ธรรมศาสตร์คว้ารางวัลระดับโลก “มหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ” เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

ธรรมศาสตร์คว้ารางวัลระดับโลก “มหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ” เป็นครั้งแรกของประเทศไทย
อีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าชื่นชมของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University) ได้รับเลือกจากเครือข่ายวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ (International Sustainable Campus Network: ISCN) ให้เป็น 1 ใน 4 มหาวิทยาลัยที่คว้ารางวัลชนะเลิศด้านความยั่งยืนประจำปี 2020 ร่วมกับมหาวิทยาลัย McGill ประเทศแคนาดา มหาวิทยาลัย KTH ประเทศสวีเดน และมหาวิทยาลัย LUT ประเทศฟินแลนด์ โดยมีพิธีมอบรางวัลแบบออนไลน์เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เครือข่ายวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ เป็นเครือข่ายความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำทั่วโลกกว่า 80 มหาวิทยาลัยจาก 30 ประเทศ ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงค่านิยมเดิม จากการสร้างองค์ความรู้และมุ่งเน้นบุคลากรไปสนับสนุนด้านเศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations: UN) ความสำเร็จของการคว้ารางวัลระดับนานาชาติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีสถานศึกษาได้รับรางวัลจาก ISCN โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสมาชิกจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนในปี 2020 ธรรมศาสตร์คว้ารางวัลชนะเลิศด้าน “การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตเพื่อความยั่งยืน” หรือ “Cultural Change for Sustainability” เป็นผลจากการดำเนินการอย่างจริงจังของมหาวิทยาลัยเพื่อลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (No More Single-Use Plastics) ซึ่งรางวัลดังกล่าวถือเป็นสาขาที่มีการแข่งขันสูงมากที่สุดของปี 2020 ธรรมศาสตร์คว้ารางวัลระดับโลก “มหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ” เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เป็นเวลากว่า 15 ปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มต้นรณรงค์ให้นักศึกษาลดใช้ถุงพลาสติก เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่เริ่มแจกถุงผ้าให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากนั้นในปี 2558 ได้ยกเลิกการให้ถุงพลาสติกฟรีเปลี่ยนเป็นจำหน่ายด้วยราคาถุงละ 1 บาท แก่ร้านค้าและร้านสะดวกซื้อกว่า 10 สาขาในมหาวิทยาลัย ปี 2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ จนทำให้บริษัทน้ำดื่มทั่วประเทศไทยเริ่มยกเลิกการใช้แค็ปซีลในเวลาต่อมา ในปี 2561 มหาวิทยาลัยสามารถยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ รวมถึงการยกเลิกหลอดกับแก้วพลาสติกในโรงอาหารและร้านกาแฟที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หันมาใช้เหยือกน้ำ แก้ว ช้อน แบบล้างใช้ซ้ำได้ ควบคู่กับการเปิดร้านเติมเต็ม (Refill Station) เมื่อปี 2562 ร้านอาหารที่ผู้ซื้อจะต้องนำภาชนะมาเอง ส่งเสริมวิถีชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเป็นมหาวิทยาลัยแรกของประเทศไทยที่มีร้านหารแบบเติมเต็ม สิ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประสบความสำเร็จเรื่องการรณรงค์ให้ทุกคนลดการใช้ถุงพลาสติก เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน ได้สรุปใจความสำคัญว่า ธรรมศาสตร์ไม่ได้กระตุ้นผู้คนเพียงแค่โปสเตอร์หรือสโลแกน แต่เน้นการสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ทุกคนเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทีละน้อย จะไม่เริ่มต้นด้วยการบังคับหรือออกกฎชัดเจน หากแต่สร้างแรงบันดาลใจกระตุ้นให้เริ่มที่ตัวเอง สำหรับปี 2020 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีโครงการปิ่นโต กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยลดการซื้ออาหารที่บรรจุใส่ถุงหรือกล่องพลาสติก ต่อยอดความสำเร็จด้วยการนำโครงการปิ่นโตมาใช้ที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ หลังจากก่อนหน้านี้ก็ได้เริ่มลดการใช้ช้อนส้อมพลาสติก กล่องข้าว และตะเกียบใช้ครั้งเดียวทิ้งในโรงพยาบาล พร้อมกับติดตั้งตู้เติมน้ำดื่มเพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก เปลี่ยนมาใช้ชุด PPE และถุงหุ้มรองเท้าแบบใช้ซ้ำภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพคงเดิม พยายามลดจำนวนขยะติดเชื้อให้ได้มากที่สุด ธรรมศาสตร์คว้ารางวัลระดับโลก “มหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ” เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

“ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อเรา แต่เพื่อลูกหลาน และอนาคตของมนุษยชาติ” – ปริญญา เทวานฤมิตรกุล