The Big Short: วิกฤตการเงินอเมริกา กับชัยชนะของคนมองโลกในแง่ร้าย

The Big Short: วิกฤตการเงินอเมริกา กับชัยชนะของคนมองโลกในแง่ร้าย
เราผ่านยุคที่มีปัญหาเศรษฐกิจมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว บางยุคอาจจะกระทบประเทศไทยมากหรือน้อยตามแต่ปัจจัยที่ต้องเจอ อย่างเช่น ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในปี 1929, วิกฤตการเงิน "ต้มยำกุ้ง" ของไทย (และเอเชีย) ในปี 1997, “วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์”(Subprime mortgage crisis) ของสหรัฐอเมริกาในปี 2008 จนมาถึงยุคโควิด-19 ที่มีการคาดการณ์มากมายว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจในรูปแบบใดบ้าง การมองอดีตเพื่อถอดบทเรียนในการไปต่อในอนาคต จึงเป็นเรื่องสำคัญ และภาพยนตร์หลายเรื่องก็พยายามตีความเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ด้วยมุมที่หลากหลาย The Big Short (2015) เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงปัญหา “วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์” ของสหรัฐอเมริกาในปี 2008 ที่ทำให้เศรษฐกิจของอเมริกา (และหลายส่วนของโลก) ต้องพังทลายในระดับที่ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ บอกว่า “วิกฤตดังกล่าวเป็นเหมือนสึนามิที่พัดถล่มเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบ 100 ปี” ทำให้บริษัทวาณิชธนกิจหลายแห่งต้องปิดตัวหรือไม่ก็ต้องรอให้รัฐเข้ามาอุ้ม, ผู้คนตกงาน ไร้บ้าน และหลายกองทุนขาดทุนย่อยยับ อันมีจุดเริ่มต้นจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดภาวะฟองสบู่แตก ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้อยู่ที่การหยิบเรื่องหนัก ๆ ดังกล่าวมาเล่าด้วยจังหวะที่สนุก และเต็มไปด้วยความยียวน เอาเถิดเอาล่อกับเรื่องจริงที่แสนเจ็บปวดเพื่อนำไปสู่สัจธรรมที่ว่า ทุก “ระบบ” ที่เรามองว่าเสถียรและมั่นคง วันหนึ่งก็อาจจะพังได้เช่นกัน ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็เช่นกัน... ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงบทจากหนังสือ non-fiction ขายดีชื่อเดียวกันกับหนัง ผลงานเขียนของ ไมเคิล ลูอิส (เจ้าของผลงานหนังสือ Moneyball และ The Blind Side ซึ่งถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เช่นกัน) ได้หยิบเรื่องราวดังกล่าวมาเล่าใหม่ด้วยการเปลี่ยนมุมมอง แทนที่จะเล่าเรื่องผ่านสายตาของ loser หรือผู้แพ้จากระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ มาเล่าเรียกดรามาน้ำตาริน ตัวเรื่องกลับสำรวจความย่อยยับของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านสายตาของ “ผู้ชนะ” จากระบบนี้ ที่เป็นเพียงคนเพียงหยิบมือที่มองโลกต่างออกไป ในวันที่ผู้คนในระบบทุนนิยม “มองโลกในแง่ดี” ในมุมที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากำลังดีวันดีคืน ธุรกิจการเงินฝั่งอสังหาริมทรัพย์แข็งแรงดี ผู้คนในอเมริกามีบ้านในสัดส่วนที่มากขึ้น เป็นไปตามอุดมคติในแบบ “ความฝันอเมริกัน” (American Dream) มีบ้าน มีรถ มีครอบครัวที่อบอุ่นแบบชนชั้นกลางทั่วไป แต่คนกลุ่มนี้ ได้แก่ ดร.ไมเคิล เบอร์รี (แสดงโดย คริสเตียน เบล) ผู้จัดการบริษัทเฮดจ์ฟันด์ (บริษัทกองทุนประเภทหนึ่ง) เบลได้สร้างตัวละครตัวนี้ให้ออกมาได้แสบมาก ๆ, จาเร็ด เวนเน็ตต์ (ไรอัน กอสลิง) เซลส์ขายพันธบัตรจาก Deutsche Bank ผู้มีวาทศิลป์เยี่ยมยอดน่าชวนไปอบรมนักขายตรง, มาร์ค บาม (สตีฟ คาร์เรลล์) ผู้บริหารกองทุนผู้อยากแก้เผ็ดระบบการเงินอเมริกา, ชาร์ลี เกลเลอร์ (จอห์น มากาโร) และ เจมี่ ชิพเลย์ (ฟินน์ วิททรอค) เนิร์ดการเงินที่ตั้งบริษัทเฮดจ์ฟันด์เล็ก ๆ คู่กัน ท้ายที่สุดคือ เบน ริกเคิร์ท (แบรด พิตต์) อดีตนักการเงินที่หันหลังให้แวดวงนี้ แต่กลับมาอีกครั้งในฐานะกุนซือของ เกลเลอร์ และชิพเลย์ คนกลุ่มนี้ไม่ได้มอง “วอลล์สตรีท” ตลาดการเงินในสหรัฐฯ ด้วยสายตาที่เชื่อมั่นเท่าไหร่นัก ตรงกันข้าม พวกเขามองโลกการเงินด้วย “การมองโลกในแง่ร้าย” ผ่านการลงทุนที่เรียกว่า “การขายชอร์ต” ซึ่งเป็นการเก็งกำไรที่สวนทางกับตลาดในแง่ที่ว่า หากตลาดโต หุ้นมีมูลค่าเพิ่ม พวกเขาเจ๊ง แต่หากตลาดแย่ พวกเขาจะอยู่ฝั่ง “ผู้ชนะ” The Big Short: วิกฤตการเงินอเมริกา กับชัยชนะของคนมองโลกในแง่ร้าย อย่างไรก็ตาม The Big Short ไม่ได้ชี้ชวนให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้คือผู้ร้ายที่หาเงินกับความพินาศของสหรัฐฯ ตรงกันข้าม สิ่งที่พวกเขาทำคือการชี้ช่องให้เห็นว่า ในระบบนี้ มี “จุดโหว่” มากมายที่พ้องกับคำกล่าวของ มาร์ค ทเวน (ค.ศ. 1835-1910) นักเขียนดังชาวอเมริกัน ที่หนังได้หยิบประโยคสำคัญมาเปิดเรื่องว่า “It ain’t what you don’t know that gets you into trouble. It’s what you know for sure that just ain’t so.” คือ ไม่ใช่ว่าสิ่งที่คุณไม่รู้จะพาคุณไปสู่ปัญหา แต่เป็นเพราะที่คุณคิดว่ารู้แน่นอน แต่มันไม่เป็นไปตามนั้น นั่นล่ะคือปัญหาจริง ๆ (ซึ่งมีหลายบทความแจ้งว่า ไม่ปรากฏว่า มาร์ค ทเวน เคยเขียนประโยคแบบนี้ที่ไหน แต่ช่างมันก่อน ประเด็นนี้ค่อยเอามาถกกันทีหลัง) หลายปีที่ผ่านมา รัฐได้ผ่อนปรนคุณสมบัติของคนมีบ้าน ทั้งเรื่องรายได้ เครดิต และความสามารถในการผ่อนบ้าน จนทำให้คนอเมริกันหลายล้านครอบครัวทำ “ฝันหวาน” ให้เป็นจริง ด้วยการเข้าถึงการมีบ้านของตัวเองมากขึ้น เมื่อเทียบกับหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทุกคนจึงคิดว่าตลาดทุนอสังหาริมทรัพย์มีความมั่นคง เพราะทุกคนต้องดิ้นรนหาเงินมาผ่อนค่าบ้าน ทำให้ตลาดทุนนี้ค่อนข้างแข็งแรง ในขณะที่หลายคนคิดว่า “รู้แน่นอน” ว่าตลาดนี้สดใส นานไปมันเกิดลูกหนี้อสังหาริมทรัพย์ชั้นแย่ที่คุณสมบัติไม่พอ เรียกว่า “ซับไพรม์” (Subprime) ทำให้เกิดความไม่แน่นอนสำหรับนักลงทุนที่จะมาลงทุนในตลาดนี้ จึงเกิดนวัตกรรมการเงินขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า CDO (Collateralized Debt Obligation) ที่นำตราสารหนี้ทั้งดีและไม่ดี มามัดรวมกันเพื่อแปลงเป็นทุนอีกครั้ง เพื่อคงบรรยากาศการลงทุนไว้ แล้วมีความซับซ้อนขึ้นอีกก็ตอนเอา CDO มาปั่นใหม่ให้ซับซ้อนเพื่อนำมาเก็งกำไรในรูปแบบตราสารที่เรียกว่า synthetic CDO การอธิบายเรื่องนวัตกรรมการเงินที่ซับซ้อนในข้างต้น ท่าที The Big Short กลับเล่าเรื่องนี้แบบเต็มไปด้วยลีลาของ “ความยียวน” ด้วยอาการของการล้อเลียนภาพยนตร์สารคดีในแบบกึ่ง ๆ Mockumentary (ภาพยนตร์ที่เซ็ตการถ่ายทำ แต่ทำทีเหมือนถ่ายภาพยนตร์สารคดี) เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกการเงินของอเมริกาในช่วงเวลานั้นแบบง่ายที่สุด ซึ่งที่จริงก็ยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่ดี แต่มันสนุกซะจนปล่อย ๆ ผ่านไปบ้างก็ได้ กล่าวคือ วิธีการเล่าเรื่อง หลัก ๆ ใน The Big Short เป็นแบบหนังทั่วไป หรือ Feature Film แต่มันกลับมีจังหวะในแบบสารคดีสูงมากเข้าขั้น Mockumentary (สารคดีล้อเลียน) มันอาจจะไม่ได้มีความหมายตรงตามศัพท์ในแง่ที่ว่าล้อเลียนให้สมจริง แต่ถ้าพิจารณาจากว่าคำนี้มาจากการผสมกันของคำว่า Mock กับ Documentary น่าสนใจตรงคำว่า Mock ในแง่ที่แปลว่า ล้อเลียน เยาะเย้ย คือโดยทั่วไป การทำงานสารคดีหรืองานข่าวที่ต้องการ “ความจริง” การสัมภาษณ์ subject (ผู้ถูกสัมภาษณ์) เราจะสัมภาษณ์คนในกลุ่มที่มี authority หรือมีอำนาจชอบธรรมในการสัมภาษณ์ อย่างเช่น ถามเรื่องสุขภาพ ก็ต้องคุยกับหมอ แต่ The Big Short คนที่เป็น subject ที่ควรไปสัมภาษณ์ควรจะเป็นนักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ เพราะมันเป็นเรื่องการเงินและเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐ แต่หนังกลับ “ยียวน” ด้วยการไปถามเรื่อง Subprime, CDO และ synthetic CDO กับนางแบบผมบลอนด์, กับเชฟมิชลิน (และฉากที่เอาปลาที่ค้างมาหลายวันไปทำสตูว์เพื่อเพิ่มมูลค่า แทนที่จะเอาไปทิ้ง เพื่อเทียบเคียงกับตราสารหนี้ CDO เป็นอะไรที่ "คิดได้ไง" มาก ๆ) และศิลปินเพลงป๊อปอย่าง เซเลน่า โกเมซ คนทั้งหมดแทบจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับโลกการเงินเลย จึงเหมือนกับ The Big Short มันมีท่าทีเยาะเย้ยอยู่ในทีว่า เรื่องแบบนี้ ไม่ควรผูกขาดอำนาจ (authority) การเล่าเรื่องอยู่กับนักการเงิน หรือนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหลาย ๆ คนในกลุ่มนี้นั่นล่ะคือต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฉิบหายวายป่วงอยู่ช่วงใหญ่ ๆ เลยทีเดียว The Big Short พูดถึงไทม์ไลน์ของเศรษฐกิจสหรัฐยุคต่าง ๆ ผ่านภาพตัดปะเล็ก ๆ ของวัฒนธรรมป๊อปเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยบอกยุคสมัย ทันทีที่เราเห็นภาพ เครื่องแม็ค, ไอโฟน, บริทนีย์ สเปียร์ส, เฟซบุ๊ก, วงเนอร์วานา และอีกมากมายที่ตัดสลับกับโครงหลักของเรื่อง เพื่อเล่าว่าเรามาถึงยุคไหนกันแล้ว ซึ่งเป็นวิธีที่น่าสนใจมากและยังมีความเป็น Mockumentary ตามที่กล่าวไว้ในข้างต้นเช่นกัน จากก่อนหน้าที่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จะแตก กลุ่มนักลงทุนที่ “ขายชอร์ต” เหมือนตัวตลกของคนมองโลกในแง่ดีในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ท้ายที่สุด หนังค่อย ๆ คลี่คลายให้เห็นว่า ตัวตลก กลายเป็นผู้ชนะได้เช่นกัน โดยระหว่างทาง ข้อมูลด้านลบต่าง ๆ ที่หลั่งไหลมา ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นว่า โลกไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ด้วยเหรียญ “โลกสวย” แต่เพียงด้านเดียว มันต้องการการมองในฝั่ง “โลกเสื่อม” ควบคู่กันไปด้วย ที่น่าชวนหัวที่สุดและตลกร้ายที่สุดของเรื่องก็คือบทสรุปสุดท้าย ที่แม้ว่าระบบนี้จะล่มสลาย ระบบใหม่ของความโสโครกในโลกการเงินก็จะกลับมาอีกครั้งผ่านนวัตกรรมการเงินใหม่ ๆ ที่ไม่ต่างจาก CDO และคนโชคร้ายที่สุดคือคนเดินดินกินข้าวแกง หาใช่กลุ่มคนรวยหรือชนชั้นนำที่รัฐเสนอให้มีนโยบายโอบอุ้ม (bailout) เพื่อให้คนพวกนั้นรอดอยู่ฐานด้านบนสุดของพีระมิดแห่งความร่ำรวยต่อไป ชัยชนะคือคน "มองโลกในแง่ร้าย" ช่วยให้เราระวังในสิ่งที่เราคิดว่าวันนี้มันมั่นคงอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมั่นคงตลอดไป โลกจึงต้องมีคนประเภท “มองโลกในแง่ร้าย” เพื่อคอยตรวจสอบว่า โลกอีกฝั่ง และระบบที่เป็นอยู่ มันห่วยแบบไหน ต่อไป...