The Caretaker ทำดนตรียาวกว่า 6 ชั่วโมง ให้คนลอง ‘รู้สึก’ สิ่งที่ผู้มีภาวะสมองเสื่อมเผชิญ

The Caretaker ทำดนตรียาวกว่า 6 ชั่วโมง ให้คนลอง ‘รู้สึก’ สิ่งที่ผู้มีภาวะสมองเสื่อมเผชิญ
หลายคนคงน่าจะเคยเห็นมีมอย่าง ‘Mr. Incredible Becoming Uncanny’ ที่หน้าตาของมิสเตอร์อินเครดิเบิ้ล (Mr. Incredible) ค่อย ๆ ดูแปลกและหลอนมากขึ้นพร้อม ๆ กับสถานการณ์หรืออะไรก็ตามที่ค่อย ๆ แย่ลงในแต่ละขั้น โดยที่นอกจากหน้าตามิสเตอร์อินเครดิเบิ้ลที่จากดูคุ้นเคยค่อย ๆ แปลกประหลาดขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลอนจับใจและสร้างเอกลักษณ์ให้กับมีมนี้คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกเสียจากดนตรีประกอบ และในบทความนี้เราจะมาพูดถึงดนตรีหลอนขั้นสุดท้ายของมีม Mr. Incredible Becoming Uncanny ที่มีเรื่องราวเบื้องลึกที่น่ากลัวกว่าที่ได้ยินจากมีมหลายเท่า “ฉันไม่น่าไปฟังมัน 6 ชั่วโมงรวดเลย ตอนนี้ร่างกายฉันชาไปหมด และฉันก็ยังนั่งร้องไห้อยู่เลย” ชาเลนจ์ (Challenge) ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยอดฮิตที่สร้างปรากฏการณ์ไวรัลได้อย่างง่ายดายและว่องไว โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มอย่าง TikTok ไม่ว่าจะเต้น แกล้งเพื่อน ทดลองฟิลเตอร์ใหม่ ๆ หรืออัปเดตข่าวสารบ้านเมือง ทว่าในปี 2020 นี้เองก็มี Challenge หนึ่งที่ทั้งท้าทายและจุดประกายความน่าสนใจให้ชาว TikTok หลายคนได้ลองฟังเพลงยาวกว่า 6 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อที่จะลอง ‘รู้สึก’ สิ่งที่ผู้ป่วยสมองเสื่อม (Dementia) กำลังเผชิญอย่าง The Caretaker ที่เชื้อเชิญให้ผู้คนลองนั่งฟังและจมดิ่งไปกับโปรเจกต์ดนตรีทดลอง ‘Everywhere at the End of Time’ แล้วร่วมแบ่งปันสิ่งที่แต่ละคนรู้สึก แม้ว่าจะมีชื่อเสียงจาก TikTok ในปี 2020 แต่โปรเจกต์ Everywhere at the End of Time ก็ค่อย ๆ ก่อตัวมาก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว แถมยังมีโปรเจกต์อื่น ๆ ที่มีคอนเซ็ปต์คล้ายคลึงกันอีกหลายชิ้นงาน แล้วโปรเจกต์เหล่านั้นมีอะไรบ้าง? Everywhere at the End of Time พยายามจะพูดถึงอะไร? แล้วใครคือผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์เหล่านี้? หาคำตอบได้ในบทความนี้

ดนตรีทดลองที่จำลองสมองที่แหลกสลาย

“สิ่งที่น่ากลัวกว่าความตาย คือการหลงลืมว่าเคยมีชีวิต” การสูญเสียใครสักคนที่เรารักถือเป็นสิ่งหนึ่งบนโลกที่แม้จะเตรียมใจมามากเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถหนีพ้นความเศร้าโศกเสียใจและความเจ็บปวดไปได้ เหตุเพราะการที่มีใครสักคนต้องเดินออกจากชีวิตเราไปเป็นเรื่องที่จะคุ้นชินได้ยาก บ้างก็จากไปเพียงกาย แต่ยังคงทิ้งความรักที่มีให้และความทรงจำที่มีค่าให้คงอยู่ตลอดกาล แต่บ้างก็จากไปไกลแต่ทิ้งไว้เพียงกายอันว่างเปล่า ในช่วงระหว่างปี 2016 - 2019 มีศิลปินชาวอังกฤษผู้หนึ่งนามว่า เลย์แลนด์ เคอร์บี้ (Leyland Kirby) ทดลองที่จะนำเสนอความรู้สึกของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ผ่านตัวกลางหนึ่งที่สามารถเข้าถึงจิตใจมนุษย์ได้มากที่สุด นั่นก็คือ ‘ดนตรี’ กับโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘Everywhere at the End of Time’ หรือแปลไทยได้ว่า ‘ทุกหนแห่ง ณ ปลายทางของกาลเวลา’ เขาได้เนรมิตโปรเจกต์ดนตรีทดลองยาวกว่า 6 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อนำเสนอความรู้สึกของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่ครอบคลุมตั้งแต่ระยะที่ 1 จนถึงระยะที่ 6 ผลงานชิ้นนี้ถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายเพื่อเป็นการบอกลาในฐานะนามแฝง ‘The Caretaker’ The Caretaker คือนามแฝงหนึ่งของเคอร์บี้ในฐานะผู้สร้างสรรค์ดนตรีทดลอง โดยเขามุ่งเน้นที่จะนำเสนอคอนเซ็ปต์ที่เกี่ยวโยงกับความทรงจำที่ผุกร่อนและสมองที่ค่อย ๆ เสื่อมสลายผ่านการนำแผ่นไวนิลของเพลงเก่า ๆ ในช่วงยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองมามิกซ์ใหม่ให้ได้เสียงที่บิดเบี้ยวจากเดิมเพื่อสื่อความรู้สึกที่เขาต้องการ นอกจากคอร์บี้ยังมีสมาชิกอีกคนที่ทำงานร่วมกันภายใต้ชื่อ The Caretaker คือ ‘ไอแวน ซีล’ (Ivan Seal) ศิลปินนักวาดที่เป็นผู้สร้างสรรค์ปกอัลบั้มในหลาย ๆ โปรเจกต์ โดยเฉพาะโปรเจกต์ล่าสุดที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ด้วย โดยศิลปะของไอแวนก็มุ่งเน้นไปที่ภาพวาดแอ็บสแตรกต์ (Abstract) ที่พยายามจะสร้างความรู้สึกที่คุ้นเคยแต่เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งสิ่งนั้นเป็นอะไร ซึ่งไอแวนก็พยายามที่จะยึดคอนเซ็ปต์เดียวกับตัวเพลงที่พยายามจะสื่อสารความรู้สึกของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่บางอย่างดูคุ้นเคยเหลือเกิน แต่ในขณะเดียวกันก็ยากเกินกว่าจะบอกได้ว่าสิ่งสิ่งนั้นคืออะไร… ก่อนที่ The Caretaker จะเดินทางมาถึงปลายทางกับโปรเจกต์ที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้ เขาก็ได้เนรมิตหลายอัลบั้มที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ‘Selected Memories from the Haunted Ballroom’ (1999) (ความทรงจำที่ถูกคัดเลือกจากห้องเต้นรำผีสิง) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์สยองขวัญอมตะอย่าง The Shining โดยการนำเพลงบอลรูมจากแผ่นไวนิลเก่า ๆ ที่พอจะหาได้มามิกซ์ใหม่เพื่อสร้างความรู้สึกที่น่ากลัวและหลอกหลอนดั่งผีในโรงแรมโอเวอร์ลุค (Overlook Hotel), ‘Theoretically Pure Anterograde Amnesia’ (2005) (ความจำเสื่อมไปข้างหน้าอย่างบริสุทธิ์โดยทฤษฎี) โดยโปรเจกต์นี้มุ่งเน้นที่จะนำเสนอเกี่ยวกับผู้ป่วยความจำเสื่อมประเภทที่ไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ (Anterograde Amnesia) หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ที่ติดอยู่ในอดีตโดยไม่สามารถก้าวไปสู่อนาคตได้ และอีกหนึ่งอัลบั้มที่นับว่าเป็นโปรเจกต์ที่ประสบความสำเร็จและมีผู้คนชื่นชอบมากที่สุด ‘An Empty Bliss Beyond This World’ (2011) (ความสุขอันว่างเปล่า ณ เบื้องหน้าของภพนี้) ซึ่งเป็นอัลบั้มที่พยายามจะนำเสนอความรู้สึกของโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ที่จะมีโอกาสรื้อฟื้นความทรงจำต่าง ๆ ได้ผ่านเสียงดนตรี แต่ในขณะเดียวกันดนตรีก็มีความขาดช่วง ตัดสลับไปมา เปรียบดั่งความทรงจำที่แหลกสลายไม่เป็นชิ้นเดียวกัน ท้ายที่สุด การเดินทางของ The Caretaker ก็เดินทางมาถึงผลงานชิ้นสุดท้าย ผลงานชิ้นเอกที่มุ่งเป้าจะนำเสนออารมณ์ความรู้สึกของสมองที่ค่อย ๆ เสื่อมสลาย ความทรงจำที่สวยงามต่าง ๆ ที่ค่อย ๆ พันกันยุ่งเหยิงจนเหมือนเป็นอะไรที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน สำหรับคนที่พร้อม ใส่หูฟังหรือเปิดลำโพง แล้วร่วมเดินทางยาวนาน 6 ชั่วโมงครึ่งกับการจำลองความรู้สึกในสภาวะโรคสมองเสื่อมทั้ง 6 ระยะได้ / *** #คำเตือน : ดนตรีเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้ ไม่เหมาะกับผู้ที่มีสภาวะไม่มั่นคงทางสภาพจิตใจ สำหรับผู้ที่ฟังได้ ไม่ควรฟังรวดเดียว 6 ชั่วโมง หากเป็นไปได้ ฟังเพียงวันละสเตจ หากรู้สึกไม่สบายใจเมื่อใดควรหยุดพัก*** / . สามารถรับฟัง ‘Everywhere at the End of Time’ ทั้ง 6 ชั่วโมงได้ทาง https://www.youtube.com/watch?v=wJWksPWDKOc

Stage 1 ฝันหวานวันสุดท้าย

“ในระยะแรก ดนตรีจะให้ความรู้สึกถึงสัญญาณแรกแห่งความทรงจำที่กำลังจะเลือนหาย ทุกอย่างเปรียบเสมือนภาพฝันของวันวานอันหวานชื่น วันที่เต็มไปด้วยความสง่าของความทรงจำในอดีตที่สวยงาม วันสุดท้ายของช่วงเวลาดี ๆ…” เสียงดนตรีเครื่องเป่าที่คุ้นเคย อบอุ่น และมีความสุขเล่นขึ้นโดยให้ความรู้สึกเหมือนบ่ายวันหนึ่งที่ใครสักคนสามารถนั่งเอนหลังด้วยความสบายใจแล้วหวนนึกถึงความทรงจำในอดีตที่เต็มไปด้วยความสุข โลดแล่นกับภาพการเต้นรำของคู่สามีภรรยา โอบกอดครอบครัวที่อบอุ่นอย่างพร้อมหน้า และภูมิใจกับความฝันที่บรรลุสมบูรณ์ การโลดแล่นเข้าไปในความทรงจำที่มีค่าเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถึงมีเงินเท่าไรก็หาซื้อไม่ได้ แต่ความหอมหวานเหล่านั้นก็มีเงาของลางไม่ดีบางอย่างแทรกมาในรูปแบบของเสียงแผ่นไวนิลที่มีรอยขีดข่วนอันเปรียบเสมือนความทรงจำเหล่านั้นค่อย ๆ ถูกกัดกิน ช่วงเวลาเหล่านี้สุขเหลือล้น แต่มันจะจีรังหรือไม่? หรือนี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะได้สัมผัสกับความทรงจำเหล่านี้? สเตจแรกของโปรเจกต์ Everywhere at the End of Time ถูกปล่อยในเดือนกันยายนปี 2016 สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังเปรียบเสมือนดั่งบริบทที่เคอร์บี้อยากจะให้ผู้ฟังเข้าใจถึงการมีความทรงจำที่ดีมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกของความไม่มั่นคงที่ค่อย ๆ คืบคลานผ่านเลเยอร์ของเสียงนอยส์ (noise) บนแผ่นไวนิล ชื่อของแต่ละแทร็กในสเตจนี้ก็เป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดขึ้นไปอีกว่าเวลาเหล่านี้กำลังจะหมดไป เช่น It’s Just a Burning Memory (มันก็แค่ความทรงจำที่ค่อย ๆ มอดไหม้) ที่นำเพลง ‘Heartaches’ ของศิลปินในตำนานอย่าง อัล โบวลี (Al Bowlly) มาดัดแปลง ส่วนปกอัลบั้มก็มีรูปร่างคล้ายม้วนกระดาษไม่ก็หนังสือพิมพ์ แต่หากมองรูปร่างของมันอย่างละเอียด จะเห็นว่ามันเป็นม้วนกระดาษที่มีแกนเรียบแข็งแรง แต่มีปลายที่อ่อนย้วย เปรียบดั่งความผิดปกติที่ค่อย ๆ คืบคลานเบื้องหลังความสุขแห่งความทรงจำ

Stage 2 ฉันไม่เป็นอะไร ฉันยังสบายดี

“ระยะที่ 2 คือความรู้สึกถึงการตระหนักรู้ว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ยังคงปฏิเสธและไม่ยอมรับว่ามันคือเรื่องจริง การจะโอบกอดความทรงจำดี ๆ ที่เคยมีต้องอาศัยความพยายามมากขึ้น แต่คุณภาพของมันก็ถดถอยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อารมณ์โดยรวมของดนตรีระยะนี้จะแย่ลง และเป็นระยะสุดท้ายก่อนที่ความสับสนจะโถมเข้ามา” แม้ว่าดนตรีจะฟังดูไพเราะคล้ายเดิม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอะไรบางอย่างที่กำลังแทรกแซงภาพจำดี ๆ ทั้ง ๆ ที่ทุกอย่างยังคงบรรเลงไปดั่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในสเตจนี้เราจะสังเกตผ่านการได้ยินว่า เสียงรบกวนที่มีอยู่ตั้งแต่ในระยะก่อนหน้านั้นดังและชัดขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดแจ้ง ดังที่เราเห็นในแทร็ก What Does It Matter How My Heart Breaks (แล้วมันสำคัญอย่างไรหากใจฉันแหลกสลาย) เพลงเดิมอย่าง Heartaches ที่ถูกใช้ในระยะแรกถูกนำกลับมาบรรเลงใหม่อีกครั้ง แต่เสียงของมันกลับยืดย้วยและให้โทนที่เศร้าหมองกว่าเดิมมาก ดั่งเพลงที่สวยงามเพลงนั้นกำลังเจ็บปวดและค่อย ๆ มอดไหม้อย่างทรมาน และหากฟังไปจนจบ เพลงของมันกลับจบดื้อ ๆ พร้อมเสียงก้องกังวาน ดั่งเพลง (ความทรงจำ) นั้น ได้ปล่อยมือและทิ้งเราไว้กลางทางที่มืดมิดอย่างโดดเดี่ยว Glimpses of Hope in Trying Times (ความหวังชั่วขณะในช่วงเวลาแห่งการฝืน) คือแทร็กลำดับต่อมาที่สร้างความหลอนหูดั่งดนตรีที่บรรเลงในภาพยนตร์สยองขวัญ เสียงดนตรีให้ความรู้สึกถึงความน่ากลัว น่าขนลุก และภัยอันตรายที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาอย่างช้า ๆ ดั่งตัวละครเอกในช่วงเวลาที่อับจนหนทางที่จะรอดพ้น ค่อย ๆ ร่วงหล่นไปในหลุมไร้ที่สิ้นสุดของฝันร้าย เหลือเพียงเส้นทางเดียวคือการยอมแพ้และยอมรับ ท้ายที่สุดสเตจนี้ก็นำพาเราไปถึงจุดจบกับแทร็ก The Way Ahead Feels Lonely หรือแปลไทยได้ว่า ‘เส้นทางข้างหน้าช่างดูวังเวงและอ้างว้าง’ โดยในสเตจนี้ถูกปล่อยมาในเดือนเมษายนปี 2017 เคอร์บี้อยากจะนำเสนอความรู้สึกของอาการสมองเสื่อมระยะที่ 2 ที่การลืมเลือนเสื่อมสลายค่อย ๆ ก่อตัวเด่นชัดขึ้น แต่ผู้ป่วยยังคงยืนยันที่จะเชื่อว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น และบอกกับตัวเองว่าทุกอย่างจะปกติเรียบร้อยดั่งภาพปกที่ถูกวาดเป็นรูปทรงของดอกไม้ที่สวยงามในแจกันที่เน่าสลาย นี่คือระยะสุดท้ายก่อนที่ความยุ่งเหยิงและวุ่นวายจะกระโดดเข้ามาทำลายทุกอย่างไป ฝันร้ายเพิ่งจะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น และนับจากนี้ไม่มีทางหวนกลับแล้ว

Stage 3 ฝันร้ายกลายเป็นจริง

“ระยะที่ 3 จะนำเสนอความทรงจำสุดท้ายที่ยังพอปะติดปะต่อกันได้ ก่อนที่ความสับสนโมหันธ์จะถาโถมเข้ามาอย่างเห็นได้ชัด เวลาที่ดีที่สุดได้ถูกจดจำ บทเพลงที่บรรเลงออกมาจะสับสนพัวพันและวุ่นวาย ยิ่งดำเนินไปเรื่อย ๆ บางความทรงจำก็เปลี่ยนแปร บิดเบี้ยว แหลกสลาย และไกลออกไป กลุ่มก้อนเปลวฟืนสุดท้ายแห่งความตระหนักรู้ ก่อนที่จะทะยานสู่ ‘ภาวะพ้นการตระหนักรู้’ (Post-Awareness Stage)” หนึ่งปีหลังจากสเตจแรกถูกปล่อย ในเดือนกันยายนปี 2017 ดนตรีของระยะที่ 3 ก็บรรเลงขึ้นพร้อมกับความสับสนวุ่นวาย เสียงสะท้อนที่ซ้อนกันไปมา และเสียงรบกวนถูกใส่เข้ามาจนการที่จะจำได้ว่าเพลงไหนเป็นเพลงไหนเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ในบางช่วงบางตอนก่อนจะเปลี่ยนแทร็ก ดนตรีก็ตัดเงียบไปดื้อ ๆ ไม่มีการค่อย ๆ ลดระดับเสียงลงเพื่อเปลี่ยนอย่างลื่นไหล ซึ่งเปรียบเสมือนกับผู้ป่วยที่ไม่มีความสามารถที่จะจำได้อีกแล้ว หนำซ้ำความทรงจำเก่าที่มีอยู่ก็ผสมปนเปกันจนกลายร่างเป็นปีศาจแห่งความสับสน แม้ยังพยายามที่จะจำ แต่ทุกอย่างกลับแย่ลงกว่าเดิม ในบางแทร็กอย่าง Hidden Sea Buried Deep (ทะเลลับที่ถูกฝังลืม) ก็กลายเป็นเสี้ยวหนึ่งของเพลงที่ถูกตัดมาและวนซ้ำจนจบไปไม่สามารถปะติดปะต่อกันได้ นอกจากนั้นในแทร็ก Burning Despair Does Ache (ความสิ้นหวังที่มอดไหม้มันช่างเจ็บปวด) ก็นำเพลงเดิมที่แสนไพเราะของอัล โบวลีที่ถูกบรรเลงตั้งแต่สเตจแรกกลับมาอีกครั้ง แต่ในคราวนี้กลับมาในเวอร์ชันที่ ‘พังแล้ว’ สิ่งที่สามารถสื่อความรู้สึกได้ใกล้เคียงกับเสียงดนตรีในสเตจที่ 3 นี้ได้มากที่สุดก็คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกเสียจากปกอัลบั้ม สีดำ สีเหลือง สีเขียว สีขาว ถูกละเลงอยู่ทั่วจนไม่สามารถระบุได้ว่าสิ่งที่ตาเราเห็นอยู่นี้คืออะไรกันแน่ ไม่แม้แต่รูปทรงของมัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถรับรู้จากมันได้คือความรู้สึกของความยุ่งเหยิง สับสน และรุนแรง ความจริงและความทรงจำถูกบิดเบือนจนเลอะเทอะ ไม่หลงเหลือสิ่งที่มันเคยเป็นอีกต่อไป

Stage 4 จุดเริ่มต้นของจุดจบ

“ภาวะพ้นตระหนักรู้ในระยะที่ 4 คือจุดที่ความสงบเงียบและความสามารถที่จะย้อนนึกถึงความทรงจำก่อให้เกิดความสับสนงุนงงที่มาพร้อมกับความสยองขวัญ มันคือจุดเริ่มต้นของปลายทางที่ความทรงจำทั้งหลายจะเริ่มแหลกเหลวผ่านความยุ่งเหยิง ความซ้ำซ้อน และความแหลกสลาย” เมื่อก้าวเข้าสู่ระยะที่ 4 ในเดือนเมษายน ปี 2018 ทุกสิ่งทุกอย่างกลับตาลปัตร สิ่งที่ผู้ฟังจะได้ยินจะเป็นเสียงนอยส์ (noise) รบกวนเป็นหลัก โดยมีดนตรีที่บิดเบี้ยวคลอ ๆ คล้ายเสียงนอยส์ในสเตจแรก ๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ฟังจะระบุได้ว่าสิ่งที่ได้ยินอยู่นั้นเป็นเพลงอะไร (หรือเป็นเพลงอยู่หรือไม่) เปรียบดั่งการนั่งฟังเสียงคลื่นวิทยุที่มีแต่เสียงรบกวน ในบางช่วงบางตอนเราจะได้ยินเสียงเพลงเป็นหลักบ้าง แต่มันก็ถูกเล่นในรูปแบบที่บิดเบี้ยวกว่าเดิม ถูกตัดและสะดุดไปมา ในบางช่วงเหมือนถูกเล่นย้อนกลับเสียด้วยซ้ำ เปรียบดั่งความจำที่เสียหายและแหลกสลายไปอย่างรุนแรง ทุกสิ่งที่สวยงามได้หายจากไปแล้วเหลือเพียงเศษเสี้ยวที่ต่อกันแบบผิด ๆ และไม่เข้าที่ ดนตรีไม่มีแม้แต่ต้นหรือจบ มีเพียงปัจจุบันและความเจ็บปวดที่ถาโถมเข้ามา แต่ข่าวร้ายของเรื่องนี้คือมันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของจุดจบเท่านั้น ดนตรีในสเตจนี้สื่อสารกับเราถึงซากปรักหักพังของความทรงจำที่สวยงามที่ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว จะสังเกตได้ว่าแทร็กของสเตจนี้ (และต่อ ๆ ไป) จะถูกแบ่งเป็นก้อนใหญ่ ๆ ที่มีความยาวมากขึ้นในจำนวนที่น้อยลงและมีชื่อที่เป็นทางการดั่งขั้นตอนหรือการวินิจฉัยอาการ เช่น Post Awareness Confusions และ Temporary Bliss State ภาพปกเองก็มีเป็นภาพที่ดูเหมือนเป็นภาพวาดของอะไรบางสิ่งที่ดูคล้ายมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่เลย เขาดูมีผม ดูมีปาก ดูมีจมูก แต่เพียงแค่ ‘ดูมี’ เท่านั้น ภาพวาดนี้พยายามจะสื่อความรู้สึกของคนอยู่ในโรคสมองเสื่อมระยะที่ความทรงจำว่างเปล่า ไม่เข้าใจแม้กระทั่งว่าความเป็นมนุษย์คืออะไร มีแต่ความยุ่งเหยิงและสับสน

Stage 5 จมดิ่งและพังทลาย

“ภาวะพ้นตระหนักรู้ในระยะที่ 5 จะเต็มไปด้วยความอลเวงและความสยองขวัญ ความยุ่งเหยิง ความซ้ำซ้อน และความแหลกสลายที่จะทวีความหนักขึ้น แต่มันก็อาจจะนำพาไปสู่ความสงบบ้างในบางจังหวะ สิ่งที่ไม่คุ้นเคยก็ดูเหมือนจะคุ้นเคย เวลาที่เหลืออยู่คือการทะยานมุ่งสู่การปลีกตัวออกจากทุกสิ่งโดยนิรันดร์” ในวันที่ 20 เดือนกันยายนในปี 2018 ภาคต่อแห่งความสยองขวัญก็ถูกปล่อยสู่สาธารณชน และคราวนี้ก็กรีธาทัพแห่งความสยองขวัญมาในรูปแบบ ‘จัดเต็ม’ เริ่มต้นจากปกอัลบั้มที่ในตอนนี้ไม่สามารถระบุได้แล้วด้วยซ้ำว่ารูปทรงที่เห็นอยู่มันคืออะไร คงจะมีเพียงโทนสีเท่านั้นที่เราอาจจะพอคุ้นและสบายใจกับการนึกถึงมันอยู่บ้าง ผู้ฟังจะถูกโถมกระหน่ำด้วยเสียงที่เหมือนพายุแห่งความสับสนและยุ่งเหยิง หากหลับตาแล้วลองนึกภาพก็คงเห็นเป็นภาพจอโทรทัศน์ซ่า ๆ ที่มีภาพแปลก ๆ ตัดไปตัดมา “มันเหมือนกับการที่คุณโดนฝังทั้งเป็นโดยที่ดินที่กำลังกลบคุณอยู่ไหลท่วมทะลักเข้าไปในช่องว่างทุกตารางเซนติเมตรที่เหลืออยู่ในโลงศพของคุณ” อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากเราจะรู้สึกเช่นนั้น เพราะถึงแม้ว่าดนตรีจะดูสับสนและมั่วไปหมด แต่ส่วนผสมของแต่ละแทร็กเต็มไปด้วยชิ้นส่วนมากมายที่ถูกปะติดปะต่อกันอย่างละเอียด ยกตัวอย่างเช่น แทร็กสุดท้ายของสเตจอย่าง Sudden Time Regression into Isolation (ช่วงเวลาฉับพลันแห่งการถดถอยสู่ความโดดเดี่ยว) สามารถแบ่งออกไปได้กว่า 13 ท่อน และในแต่ละท่อนก็ประกอบไปด้วยดนตรีมากมาย จากเพลงเก่า ๆ ที่มาจากแผ่นไวนิลบ้าง จากโปรเจ็กต์ก่อน ๆ ของเคอร์บี้บ้าง ซึ่งในแต่ละเพลงที่เป็นส่วนประกอบจะถูกนำมาใส่อย่างเฉพาะเจาะจงว่าจะออกมาจากลำโพงทางซ้าย ขวา กลาง หรือแม้กระทั่งเคลื่อนไปมาระหว่างสองข้าง นับว่าเป็นเพลงที่จำลองความรู้สึกสับสนออกมาได้โดยผ่านขั้นตอนการร้อยเรียงที่ละเอียดมาก ๆ หากจะบรรยายว่าสเตจนี้เป็นหนึ่งในการฝังผู้ฟังทั้งเป็นผ่านเสียงดนตรีด้วยความละเมียดละไมขั้นสูงที่สุดก็ไม่ผิดนัก

Stage 6 ว่างเปล่าและดับไป

“ภาวะพ้นตระหนักรู้ในระยะที่ 6 ไม่มีคำอธิบาย” หลังจากที่สามารถก้าวข้ามผ่านความสยองขวัญมาได้แล้ว ในเดือนมีนาคม ปี 2019 ในระยะสุดท้ายนี้ ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่แล้ว ไม่มีคำอธิบาย ไม่มีเสียงที่น่ากลัว ไม่มีแม้แต่เสียงดนตรี มีเพียงเสียงแอมเบียนต์ของความว่างเปล่า และความว่างเปล่าเท่านั้นที่เป็นคำอธิบายในสเตจนี้ ความตระหนักรู้ของบุคคลผู้นี้ได้อับปางอย่างโดดเดี่ยวในก้นบึ้งมหาสมุทรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอเพียงเวลาที่จะแหลกสลายหายไป ในส่วนของปก จากอัลบั้มจากที่ก่อน ๆ เป็นภาพวาดศิลปะ ตอนนี้มันกลับกลายเป็น ‘ด้านหลัง’ ของเฟรมภาพวาดเหล่านั้น เพราะเมื่อเดินทางมาถึงจุดนี้ไม่มีแม้แต่ภาพวาดแอ็บสแตรกต์ที่จะสื่อถึงความรู้สึกใด ๆ เพราะมันไม่มีอีกแล้ว ก่อนที่สเตจที่ห 6 จะจบลง ในแทร็ก Place in the World Fades Away อยู่ดี ๆ ก็มีเสียงดนตรีประหลาดที่เปรียบดั่งแสงสว่างที่สาดส่องเข้ามาท่ามกลางความมืดมิด เสียงดนตรีที่หากลองหลับตาแล้วนึกภาพก็จะเหมือนบันไดแห่งสรวงสวรรค์ก็เคลื่อนลงมาท่ามกลางปุยเมฆ หากเปรียบเป็นภาพยนตร์ชื่อของ The Caretaker และเครดิตต่าง ๆ คงปรากฏขึ้นมาพร้อม ๆ กับเสียงดนตรีสุดท้ายนี้ และไม่นาน มันก็จบลง บ้างก็ว่าจะมีเพียงคนที่ผ่านสเตจนี้ไปได้เท่านั้นที่จะมีโอกาสได้เห็นว่าข้างหลังเฟรมภาพของปกอัลบั้มในสเตจนี้เป็นภาพอะไร… ดูเหมือนว่าความทรมานทั้งหลายที่คนคนหนึ่งต้องเผชิญก็เดินทางมาถึงจุดจบแล้ว ไม่ต้องสุข ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมาน ไม่ต้องจำ ไม่ต้องลืมอีกต่อไป และนั่นคือประสบการณ์ทางดนตรีกว่า 6 ชั่วโมงครึ่งที่อาจทำให้ใครหลายคนเข้าใจในความไม่จีรังของสรรพสิ่งมากขึ้น และอาจทำให้รู้สึกยินดีมีสุขกับความทรงจำดี ๆ ที่ยังมีอยู่มากกว่าเดิม ความทรงจำที่ยังคงสวยงามอยู่ในขณะที่เรายัง ‘จำ’ มันได้ The People ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับภาวะสมองเสื่อมทุกท่าน เรื่อง : รัฐฐกรณ์ ศิริฤกษ์