ครูเคลมองต์ มาติเยอร์ ภาพยนตร์ The Chorus: ผู้ใหญ่สมัยนั้นที่เด็กสมัยนี้มองหา

ครูเคลมองต์ มาติเยอร์ ภาพยนตร์ The Chorus: ผู้ใหญ่สมัยนั้นที่เด็กสมัยนี้มองหา
วลี “เด็กสมัยนี้” เริ่มฮิตจากการที่เด็กเจเนอเรชันใหม่ก้าวเข้าไปสู่สังคมการทำงาน และยิ่งกลายเป็นคำที่ได้ยินกันหนาหูเมื่อเด็กรุ่นใหม่เริ่มพยายามส่งเสียงและความคิดของตัวเองให้ดังขึ้นในปัจจุบัน ช่องว่างระหว่างวัย ค่านิยม ความเชื่อและโลกที่เติบโตมาคนละใบทำให้การปะทะกันระหว่างเจเนอเรชันกลายเป็นสิ่งที่เราเห็นได้บ่อย ๆ และในความขัดแย้งนี้เอง ที่ทำให้เราเริ่มมองย้อนกลับไปว่า แล้วผู้ใหญ่แบบไหนกัน ที่เหมาะกับธรรมชาติของเด็กสมัยนี้  หนึ่งในผู้ใหญ่ที่เราคิดถึง คือ ผู้ใหญ่ที่ชื่อว่า เคลมองต์ มาติเยอร์ จากหนังฝรั่งเศสเก่า ๆ เนื้อหาอุ่น ๆ อย่างเรื่อง The Chorus (2004) The Chorus เล่าถึงเรื่องราวของเคลมองต์ มาติเยอร์ อดีตนักดนตรีตกอับ ที่จับพลัดจับผลูได้มาเป็นครูแนะแนวในโรงเรียนชื่อ ฟองด์เดอเลตอง (Fond de l'Étang - ภาษาไทยแปลว่า ก้นบ่อน้ำ) โรงเรียนดัดสันดานแห่งหนึ่งในชนบทของฝรั่งเศส เรื่องราวในหนังมีฉากหลังเป็นฝรั่งเศสในยุค 1940 เด็ก ๆ ในโรงเรียนฟองต์เดอเลตองเป็นผลลัพธ์ของสงครามโลกที่เพิ่งผ่านพ้นไป หลายคนไม่มีครอบครัว หรือถ้ามีครอบครัว ก็เป็นครอบครัวที่ต้องดิ้นรนกับสภาพเศรษฐกิจหลังภาวะสงคราม เคลมองต์เดินทางมาถึงโรงเรียนแห่งนี้ด้วยความไม่คาดหวังอะไร เพียงแต่มองว่ามีงานทำก็ยังดีกว่าไม่มี  ทันทีที่เขามาเป็นครูในโรงเรียนแห่งนี้ เคลมองต์ต้องเผชิญหน้ากับความแสบสันของบรรดานักเรียนในโรงเรียนชายล้วน อีกทั้งเพื่อนครูและครูใหญ่เองก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเขาในฟองด์เดอเลตองราบรื่นขึ้นแต่อย่างใด ตลอดเรื่อง เราเห็นความพยายามของเคลมองต์ที่จะเอาชนะใจเด็ก ๆ และสุดท้าย เขาใช้ดนตรีเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็ก ๆ เหล่านี้ไปตลอดกาล  โดยรวมเป็นหนังที่เนื้อหาเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน (ขออนุญาตไม่สปอยล์ไปมากกว่าที่ทำอยู่ และแนะนำให้ผู้อ่านไปลองดูหนังเรื่องนี้ด้วยกัน) แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากหนังเรื่องนี้ คือ บุคลิกของตัวเคลมองต์เอง เขาเป็นตัวละครที่มีบุคลิกเรียบง่าย ดูจะเป็นมนุษย์รักสงบ แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อมองให้ลึกลงไปกว่าความละมุนละไมและเพลงประกอบหนังเพราะ ๆ จะเห็นว่า ตัวละครที่ชื่อเคลมองต์ มาติเยอร์มีลักษณะพิเศษของผู้ใหญ่ที่เราเชื่อว่าเด็กสมัยนี้จำนวนไม่น้อยกำลังมองหา ผู้ใหญ่ที่รับฟังและทำความรู้จักก่อนจะตัดสิน เข้าโรงเรียนมาวันแรก เคลมองต์ก็เจอภารโรงของโรงเรียนในสภาพเลือดตกยางออก เพราะกับดักแผลง ๆ ที่เด็กคนหนึ่งวางไว้เพื่อแกล้งครูในโรงเรียน ครูที่ทำงานอยู่ก่อนเคลมองต์เตือนเขาว่า เด็กในโรงเรียนนี้ต้องใช้ไม้แข็งเข้าปรามเท่านั้น ภาพของคุณครูคนเก่าเก็บกระเป๋าไป ปากร่ายถึงชื่อของเด็ก ‘ตัวแสบ’ ในโรงเรียนให้เขาฟังไปด้วยยังเป็นฉากจำติดตา คงจะไม่แปลกหากเคลมองต์ ผู้ซึ่งเพิ่งก้าวเข้ามาในโรงเรียนได้ไม่ถึงสามชั่วโมง แต่กลับเจอเรื่องราวเยอะขนาดนี้จะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองได้เห็น เด็กในโรงเรียนฟองด์เดอเลตองล้วนแล้วแต่เป็นเด็กที่เคยทำความผิดอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่างฝ่าฝืนกฎระเบียบ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ อย่างการขโมยของหรือทำให้คนอื่นได้รับบาดเจ็บ แทนที่จะตามน้ำไปโดยการตอบโต้กับเด็กด้วยวิธีการ ‘แรงมา แรงกลับ' อย่างครูคนอื่นในโรงเรียน เคลมองต์กลับเลือกทำสิ่งตรงกันข้าม เขาใช้เวลาทำความรู้จักกับเด็ก ๆ เหล่านี้ก่อน และเมื่อเราเห็นเด็กคนไหนทำอะไรผิด สิ่งที่เคลมองต์ทำ คือ การนั่งคุยกับเด็กและถามถึงเหตุผล เขาให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสในการพูดและอธิบายถึงสิ่งที่ตัวเองทำ และในขณะที่เด็ก ๆ พูด เขาก็รับฟังและพยายามทำความเข้าใจโลกผ่านมุมมองที่เด็กมอง ช่วยขบคิดต่อถึงวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไปด้วยกันกับเด็ก ๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่บรรดานักเรียน ผู้เคยรุมแกล้งเขา จะเปลี่ยนมามอบทั้งความรักและความไว้วางใจให้กับครูคนนี้ยกชั้น ครูเคลมองต์ มาติเยอร์ ภาพยนตร์ The Chorus: ผู้ใหญ่สมัยนั้นที่เด็กสมัยนี้มองหา ผู้ใหญ่ที่เชื่อว่า “แรงมา (ไม่จำเป็นต้อง) แรงกลับ” ด้วยความทโมนผสมกับพฤติกรรมที่มีแนวโน้มจะเอนไปทางรุนแรงของนักเรียนในโรงเรียนดัดสันดาน ครูใหญ่และเพื่อนครูคนอื่นในโรงเรียนจึงเลือกยึดคติ ‘แรงมา แรงกลับ’ ในการรับมือกับความดื้อ ความซนและความวุ่นวายใด ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเสมอมา เด็ก ๆ ที่เคยชินกับความรุนแรงกลับกลายเป็นรู้สึกชินชาและมองว่าการใช้ความรุนแรงเหล่านี้นั้นกลายเป็นเรื่องปกติ ความวุ่นวายในโรงเรียนและสภาวะไร้ระเบียบจึงดำเนินต่อไป ตัวเคลมองต์เองก็ได้รับการเตือนมาจากเพื่อนร่วมงานทุกคนถึงการจัดการกับเด็ก ๆ ด้วยวิธีการดังกล่าว แต่เพราะมองว่าวิธีการเดิมไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น เขาจึงเลือกใช้วิธีการตรงกันข้าม เปลี่ยนจากการแก้การกระทำแรง ๆ ด้วยการจัดการที่แรงกว่า มาเป็นการใช้ความใจเย็นและวุฒิภาวะในการรับมือกับเด็ก ๆ หลังจากที่เคลมองต์เข้ามาอยู่ในโรงเรียนได้ไม่นาน เขาก็แอบไปได้ยินเด็กๆ ร้องเพลงด่าเขา แต่แทนที่จะโกรธและเลือกลงโทษเด็กที่ล้อเลียน เขาเลือกใช้ดนตรีมาลดความคะนองของเด็กเหล่านี้แทน เคลมองต์กลับมาเขียนเพลงเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ใช้ร้องประสานเสียง และในช่วงของการฝึกร้องเพลง เขาถือโอกาสนี้เป็นการฝึกให้เด็ก ๆ หัดอยู่ในระเบียบวินัยไปด้วยในเวลาเดียวกัน ดนตรีไม่เพียงแต่เปิดโลกใหม่ให้เด็ก ๆ ในโรงเรียนฟองด์เดอเลตอง แต่ยังช่วยกล่อมเกลาให้จิตใจของเด็ก ๆ เหล่านี้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน  ผู้ใหญ่ที่มองว่ามีหนทางทำให้ทุกอย่างดีกว่าที่เป็นได้ “คุณมีทางเลือกที่ทำให้ที่นี่ดีกว่านี้ได้ครับ เด็กพวกนั้นต่างหากที่ไม่มี” ประโยคของเคลมองต์ที่เถียงกลับต่อครูใหญ่ ผู้เผลอหลุดปากออกมาว่า ตนไม่ได้มีทางเลือกเยอะ และสภาพโรงเรียนดัดสันดานแบบที่เป็นอยู่คือสภาพที่ดีที่สุดแล้วที่ตนทำได้ แม้จะเป็นคนรักสงบ เรามองเห็นถึงความไม่ยอมจำนนกับสภาพโรงเรียนที่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ เป็นผู้เป็นคนที่ดีขึ้นหรือมีสภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมในประโยคสั้น ๆ จากปากของเคลมองต์ มาติเยอร์  สิ่งที่เราเห็นในเรื่องคือความพยายามของเคลมองต์ในการทำให้สภาพชีวิตของเด็ก ๆ ในโรงเรียนฟองด์เดอเลตองดีขึ้น ความพยายามของเคลมองต์อาจไม่ใช่ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงผ่านการลุกขึ้นมาต่อต้านครูใหญ่หรือล้มล้างการลงโทษเด็ก ๆ ที่รุนแรงอย่างเปิดเผย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็ก ๆ ในแบบที่ตัวเองทำได้ นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็ก ๆ แล้ว เขาจุดประกายความหวังในการใช้ชีวิตที่ดีกว่าเดิมของเด็กในโรงเรียนก้นบ่อน้ำแห่งนี้ด้วย ในท้ายที่สุด เคลมองต์ มาติเยอร์ก็เป็นเพียงนักดนตรีตกอับ ที่จับพลัดจับผลูมาเป็นครูแนะแนว เป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์ผู้ใหญ่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากภาพยนตร์ฟีลกู๊ดสัญชาติฝรั่งเศสที่แสนจะธรรมดา แต่ในความธรรมดาของเคลมองต์นี่เอง ที่มีคุณสมบัติที่เด็กสมัยนี้หลายคนพยายามมองหาจากผู้ใหญ่สมัยนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่สมัยนี้หรือผู้ใหญ่สมัยไหน ๆ ผู้ใหญ่ที่รับฟัง เข้าใจและไม่สิ้นหวังก็เป็นผู้ใหญ่เท่ ๆ ที่เด็กทุกยุคตามหาอยู่เสมอ  Reference: ภาพยนตร์เรื่อง The Chorus (Les Choristes) (2004) เรื่อง: ณัฐมน เกตุแก้ว