บทสัมภาษณ์ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ถึงภาพยนตร์ ดนตรี และธรรมชาติแห่งชีวิต ของนักแสดงรุ่นใหญ่ที่ผันตัวมากำกับหนังไทย

บทสัมภาษณ์ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ถึงภาพยนตร์ ดนตรี และธรรมชาติแห่งชีวิต ของนักแสดงรุ่นใหญ่ที่ผันตัวมากำกับหนังไทย
“ก่อนหน้านั้นเราเป็นคนที่ดูหนังแทบทุกอาทิตย์ ในโรงด้วย แผ่นด้วย วันหนึ่งเราตกใจว่า เฮ้ย! นี่เราไม่ได้เข้าโรงหนังเลยเป็นเวลาหลายปี และสุดท้ายเป็นสิบปีมั้ง ไม่ได้เข้าเลย” หลายคนอาจคุ้นหน้า ‘ธเนศ วรากุลนุเคราะห์’ จากหลากบทบาทในภาพยนตร์และซีรีส์ดัง ไม่ว่าจะเป็นบทบาท ‘ธนา’ จาก ป๊อปอาย มายเฟรนด์ ‘ผู้คุม’ จากโฮมสเตย์ ‘นักสืบ’ จากเลือดข้นคนจาง หรือบทบาท ‘พ่อ’ จากฉลาดเกมส์โกง หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2528 ‘ธเนศ’ หรือ ‘เอก’ คือเด็กหนุ่มที่หลงรักในภาพยนตร์ แต่จับพลัดจับผลูได้ทำงานดนตรี และมีอัลบั้มเปิดตัวภายใต้สังกัดไนท์สปอตอย่าง ‘แดนศิวิไลซ์’ (2528) ที่เป็นที่ฮือฮาในฐานะอัลบั้มโปรเกรสซีฟร็อกชั้นดีอีกอัลบั้มของไทย ตามมาด้วย ‘คนเขียนเพลง บรรเลงชีวิต’ (2530) ก่อนย้ายค่ายมาที่แกรมมี่ และปล่อยเพลงอีกสองอัลบั้ม คือ ‘กดปุ่ม’ และ ‘ร็อกกระทบไม้’ จากนั้นจึงแยกตัวออกมาก่อตั้ง ‘Music Bugs’ ค่ายเพลงอิสระหน้าใหม่ที่มีศิลปินชูโรงอย่าง ‘บอดี้สแลม’, ‘บิ๊กแอส’ และ ‘ลาบานูน’ The People ชวนธเนศคุยถึงวันวานในวงการดนตรี เส้นทางชีวิตใน ‘รักแรก’ ของเขาอย่างภาพยนตร์ วันที่หยุดงานเพื่อไปเลี้ยงลูก ค้นพบหลักแห่งธรรม และคืนวงการหนังไทยด้วยความตั้งใจเพียงประการเดียว “เราตั้งใจไว้ว่าจากวันนี้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตที่เหลืออยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าเหลือเท่าไร จะทำแต่ประโยชน์เพื่อผู้อื่นโดยส่วนเดียวเท่านั้น”   The People: ย้อนเล่าเรื่องราวในวัยเด็ก อะไรคือจุดเริ่มต้นของธเนศ ทราบว่าเป็นเด็กต่างจังหวัด แล้วเข้ามาในกรุงเทพฯ และเริ่มต้นเส้นทางสายอาชีพของคุณได้อย่างไร ธเนศ: เป็นเด็กต่างจังหวัด สมุทรสงคราม ชอบดูหนังกลางแปลง งานวัด ชอบฟังวิทยุทรานซิสเตอร์ รู้จักไหม? (หัวเราะ) นั่นละ ละครวิทยุ เพลงลูกทุ่ง เพลงไทยสากลก็มีบ้าง แต่ฟังเพลงลูกทุ่งมากกว่า แล้ววิ่งเล่นกระโดดท้องร่อง กระโดดแม่น้ำลำคลองตามปกติ ประมาณอายุเท่าไรจำไม่ได้แล้ว ป.6 ครอบครัวย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ มาอยู่แถวฝั่งธนฯ ตลาดพลู ไอความชอบแบบเดิม มันทำได้แค่ไม่กี่อย่างแล้ว ไม่มีท้องร่องให้กระโดดมากนัก พอมี แต่ว่ามันไม่ลุยเหมือนเมื่อก่อน ไม่มีสวนให้เดิน เราเดินไปโรงเรียนเป็นหลายกิโลฯ เหมือนกันนะ เดินไปโรงเรียนเดินกลับ ธรรมดาเลย แล้วก็มีเรือหางยาว มีเรือโยง บ้านอยู่ริมน้ำ พอมากรุงเทพฯ ก็คลองเล็กใช่ไหม ก็กระโดดน้ำได้บ้าง แต่ว่าไม่เหมือนก่อน แล้วก็ด้วยความที่ครอบครัวย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ คุณพ่อคุณแม่ก็เป็นห่วง ก็ไม่ปล่อยเหมือนเดิมแล้ว เดิมไปไหนมาไหนก็ไม่ได้สนใจ กระโดดไปนู่นมานี่ คราวนี้เขาก็ระวัง ก็กลัว ห่วง เพราะว่าเพิ่งมาจากต่างจังหวัดกัน ก็เลยไม่ค่อยได้ไปไหนเท่าไร ก็เลยเหลือกิจกรรมที่ยังทำได้เหมือนเดิมคือการดู  ทีนี้ไม่ใช่หนังกลางแปลงแล้ว งานวัดก็น้อย เพราะกรุงเทพฯ แม้ฝั่งธนฯ สมัยโน้นก็ไม่ได้เยอะเหมือนต่างจังหวัด ก็เหลือทีวี วิทยุ อันนั้นคือเป็นกิจกรรมหลัก ชีวิตมันก็เลยผูกพันกับสิ่งนี้มากขึ้น ยิ่งเหมือนเด็กต่างจังหวัดมาอยู่กรุงเทพฯ เนี่ย คนที่เป็นแบบนี้จะเข้าใจดี ความรู้สึกว่าเด็กบ้านนอกมาอยู่กรุงเทพฯ ถึงแม้ไม่ใช่จังหวัดไกลมาก แต่ว่าด้วยความที่เราไม่เคยเข้ากรุงเทพฯ มันจึงเป็นความรู้สึกแปลกแยกเล็กน้อย มันก็เลยมีโลกส่วนตัว ก่อร่างเป็นตัวเป็นตนเราขึ้นมา โดยเชื่อมโยงกับโลกข้างนอกผ่านเสียงเพลง รายการทีวี วิทยุ แน่นอนมีเพื่อน ๆ แต่ว่าก็เพื่อน ๆ แถวนั้น ไม่ได้กระจายไปมากนัก แล้วก็ชีวิต เรียนโรงเรียนก็เรียนโรงเรียนไม่ไกลจากบ้าน ซึ่งใช้วิธีเดินเหมือนเดิม เดินไปโรงเรียน เดินกลับ เราไม่เคยนั่งรถไปโรงเรียนเลยจนกระทั่งจบ ม.3  ขึ้นรถไปเรียนครั้งแรกก็มานี่เลย สยามสแควร์เลย ข้างจุฬาฯ เลย อุเทนถวาย นั่นเป็นครั้งแรกที่นั่งรถเมล์ไปโรงเรียน (หัวเราะ) นั่นแหละชีวิตก็ใช่ไหม ก็เป็นโลกกว้างอีกอย่าง พอมาถึงตรงนั้นปั๊บ ทีนี้ก็เป็นอีกอย่างเลย โลกเปลี่ยน พอเลิกเรียนก็สยามสแควร์แทบจะทุกวัน ดูหนังโรงใหญ่ละ สยาม ลิโด้ สกาล่า   The People: จากการที่เคยเป็นเด็กที่ชอบดูหนังฟังเพลงวิทยุ เริ่มเข้ามาเป็นฝ่ายผลิต เข้าเป็นส่วนหนึ่งในวงการนี้ได้อย่างไร ธเนศ: คือมันเริ่มที่ว่า พอเราชอบเราสนใจตั้งแต่อยู่ต่างจังหวัด เวลาเขามีรับประกวดร้องเพลงตามต่างจังหวัดก็เคยขึ้นไปประกวด แต่พอประกวดปั๊บ เสร็จแล้วเราก็ไปดูหนังต่อ ไปดูอะไร ก็ไม่รู้ว่าเขาประกาศให้รางวัลอะไร ติดรอบหรือเปล่า ไม่รู้ นั่นจำได้ครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นพอมาถึงเนี่ย เราก็ดูไป ๆ เรารู้สึกว่า เราอยากเป็นแบบนั้น ก็เหมือนเด็กทั่วไปนั่นแหละ ไม่ได้จริงจังมาก มาสังเกตตัวเองจริง ๆ แล้วเนี่ย เอาเข้าจริงแล้วเราไม่ได้ชอบการร้องเพลงเท่ากับการแสดง เราไม่ได้ชอบเพลงเท่ากับภาพยนตร์จอใหญ่ ๆ จอใหญ่ด้วยนะ ไม่ใช่ทีวี แต่ว่าโอกาสที่จะไปจอใหญ่มันก็ยาก ทีนี้พอไปเรียนที่อุเทนฯ ในหนังสือพิมพ์เขาประกาศรับสมัครนักแสดงจำนวนมาก เป็นละครเวทีการกุศลเพื่อสร้างหอสมุดวชิรญาณ เมื่อตอนนั้น ประมาณปี 2500 อืมม์... น่าจะ 19 หรือ  20 เนี่ย หรือ 18 เนี่ย จำไม่ได้แล้ว เราก็เลยไปสมัคร คือเพื่อน ๆ งงกันหมดเลย เพราะว่าทุกคนเป็นเด็กช่างกัน เราก็กระโดดข้ามรั้วจากอุเทนฯ ไปที่เขารับสมัครที่คณะอักษร เราก็ไป Try Out ไปนู่นนี่ แล้วก็ได้รับเลือก ด้วยความตั้งใจว่า เออ...เขารับจำนวนมาก ไปเล่นเป็นอะไรก็ไม่รู้อะ เป็นต้นไม้ ก้อนหินอะไรก็เอา เพราะว่าละครเวทีมันต้องใช้คน ตรงนั้นก็เลยเป็นจุดเริ่มที่เราได้ไปรู้จักบุคคล ซึ่งวันนี้เป็นบุคคลสำคัญในวงการบันเทิงหลายคน พอเล่นตอนนั้น อันนั้นคือเล่นที่โรงละครแห่งชาติ เป็นละครใหญ่ เล่นหลายรอบมาก เรื่อง ‘มัทนะพาธา’  ‘มัทนะพาธา’ เป็นละครที่มีภาคสวรรค์ ภาคพื้นดิน อะไรแบบนี้ เดิมเราได้รับบทเป็นเทวดาอยู่ภาคสวรรค์ แต่ว่าทำไปทำมา เขากำลังหาบทที่เป็นลูกศิษย์วัด หาไม่ได้ บังเอิญเราไปกับเพื่อนอีกคน เขาเห็นว่าสองคนนี้รู้จักกัน ก็เลยลองชวนเพื่อนเราว่าลองเล่นด้วยกันสิ เพื่อนก็ไม่เคยเล่น แล้วก็ไม่ได้อยากเล่น เราบอกเหยก็มาช่วยกัน มาลองดูหน่อย ปรากฏว่าด้วยความเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว มันเลยเข้าขากัน เขาก็เลยเปลี่ยนให้เราเล่นเป็นลูกศิษย์วัด เป็นเด็กวัดซะงั้น จากเทวดา ตกสวรรค์ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แล้วก็กลายมาเป็นลูกศิษย์วัด มัทนะพาธาเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ต้องใช้คำฉันท์ คำคล้องจอง เป็นบทกวี แต่ว่ามีตัวละครแค่สองตัวเท่านั้นที่พูดธรรมดาคือลูกศิษย์วัด (หัวเราะ) เราก็พูดใส่มุกอะไรก็ได้ ผู้กำกับบอกลุยไปเลย อันนั้นคือเรื่องแรก  แล้วเราก็เริ่มเล่นละครโทรทัศน์ของคุณปนัดดา กัลย์จาฤก ตอนนั้นมีละครสด ๆ เล่นกันสด ๆ เลย ตอนประมาณ 4 ทุ่ม สดหมายความว่าทุกอย่างสดหมดเลย ผิดก็ผิดกันสด ๆ เลยนะ สองเดือนครั้งหนึ่ง แล้ววันหนึ่งเนี่ย คุณปนัดดาก็เปลี่ยนเรื่องเทคโนโลยี เรื่องการบันทึกเทป เริ่มมีแล้ว ก็ทำละครบันทึกเทปครั้งแรกใช้ชื่อคณะส่งเสริมศิลปิน เป็นซิตคอม เรื่องแรก ๆ ในยุคนั้นของเมืองไทย ชื่อ 38 ซอย 2 เป็นตอน ๆ เป็นครอบครัว มีคุณพ่อคุณแม่ แล้วมีพี่น้องสามคน มีพี่แก้ว เราเป็นพี่ก้อง แล้วก็มีน้องก้อย เราเป็นทีมใหม่หมดเลย เป็นทีมนักศึกษาอักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์มาเขียนบท มันเลยทันสมัยในยุคนั้น มีมุกมีอะไร ไม่ใช่ละครจักร ๆ วงศ์ ๆ หรือเรื่องผัวเมีย เมียน้อยเมียหลวงอะไร ตั้งแต่ตอนนู้นก็มีแล้วนะ ทุกวันนี้ยังมีเลย คือมันเป็นอีกแบบ เป็นเรื่องแฟมิลี่ วัยรุ่น ปัญหาของวัยรุ่นสามคนนี้แหละเป็นหลัก นี่คือเรื่องแรกที่เราเริ่มเขียนบท ก็เขียนมาเลย 1 ตอน  นอกจากนั้นเรายังทำเพลงแต่งเพลงด้วย ในเรื่องเราก็เป็นวัยรุ่นไปหลงรักผู้หญิงคนหนึ่ง เพลงนี้เป็นเพลงบอกรักผู้หญิงคนนั้นในเรื่อง ชื่อเพลง นกน้อย ยังจำได้เลย อันนั้นก็คือที่มาก็เริ่มทำ เราไม่เคยทำมาก่อน และก็ไม่เคยรู้สึกว่าทำได้หรือทำไม่ได้ คือทำไปเลย แล้วมันก็ได้ (หัวเราะ) อันนี้คือที่มาจากคำถามที่ว่าเข้ามาอยู่ในวงการได้อย่างไร รวมทั้งวงการเบื้องหลังด้วย แล้วหลังจากนั้นมันก็มีอีกเยอะแยะมากมาย  บทสัมภาษณ์ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ถึงภาพยนตร์ ดนตรี และธรรมชาติแห่งชีวิต ของนักแสดงรุ่นใหญ่ที่ผันตัวมากำกับหนังไทย The People: ตอนไหนที่เริ่มมาทำรายการวิทยุ Nite Spot Show แล้วก็ Radio Active  ธเนศ: ตรงรายการวิทยุ เริ่มตรงนี้ ช่วงที่เล่น 38 ซอย 2 เราก็รู้จักคนที่เล่นเป็นน้องก้อยหรือคุณก้อย หรือชื่อจริง ๆ ว่าคุณกอล์ฟ พอละครจบ ไม่ทำต่อแล้ว คุณกอล์ฟก็มาชวนว่าเขาอยากจัดรายการวิทยุ เขาเห็นเราแต่งเพลง ชอบฟังเพลง เขาก็มาปรึกษาว่า ช่วยแนะนำหน่อยว่าจัดรายการยังไง อะไรยังไง ช่วยพาไปซื้อแผ่นเสียงหน่อย เราก็พาไปซื้อ แล้วเขาไปได้สปอนเซอร์มา เขาก็เลยเริ่มจัดรายการแล้วก็มาชวนเราจัดด้วย สุดท้ายก็ช่วยกันจัด แต่ว่าจัดได้ไม่นาน รู้สึกสักเดือนหนึ่งมั้ง เจ๊ง การจัดวิทยุสมัยนั้น ต้องมีใบผู้ประกาศด้วย คือต้องไปสอบที่กรมประชาสัมพันธ์ สอบการพูด การอ่านข่าว รายงานข่าว ดูว่าการใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษนิดหน่อย คำนู่นนี่ ควบกล้ำ ร.เรือ ล.ลิง การเว้นวรรค มันเหมาะสมที่จะเป็นผู้ที่จะมาใช้เสียงในการพูดในวิทยุหรือไม่ เราต้องไปสอบอันนี้ เพื่อที่จะมาทำกับคุณกอล์ฟ แต่ทำแป๊บเดียว เดือนกว่า ๆ เจ๊งแล้ว ก็ไม่รู้จะทำไง ก็ไม่เป็นไร แต่ใบนี้ดันยังอยู่ แล้วอยู่ ๆ รายการ Nite Spot Show ซึ่งตอนนั้นดังมากสำหรับวัยรุ่นหัวก้าวหน้า เปิดแต่เพลงสากล เพลงฝรั่ง และเป็นเพลงฝรั่งที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝั่งประเทศอังกฤษ รายการ Nite Spot Show เขาต้องการเปิดสถานีใหม่ ต้องการรับสมัครดีเจ ก็มีเพื่อนมาบอกว่า เขารับสมัคร คุณสมบัติคือรักอาชีพนี้ สนใจเสียงเพลง และมีใบผู้ประกาศ เราก็มีครบตามคุณสมบัติที่เขาให้ ก็เลยไปแล้วดันได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นในการที่เป็นดีเจ เริ่มต้นตอนแรกเป็นรายการ Nice & Easy รายการเพลงสำหรับผู้ใหญ่ที่เรียกว่า Adult Contemporary ก็เปิดเพลงเป็น Easy Listening Nice & Easy ตามชื่อรายการ จัดอยู่นั่นสักแป๊บหนึ่งจน Nite Spot มีชื่อรายการ Together Again เป็นคุณวาสนา วีระชาติพลี กับคุณวิโรจน์ ควันธรรม อันนี้ดังมากในหมู่วัยรุ่น Nice & Easy เนี่ยเขามาบุกตลาดผู้ใหญ่หน่อย เขาก็คงอาจจะเป็นเสียงเรามั้ง หรือยังไงไม่รู้ แต่ว่าวัยมันไม่ใช่ไง ทีนี้ทำไปสักพักหนึ่ง คุณวาสนาคงเห็นว่าไม่เหมาะตรงนี้ ก็ปรับรูปแบบรายการดึงเราไปร่วมกับคุณวาสนา กลายเป็นดีเจรายการ Radio Active   The People: มีอัลบั้มของตัวเองด้วย ธเนศ: ใช่ Nite Spot นอกจากจัดรายการวิทยุแล้วก็ยังจัดคอนเสิร์ตต่างประเทศเป็นเจ้าแรก ๆ เป็นผู้จัดจำหน่ายบริษัทแผ่นเสียง บริษัทแผ่นเสียงยักษ์ ๆ สมัยโน้นคือ Warner Brothers Records, Elektra Records, Atlantic Records สามค่ายเนี่ย ตอนแรกก็ไม่ได้เกี่ยวกัน แล้วเขามารวมกันสร้างแบรนด์ขึ้นมาใหม่ กลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับความสนใจ ชื่อใหม่เรียกว่า WEA Records และ Nite Spot เป็นตัวแทนจำหน่าย นอกจากนั้นเขาก็ยังสนับสนุนที่จะผลิตผลงานศิลปินตามพื้นที่ประเทศต่าง ๆ ที่เขาไป แล้วก็สร้างศิลปินในนามของเขาขึ้นมา Nite Spot ก็เลยจะทำอย่างนั้นด้วย ก็จะผลิตศิลปินของไทยในนาม WEA Records เขารู้ว่าเราเคยเขียนเพลงประกอบละคร แล้วเราก็แต่งเพลง เขามาถามว่าสนใจไหม เอ้า! สนใจสิ ใช่ไหม เขาถามว่ามีเพลงไหม เราก็บอกมี มีเต็มเลย หนึ่งในความฝันของเราวัยเด็ก เราฝันว่าถ้าเรามีอัลบั้มเป็นของตัวเอง ชื่อหน้าปกเป็นชื่อเรานี่มันก็น่าจะสนุกดีนะ เราก็เขียนเพลงไว้เล่น ๆ โดยแอบฝันเล็ก ๆ ว่าวันหนึ่งถ้าเป็นไปได้ก็จะได้บันทึกอันนี้ เป็นความภาคภูมิใจของเรา พอเขาชวนก็ทันทีเลย มีเพลงไหม มี ไหนมาฟังสิ ก็เอาไปฟัง เห้ยได้ เขาก็ให้มาร่วมงานกับคุณอัสนี โชติกุล ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้มีอัสนี-วสันต์นะ เราก็ช่วยกันทำเดโมส่งไปที่อังกฤษ เพราะเราคุ้นเคยกับเพลงต่างประเทศซึ่งมีการบันทึกเสียงที่ดี คือถ้าเพลงฟังเบา ๆ เพราะ ๆ เพลิน ๆ สบายหูก็อาจจะไม่จำเป็นต้องไป แต่นี่เราเป็นเพลงหนัก ๆ กลองหนัก ๆ กีตาร์หนัก ๆ เบสหนัก ๆ มันอัดที่นี่ไม่ได้ เขาก็ส่งเรากับพี่ป้อม อัสนีไป ทั้งคู่ไม่เคยขึ้นเครื่องบินออกนอกประเทศเลย ในประเทศก็ไม่เคยนั่ง ครั้งแรกไปนู่นเลย ลงฮีทโธรว์ ประเทศอังกฤษ ก็เลยได้มาเป็นอัลบั้ม ‘แดนศิวิไลซ์’   The People: แล้วหลังจากแดนศิวิไลซ์ เราก็มีอัลบั้มออกมาอีกหลายอัลบัมด้วยกัน ธเนศ: หลังจากนั้น พ.ศ.2530 เราก็มีอัลบั้ม ‘คนเขียนเพลงบรรเลงชีวิต’ แล้วพอหลังจากนั้นบริษัท Nite Spot ก็ยุติการทำเพลง เพื่อน ๆ หลาย ๆ คนที่รู้จักคุ้นเคยก็อยู่ที่แกรมมี่ ก็มาชวนว่าเออมานี่สิ แกรมมี่เริ่มละ เพราะมันเป็นบรรยากาศของการเริ่มต้นอีกยุคหนึ่งของวงการดนตรีไทย ทุกคนจะรู้สึกได้ว่ามันต้องเริ่มอะไรแล้ว เพราะฉะนั้นสุดท้ายเราก็เลยมาร่วมงานที่แกรมมี่อีกสองชุดก็คือ ‘กดปุ่ม’ กับ ‘ร็อกกระทบไม้’ พอสองอันนี้แล้วเรารู้สึกว่าเราอยากกลับไปทำอะไรที่มันคล้าย ๆ เดิมตอนเริ่มต้นแดนศิวิไลซ์ ก็เลยเป็นที่มาที่เรามาทำเองอีกครั้งหนึ่ง    The People: ถามถึงการก่อตั้งค่ายเพลง ธเนศ: งั้นต้องเล่าย้อนนิดหนึ่ง ตอนเราจัดรายการเนี่ย เราเปิด เราจัดรายการอยู่ 4 ปี 2524-2528 พอเราออกอัลบั้มมันก็พอดีเลย ก็ได้หยุดพัก หยุดพักเนี่ยเราก็รู้สึกว่าเราไม่อยากกลับไป พอโปรโมตแดนศิวิไลซ์เสร็จแล้ว เราอยากเดินหน้าทำอัลบั้มต่อ เราไม่อยากกลับไปจัดรายการแล้ว เพราะว่าเรารู้สึกเบื่อ เบื่อเพลงซึ่งมันซ้ำ ๆ เราเปิดเพลงที่มันฮิตทั้งอังกฤษ อเมริกา เพลงที่ดังอยู่ในท็อป 40 เพลงที่ประสบความสำเร็จที่สุด ซึ่งดีนะ แต่นึกดูว่าเราเปิดเฉพาะเพลงฮิตทั้งหมด 4 ปี มันเบื่อ เราแอบเรื่อย แอบเปิดเพลงที่มันแปลก ๆ ชั่วโมงที่สองที่สามใกล้ ๆ เลิกเนี่ย บางทีเราก็ไม่ค่อยพูดแล้ว เราก็เปิดไป ก็จะมีแทร็กแปลก ๆ ที่ไม่ใช่เพลงฮิตแทรกเข้ามาเรื่อย บางเพลงก็ยาว 5 นาที 10 นาที บางทีก็มี เพราะเราสนใจแบบนั้นด้วย เราก็เลยรู้สึกว่าไม่อยากละ มันพูดซ้ำ ๆ ไป นู่นนี่ แล้วก็เพลงก็โอเค คล้าย ๆ กัน ก็เลยมุ่งเข็มมาทำอัลบั้ม ทีนี้พอทำอัลบั้มเนี่ย ตอนที่ทำกับ Nite Spot สองชุดเราก็ทำหลากหลาย มีเพลงที่เป็นโครงสร้างที่พร้อมที่จะเป็นเพลงฮิตก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพลงที่อาจจะฮิตก็ได้ ไม่ฮิตก็ได้ ไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมจะเป็นเพลงฮิตแบบที่เราคุ้นเคยนักเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนเขียนเพลงบรรเลงชีวิต ถ้าใครอยากฟังเพลงอะไรที่มันไม่ฮิตเลยทั้งอัลบั้มขอเชิญรับฟังได้ แนะนำ (หัวเราะ) พอเป็นอย่างนั้นปั๊บ พอมาอยู่แกรมมี่ นโยบายเขาทำเพลงเพื่อที่ให้สู่วงกว้าง ซึ่งไม่ผิดนะ ไม่แปลก ก็เป็นเพลงแบบเดียวกับที่เราเปิดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นเราทำออกมาสองชุด เราก็รู้สึกว่าเราอยากจะกลับไปทำแบบแดนศิวิไลซ์กับคนเขียนเพลง นั่นคือที่มาที่เราก็เลยหยุดตรงนั้นกับแกรมมี่ แล้วก็มาทำเอง ทำเองแล้วก็จะไปให้แกรมมี่โปรโมตนั่นแหละ จะไปให้เขาจัดจำหน่ายอะไรเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเราขอแยกมาทำส่วนตัว เพื่อที่จะให้เป็นแบบนี้แหละ จะเจ๊งจะอะไรก็ไม่ว่ากัน พอเป็นอย่างนี้ปั๊บ เพื่อน ๆ น้อง ๆ รู้ว่าเรามาทำเองก็เลยมาคุยมาช่วยแนะนำ สุดท้ายก็มีหลายคนมาแนะนำบอกพี่ไม่ต้องไปขายแกรมมี่หรอก พี่ก็ขายเอง โปรโมตเอง ทำเอง ใช่ไหม ตอนนั้นมันเริ่มเป็นบรรยากาศของการที่มีค่ายเล็ก ๆ ผุดขึ้นแล้ว อย่างเช่น ค่ายเบเกอรี่ เป็นต้น มีโมเดิร์นด็อก มีอะไรต่ออะไร ดีมากเลย ทุกคนก็เชียร์เราใหญ่ ซึ่งเราไม่เคยอยู่ในหัวเลย เราไม่ชอบทำอะไรที่มันต้องมาบริหาร แต่สุดท้ายก็เอา ทำก็ทำ พอเรามาทำปั๊บ เรายังไม่ทันเริ่มงานเราเองเลยนะ ก็มีคนเอางานมา พี่ทำให้ผมด้วย ทำด้วย ทำด้วย ก็มาเยอะแยะเลยทีนี้ สุดท้ายเราไม่ได้ทำเลยนะ ในนามชื่อเรา จนบัดนี้ นี่คือที่มาที่เป็นค่ายเพลงอย่างที่ว่า ใช่ไหม นี่คือที่มา แต่ว่าโอเค เราก็ได้เรียนรู้อื่น ๆ ซึ่งเดี๋ยวถามมา เดี๋ยวค่อย ๆ เล่าไปก็ได้   The People: หลาย ๆ คนจะยกย่องว่าธเนศคือคนที่มีส่วนในการปั้นวงดัง ๆ ของไทยหลายวง อย่างวงร็อก บอดี้สแลม หรือว่าวง Big Ass อยากให้เล่าถึงช่วงเวลานั้นหน่อย ธเนศ: เรียกว่าทำงานร่วมกันดีกว่า อย่าเรียกว่าปั้นเลย เราไม่มีใครปั้นใครได้หรอก เพียงแต่ว่าเราให้โอกาส แล้วเขาก็มีของของเขาอยู่แล้ว แต่ว่าของนั้นเนี่ย มันได้โอกาสที่จะเผยแพร่ออกมาตอนไหน ถ้าจะมองในมุม คือทำงานร่วมกัน มันก็จะต้องแลกเปลี่ยน มีคำแนะนำ เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้างก็แล้วแต่ ไม่ว่ากัน มันก็ออกมาตรงนั้น จากที่เรามีประสบการณ์กว่า เขามีไฟแรง มีนู่นนี่ ก็มาแชร์กัน มันก็ออกมาเป็นอย่างนั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะพิเศษอะไรนักหนา เพียงแต่ว่าชีวิตมันมาเจอกันแล้วได้ร่วมงานกัน ทำสิ่งดี ๆ ให้กัน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน มันก็เลยเกิดเป็นสิ่งดี ๆ ออกมา ถ้าจะสรุปเหตุการณ์เรื่องราวที่ว่า มันก็มีเท่านี้แหละ ซึ่งแนวคิดนี้ใครก็ทำได้ มันไม่ใช่ว่าปั้นหรือไม่ปั้น ส่วนใหญ่ก็คงจะให้เกียรติว่าเป็นอย่างนั้น แต่จริง ๆ แล้วเราชอบใช้คำว่าทำงานด้วยกัน ร่วมกัน ช่วยกันทำงาน   The People: ระหว่างทางที่ทำเพลงและค่ายเพลง ได้กลับไปทำภาพยนตร์บ้างไหม ธเนศ: ไม่เลย ซึ่งเราตกใจมาก มานั่งย้อนดูว่าก่อนหน้านั้น เราเป็นคนที่ดูหนังแทบทุกอาทิตย์ ในโรงด้วย อะไรด้วย แผ่นเผิ่นอะไรเนี่ยนะ เรามีแผ่นดีวีดี วีเอชเอส ตั้งแต่สมัยนู้น เลเซอร์ดิสก์อะไรเนี่ยเต็มบ้านไปหมดเลย ดูไม่หยุด ช่วงทำค่ายเพลงวันหนึ่งเราตกใจว่า เฮ้ย! นี่เราไม่ได้เข้าโรงหนังเลยเป็นเวลาหลายปี และสุดท้ายเป็นสิบปีมั้ง ไม่ได้เข้าเลย แต่ตอนนั้นก็แอบอ่านข่าวนะ อ่านผ่าน ๆ เพราะว่าต้องมาสนใจเรื่องวงการเพลงมากกว่า  เราก็ยังมีหน้าที่ที่ต้องทำ มิวสิค บั๊กส์ อยู่ คือมันกำลังเป็นช่วงโตพร้อม ๆ กันแหละมั้ง ก็ทำเพลงไปจนกระทั่งวันหนึ่ง เราก็เริ่มซาแล้ว แล้วเรามีลูก เราตั้งใจว่าพอเรามีลูกเราจะหยุดทุกอย่างเพื่อเลี้ยงลูก เราก็ให้คนอื่นทำไป ให้น้องทำไป เราก็ไม่เกี่ยวตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว  เราอยากมีลูกมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ว่าเราก็มัวแต่ทำงาน เราชอบทำงานด้วย จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง เฮ้ย! นี่เราจะสี่สิบแล้ว ยังไม่มีเมียเลยว่ะ เราเป็นคนบ้างานนะ เวลาเราทำอะไรนี่เราจะหยุดหลาย ๆ อย่างและจะโฟกัสเรื่องเดียว เราก็เลยหยุดทำงานทุกอย่างประมาณ 2-3 ปี เพื่อหาเมีย ดีนะดันหาได้นะ ไม่งั้นต้องหยุดไปยาว ตกงานยาว คือเราเป็นคนทำแล้วเราทำงานหนักไง เราทำงานตั้งแต่ที่เล่า ตั้งแต่อายุ 18-19 อะไรนั่นน่ะ ไม่หยุดเลย แล้วทุ่มเททุกอย่าง พอหยุดก็หยุดอะ ต้องหาเมียแล้วเว้ย หยุดทุกอย่าง ใครชวนไปไหนก็ไป ไปต่างจังหวัด ไปนู่นมานี่ ไป สุดท้ายได้เมีย พอได้เมียปั๊บ เราก็ตั้งใจละ เราจะเลี้ยงลูกในแบบของเรา เราก็มั่นใจว่าเราเป็นคนใช้ได้น่า เราไม่ได้เป็นคนที่เหลวไหล เราจะเลี้ยงลูกแบบที่เราเห็นว่าดี เราก็เลี้ยงลูกไปด้วยความมั่นใจว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุด สุดท้ายมันเป็นอย่างนี้ อยู่มาวันหนึ่ง มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเราต้องตัดสินใจที่จะต้องแนะนำเขาว่ายังงี้สิลูก อย่างนี้ มันควรจะเป็นอย่างนี้นะลูกนะ เราก็แนะนำไป เขาก็โอเคตามนั้น พอผ่านไปแป๊บนึงเนี่ย มันฉุกคิดขึ้นมายังไงก็ไม่รู้ว่า เอ...มันมีแบบนี้ก็ได้นี่หว่า แบบนั้นก็โอเคนะ แต่ว่าแบบนี้ก็ไม่เสียหายนิ เอ๊ะ! แล้วแบบไหนล่ะ เออน่ะ นี่คือจุดเริ่มต้นแรกที่เราเกิดคำถามว่า เอ๊ะ! แล้วแบบไหนวะ จากความตั้งใจที่ว่าจะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดในสิ่งที่เราเชื่อมั่นว่ามันดี ให้แต่สิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้น แล้วอันไหนล่ะดีที่สุด ไม่มีคำตอบว่ะ ตรงนั้นเนี่ยเราตกใจ จากความมั่นใจในตัวเองว่าเราผ่านโลกมา จริง ๆ มันนิดเดียวเท่านั้นเอง วันนั้นมันก็ที่สุดแล้ว เราผ่านมามากที่สุดแล้วในชีวิตตั้งแต่เกิดมาใช่ไหม มันก็จะมีความมั่นใจ ทุกคนเป็น ซึ่งไม่เสียหาย แต่ว่าถ้าเพิ่ม มีอันนี้ด้วยก็ดี การฉุกคิดว่าใช่หรือไม่ใช่บ้างเป็นระยะ ๆ จะทำให้เราก้าวไปอีกขั้นหนึ่งได้ อันนี้เราฉุกคิดก็เลยเกิดว่า เออว่ะ ฉิบหายละ ไอ้ที่มั่นใจว่าจะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดเนี่ย แม่งไม่รู้แล้วว่าอันไหนดีที่สุด ก็พิจารณาไปเรื่อย ๆ ว่าอะไรวะที่แม่งมีดีที่สุดอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นเด็ดขาดเลย มันมีไหม มันต้องมีสิวะ อยู่มาวันหนึ่งก็ได้คำตอบว่า สิ่งที่ดีที่สุดและมีหนึ่งเดียวเท่านั้นในความเข้าใจของเรา ในความเชื่อของเรา วันนี้ก็ยังเชื่ออยู่ แต่ว่าคนอื่นไม่เชื่อไม่เป็นไรนะ แล้วแต่ สิ่งนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่า พูดให้เข้าใจง่ายแบบร่วมสมัยดีกว่านะ ใช้คำนี้ สิ่งนั้นคือ ความเป็นธรรมชาติ แล้วธรรมชาติที่จะเป็นหนึ่งเดียว โดยที่ไม่มีการโต้แย้งได้เนี่ย มันจะมีใครรวบรวมไว้มั้ย สุดท้ายเราได้คำตอบว่า มีคนรวบรวมไว้จริง ๆ คนนั้นก็คือคนที่เราเรียกกันว่า พระพุทธเจ้า สำหรับชาวพุทธนะ เราเป็นชาวพุทธ เราก็ต้องเชื่อ แล้วก็ไปดู ไปศึกษา ทั้งอ่านทั้งฟังทั้งคุย สุดท้ายไม่พอ เราเลยไปบวช สุดท้ายแทนที่จะเป็นเดือนเดียว เราบวช 4 เดือน เพราะว่าเดือนหนึ่งรู้สึกว่าไม่กระจ่าง ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วเนี่ย ก็ไป 4 เดือน 4 เดือนสุดท้าย อาจารย์ท่านก็บอกว่าไปได้แล้ว ไปทำหน้าที่ เนี่ย ก็ประมาณว่า เข้าใจแล้ว เอาตัวรอดได้แล้ว รู้แล้ว รู้ในสิ่งที่สมควรรู้ เพราะฉะนั้นต้องไปทำหน้าที่แล้ว ไม่ใช่รู้แล้วเอาตัวรอดคนเดียว จากความที่มั่นใจแบบโน้นนะที่เล่าไปแล้ว อันนี้เป็นมั่นใจอีกแบบหนึ่ง มั่นใจอีกแบบที่ว่าเนี่ยมันเป็นแบบนี้ มันไม่ได้มั่นใจว่ารู้ทั้งหมดแล้วว่าควรจะสอนอะไรลูก เหตุการณ์นี้ควรจะสอนยังไง ๆ ๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่มันเป็นว่า เรามั่นใจในหลัก เพราะฉะนั้นการที่เราสอนลูกทุกวันนี้จนบัดนี้ แล้วก็คงต่อไปตลอดทั้งชีวิต แม้กระทั่งชาติต่อ ๆ ไปด้วย ถ้าได้เกิดมาอีก เป็นคนอีก มันก็ต้องเกิดแน่ ๆ ล่ะ เป็นอะไรยังไม่รู้นะ (หัวเราะ) ก็จะต้องใช้หลักนี้ ก็คือเอาหลักอย่างเดียว หลักนั้นก็คือ กลับมาเรื่องเดิมที่ว่า ธรรมชาติ ในเมื่อคุยมาถึงตรงนี้แล้ว เปลี่ยนคำได้แล้วนะ แทนที่จะใช้คำว่าธรรมชาตินะ หลัก แทนที่จะใช้คำว่าหลักแห่งธรรมชาติ เป็นหลักแห่งธรรม มันก็คือตัวเดียวกันนั่นแหละ ใช่ไหม ธรรม ถามว่าธรรมที่แท้จริงมันคืออะไร มันก็คือธรรมชาติ และธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นมีหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่มีสองเด็ดขาด เราก็ใช้หลักอันนี้สอนลูก ในขณะเดียวกันสอนตัวเองด้วย เพราะเราก็ต้องเรียนไปด้วย เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็กลับมาที่นี่ว่ามันเป็นหลักหนึ่งเดียวหรือเปล่า หนึ่งเดียวมีอะไร อาจจะถาม อันนี้ถามให้เลย (หัวเราะ) มันอธิบายได้มากมายหลากหลาย แล้วแต่ว่าใครจะจับอันไหน จริง ๆ จับอันไหนก็ได้ที่เป็นหนึ่งเดียวนั้นสักหนึ่งอย่าง ขอให้เริ่มให้ถูกก่อน เหมือนติดกระดุมน่ะ ให้ถูกเม็ดก่อน และเม็ดต่อ ๆ ไป หมวดอื่น ๆ มันจะไม่ผิด มันจะเชื่อมโยงไปเอง เราไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมดว่า หนึ่งเดียวของอันนี้คืออันนั้น หนึ่งเดียวของอันนั้นคืออันนี้ หนึ่งเดียวของอันนี้คืออันโน้น อันโน้นเวียนหัวตาย ความจริงของเราคือตอนนี้เรารู้สึกยังไง เกิดอะไรขึ้นในความรู้สึกเรา ในจิตใจเรา นี่คือความจริงแท้แน่นอนมีหนึ่งเดียวเท่านั้น นี่คือธรรมชาติที่ว่า เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นหมวดหนึ่งซึ่งเราใช้ แล้วเดี๋ยวมันจะเชื่อมโยงไปหมวดอื่น ๆ มากมายเลย ตอนเราสอนลูก เราก็สอนอย่างนี้ ถามว่าเด็กแล้วจะสอนยังไง มันยากไปหรือเปล่า ไม่ยาก ถ้าเราแม่นว่านี่คือสิ่งที่เราจะถ่ายทอด เดี๋ยวมันเชื่อมโยงไปเอง เด็กอะ อย่าไปคิดว่าเขาไม่เข้าใจนะ เขาเข้าใจ เพียงแต่ว่าเขาก็จะพูดไม่ได้ว่าเขาเข้าใจยังไง มันฝังอยู่ในจิตของเขา หลักดีก่อน แค่นี้ก็เอาชีวิตรอดได้แล้วในทุกสถานการณ์จนวันตาย แค่นี้เราก็ภูมิใจแล้วว่า เราได้ให้สิ่งที่ดีที่สุด และมีหนึ่งเดียวเท่านั้นกับลูกของเรา ไม่พลาดแน่นอน เรื่องอื่น ๆ สบายมาก ไม่ว่าจะเรียนอะไร นิสัยจะดีไหม จะติดยาหรือไม่ จะอะไร เราไม่รู้ เพราะว่าเราคุมไม่ได้ แล้วไม่ควรเข้าไปคุมด้วย จะคบเพื่อนยังไง จะมีเมียมีแฟน จะเรียนเก่งไม่เก่ง เอาอันนี้ ที่เหลือนี่ชีวิตเขา  เพราะฉะนั้น แค่นี้ก็คุ้มแล้วจากความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด ให้สิ่งที่ดีที่สุดกับเขา ซึ่งไม่มีสิ่งไหนดีไปกว่าสิ่งนี้อีกแล้ว ในความเป็นพ่อที่เราสร้างเขาขึ้นมา อันนี้คือของเรานะ คนอื่นไม่ว่ากัน แต่ละคนก็มีวิธีการ ดูแลตัวเอง ดูแลลูก ดูแลครอบครัว พ่อแม่พี่น้อง ญาติมิตรเพื่อนฝูงแตกต่างกันไป ซึ่งดีหมด ตราบใดที่เหมาะสมกับเขา และไม่สร้างความทุข์ เดือดเนื้อร้อนใจตามมาทีหลัง ดีหมด วิธีนี้ถ้าให้เห็นว่าเป็นประโยชน์ ไม่ต้องเชื่อ ไปลองทำดูก่อน แล้วก็หมั่นสังเกตเอาเอง ถ้าเกิดประโยชน์ก็จะได้ดีใจด้วย ถ้าเกิดโทษก็โทษตัวเองนะ ไม่เกี่ยว ไม่ได้แนะนำ (หัวเราะ) เพราะของอย่างนี้มันต้อง ของใครของมัน แค่มาแชร์ประสบการณ์ให้ฟัง เล่าสู่กันฟังเฉย ๆ  บทสัมภาษณ์ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ถึงภาพยนตร์ ดนตรี และธรรมชาติแห่งชีวิต ของนักแสดงรุ่นใหญ่ที่ผันตัวมากำกับหนังไทย The People: อยากให้เล่าเสริมเรื่องความเป็นพ่อ ทราบว่าธเนศเป็นพ่อที่ค่อนข้างจะเปิดกว้างในสังคมไทยที่หลาย ๆ อย่างยังมีการห้ามปราม อย่าทำอย่างนั้นนะ เป็นเด็กอย่าทำอย่างโน้น อย่าทำอย่างนี้ สอนลูกอย่างไรในตรงนี้ ธเนศ: เราไม่มีห้ามเลย เราปล่อยให้เขาทำ ปล่อยให้เขาคิด เราแค่สังเกตอยู่ห่าง ๆ แล้วก็คอยเสริมในสิ่งที่เขาอาจจะหลงทาง อาจจะงง หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่กระนั้นก็ต้องหมั่นสังเกตตรงนี้อีกที กลับมาอีกทีว่า ที่เราเข้าใจว่าเขากำลังจะหลงทางเนี่ย เขาหลงหรือเราหลง บางทีเรานั่นน่ะหลง หลงคิดไปเองว่าเขากำลังหลงทาง เราเองนี่แหละ  คอยดูเขาห่าง ๆ  เพื่อประคับประคอง คือเราเนี่ยไร้รูปแบบ ไร้กฎเกณฑ์ ไม่มีกรอบ พูดให้เห็นภาพแบบนี้ก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วเราก็บอกตัวเองว่า เราน่าจะมีกรอบใหญ่ ๆ ไว้อันหนึ่งเฉย ๆ นะ เพราะว่าถ้าไม่มีกรอบเลยมันก็อันตรายเกินไป แต่ว่ากรอบเราเนี่ยมันใหญ่เสียจนกระทั่งเขามองไม่เห็นด้วยซ้ำไปว่าแม่งมีขอบอยู่ตรงไหน นึกออกไหม มันต้องตีความอย่างนี้ ต้องมีกรอบอันใหญ่ ๆ ไว้ ไม่ใช่แค่ให้เขา แต่ให้ตัวเราเองด้วย เราเนี่ยมีกรอบความตั้งใจไว้ว่า ตั้งแต่ พอเริ่มหลังจากที่เราบวชเนี่ย เราตั้งใจเลยว่า ทั้งชีวิตที่เหลืออยู่เนี่ย จะเหลืออยู่แค่ไหนก็ไม่รู้เนี่ยนะ เราจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นโดยส่วนเดียวเท่านั้น ฟังดูอวดดีมาก โม้ จะทำได้ยังไง แต่มันทำได้จริง ๆ ผู้อื่น ผู้อื่นคือใคร ผู้อื่นคือผู้ที่ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นใครก็ได้ที่ไม่ใช่เรา คนนั้นเป็นผู้อื่น และผู้อื่นมีมากมาย จะเป็นผู้ไหนล่ะ ก็ผู้อื่นที่อยู่ตรงหน้า ณ ขณะนั้นเท่านั้น ขณะนี้เท่านั้น ตอนนี้ผู้ที่อยู่ตรงหน้าเรา สิ่งที่สมควรทำสำหรับเราที่ตั้งใจไว้ว่าจากวันนี้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตที่เหลืออยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าเหลือเท่าไรเนี่ย ย้ำ ย้ำไว้เลย จะทำแต่ประโยชน์เพื่อผู้อื่นโดยส่วนเดียวเท่านั้น  ไม่ว่าจะย่างก้าวไปไหน เจอใคร ตั้งอันนี้ แต่ว่าพอพูดแล้ว มันก็ดูเหมือนงานใหญ่โต แล้วมันแบบเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ แล้วมันจะทำได้หรอ ก็เลย นี่คือเหตุผลว่า ผ่านสองช่วงมาแล้วเนี่ย ช่วงหลังเนี่ย เออ...ไม่ต้องพูดก็ได้วะ เพราะว่าเดิมเนี่ยมันไม่แน่ใจว่าจะยังไง พอจุดที่สองก็คือว่า มันพูดไปเองโดยที่มันเป็นอย่างนั้นไปแล้ว เนี่ยฮะ พอตั้งใจมาก ๆ แล้วมันออกมาจากใจเอง มันเต็มใจ มันออกมา มันล้นออกมา มันก็เป็นไปเอง   The People: หลังจากที่หายไปเรียนรู้ชีวิตและเลี้ยงลูก อยากให้เล่าถึงตอนที่คืนวงการการแสดงอีกครั้ง ธเนศ: ก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ มีเพื่อน ๆ แฟนเพลงก็ชวนว่า เมื่อไหร่พี่จะกลับมานู่นนี่ เราก็บอกไปว่า ซึ่งเราพูดไว้นานแล้วนะ พูดไว้สัก 20-30 ปีที่แล้ว ช่วงที่เราหายไปใหม่ ๆ สักสองสามปี ก็มีคนถามอย่างงี้เรื่อย ๆ อยู่แล้ว เราก็มักจะตอบอย่างนี้นะว่า ตอนที่เราแก่ ๆ นะ เราอาจจะมาทำเพลงสบาย ๆ แล้วก็เป็นลักษณะนั่งเล่นกัน คุยกันนะ เบา ๆ ในสวนที่ร่มรื่น มีต้นไม้ ลมเย็น ๆ อะไรเนี่ย เราเห็นภาพอันนั้นนะ เออ...มานานแล้วนะ หลายสิบปี แล้วเราก็พูดอย่างนี้มาตลอดเมื่อมีคนถามว่าเมื่อไหร่จะกลับมาทำ เราก็พูดอย่างนี้มาเรื่อย เมื่อมีคนถาม อยู่มาวันหนึ่งซึ่งเราก็เริ่มแก่แล้วอะ แก่ตามที่วางไว้แล้วเนี่ย แล้วเราได้ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว โดยที่เราไม่รู้ ไม่ได้นึกว่ามันเป็นภาพนั้น  ภาพนั้นคือด้วงแมงแสดงธรรม หรือว่าเห็นธรรมเมื่อฮัมเพลง หรือว่า ดนตรีมีธรรม หรือว่าคีตธรรมภาวนา จะเห็นว่ามันเป็นงานดนตรี ซึ่งแสดงในคอร์สปฏิบัติธรรมในวัด เพราะฉะนั้นนี่คือคำตอบที่บอกว่า แล้วกลับมาได้ยังไง พอมันเริ่มทำแบบนี้ปั๊บเนี่ย ผู้หลักผู้ใหญ่ก็เลยเชียร์บอกว่าทำอย่างนี้ก็ดีอยู่แล้ว แต่ว่ามันยังดีไม่พอ คือว่ามันยังไม่ออกไปสู่วงกว้าง มันเฉพาะคนที่สนใจในวงแคบก็คือในคอร์สปฏิบัติธรรมในวัด ในงานต่าง ๆ นานา ในกลุ่มคนที่สนใจที่จะใช้บทเพลง ใช้ดนตรีมาถ่ายทอดแนวคิดอะไรต่าง ๆ นานา ที่เป็นธรรมโดยส่วนเดียว ครูบาอาจารย์บอกว่า ทำแค่นี้ประโยชน์น้อยไปหน่อย ออกไปทำให้คนที่เขาไม่ได้เคยสนใจสิ่งเหล่านี้ดูบ้างสิ นั่นคือที่มา ปี 2558 เราเลยมีคอนเสิร์ตกลับมาอีกครั้งในรอบ 23 ปีนับจากตอนโน้นที่หยุดน่ะนะ วันนี้ 29 ปีแล้วที่หยุดไป ก็เลยมีซิงเกิลออกมา 4-5 ชุด นั่นคือเหตุที่กลับมา อันนั้นเรื่องเพลง  เรื่องการแสดงเนี่ย ช่วงเลี้ยงลูก พอเลี้ยงลูกมันมีเวลาเยอะ อยู่กับลูก ลูกนอน ลูกตื่นเรานั่งคนเดียว มันก็เลยนั่งทบทวนว่า เอ...พอลูกโตเนี่ย เราเลี้ยงลูกโดยไม่ได้ทำอะไร 15 ปี เราก็คิดว่าถ้าเรากลับมา เราคงไม่ทำเพลงแล้ว เพราะว่าทำมามากพอแล้ว ก็น่าจะพอได้แล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกมีแพสชันที่จะทำเท่าไรนัก แต่แพสชันที่จะทำสิ่งที่จะบอกต่อไปนี้มันมีมากเหลือเกิน เพราะจริง ๆ แล้วมันเป็นรักแรกของเรา จำได้ไหมเล่าตอนต้น ภาพที่เราอยู่ในจอหนังใหญ่ ๆ มันคือหนังไทยนั่นแหละ จากที่เราดูหนังกลางแปลง เราก็บอกกับตัวเองว่า พอลูกเราโตแล้ว เราจะกลับมาทำหนัง เราเขียนบทไว้มากมายมหาศาล เต็มไปหมดเลย ตอนนี้ปัญหาของเราคือจะทำเรื่องไหนก่อนดี ซึ่งก็เหลือมาอยู่ในรอบสุดท้ายอยู่สักประมาณสิบเรื่อง ก็จะเลือกอีก เดี๋ยวเร็ว ๆ นี้คงได้ดู ย้อนไปปี 2557 มีคนชวนเราไปเล่นหนัง ซึ่งมันเป็นงานที่เราตั้งใจว่า เดี๋ยวเราจะกลับมาทำ เราก็ตอบตกลงเลย หลังจากดูบทดูอะไรแล้ว โอเคเลย หนังเรื่องนั้นชื่อว่า Pop Aye - ป๊อปอาย มายเฟรนด์ เป็นหนังทุนสิงคโปร์ พอเล่นอันนี้ปุ๊บเราก็จะเจอรุ่นน้อง รุ่นอะไร เป็นรุ่นใหม่ ๆ เราก็บอกทุกคนว่า เออ...ขอบคุณมากที่ชวนเรามาเล่น เรากำลังจะทำหนังของเราด้วย ใครอยากจะทำหนังกับเราไหม ก็มีน้อง ๆ ให้เกียรติ บอกพี่ เดี๋ยวผมทำกับพี่ด้วยเยอะแยะเลย ตอนนี้เราก็เซตทีมมา ก็พร้อมแล้ว ตอนนี้กำลังระดมทุน ซึ่งเร็ว ๆ นี้ก็น่าจะได้ดู เพราะฉะนั้นนี่คือที่มา พอหลังจากป๊อปอายฯ มันก็เลยมี ฉลาดเกมส์โกง ก็เลยมีโฮมสเตย์ มีเลือดข้นคนจาง มีซีรีส์สิงคโปร์ ตอนนี้จะมี HBO มีโปรเม ก็เลยเออดีเลย เราก็ได้ทีมงานหลากหลาย เราก็พร้อมแล้วที่จะทำงานของเรา เพราะฉะนั้นเลยทำให้เราได้กลับมาอีกครั้งหนึ่งทั้งเพลงและการแสดง และตอนนี้อยากจะผันตัวไปเป็นผู้กำกับด้วย บทสัมภาษณ์ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ถึงภาพยนตร์ ดนตรี และธรรมชาติแห่งชีวิต ของนักแสดงรุ่นใหญ่ที่ผันตัวมากำกับหนังไทย The People: แล้วอย่างหนังเรื่อง ผี เล่า ที่เลือกมาเล่น ดูจากบทแล้วมันก็มีการสอดแทรกคติธรรม หรือว่ามีความเป็นธรรมชาติ ความเป็นมนุษย์พอสมควร อันนี้คือเหตุผลที่เลือกเล่นเรื่องนี้ด้วยไหม ธเนศ: ใช่ แต่จริง ๆ ไม่ใช่เหตุผลหลักนะ เพราะว่าการแสดงการรับเล่น หรือแม้กระทั่งการทำหนังของเราเนี่ย จุดประสงค์หลักเราไม่ได้ต้องการที่จะมาเผยแผ่ธรรมะคำสอน ไม่ใช่เลย จุดประสงค์หลักคือทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นโดยส่วนเดียว ประโยชน์นั้นคืออะไร เอ้า! ผู้กำกับที่เขาชวนเราเล่นหนัง เขาก็อยากได้ประโยชน์จากเราว่าการแสดงที่ดีที่สุด เราต้องให้เขาให้ได้ นายทุนก็ต้องไม่ให้เจ๊ง เราต้องให้เขาได้อย่างน้อยในส่วนของเรา ไม่ควรเป็นอุปสรรคที่ทำให้หนังเรื่องนี้เจ๊ง อย่างน้อยต้องดูแลตัวเอง นี่คือหน้าที่ที่ต้องทำ ทีนี้ในเวลาเดียวกัน มันจะต้องรู้ด้วยว่าเราจะทำประโยชน์ให้ได้อย่างไร  ถ้าเราไม่ได้รู้สึกเลยกับบทนั้นแล้วเราจะไปทำประโยชน์ให้เขาได้ยังไง เราไม่เชื่อในสิ่งนี้เลย เราไม่เห็นด้วยเลยกับเรื่องราว เพราะฉะนั้นมันต้องเริ่มต้นที่ว่าเห็นด้วย ทีนี้เห็นด้วยยังไง เราก็บอกทันทีเลยว่า คือทางผู้กำกับก็มีไฟแรงที่จะถ่ายทอดสิ่งที่ว่ามาสักครู่นี้ เราก็บอกว่า เราก็ไม่เป็นไร เราก็เคารพ แต่ว่าในพาร์ตของเราเนี่ย เรารู้สึกว่าเราไม่สะดวกที่จะพูดอะไรบางอย่าง  ในเมื่อเราเข้าใจตรงกันแล้วว่าเรื่องโดยรวมเนี่ยต้องการนำเสนออะไร เรามีคำนี้นะบอกว่า เอ้ย! เราเข้าใจตรงกันแล้วนะ เพราะฉะนั้น เราเป็นนักแสดง นักแสดงเหมือนนักกีฬา ผู้กำกับเหมือนเป็นโค้ช ซึ่งบอกว่าอย่างนี้ ๆ ๆ ตกลงเราจะเล่นท่านี้ ไม้นี้ สูตรนี้ อะไรก็แล้วแต่เนี่ยนะ แต่พอเราลงสนาม เราขึ้นเวทีแล้วเนี่ย เราต้องแก้ปัญหา เสน่ห์ของการแสดงมันคือการแก้ปัญหาที่ชาญฉลาด แล้วมันเกิดอะไรที่มันคาดไม่ถึง แล้วมันเป็นสิ่งที่ดีงาม ซึ่งเรามักจะเรียกมันว่าเป็น Magic Moment อันนี้เราก็ตกลงกับผู้กำกับว่า รับได้ไหม จะทำงานกันแบบนี้ได้ไหม ได้เลยครับพี่ ผมชอบแบบนี้ ถ้างั้นปล่อยเรานะ ทีนี้เราก็ซัดเลย   The People: มาเล่นหนังผี คิดว่าหนังผีมันมีเสน่ห์ในแบบของมันยังไงบ้าง ธเนศ: คือจริง ๆ แล้วหนังอะไรเนี่ย เราว่าเสน่ห์มันอยู่ที่อันดับแรกมันจะต้องมีความลงตัวของเรื่องราวของบทนั้นแหละ และให้เกิดความคล้อยตามจนกระทั่งรู้สึกได้อย่างนั้นได้จริง สำหรับเรานะ เสน่ห์คือบทที่สามารถทำให้ตั้งแต่คนอ่าน แล้วพอเรารู้สึกคล้อยตาม เห็นด้วยกับโดยรวมที่เขาต้องการจะบอก นอกจากนั้นยังประทับใจไม่รู้ลืม นี่คือเสน่ห์ของงานศิลปะ จริง ๆ ทุกแขนงนั่นแหละ ถ้าเริ่มต้นแล้วยังไม่มีอันนี้ เราอ่านบทแล้ว เราไม่รู้สึกอันนี้ เราไม่รับเล เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เฉพาะว่าหนังผีมีเสน่ห์ยังไง เรายังไม่รู้สึกว่าหนังผีมีเสน่ห์ยังไง แตกต่างกับหนังอื่น ๆ เพราะว่าเราก็เพิ่งเล่นเรื่องนี้เรื่องแรก เพราะฉะนั้นก็ขอตอบกว้าง ๆ อย่างนี้ก่อนละกัน เดี๋ยวคราวหน้าเล่นอีกหลาย ๆ เรื่องแล้วมีความรู้สึกแตกต่างแล้วค่อยมาเล่าให้ฟังอีกที   The People: อยากให้ฝากผลงาน เรื่อง ผี เล่า ธเนศ: เรื่อง ผี เล่า นี่ถ้าคนที่ชอบดูหนังไทย ดูหนังผี หรือว่าดูหนังอะไรก็ได้ในโรง เพราะว่ามันไม่ได้ฉายในโรงมาสักพักแล้ว เห็นได้ข่าวว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่จะฉายในโรงปีนี้ เป็นเรื่องแรกด้วย ก็ลองเข้าไปดูนะ ก็ลองดูเอง    The People: งานต่อไปในอนาคตในฐานะผู้กำกับด้วย ธเนศ: เราก็เป็นคนไทยนะ เราเกิดเมืองไทย อยู่เมืองไทย โตเมืองไทย แล้วก็คงจะตายเมืองไทยนี่แหละ ซึ่งตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้นะ ย้ำนะ คำนี้ ดีนะ คำนี้นะ ตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้เนี่ย อย่างน้อยรู้ว่าตายแน่ (หัวเราะ) เราเมื่อมีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องกับหนังไทยแล้ว วันนี้ก็เป็นอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งเรากำลังจะทำหนังไทยขึ้นมา ด้วยแนวคิดของเราเอง แล้วก็ทีมงานที่ร่วมกัน ด้วยความตั้งใจที่จะให้เกิดประโยชน์โดยส่วนเดียวกับผู้อื่น อย่างน้อยผู้ดู ประโยชน์ง่าย ๆ อันดับแรกน่าจะมีความเพลิดเพลิน สนุก มากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ แต่ละคน แล้วแต่อุปนิสัยของแต่ละคน นอกนั้น ด้วยความตั้งใจก็หวังว่าในความสนุกนั้นจะมีอะไรให้ค้นหา มากมาย แบบไม่รู้จบ อยู่ที่ว่าคุณจะหามันเจอหรือไม่ นี่คือความตั้งใจนะ ทำได้มากน้อยแค่ไหน ยังไม่รู้นะ ก็จะทำให้เต็มที่ เพราะฉะนั้นถ้ามันได้ข่าวแล้วก็อยากจะชวนให้ลองมาดูกันว่ามันจะได้แค่ไหนนักเชียว คุยมาซะยืดยาวขนาดนี้ (หัวเราะ)   สัมภาษณ์: จิรภิญญา สมเทพ ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม