อดุลย์ เปรมประเสริฐ : ความสุขของพนักงานจะส่งผ่านไปถึงสินค้าที่มีคุณภาพ

อดุลย์ เปรมประเสริฐ : ความสุขของพนักงานจะส่งผ่านไปถึงสินค้าที่มีคุณภาพ
“การผลิตสินค้าที่ดี ต้องมาจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ที่สำคัญคือคนทำงานต้องมีความสุข” ช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก แต่ไม่ใช่กับภาคธุรกิจอาหารที่ยังมีการเคลื่อนตัว เพราะถึงอย่างไรผู้คนก็ยังจำเป็นต้องจับจ่ายสินค้าของกินของใช้เพื่อดำรงชีวิตต่อ The People พูดคุยกับ ‘อดุลย์ เปรมประเสริฐ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันพืชกุ๊ก เกี่ยวกับนโยบายการทำงานในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา และแนวคิดการบริหารองค์กรที่เขาใช้ฟันฝ่าปัญหาไปพร้อม ๆ กับเหล่าพนักงาน เพื่อที่จะเดินหน้าต่อในฐานะองค์กรที่ได้รับการไว้วางใจให้มีเครื่องหมาย Thailand Trust Mark (T Mark) ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ The People: ช่วงล็อคดาวน์จากโควิด-19 ที่ผ่านมาบริษัทได้รับผลกระทบอะไรบ้าง อดุลย์: ต้องเรียกว่าเรามีผลกระทบ แต่เป็นผลกระทบในทางบวกครับ เพราะถึงแม้จะมีการล็อคดาวน์ แต่ผู้คนยังจำเป็นต้องกินต้องใช้อยู่ เราเองผลิตสินค้าอาหาร เราผลิตสินค้า 2 ตัว ก็คือน้ำมันพืชกุ๊กที่ทุกท่านบริโภคกัน อีกอันวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ได้มาจากการแยกกากถั่วเหลืองหรือกากพืชน้ำมันอีกที ในช่วงล็อคดาวน์ ทั้งสองอย่างนี้ยังมีความจำเป็นต้องผลิตต่อไปอยู่ แต่ทีนี้เราจะดำเนินการไปภายใต้ภาวะที่เกิดโควิดอย่างไร ตรงนี้ก็เป็นปัญหาหลักของเรา เพราะว่าเรามีพนักงานอยู่เยอะ เรามีทั้งโรงสกัด โรงกลั่น โรงผลิตขวด จะทำยังไงให้เขายังมาทำงานได้ ผมก็แบ่งพนักงานออกเป็น 2 ทีม ทุกแผนกเลยมี 2 ทีม แล้วก็แบ่งเวลาทำงานกัน ทีมหนึ่งทำงาน 4 วันหยุด 2 วัน แล้วอีกทีมก็เข้ามารับช่วงต่อสลับกันไปอย่างนี้ พนักงานที่ต้องมาประจำที่ไซต์ก็มา พนักงานที่มาทำงานเราก็พยายามทำความสะอาดในโรงงานให้เรียบร้อย ส่วนพนักงานที่ดูแลในส่วนข้อมูลเราก็ให้เขา Work from home ไปเพื่อไม่ให้เกิดการแออัด ทั้งหมดนี้ก็จะช่วยให้โรงงานยังเดินได้ต่อ The People: มีการส่งเสริมกำลังใจแก่พนักงานในช่วงที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง อดุลย์: ก็ถ้านอกจากเรื่องการพยายามอำนวยความสะดวกให้เขาในระหว่างการทำงาน อย่างการมีรถไปรับส่งคนที่ไม่ได้ขับรถมาเอง กับซื้ออุปกรณ์สำนักงานให้กับพนักงานที่เขาทำงานจากบ้าน เราก็มีการพูดคุยกับพนักงานอยู่บ่อย ๆ ผมจะบอกพนักงานเสมอว่าเราคือ “ฮีโร่เบอร์ 2” นะ รองจากเหล่าหมอ พยาบาล งานที่เราทำอยู่มันก็ช่วยคนอื่นเหมือนกัน เราต้องส่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้กับโรงงานที่ผลิตสินค้า กุ้ง หมู ไก่ ถ้าเราทำไม่ได้ เขาก็จะมีปัญหาในการเลี้ยงสัตว์ เราผลิตน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน สำหรับนำไปทำอาหารรับประทาน เราส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร ส่งน้ำมันให้แก่โรงงานทูน่า เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราจะต้องเดินหน้าต่อ อันนี้ก็เป็นแนวคิดที่ผมพยายามบอกพนักงาน ว่าทำไมเราถึงต้องช่วยกัน The People: นอกจากนโยบายที่ใส่ใจพนักงาน จากเครื่องหมายรับรองต่าง ๆ ทราบมาว่าบริษัทก็ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย อดุลย์: อย่างที่เรียนไปนะครับ ว่าบริษัทเราแปรรูปสินค้าจากวัตถุดิบทางการเกษตร คือถั่วเหลือง ทานตะวัน มาเป็นกากพืชน้ำมันที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ และน้ำมันพืช แน่นอนครับ ว่ากว่าวัตถุดิบทางการเกษตร กว่าจะมาเป็นน้ำมันพืช เราต้องใช้พลังงานซึ่งมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดมลภาวะต่าง ๆ มากมาย เราก็เลยมีนโยบายที่จะลดมลภาวะที่เกิดขึ้น โดยนำระบบ ICS มาใช้ในกระบวนการกลั่นตั้งแต่ปี 2005 คือระบบ ICS ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องคุณภาพน้ำมัน แต่ยังสามารถคงสารอาหารที่มีประโยชน์ อย่างวิตามินหรือโอเมก้า 3 ไว้ในน้ำมัน ช่วยในเรื่องการใช้พลังงานที่เหมาะสมด้วย ที่สำคัญก็คือจะไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และทางน้ำ อันนี้คือแนวทางที่เราเลือกโดยคำนึงถึงคุณภาพสินค้าและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันผลลัพธ์ครั้งนี้เห็นได้ชัดมาก เพราะเราสามารถลดการใช้พลังงานต่อหน่วยของการผลิตลง แถมยังลดการก่อน้ำเสียจากโรงกลั่นไปได้เยอะมาก ตรงนี้เองครับที่ทำให้เราได้รับเครื่องหมาย Carbon Neutral มา เพราะเราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ จากการใช้พลังงานที่น้อยลง เราจึงช่วยลดโลกร้อนไปได้เยอะ The People: ตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark มีความสำคัญอย่างไร ทำไมทางบริษัทจึงต้องการให้ผลิตภัณฑ์มีตราสัญลักษณ์ติดอยู่ อดุลย์: ต้องเรียนก่อนว่า เพราะผมเชื่อเรื่องของการทำงานเป็นระบบ เพราะฉะนั้นเรื่องของคุณภาพ เรามีระบบ ISO 9000 เรามีระบบเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการความปลอดภัย ISO 18000 และการจัดการพลังงาน 51000 เราผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ทีนี้ผมเห็นว่าอุตสาหกรรมของเราเป็นสินค้าไทย การได้มีตราสัญลักษณ์ที่เป็นมาตรฐานของไทย อย่าง Thailand Trust Mark เข้ามาเกี่ยวข้อง มันเป็นการรับรอง และเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ว่าเราสามารถทำงานใต้เกณฑ์มาตรฐาน หลักนิติธรรมในการดำเนินธุรกิจ หลักคุณธรรม ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ทั้งหมดนี้เราคงไม่สามารถอธิบายทุกอย่างลงไปในฉลากได้ การได้ตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark มา ก็เหมือนเป็นการยืนยันถึงคุณภาพในกระบวนการทำงานก่อนจะออกมาเป็นสินค้าของเรา ตรงนี้เองคู่ค้าเราที่เป็นระดับ B2B เขาอาจจะรู้อยู่แล้ว แต่ในระดับผู้บริโภค อย่างเราส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศด้วย พอติดตรา Thailand Trust Mark ก็เหมือนเราได้รับการไว้วางใจว่าเราเป็นธุรกิจซึ่งดำเนินงานภายใต้ธรรมาภิบาล เป็นธุรกิจซึ่งดูแลสิ่งแวดล้อม และเป็นธุรกิจซึ่งดูแลใส่ใจเพื่อนร่วมงาน The People: แปลว่าตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาคู่ค้าได้ อดุลย์: ใช่ครับ ช่วยรับรองได้เป็นอย่างดี ในระดับต่างประเทศเขาก็ให้เชื่อมั่นในตรา Thailand Trust Mark ของเรา เพราะมันสะท้อนไปถึงวิธีการทำงาน ไปถึงวิสัยทัศน์ขององค์กรด้วย มันช่วยให้เราสามารถทำธุรกิจระหว่างเรากับคู่ค้าได้ราบรื่นมากขึ้น ทางบริษัทของเราก็มีลูกค้าติดต่อมาเพราะตราสัญลักษณ์นี้จริง ๆ The People: นอกจากการนำ ICS มาใช้ บริษัทมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือสังคมอีกหรือไม่ อดุลย์: แน่นอนนะครับว่า การจะทำธุรกิจให้ยั่งยืน เราก็จำเป็นต้องคืนสู่สังคม ที่จริงผมมีโครงการที่คิดขึ้นมาเพื่อดูแลชุมชนรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงงาน เรามีโครงการขยะสัญจร เพื่อดูแลสุขอนามัยของชุมชน มีการให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และการดูแลสุขภาพแก่ชุมชนด้วย พอมีโควิด-19 ก็เลยต้องเข้มงวดในเรื่องของการเว้นระยะห่าง มีการจัดเป็นกลุ่มเพื่อให้ความรู้ เรารู้ว่าทุกคนเดือดร้อนเรื่องปากท้อง ก็มีการจัดถุงยังชีพไปแจก แน่นอนว่ามีน้ำมันผมอยู่ในนั้นด้วย คู่ค้าเราที่เขาทำอาหาร ทำเนื้อ ทำไข่ เราก็จะช่วยกันซื้อขาย ช่วยกันแจกจ่ายกระจายสินค้า เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินไปได้ นอกจากนั้นก็เป็นการมอบเครื่องมือแพทย์ให้กับสถานพยาบาล ที่ผ่านมาเราก็พยายาม The People: ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงการใส่ใจเพื่อนร่วมงาน ทางบริษัทมีนโยบายที่ส่งเสริมพนักงานอย่างไร อดุลย์: เราเชื่ออยู่อย่างว่า การที่จะผลิตสินค้าที่ดี ต้องมาจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ที่สำคัญคือคนทำงานต้องมีความสุข คนที่จะมีความสุขกับการทำงานได้ต้องมีอะไร มีสุขภาพกายที่ดี ทางผมก็มีโครงการที่ทำร่วมสสส. ส่งเสริมให้พนักงานออกกำลังกายมาหลายปีแล้วนะครับ ผมก็จัดอบรมให้พนักงานไปปฏิบัติธรรมบ้าง เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิต และที่ผมว่าขาดไม่ได้ คือสุขภาพการเงินที่ดี อันนี้เราก็ให้ทางแบงก์เขามาสอนวิธีวางแผนทางการเงิน วางแผนเกษียณทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ซึ่งทั้งหมดนี้ที่เราส่งเสริมมาอยู่แล้ว พอมาเจอกับวิกฤติโควิด-19 พนักงานเราก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ดีพอสมควร เพราะเขามีการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ผลกระทบที่เกิดแก่องค์กรมันก็เลยน้อยลงครับ The People: บริษัทมีเป้าหมายในการพัฒนาสินค้าในอนาคตอย่างไร อดุลย์: อันนี้ผมก็จะขอย้อนกลับไปที่นโยบายการทำงานที่ต้องพัฒนากระบวนการผลิต กระบวนการทำงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่มี เราก็ยังคงต้องพัฒนาไป ดังนั้น ในการพัฒนาสินค้าในอนาคต เราก็ยังมีนโยบายที่จะผลิตน้ำมันพืชกุ๊กให้เป็นน้ำมันที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผมยังมีโครงการที่เรียกว่า Zero Waste Water คือสมัยก่อนประมาณ 40 ปีที่แล้ว โรงงานเราเดินเครื่องแค่ 600 ตันต่อวันมีน้ำเสียวันละ 300 คิว ปัจจุบันผมเดินประมาณ 6,000 ตัน น้ำเสียมีแค่ 40-80 คิวต่อวัน และภายในระยะเวลาอันใกล้ ผมจะทำให้น้ำเสียเป็นศูนย์ เพื่อจะเป็นโรงงานน้ำมันพืชแห่งแรกที่ไม่มีน้ำเสียเกิดขึ้นเลย การพัฒนาสินค้าของผม นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว ผมยังเชื่อเรื่องการพัฒนาพนักงาน เรายังเดินหน้าสร้าง Happy Work Place เพื่อดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพการเงิน เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงานต่อไป ในอนาคตผมก็ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างสินค้าที่ดี จากวิธีการทำงานซึ่งถูกสุขลักษณะ เป็นการทำงานที่ปลอดภัย ให้น้ำมันกุ๊กทุกขวดเชื่อถือได้ สมดั่งที่ตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark ได้ให้การรับรองไว้ครับ