The Cave นางนอน (2019): มีอะไรอีกนอกจากผู้ว่าฯ กับผู้กำกับฯ เถียงกัน

The Cave นางนอน (2019): มีอะไรอีกนอกจากผู้ว่าฯ กับผู้กำกับฯ เถียงกัน
ไม่ค่อยมีอะไรอีก เป็นเรื่องแปลกที่โต๊ะอาหารของเราแทบไม่มีบทสนทนาเกี่ยวกับ นางนอน โดย ทอม วอลเลอร์ อยู่เลย (ค่อนข้างแปลกใจที่ทราบว่าเป็นวอลเลอร์คนเดียวกับที่ทำเรื่อง เพชฌฆาต [2014] ผมจำได้ว่ามีประสบการณ์ที่ดีกับหนังเรื่องนั้น) “หนังเป็นไงบ้าง” เพื่อนถาม ผมได้แต่ส่ายหัวเงียบ ๆ แล้วกินข้าวต่อไป ใจจริงผมไม่ได้อยากจะพูดถึงหนังในทางที่ไม่ค่อยดีบ่อยเกินไปนัก แต่ความซื่อสัตย์คงเป็นสินค้าอย่างเดียวที่ผมมีขายให้ผู้อ่าน มันก็คงต้องเป็นอย่างนั้น สิ่งที่ผมสนใจที่สุดในหนังเรื่องนี้ คืออะไรทำให้มันเป็นหนังที่ดึงดูดความสนใจของผมไม่ได้เลย ในขณะที่วอลเลอร์ปรากฏบนสื่อต่างๆ ตอบโต้ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ประมาณว่า ‘อยากให้สนใจที่การกู้ภัยของจิม’ ผมน่าจะหลับไปในช่วงที่จิมกำลังนำเด็กออกมาจากถ้ำ นั่นคือฉากสำคัญที่สุดของเรื่อง จำได้ว่า ‘พวกเรา’ ในโรงหนังหัวเราะพร้อม ๆ กันอยู่สองครั้งใหญ่ ครั้งแรกคือตอนที่ ‘ผู้ใหญ่’ ที่เป็นคนนำเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วย ได้ยื่นใบอนุญาตใส่หน้าเจ้าหน้าที่รัฐ และพูดอย่างสะใจว่า ‘มีบัตร’ เพื่อที่จะเข้าไปในสถานที่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้แกถูกปฏิเสธเพราะไม่มีบัตรที่ว่า ครั้งที่สองคือฉากที่นักแสดงที่เล่นเป็น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินเข้ามาในฉากและทักทายกลุ่มนักดำน้ำถ้ำชาวต่างชาติ พอรู้ว่าเป็นประยุทธ์เท่านั้นเอง ผู้ชมก็หัวเราะเหมือนเห็นตัวตลก เราคงจะมาคุยกันถึงเรื่องเหล่านี้สักเล็กน้อย ผมอยากจะพูดถึงข้อดีที่สุดของหนังก่อนจะไปถึงตรงนั้น The Cave นางนอน (2019): มีอะไรอีกนอกจากผู้ว่าฯ กับผู้กำกับฯ เถียงกัน ความท้าทายที่ไปถึงและไม่ถึง ‘ภาษา’ ความที่ตัวละครหลักเป็นคนหลายเชื้อชาติ จึงต้องถ่ายทอดสลับกันระหว่างคำบรรยายและเสียงจริง รวมทั้งในเรื่องยังมีการใช้ล่าม หนังเรื่องนี้ดำเนินไปได้ด้วยการใช้อย่างน้อยสามภาษา และค่อนข้างทำได้อย่างไร้รอยต่อ ถือเป็นความท้าทายเชิงเทคนิคที่ภาพยนตร์ทำได้ดี ไม่เป็นอุปสรรคแก่ผู้ชม  แต่มีอีกความท้าทายหนึ่งที่นางนอนยังไปไม่ถึง คือการถ่ายทอดเรื่องความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม ในขณะที่เราเห็นพื้นที่ที่มีการรวมกันของเอกชน ศาสนา ราชการ ตะวันตก ตะวันออก โลกที่หนึ่งสองสามสี่ห้า วิทยาศาสตร์ จีน ยุโรป เด็ก ชาวบ้าน ชนชั้นนำ ฯลฯ คนเหล่านี้น่าจะมีอะไรต่างกันอย่างเด็ดขาดจนเข้าใจกันไม่ได้และเกิดปมหรือการปะทะใด ๆ ขึ้นบ้าง แต่ยังไม่เห็นภาพยนตร์ขับเน้นในเรื่องนี้มากนัก ต้องขอย้ำว่าการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมที่ปะทะกัน แตกต่างจากการแสดงให้เห็นถึงการทะเลาะกันตามสถานการณ์ หรือการทะเลาะกันเพราะความคิดและความเชื่อที่ต่างกัน เช่น เสรีนิยมปะทะอนุรักษนิยม ฝ่ายหนึ่งจะเข้าถ้ำ อีกฝ่ายต้องการใบอนุญาต เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ในเรื่อง  ความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ขับเน้นได้นั้นอาจเกิดขึ้นเมื่อนักดำน้ำชาวจีนต้องสอนวิธีการดำน้ำให้กับนักดำน้ำชาวอังกฤษหรืออเมริกัน หรือพวกเขาต้องสื่อสารกันในเรื่องที่ซับซ้อนมาก ๆ จนต้องสอนล่ามก่อนจะให้ล่ามไปบอกฝ่ายตรงข้าม หรือล่ามอาจจะแปลถูก แต่คนฟังอาจจะเข้าใจความหมายผิด ทำให้ปฏิบัติการเปลี่ยนทิศทางไปเลย เป็นต้น คือไม่ใช่แค่ว่าเราแตกต่างกันอย่างไร แต่เราเป็นเอเลียนต่อกันขนาดไหน และนั่นส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เหลือ การสื่อสารที่ผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจพลิกสถานการณ์ได้ นี่คือสถานการณ์ที่ความแตกต่างอย่างเด็ดขาดเข้ามาปะทะกัน พื้นที่และสถานการณ์นั้นน่าจะขับเน้นเรื่องราวที่เล็ก ๆ แต่สำคัญเหล่านี้ได้มาก แต่ผมว่ามันไม่มีอยู่ในภาพยนตร์  เพราะอะไรถึงไม่มีในภาพยนตร์ The Cave นางนอน (2019): มีอะไรอีกนอกจากผู้ว่าฯ กับผู้กำกับฯ เถียงกัน บทให้เวลาและความสำคัญกับทุกสิ่งทุกอย่างมากไป จนหมายความว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับอะไรเลย และก็จะไม่มีเวลาให้กับเรื่องเล็ก ๆ อย่างที่ผมเพิ่งพูดถึงไปอย่างแน่นอน ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งใจอย่างมากที่จะรวบรวมไฮไลต์ทุกอย่างของสถานการณ์กู้ภัยในตอนนั้นมาไว้ในภาพยนตร์ โดยไม่ได้เลือกประเด็นหลักที่อยากจะเล่าอย่างจริงจัง (แม้ผู้กำกับจะบอกว่าอยากจะเน้นที่จิมก็ตาม เห็นชัดมากว่าผู้กำกับคนนี้ให้ความสำคัญกับอะไรบางอย่างได้มากกว่านี้ อย่างเช่นในหนังเรื่องเพชฌฆาต แต่เลือกที่จะไม่ทำในเรื่องนี้) ทางเลือกนี้น่าจะเกิดขึ้นเพราะอยากให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นกึ่ง ๆ บันทึกเรื่องราวของเหตุการณ์ดังกล่าว และให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยงกับสถานการณ์บางช่วงที่ตัวผู้ชมเองได้ติดตามข่าวอยู่ด้วย รวมทั้งยังอยากรักษาน้ำใจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หลากหลายฝ่าย แต่ผมคิดว่าทั้งหมดนี้ทำไม่สำเร็จ มันไม่ใช่สารคดีที่ดีเพราะปรุงแต่งมากเกินไป ในขณะเดียวกัน มันไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ดีเพราะปรุงแต่งน้อยเกินไป แล้วก็ยังไม่ใช่ผลงานที่เป็นตัวของตัวเองที่จะเป็นต้นแบบที่ดีได้ด้วย ทั้งหมดนี้น่าจะเกิดขึ้นเพราะเลือกที่จะเอาทุกอย่างที่คิดว่าน่าจะทำให้ทุกคนชอบเอามารวมกัน แต่ไม่มีพื้นที่ให้กับแต่ละอย่างได้อย่างเพียงพอ  เมื่อมีแต่ไฮไลต์ทั้งเรื่อง เราจึงไม่รู้สึกถึงไฮไลต์ใดในภาพยนตร์เป็นพิเศษเลย เช่น ผมว่าตัวเองไม่ได้รู้สึกอะไรมากเท่าไรตอนที่มีนักดำน้ำเสียชีวิต มีการฉีดยาเด็ก และมีความยากลำบากในการกู้ภัยเกิดขึ้น มีความหิว ความหนาว ความร้อน ความคัน เราไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไรนัก แม้จิมจะคุยกับภรรยาว่ากำลังจะดำน้ำเข้าไปในถ้ำที่อันตรายในประเทศไทยที่ไกลแสนไกลจากบ้านเกิดของเขา ทั้ง ๆ ที่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวที่เปี่ยมด้วยความรู้สึก และควรจะสะเทือนใจ และในที่สุดผมก็หลับไปพร้อมกับเด็กในหนัง ในช่วงที่จิมกำลังนำเด็กออกจากถ้ำ  สิ่งที่มีส่วนต่อความไม่ค่อยรู้สึกอะไรนี้อย่างใหญ่หลวง นอกจากโครงสร้างของเรื่องแล้ว ก็คือการแสดงและบทพูด น่าจะดีกว่านี้หากนักแสดงมีโอกาสได้ฝึกซ้อมและเล่นหลาย ๆ ครั้งจนผู้กำกับมีทางเลือกมากกว่านี้ และน่าจะดีกว่านี้หากนักเขียนบทมีเวลาเขียนบทมากกว่านั้น คุณนึกถึงบทที่จิมโทรคุยกับภรรยาของเขา ที่รัก ผมกำลังจะดำน้ำไปเอาเด็กออกมา ผมกลัว ส่วนที่รักก็บอกว่า ไม่ต้องกลัว ฉันเชื่อว่าคุณทำได้ อะไรแบบนั้น แล้วมันก็เป็นอะไรประมาณนั้นที่หยุดอยู่แค่นั้นจริง ๆ ช่วงที่ดูฉากนี้ ผมนึกถึงเพื่อนสมัยเรียนที่ต้องทำหนังสั้นส่งอาจารย์ในวิชาเรียนขึ้นมา คือพวกเขามักจะเขียนอะไรแบบนี้ส่ง ถ้าไม่ใช่เพราะมีเวลาน้อยก็เพราะไม่ได้อยากทำหนังเรื่องนั้นจริง ๆ หรือไม่ก็ไม่ได้อยากจะเรียนเกี่ยวกับหนังเลยตั้งแต่แรก แต่ในกรณีนี้ผมคิดว่าคงเป็นเรื่องเวลา บทในหลายฉากหลายตอนถูกเขียนขึ้นด้วยสิ่งที่ผมมีภาษาส่วนตัวเรียกว่า ‘First Idea’ (สำหรับผม มันมีความหมายค่อนไปทางไม่ดี) คือคิดอะไรได้อย่างแรกก็ใส่ไปตรง ๆ แบบนั้น และถ่ายทำตรง ๆ แบบนั้น นักแสดงเองก็เลยขาดทางเลือกในการสร้างสรรค์การแสดงของเขา กล้องเองก็คงไม่รู้จะเล่นอะไรมากกว่ามุมมาตรฐาน และผู้ชมก็ไม่รู้จะรู้สึกอะไรมากไปกว่า อืม โอเค นี่คือคนกำลังแสดงความเป็นห่วงต่อกัน นี่คือตื่นเต้นนะ นี่คือตลกนะ แต่มันไม่ได้กระตุ้นอะไรมากไปกว่านั้น นั่นอาจเป็นเพราะเขาตั้งใจที่จะไม่ดรามามากเกินไปเพื่อคงความคล้ายสารคดีเอาไว้ แต่นั่นเองเช่นกัน ก็คือสิ่งที่ผมมองว่าทำไม่สำเร็จ เพราะเราไม่ได้ทั้งข้อมูลและความรู้สึก The Cave นางนอน (2019): มีอะไรอีกนอกจากผู้ว่าฯ กับผู้กำกับฯ เถียงกัน ราชการ คนไทย อาณานิคม การเมืองในนางนอน First Idea ยังรวมไปถึงการแสดงให้เห็นภาพของข้าราชการไทยที่ทำงานล่าช้า ไม่เป็นไปตามขั้นตอนด้วย การวิจารณ์รัฐราชการและข้าราชการไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องท้าทายอย่างที่มันเป็นดรามาบนโลกออนไลน์เลย มันมีมาแล้วเป็นร้อยปี เป็นเรื่องที่ทุกคนแทบจะเห็นตรงกันทั้งโลกแม้แต่ข้าราชการเอง มิหนำซ้ำผมยังคิดว่าหนังเรื่องนี้ยังแสดงถึงสิ่งนี้ได้ไม่ดีพอด้วยซ้ำ เพราะทำให้เรารู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ตัวบุคคลของข้าราชการแต่ละคน ทั้งที่จริงแล้วหนังสามารถแสดงให้เราเห็นว่า ข้าราชการต้องแสดงออกแบบนั้นเพราะมีโครงสร้างที่ล้มเหลวควบคุมบังคับเขาอยู่เช่นกัน กล่าวคือ ราชการเองก็ซับซ้อนและหลากหลายกว่าที่เราเห็นในหนัง  ต้องยอมรับว่าที่สุดแล้วราชการและคนไทยเองก็มีส่วนทำให้เรื่องนี้ผ่านพ้นไปได้ไม่มากก็น้อย (ซึ่งหนังก็แสดงให้เห็น แต่ไม่เป็นที่พูดถึง) ความสำเร็จจากความร่วมมือทั่วโลกและนานาชาติในกรณีนางนอนเป็นกรณีศึกษาระดับโลก และไม่ได้มีใครน่าจะได้หน้ามากกว่าใครทั้งนั้น ผมไม่ได้จะตัดสินในเรื่องนั้น  แต่เรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างเห็นได้ชัดมากก็คือความหลงตัวเอง หรือการมองเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่างในเรื่องเล่าของคนขาว อย่างที่เราได้เห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้ มันมีท่าทีในภาพรวมเหมือนกับว่าคนไทยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้ตัวเองเละเทะ และต้องการให้ฝรั่งมาช่วย ต้องมีศูนย์บัญชาการของเขาเท่านั้นเหตุการณ์นี้ถึงจะผ่านพ้นไปได้ (ในขณะที่ตัวละครนักดำน้ำชาวจีนมาคนเดียว และทำตัวน่ารัก ๆ ถ่ายรูปกับหมูป่า สอนดำน้ำ แล้วเดินไปมา แน่นอนว่าถ้าผู้กำกับจีนทำหนังเรื่องนี้ ตัวละครตัวนี้คงออกมาเป็นอีกคนหนึ่งไปเลย ไม่น่ารักขนาดนี้แน่) นี่เป็นข้ออ้างหลัก หรือ scenario หลักที่เขาใช้กันเวลาจะเข้าไปล่าอาณานิคม แต่ผมก็ถามตัวเองก่อนที่จะวิจารณ์ว่าหนังเรื่องนี้ว่ามันคล้ายการล่าอาณานิคม ว่า เออ ซึ่งก็จริงไหมวะ? ทำไมก็ไม่รู้จู่ ๆ ก็เกิดความรู้สึกว่า คนไทยรับมือกับตัวเองไม่ได้จริง ๆ แล้วใครสักคนก็ได้มาช่วยกูทีเถอะ  ตามสิ่งที่เราเรียนกันมาในสายสังคมศาสตร์ หากเราเริ่มเห็นสายตาแบบล่าอาณานิคมแบบนี้ เราจะต้องวิจารณ์สับเละว่าตะวันตกเข้ามาแทรกแซง มาหาผลประโยชน์ ฯลฯ แต่สำหรับในครั้งนี้ ทำไมก็ไม่รู้ ผมมองไปรอบ ๆ แล้วก็รู้สึกว่า เอกราชที่เรามีอยู่ ไม่ได้เป็นเอกราชแบบที่ใครใฝ่ฝันถึงสักเท่าไร พูดยากที่จะบอกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ยุติธรรมกับคนไทย เพราะอยู่มาวันหนึ่ง คนไทยก็เริ่มมองตัวเองแบบนั้นเช่นกัน  ‘คนไทย’ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นตัวปัญหาและตัวตลกเสียมาก น่าอาย แต่ทำไมก็ไม่รู้ ผมดันเกิดความรู้สึกเห็นด้วยขึ้นมา เหมือนมันไม่ใช่การเหยียดอะไรทั้งนั้น มันก็เป็นความจริงมุมหนึ่งของมันอย่างนั้น เช่นที่หนังเขามองว่าประยุทธ์เป็นตัวตลก นั่นก็จริง แค่มีนักแสดงออกมาแสดงเป็นเขา มันก็กลายเป็นฉากที่ตลกที่สุดในเรื่องแล้ว ก็ความจริงมันก็เป็นแบบนั้น เหมือนอยากจะโกรธ แต่ไม่รู้จะโกรธอะไร ที่ประเทศตัวเองถูกพูดถึงแบบนี้ แต่ก็ไม่รู้จะโกรธอะไรกันแน่  The Cave นางนอน (2019): มีอะไรอีกนอกจากผู้ว่าฯ กับผู้กำกับฯ เถียงกัน แต่สิ่งที่โกรธในเรื่องนี้  มีอยู่ฉากเดียวที่ผมโกรธอย่างเป็นจริงเป็นจัง นั่นคือฉากที่มีคนนำเงินชดเชยค่าสูบน้ำจากถ้ำออกมาท่วมเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน แล้วชาวบ้านปฏิเสธที่จะรับเงิน ฉับพลันทันใดก็มีเพลงไพเราะราวปาฏิหาริย์ขึ้น ชาวบ้านน้ำตาคลอ เอาเงินไปเถอะ ข้าวเดี๋ยวก็ปลูกใหม่ได้ อยากให้เด็ก ๆ ปลอดภัยมากกว่า แน่นอนว่าความเสียสละเป็นสิ่งที่ดี แต่ผมไม่เห็นด้วยที่จะมาโรแมนติกกับเรื่องแบบนี้ แล้วเงินไปไหน หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น ชาวบ้านอยู่กันยังไงหลังจากฉากโรแมนติกแห่งความเสียสละ หลังสื่อมวลชนกลับมาจิบไวน์กันที่กรุงเทพฯ ทอม ถ้านั่นเป็นที่นาของผม ผมจะรับเงิน ให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ทุกคน ขอบคุณที่มีคนสำนึกและทำสิ่งที่ถูกต้องอย่างการจ่ายเงินชดเชยเมื่อบ้านเราได้รับผลกระทบจากการกู้ภัย ผมจะไหว้พระขอพรให้เด็กปลอดภัยเช่นกัน แต่ผมจะรับเงินเหล่านั้น ทอม ประเทศนี้พอแล้วกับการที่สื่อจะร้องขอและสร้างค่านิยมให้เราเชิดชูการเสียสละเพื่อส่วนรวม เราต้องการความถูกต้อง รัฐที่รับผิดชอบในการกระทำและดูแลพวกเราอย่างที่พวกเราจ่ายเงินดูแลมัน ประเทศนี้พอแล้วกับการผลักภาระความรับผิดชอบทุกอย่างให้กับประชาชน แล้วทำสื่อออกมาเชิดชูขอบคุณพวกเรา ผมคนหนึ่งที่ไม่เอาด้วย พอแล้วกับความโรแมนติกบนความไม่เป็นธรรม ภาพยนตร์ของคุณ โดยที่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ได้บังเอิญทำหน้าที่สนับสนุนสิ่งเหล่านี้ สนับสนุนให้คนไทยยินยอมพร้อมใจ รู้สึกปกติกับการถูกเอาเปรียบ และสนับสนุนให้คนที่ทักท้วงทวงสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองต้องรู้สึกผิด สิ่งเหล่านี้ที่คนไทยต้องหลุดพ้นออกไปได้แล้ว  โดยสรุปแล้ว ในฐานะผู้บริโภคอิสระคนหนึ่ง นี่เป็นหนังที่แนะนำสำหรับนักเล่าเรื่องหรือคนทำหนัง นักเรียนรู้ที่อยากจะวิเคราะห์ปัญหาในการเล่าเรื่อง คนที่ต้องการกรณีศึกษาในการเล่าเรื่อง แต่ไม่ใช่หนังที่แนะนำให้ดูเพื่อความบันเทิง หรือใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมถึงยังไม่ใช่หนังที่แนะนำให้ดูเพื่อเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากสนใจภาพยนตร์ของ ทอม วอลเลอร์ เพชรฌฆาต (2014) อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า   เรื่อง: วริศ ลิขิตอนุสรณ์