบ้เอ (Jumbo Ace) จนประสบความสำเร็จ  แต่ทาง โนโบรุ สึบูรายะ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของสึบูรายะโปรดักชันส์ และเป็นบุตรของเอยิ สึบูรายะ เลือกที่จะไม่คืนเงิน 16.2 ล้านเยนที่ยืมไป กลับทำหนังสือยกลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนนอกญี่ปุ่นให้กับเขา  รายงานของ MGR Online ระบุว่า "หนังสือสัญญาในอดีตไม่มีการเซ็นรับรองอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรที่ถูกต้องตามกฎหมายเหมือนในปัจจุบัน มีเพียงตราประทับของบริษัทซึบูราญ่ากับการเขียนมอบโอนลิขสิทธิ์ด้วยภาษาที่เข้าใจกันเพียงคนวงใน และนั่นก็ทำให้หนังสือมอบสิทธิฉบับนี้กลายมาเป็นหลักฐานที่ต้องมีการไต่สวนสืบค้นเป็นอย่างมากเพื่อที่จะสามารถมารองรับได้ว่าซึบูราญ่าได้มอบกรรมสิทธิ์ในตัวอุลตร้าแมนนอกประเทศญี่ปุ่นให้แก่สมโพธิแล้วจริง ๆ" อย่างไรก็ดี จากการที่ The People สอบถามข้อมูลจากสึบูรายะโปรดักชันส์ไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา พวกเขาตอบกลับอีเมลยืนยันว่า สมโพธิมิได้มีส่วนร่วมใด ๆ ในการผลิตอุลตร้าแมน และพวกเขาคือผู้ทรงสิทธิที่ถูกต้องเพียงผู้เดียว "จุดยืนของเราว่าด้วยสิทธิในอุลตร้าแมนตลอดเวลาที่ผ่านมาก็คือ เราคือผู้สร้างสรรค์และผู้ถือสิทธิทั้งหมดในตัวละครและงานที่เกี่ยวข้องกับตัวอุลตร้าแมนทั่วโลก ดังนั้นคุณสมโพธิหรือบุคคลใดต่างก็มิได้ถือสิทธิใด ๆ ในอุลตร้าแมนของเรา" ตัวแทนของสึบูรายะกล่าว แต่ความเห็นของคู่พิพาทอย่างไรเสียก็ไม่น่ารับฟังเท่าความเห็นจากศาลฎีกา ซึ่งได้รับฟังความทั้งสองข้าง รวมถึงเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของทั้งสองฝ่าย ก่อนที่ศาลฎีกาจะได้มีคำพิพากษาฎีกาเมื่อปี พ.ศ. 2550 ว่า สมโพธิมิใช่ผู้สร้างสรรค์อุลตร้าแมน และสัญญามอบลิขสิทธิ์ที่สมโพธินำมาอ้างเป็นสัญญา "ปลอม" ทั้งฉบับ สมโพธิจึงมิได้ถือสิทธิใด ๆ ในอุลตร้าแมนเลย ผู้สร้างสรรค์คือใคร? สมโพธิพูดเสมอว่าเขาเป็นคนออกไอเดียว่า ฮีโรตัวนี้ควรจะมีใบหน้าอย่างพระพุทธรูปสุโขทัย แต่เขาไม่ใช่คนที่ลงมือออกแบบ และไม่ได้ปั้นแบบด้วยตนเอง ข้อเท็จจริงนี้ ต่อให้เป็นความจริง นั่นก็ไม่เพียงพอที่เขาจะได้ชื่อว่าเป็น "ผู้สร้างสรรค์" ดังที่ศาลอธิบายว่า "ลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่มิได้ให้ความคุ้มครองสิ่งที่เป็นเพียงความคิด" นั่นก็คือ ลำพังคุณคิดอะไรขึ้นมา แต่ไม่ได้ลงมือทำ กฎหมายเขาก็ไม่คุ้มครองความคิดให้คุณหรอก คุณต้องลงมือทำด้วย (ขณะเดียวกันการลงมือทำไม่ได้แปลว่าต้องทำเอง แต่จ้างคนอื่นทำก็ได้)   ศาลยังบอกต่อไปว่า "ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 (บริษัทของสมโพธิ) และที่ 2 (ตัวสมโพธิเอง) คงอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งรู้จักสนิทสนมกับนายเอยิ (สึบูรายะ) เพียงแต่เสนอแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนแก่นายเอยิว่าให้สร้างคนรูปร่างใหญ่เพื่อมาปราบก็อดซิลล่าและสัตว์ประหลาดต่าง ๆ โดยได้เสนอเค้าโครงหน้าในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งพระพุทธรูปยุคสุโขทัยเพื่อให้ดูอ่อนโยน และท่าทางของพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เช่น ปางเปิดโลกเพื่อให้เหมือนท่าทางของซุปเปอร์แมน กับปางห้ามญาติเพื่อให้เป็นท่าตอนปล่อยแสงอันเป็นการให้ความช่วยเหลือเสนอความคิดในฐานะที่เป็นคนรู้จักสนิทสนมกันเท่านั้น "ไม่ปรากฏแน่ชัดว่านายเอยิได้นำแนวความคิดตามที่จำเลยที่ 2 เสนอไปใช้ในการสร้างผลงานอุลตร้าแมนจริงหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนเมื่อปี 2507 และเสร็จปี 2508 จำเลยที่ 2 ไปศึกษาวิชาการโฆษณาซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างภาพยนตร์เมื่อปี 2505 และฝึกงานอยู่กับบริษัทโตโฮ จำกัด เชื่อว่า ในช่วงเวลาของการเริ่มสร้างอุลตร้าแมน จำเลยที่ 2 เป็นเพียงนักศึกษาหรือผู้ฝึกงาน ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ว่า มีสถานภาพสูง จึงมีน้ำหนักน้อย ที่จำเลยที่ 2 นำสืบอีกว่า เหตุที่ไม่ได้เปิดเผยเรื่องที่ร่วมสร้างสรรค์กับโจทก์มาแต่แรก เพราะเกรงว่ารายได้ทางการค้าจะไม่ดีเพราะคนไทยไม่นิยมผลงานของคนไทยก็มีน้ำหนักน้อยเช่นกัน จากเหตุผลและพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงทุนลงแรงหรือมีส่วนร่วมทำหรือร่วมก่อให้เกิดผลงานอุลตร้าแมน คดีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับโจทก์สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตั้งแต่เริ่มแรก อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น" แปล (เป็นไทยอีกที) ว่า สมโพธิแม้จะ "อ้าง" ว่าตัวเองเสนอความเห็น แต่ก็ไม่เห็นหลักฐานว่ามันถูกนำไปปฏิบัติ และก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเขาร่วมจ่ายเงินลงทุน ลงมือทำงาน หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้อุลตร้าแมนบังเกิดขึ้น เขาจึงมิได้อยู่ในฐานะผู้ "ร่วมสร้างสรรค์" ฐานแห่งสิทธิประการแรกในฐานะผู้สร้างสรรค์จึงถูกศาลตีตกไป ต่อไปที่ต้องพิจารณาก็คือเอกสารสัญญามอบลิขสิทธิ์ที่สมโพธินำมาอ้าง ศาลพบข้อพิรุธในการอ้างสิทธิตามสัญญาของสมโพธิหลายประการ อย่างแรก สมโพธิอ้างว่า เขาทำสัญญากับโนโบรุ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2519 แต่ระหว่างนั้น เขาไม่เคยอ้างสิทธิตามสัญญาฉบับนี้เลย เมื่อโนโบรุ คู่สัญญา (ตามที่สมโพธิอ้าง) เสียชีวิตลงเพียง "ไม่กี่วัน" เขาก็ไป "จดแจ้ง" ข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยแจ้งแค่สองเรื่องคือ ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบเอ กับเรื่องหนุมานพบเจ็ดยอดมนุษย์ ในฐานะผู้ร่วมสร้างสรรค์ ไม่ได้กล่าวถึงซีรีส์อุลตร้าแมนตัวอื่น ๆ รวมถึงจัมโบเอ (รวมเป็น 7 เรื่อง)  ทั้ง ๆ ที่สัญญาดังกล่าวถ้าทำจริง เขาก็ควรแจ้งทั้งหมด และตอนที่แจ้งกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็กลับไม่ได้อ้างว่าสิทธิของเขามาจากสัญญาฉบับดังกล่าว  (การแจ้งลิขสิทธิ์ ทางกรมฯ แค่ "รับรู้" แต่ไม่ได้เป็นการ "รับรอง" ว่าผู้นั้นเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์จริง ๆ แต่อย่างใด - กรมทรัพย์สินทางปัญญา และตลอดระยะเวลาราว 20 ปี สมโพธิไม่เคยบังคับใช้สิทธิของตัวเองเลย กลับปล่อยให้ทางสึบูรายะโปรดักชันส์แสวงหาประโยชน์นอกญี่ปุ่นโดยไม่ทักท้วง ผิดวิสัยที่เจ้าของสิทธิจะปล่อยให้คนอื่นละเมิดสิทธิของตนได้นานขนาดนั้น เขาเพิ่งจะมาอ้างสิทธิตามสัญญาก็ต่อเมื่อโนโบรุได้เสียชีวิตไปแล้วราว 1 ปี เท่านั้น  (คือมีสิทธิเป็นสิบ ๆ ปี ไม่เคยใช้ พอโนโบรุเสียชีวิตได้ไม่เท่าไหร่ก็ไปจดแจ้งลิขสิทธิ์ แต่ก็ยังไม่ออกมาอ้างสิทธิทันที รออีกเกือบปีจากนั้นจึงค่อยอ้าง) ศาลจึงให้ความเห็นว่า "นับว่าเป็นพฤติการณ์ที่ผิดปกติวิสัยสำหรับผู้ประกอบธุรกิจในด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะในทางการค้าผู้ที่ลงทุนซื้องานลิขสิทธิ์มาย่อมต้องการหากำไรจึงต้องรีบแสวงหาผลตอบแทนโดยอาจทำสัญญาอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิเพื่อให้คุ้มค่าแก่เงินทุนที่ลงไป และเพื่อมิให้งานลิขสิทธิ์ เช่น ภาพยนตร์ที่ซื้อมาล้าสมัย ทั้งการนำสัญญาพิพาทออกมาแสดงหลังจากนายโนโบรุถึงแก่ความตายยังอาจส่อให้เห็นได้ว่า เพื่อตัดโอกาสมิให้นายโนโบรุซึ่งถึงแก่ความตายแล้วโต้แย้งความถูกต้องแท้จริงของเอกสารได้" พิรุธอื่นที่พบก็มีคือ ลายมือชื่อของโนโบรุ ที่ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า ลายมือชื่อในสัญญาที่สมโพธินำมาอ้าง ไม่ตรงกับลายมือชื่ออื่น ๆ ของโนโบรุ ในสัญญาฉบับนี้ยังไม่มีกำหนดเวลาและค่าตอบแทนในการใช้สิทธิหรือการโอนสิทธิ์ให้กัน (ที่สมโพธิอ้างกับสื่อคือ เขาให้โนโบรุยืมเงิน โนโบรุจึงโอนลิขสิทธิ์ให้ แต่ข้อความดังกล่าวไม่ปรากฏในสัญญา ที่เป็นหนังสือโอนให้เปล่า) ชื่อสัญญา ชื่อผลงานอุลตร้าแมน และรายละเอียดจำนวนตอนก็ไม่ถูก  ด้วยพยานหลักฐานที่ปรากฏ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่า "โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนโดยเป็นผู้สร้างสรรค์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้สร้างสรรค์ร่วม และสัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใด ๆ จากผลงานอุลตร้าแมนโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์" แต่ความพ่ายแพ้ของสมโพธิในเมืองไทย ก็ไม่ทำให้เขาท้อถอยที่จะอ้างต่อไปว่า เขาคือ "ผู้สร้างสรรค์" และเป็น "เจ้าของลิขสิทธิ์" อุลตร้าแมนตัวจริง เพราะคำพิพากษาของศาลไทย อย่างไรเสียก็มีอำนาจเพียงภายในเขตอธิปไตยของดินแดนไทยเท่านั้น  ที่สำคัญในการต่อสู้คดีที่ญี่ปุ่น ศาลที่นี่กลับตัดสินตรงกันข้ามกับศาลฎีกาไทยโดยชี้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นของจริง โดยไม่อนุญาตให้พิสูจน์ลายมือของโนโบรุในสัญญา แม้ว่าทางสึบูรายะ (Tsuburaya) จะร้องขอ ทำให้สมโพธิมีสิทธิในการแสวงหากำไรในอุลตร้าแมนทั่วโลก ยกเว้นญี่ปุ่นภายใต้ขอบเขตของสัญญาดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ สมโพธิจึงสามารถอ้างสัญญาดังกล่าวไปยืนยันกับศาลประเทศอื่น ๆ ได้ต่อไป (โดยเฉพาะตลาดใหญ่ ๆ ที่คุ้มกับการดำเนินดคี) โดยหวังว่า ศาลจะเชื่อถือในหลักฐานของเขาเหมือนเช่นศาลญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมา นอกจากที่ญี่ปุ่นแล้ว เขาก็ยังประสบความสำเร็จในการสู้คดีที่จีน แต่ศาลจีนก็มิได้ให้สิทธิขาดกับสมโพธิ หากเป็นเพียงสิทธิโดยจำกัดในการใช้งานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนยุคต้นโชวะเท่านั้น  ล่าสุดในการพิจารณาคดีที่สหรัฐฯ คณะลูกขุนก็เชื่อว่า สัญญาที่สมโพธิอ้างนั้นเป็นเอกสารปลอม และศาลแขวงที่แคลิฟอร์เนีย ก็มีคำวินิจฉัยสอดคล้องกับความเห็นของคณะลูกขุนว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่สัญญาที่แท้จริงที่ โนโบรุ สึบูรายะ ลงลายมือชื่อและประทับตราจริง ๆ ไม่ต่างจากความเห็นของศาลฎีกาไทย ซึ่งทางสึบูรายะหวังว่า คำพิพากษานี้จะเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีในที่อื่น ๆ ทั่วโลก  "ในการตัดสินคดีล่าสุดที่สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว สึบูรายะได้ชัยชนะเหนือสมโพธิและคู่พิพาทรายอื่น ๆ อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ชัยชนะในสหรัฐฯ ก็มีอิทธิพลสูงมาก ในฐานที่เราได้รับคำตัดสินที่ผู้คนให้การยอมรับเป็นอย่างสูงว่ามีมาตรฐานน่าเชื่อถือที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเราก็เชื่อว่าชัยชนะอย่างเป็นเอกฉันท์ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่เที่ยงแท้ว่าเราคือเจ้าของผู้ถือสิทธิในงานและตัวละครอุลตร้าแมนทั้งหมด" ตัวแทนของสึบูรายะกล่าว  และที่สำคัญที่ผ่าน ๆ มา แม้จะมีความเห็นไม่ตรงกันว่าเอกสารฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารจริงหรือไม่ ขอบเขตเพียงใด? แต่ศาลทุกประเทศต่างก็ยอมรับว่า สึบูรายะในฐานะผู้สร้างสรรค์ คือผู้ถือลิขสิทธิ์ตัวจริง แน่นอนว่า ผู้ที่ฟังข่าวเรื่องนี้อย่างผ่าน ๆ ก็คงเลือกรับฟังเรื่องเล่าเป็นเรื่อง ๆ ไป จนเกิดความเข้าใจผิด แม้กระทั่งคนทำสื่อ หรือนักกฎหมายเองก็อาจหลงเชื่อคำกล่าวอ้างเพียงฝ่ายเดียวของสมโพธิ และช่วย "ทำซ้ำ" ตอกย้ำเรื่องเล่าดังกล่าว ข้ออ้างเดิม ๆ ที่ศาลไทยไม่ฟังจึงยังคงเป็นที่รับฟังของคนทั่วไป ในขณะที่คำพิพากษาของศาลไทยเองซึ่งเป็นเอกสารสาธารณะที่เข้าถึงได้ไม่ยากกลับแทบไม่ถูกกล่าวถึง และถูกรายงานถึงน้อยกว่าอย่างเทียบไม่ติด