‘The Beatles’ กับปรัชญาความ ‘ช่างแม่ง’ จากเพลง Let It Be และอัลบั้มช่วงเปลี่ยนผ่านของวง

‘The Beatles’ กับปรัชญาความ ‘ช่างแม่ง’ จากเพลง Let It Be และอัลบั้มช่วงเปลี่ยนผ่านของวง

เพลง Let It be และอัลบั้มดังของ The Beatles ไม่เพียงเป็นผลงานที่ไร้กาลเวลา แต่ยังมีเรื่องราวเบื้องหลังเกิดขึ้นมากมายในช่วงหัวโค้งแห่งความเปลี่ยนแปลงของวงในตำนาน เรื่องที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ปรัชญาความ ‘ช่างแม่ง’

  • อัลบั้ม ‘Let It Be’ ของ The Beatles เป็นผลงานช่วงปลายของวงที่มีเพลงฮิตในชื่อเดียวกับอัลบั้ม 
  • ช่วงเวลาที่วงทำงานในอัลบั้มนี้เต็มไปด้วยบรรยากาศที่เต็มไปด้วยปัญหา และนั่นสะท้อนเรื่องราวของปรัชญา ‘ช่างแม่ง’ จากอัลบั้มนี้

ท่ามกลางสายลมแห่งมหานครลอนดอน ปี 1969 บนดาดฟ้าของค่ายเพลงที่ก่อตั้งโดยวงดนตรีโคตรตำนานวงหนึ่งของโลก The Beatles อยู่บนนั้น ท่ามกลางเครื่องดนตรีหลากชิ้น สาย และตู้แอมป์ที่ถูกลำเลียงขึ้นมาตั้งรับลม จอห์น เลนนอน, พอล แม็กคาร์ตนีย์, จอร์จ แฮร์ริสัน และริงโก สตาร์ ยืนและนั่งประจำที่ ทั้งสี่คนหยิบเครื่องดนตรีและเริ่มบรรเลงบทเพลงที่ถูกจารึกไว้ในชื่อเรียกการแสดงแบบไม่เป็นทางการนักว่า The Beatles’ rooftop concert

ลมหนาวพัดพาเอาเสียงกีตาร์ เบส และกลองลงไปยังพื้นถนนด้านล่าง พร้อมกับเสียงร้องของจอห์นและพอลที่ตรึงคนเดินผ่านให้หยุดอยู่กับที่ ไม่ช้ากลุ่มผู้ชมเริ่มแน่นหนาขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็กีดขวางการจราจรบนท้องถนน ความวุ่นวายด้านล่างก่อตัวขึ้นขณะที่ The Beatles ยังคงเล่นเพลง ‘Get Back’ เป็นรอบที่สาม ก่อนที่จะถูกตำรวจสั่งให้หยุดการแสดงคอนเสิร์ตฟรีที่คนต้องแหงนหน้าดูแต่เพียงเท่านั้น

นั่นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการแสดงคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของ The Beatles ด้วยระยะเวลาสั้น ๆ และเพลงที่ถูกเล่นจริงไม่กี่เพลง ฟุตเทจเหล่านั้นถูกบันทึกไว้ในสารคดีที่ปล่อยมาพร้อมอัลบั้มสุดท้ายของวงเมื่อปี 1970

อัลบั้มนั้นมีชื่อว่า ‘Let It Be’

/ เมื่อผมตกอยู่ท่ามกลางปัญหา คุณแม่แมรีมาหาและบอกผมว่าจง ‘ช่างแม่งมัน’ /

อัลบั้มสีขาวและความจริงสีดำ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1968 ก่อนหน้าที่ The Beatles จะผลิตอัลบั้ม ‘Let it Be’ พวกเขากำลังวุ่นวายกับการบันทึกเสียงอัลบั้มก่อนหน้า ‘The Beatles’ หรือที่รู้จักกันในนามอัลบั้มปกขาว ‘The White Album’ Studio album ชุดที่ 9 และเป็นชุดแรกภายใต้ Apple Records Lebel ค่ายเพลงของพวกเขาเอง

ท่ามกลางปกอัลบั้มที่เป็นสีขาวสว่าง ความจริงอันมืดดำถึงจุดจบของวงระดับตำนานวงนี้ได้คืบคลานเข้ามาหาพวกเขาช้า ๆ ในรูปแบบของปัญหาภายในค่าย ความขัดอกขัดใจภายในหมู่สมาชิก และในรูปแบบของ ‘เมีย’ เพื่อนร่วมวง

ก่อนหน้าช่วงเวลาบันทึกเสียงไม่นาน จอห์นพบรักกับ ‘โยโกะ โอโนะ’ (และหย่าขาดกับภรรยาเก่าอย่าง ซินเธีย เลนนอน) จอห์นและโยโกะตัวติดกันเหมือนปาท่องโก๋ จอห์นมักพกโยโกะมาที่ห้องอัดด้วย และให้เธอมีส่วนช่วยในการออกความเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับ The Beatles ซึ่งแม้เซอร์เจมส์ พอล แม็กคาร์ตนีย์ จะออกมาบอกภายหลังว่าโยโกะไม่ใช่ชนวนสำคัญของการที่สี่เต่าทองต้องวงแตก แต่ในเวลานั้น การมีอยู่ของเธอร่วมกับบุคลิกที่เริ่มจะ ‘ไม่เอาการเอางาน เอาใจแต่โยโกะ’ ของจอห์นก็ได้สร้างความลำบากใจให้กับเพื่อนร่วมวงอยู่ไม่น้อย เช่นที่พอลเคยกล่าวถึงช่วงเวลาเหล่านั้นไว้ว่า

“จอห์นขลุกอยู่แต่กับโยโกะ และความสัมพันธ์ของเราก็เริ่มแตกสลาย มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของเราทั้งคู่ ผมรู้สึกได้ถึงจุดสุดท้ายของ The Beatles และนั่นทำให้ผมร้อนใจมากจริง ๆ”

แม้จะพบช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่พอลก็ยังเป็นนักแต่งเพลงที่หยิบทุกอย่างในชีวิตมาเป็นแรงบันดาลใจ ในไม่ช้าความระส่ำระสายของวงก็ได้กลายมาเป็นบทเพลงฮิตอีกเพลงของ The Beatles 

ปรัชญาความช่างแม่ง จากแม่ถึงพอล

พอลคิดจนหัวแทบระเบิดทุกวันว่าจะทำอย่างไรกับวงที่เริ่มมาถึงทางตันวงนี้ดี และคืนหนึ่งในห้วงฝัน เขาก็ได้พบว่าคำตอบของคำถามนั้นคือการ ‘ช่างแม่ง’ ไปเถอะ (หรือพูดแบบซอฟต์หวานตามน้ำเสียงในเพลงว่า ‘ปล่อยให้มันเป็นไป’)

คืนนั้นพอลหลับไป ในฝันเขาเห็นแม่ผู้ล่วงลับจากโรคมะเร็งของเขายืนคอยอยู่

“สิ่งดี ๆ ของความฝันคือคุณได้พบกับคนที่จากไปแล้วอีกครั้ง ราวกับว่าเขายังอยู่และได้ใช้เวลาร่วมกันอีกหน”

พอลยังบอกอีกว่า

“ในความฝัน ‘แมรี’ แม่ของผมบอกว่า ‘ไม่เป็นไรนะ ไม่ต้องกังวลจนเกินไปหรอก’ ผมไม่แน่ใจว่าเธอได้พู ดคำว่า ‘Let It Be’ หรือเปล่า แต่นั่นแหละคือใจความสำคัญ”

พอลตื่นจากความฝัน เขารู้สึกอบอุ่นและปล่อยวางอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตอนนั้นเองที่เขาเริ่มเขียนเพลง ‘Let It Be’
 
/ When I find myself in times of trouble, Mother Mary comes to me /
 
/ Speaking words of wisdom, let it be /


 
ถนนแอบบีย์ และ let it be ที่ค้างคา

หลังจากปล่อยเพลงชุด ‘The White Album’ ในปี 1968 และ ‘Yellow Submarine’ ในปี 1969 ความระหองระแหงในวง The Beatles ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะปี 1969 ช่วงเวลาที่ทำอัลบั้ม ‘Let It Be’ นั้นเรียกได้ว่าเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ไร้สุข และเป็นประสบการณ์แย่ ๆ ของ The Beatles ทุกคน

จอห์นกับพอลทะเลาะกัน ส่วนจอร์จก็ทะเลาะกับพอลและจอห์นอีกที 

จอร์จสุดจะทนกับความเจ้ากี้เจ้าการของพอล และความไร้ประโยชน์ของจอห์นเสียจนเคยหนีการอัดเสียงไปดื้อ ๆ ได้เป็นอาทิตย์ จนต้องมีคนไปหว่านล้อมให้กลับมาทำเพลงต่อนั่นแหละ จอร์จถึงได้ยอมอย่างเสียไม่ได้

อันที่จริงแล้ว The Beatles พา ‘Let It Be’ เข้าห้องอัดก่อนอัลบั้มรองสุดท้ายอย่าง ‘Abbey Road’ ที่เริ่มทำและปล่อยในปี 1969 ด้วยซ้ำ แต่ความเละไม่เป็นท่าของการระดมสมองที่เต็มไปด้วยอัตตาและความไม่ชอบขี้หน้าเพื่อนร่วมวงนั้นก็นำมาซึ่งการเลื่อนปล่อยอัลบั้มนี้ออกไปแบบไม่มีกำหนด มีเพียงเพลง ‘You Know My Name (Look Up the Number)’ และ ‘Let It Be’ เท่านั้นที่ปล่อยออกมาก่อนในรูปแบบซิงเกิล และแน่นอนว่า ‘Let It Be’ ทะยานขึ้นชาร์ตอย่างสง่างามแบบไม่มีอะไรมาฉุด

เรื่องน่ารู้คือแม้เครดิตผู้แต่งในเพลงนี้จะถูกบันทึกไว้ว่า เลนนอน - แม็กคาร์ตนีย์ แต่จอห์น เลนนอน กลับยืนกรานเสียงแข็งว่า “ผมไม่ได้มีส่วนในเพลงนี้แม้แต่เสี้ยว พอลแต่งคนเดียว จนมันน่าจะเป็นเพลงของ Wings (วงของพอลหลัง The Beatles วงแตก) มากกว่าวงเราซะอีก”
 
/ And when the brokenhearted people living in the world agree. There will be an answer, let it be /
 
เนื้อเพลงเรียบง่าย เสียงเปียโนคลอเคล้า ท่อน ‘คุณแม่แมรี’ และการเรียบเรียงดนตรีเสมือนเพลง gospel ที่ร้องในโบสถ์ ทำให้ ‘Let It Be’ ถูกตีความในเชิงศาสนาโดยกลุ่มผู้ฟังที่นับถือคริสต์ 

‘พระแม่มารี’ ที่ช่วยเหลือ ‘มนุษย์ผู้ช้ำรัก’ และ ‘ต้องพรากจากคนที่ห่วงใย’ ด้วยการบอกให้ ‘ปล่อยวาง’ กลายเป็นการตีความแบบใหม่ที่พอลไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ นอกจากบอกว่าเรื่องราวพวกนี้เป็นอีกสิ่งที่น่าหลงใหลในการฟังเพลง

ความวุ่นวายที่น่าเศร้าของ Let It Be ยังดำเนินเรื่อยไป ท่ามกลางกล้องวิดีโอบันทึกฟุตเทจมากมายที่ถูกคัดและบรรจุลงในสารคดีชื่อเดียวกัน
 
Let The Beatles Be

สารคดี ‘Let It Be’ นั้นระอุไปด้วยไอของความขัดแย้ง บรรยากาศอึมครึมเหมือนเมฆและฝนในเมืองลอนดอนที่ตั้งเค้าตลอดเวลา การอัดเสียงทับแทร็ก แก้โซโล่ดนตรี และมิกซ์เพลงซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบหาจุดลงตัวไม่ได้

กันยายน 1969 ระหว่างการบันทึกเสียง ‘The End’ เพลงสุดท้ายของอัลบั้ม ‘Abbey Road’ จอห์น เลนนอน ตัดสินใจบอกเพื่อนร่วมวงว่าเขาจะไม่ร่วมงานกับ The Beatles อีก ขณะที่ พอล แม็กคาร์ตนีย์ ประกาศผ่านสื่อในเดือนเมษายน 1970 หลังจากปล่อย ‘Let It Be’ ในรูปแบบซิงเกิลไปไม่นาน ถึงการลาออกจากวงอย่างเป็นทางการของเขา

วันที่อัลบั้มชุดสุดท้าย Let It Be พร้อมสารคดีบันทึกฟุตเทจได้วางขายจริง ๆ The Beatles ก็วงแตกไปแล้ว พวกเขาทุกคน ‘ช่างแม่ง’ ทั้งชื่อเสียง ความสำเร็จ และวงที่สร้างมาด้วยกัน เพื่อออกเดินทางด้วยตัวเอง
 
/ For though they may be parted, there is still a chance that they will see. There will be an answer, let it be /
 
The Beatles ยุบวง ปิดตำนาน จอห์น พอล จอร์จ ริงโก สี่มหาเทพยอดขายถล่มทลายแห่งยุค 60s ไว้ที่ปี 1970 โดยมีอัลบั้ม ‘Let It Be’ พร้อมสารคดีเป็นอัลบั้มอำลา ช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของ The Beatles ผ่านไป หากก็ทิ้งมรดกมากมายไว้กับโลกดนตรี และทิ้งความทรงจำร้าย ๆ ที่กลายเป็นดีในภายหลังไว้ในใจของเซอร์เจมส์ พอล แม็กคาร์ตนีย์ เจ้าของเพลงฮิตเพลงนี้ที่ตัดสินใจ ‘Let The Beatles Be’ ในวันนั้น เขาออกมาพูดหลังจากผ่านเรื่องราวมากมายมาโดยไร้เพื่อนร่วมวงเคียงกายว่า

“ผมดีใจที่พวกเขาบันทึกทุกอย่างในช่วงเวลาที่เราอัดเสียงเอาไว้ มันมีมิตรภาพและความรักซ่อนอยู่ระหว่างเรา เรื่องราวเหล่านั้นเตือนใจให้ผมรู้ว่าผมและพวกเขา - เราเคยมีช่วงเวลาที่สวยงามเพียงใด”


 
เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ

อ้างอิง:

beatlesebooks.com

liveabout.com

radiox.co.uk

Billboard