เบื้องหลังเพลง ‘Hotel California’ โดย The Eagles และที่มาของ ‘โรงแรมผี’ ที่คุณหนีออกไม่ได้

เบื้องหลังเพลง ‘Hotel California’ โดย The Eagles และที่มาของ ‘โรงแรมผี’ ที่คุณหนีออกไม่ได้

เพลง ‘Hotel California’ โดย ดิ อีเกิลส์ (The Eagles) ถือเป็นอีกหนึ่งเพลงอมตะตลอดกาล มีทำนองเพลงที่งดงาม และท่อนโซโล่กีตาร์ที่จัดจ้าน อีกหนึ่งองค์ประกอบที่โดดเด่นในเพลงคือความหมายของเนื้อหา ซึ่งดูจะมีการตีความไปต่าง ๆ นานา

  • เพลง Hotel California คืออีกหนึ่งบทเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของวงการดนตรี การันตีด้วยความสำเร็จมากมาย
  • เสน่ห์อย่างหนึ่งของบทเพลงคือเนื้อหาที่พูดถึงในเนื้อร้องซึ่งมักถูกตีความกันไปต่าง ๆ นานา 

เพลง ‘Hotel California’ จะมีอายุครบ 44 ปี ในปี ค.ศ. 2021 นับจากวันออกวางขายครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1977 ผลงานของพญาอินทรีแห่งวงการดนตรี ดิ อีเกิลส์ (The Eagles) ในยุคเปลี่ยนผ่านที่สมาชิกเก่า เบอร์นี เลียดอน ลาออก แล้วมีสมาชิกใหม่ โจ วอลช์ มาแทนที่ 

วรรคทองของเพลงนี้ หนีไม่พ้นประโยคที่ว่า (ที่นี่เป็นโรงแรมที่) “คุณเช็คเอาท์เมื่อใดก็ได้ตามใจปรารถนา แต่คุณไม่มีวันหนีออกไปได้เป็นอันขาด” (you can check out anytime you like, but you can never leave) ด้วยเนื้อหาชวนให้ฉงน จึงเป็นที่มาของการตีความที่แตกต่างและหลากหลายแง่มุม ตามแต่พื้นฐานของคนฟัง

นับตั้งแต่เรื่องของโรงแรมผีหลอก, การเสพติดเซ็กซ์, การหลุดไปในอาณาจักรของยาเสพติด แม้กระทั่งการเสียดสีเย้ยหยันวงการเพลง สืบเนื่องจากความสำเร็จจนเด่นดังมีชื่อเสียง ซึ่งทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนกับ ‘กับดักแห่งฝันร้าย’ ที่ไม่มีใครหลุดรอดออกไปได้

ในคำนำหนังสือ พญาอินทรี ดิ อีเกิลส์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ คอหนังคอเพลง จิตติ พัวสุทธิ ถอดความจากคำร้องของเพลงบทแรกไว้ว่า

“บนท้องถนนกลางทะเลทรายอันมืดมิด
สายลมเย็นยะเยือกกรรโชกเส้นผมของฉัน
โคลิตาสกรุ่นกลิ่นหอมละมุนละไม อบอวลกระจายอยู่ในบรรยากาศ
มองออกไปตามเส้นทางเบื้องหน้า ฉันเห็นแสงรำไรริบหรี่
หัวของฉันหนักขึ้นหนักขึ้น และดวงตาของฉันก็แทบจะลืมไม่ขึ้นทุกที
เห็นทีฉันจะต้องหาที่พักสำหรับคืนนี้เสียแล้ว...” 

จากความหมายเชิงกายภาพของโรงแรม ซึ่งหมายถึงพื้นที่เฉพาะเจาะจง ทำให้มีการตีความเนื้อหาของเพลงเพิ่มเติมว่า น่าจะหมายถึงโรงพยาบาลโรคจิตแห่งหนึ่ง ชื่อ ‘คามาริลโล สเตท เมนทอล ฮอสพิทอล’ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสภาพคล้า ยๆ กับ ‘หลังคาแดง’ หรือ โรงพยาบาลบ้านสมเด็จฯ ของไทยเราดี ๆ นี่เอง

สำหรับโรงพยาบาล คามาริลโลฯ เป็นที่รู้จักกันดี เพราะครั้งหนึ่ง ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ตำนานแจ๊สคนสำคัญเคยถูกส่งตัวมารักษาที่นี่นานหลายเดือน ช่วงที่เขาสติแตกเพราะขาดยาเสพติด ระหว่างการเดินทางไปเล่นดนตรีที่นครลอสแองเจลิส ปัจจุบัน โรงพยาบาลแห่งนี้ปิดตัวลงแล้ว และต่อมาถูกบูรณะให้กลับมาเปิดใช้อีกครั้ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สเตท, แชนแนล ไอส์แลนด์

ในภาคดนตรีของ ‘Hotel California’ เป็น ‘สโลว์ ร็อค’ ที่มีท่วงทำนองงดงาม ทางเดินคอร์ดสวยตามสูตร Power Chord โดยไฮไลท์ของเพลงนี้จะอยู่ตรงท่อนกีตาร์โซโลกลางเพลง ที่เป็นการประชันฝีมือระหว่าง ดอน เฟลเดอร์ และ โจ วอลช์ ซึ่งจัดให้เป็น ‘มาสเตอร์พีซ’ ที่คนฝึกหัดกีตาร์ทั้งหลายพยายามฝึกปรือไปให้ถึง 

‘Hotel California’ เป็นผลงานแต่งร่วมกันของสมาชิกในวง เริ่มจาก ดอน เฟลเดอร์ คนทำภาคดนตรีในฐานะ ‘สารตั้งต้น’ จากนั้นมี ดอน เฮนลีย์ และ เกล็นน์ ฟราย ร่วมเพิ่มเติมคำร้องให้สมบูรณ์ขึ้น แรกเริ่มนั้น เป็นที่เรียกขานกันภายในวงว่า Mexican Reggae ดังที่ ดอน เฟลเดอร์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า 

“ตอนผมเขียนส่วนดนตรีของเพลงนี้ครั้งแรก ผมใส่มันไว้ในเทปแคสเซ็ตต์ ซึ่งมีไอเดียของเพลงอื่น ๆ รวมอยู่ด้วยราว 16-17 เพลง โดยในจำนวนนั้น มีเพลงอีกเพลงที่กลายมาเป็นเพลง Victim of Love แล้วผมก็ก๊อปปี้เทปแคสเซ็ตต์นี้ ส่งให้ โจ วอลช์, เดน เฮนลีย์, เกล็นน์ ฟราย และ แรนดี ไมส์เนอร์”

“ผมแจ้งว่า ‘ถ้ามีเพลงไหนในแคสเซ็ตต์นี้ ที่พวกแกอยากจะเอามาทำเพลงต่อ ก็โทรมาบอกให้ข้ารู้ด้วย’  แล้วเฮนลีย์ก็เอ่ยขึ้นว่า ‘ข้าชอบเพลงนั้นว่ะ เพลงที่มีซาวด์แบบเม็กซิกันเร้กเก้’ นั่นคือคำบรรยายที่มาจากจินตภาพของเขา และต่อมาเราก็เริ่มต้นคุยถึงมัน และเขา(เฮนลีย์)ก็มาพร้อมกับกรอบการทำงาน กำหนดคำร้องให้มีคำว่าโฮเต็ลเป็นโครงสร้าง เรียกมันว่าโฮเต็ลแคลิฟอร์เนีย ซึ่งจริง ๆ มันไม่มีหรอกชื่อโรงแรมนี้ มีแต่ เดอะ เบเวอร์ลีย์ ฮิลล์ส โฮเต็ล ตรงย่านซันเซ็ต (บูเลอวาร์ด) ซึ่งกลายมาเป็นอาร์ตเวิร์กปกอัลบั้มนั่นแหละ”

ส่วน ดอน เฮนลีย์ เจ้าของแนวคิดหลักในบทเพลงนี้ เคยกล่าวถึงปฏิกิริยาจากมิตรรักแฟนเพลงว่า “การตีความอย่างดิบเถื่อนที่มีต่อเพลงนี้ถือว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อยิ่งนัก เอาเข้าจริง ๆ เพลงนี้มันเกี่ยวกับพฤติกรรมเกินขอบเขตในด้านมืดของวัฒนธรรมอเมริกัน และบรรดาสาว ๆ จำนวนหนึ่งที่พวกเรารู้จักมากกว่า แต่มันก็ยังคงเกี่ยวข้องกับความสมดุลที่ไม่เข้าที่ระหว่างงานศิลปะและงานเชิงพาณิชย์ด้วย”

เนื้อหาของเพลงบอกถึงประสบการณ์ของการใช้ชีวิตในโรงแรมที่มีปริศนาแทรกอยู่ในแต่ละบทตอน ไม่ว่าจะเป็นการรำพึงของเจ้าตัว ตอนเช็คอินว่า “นี่อาจจะเป็นสวรรค์หรือนรกก็ได้” , ฉากของการเริงรำที่ร้อนแรง ชวนให้นึกถึงเพศรส, กระจกเงาบนเพดาน, แชมเปญสีชมพูแช่น้ำแข็ง (Pink Champagne ซึ่งน่าจะหมายถึง Rose Champagne) งานเลี้ยงในห้องโถง ที่ลงเอยด้วยการใช้มีดเหล็กกล้าแทงกัน แต่ไม่มีใครตาย (คำร้องใช้คำว่า steely knives ซึ่งบ่งบอกถึงนัยความสัมพันธ์กับ Steely Dan ที่สนิทสนมกับวง เพราะใช้ผู้จัดการวงคนเดียวกัน) 

หรือฉากจบที่สะท้อนถึงการท่องไปกับโอสถหลอนจิต และพยายามมองหาหนทางกลับ (passage back) แต่ต้องมาพบกับทางตัน ซึ่งเป็นบทสรุปของ กับดักแห่งฝันร้าย ในที่สุด

นอกจาก ดอน เฮนลีย์ แล้ว เกล็นน์ ฟราย จัดเป็น ‘มาสเตอร์มายด์” ของเพลงนี้ เพราะเขาเป็นเจ้าของแนวคิดที่ว่า “ความคลุมเครือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังของนักแต่งเพลงเสมอ” 

และแน่นอนทีเดียวว่า เนื้อหาของ Hotel California คือองค์ประกอบของความคลุมเครือที่สร้างสุนทรียภาพ กระตุ้นให้เกิดความคิดและจินตนาการเป็นอย่างยิ่ง แม้กระทั่งจินตนาการในเรื่องของ ‘โรงแรมผีสิง’ ที่หลอนจิตใจของคนฟังทั้งโลกมานานกว่า 4 ทศวรรษ 

นอกจาก ออริจินัล เวอร์ชันที่อัดในปี ค.ศ. 1976 (ที่ได้รับรางวัลแกรมมีอะวอร์ด ในสาขา ‘ผลงานยอดเยี่ยมแห่งปี’ (Record of the Year) ในปี ค.ศ. 1978 ซึ่งพวกเขาตัดสินใจไม่เดินทางไปร่วมงาน) ดิ อีเกิลส์ ยังบรรเลง Hotel California ในเวอร์ชันต่าง ๆ อีกหลายเวอร์ชันด้วยกัน เช่น เวอร์ชันบันทึกการแสดงสดปี ค.ศ.1980 และอัลบั้ม Hell Freezes Over ที่เป็นเวอร์ชันอันปลั๊ก จากการแสดงสดที่ MTV โดยมีสถิติบันทึกไว้ว่าพวกเขาบรรเลงสดเพลงนี้ ไม่ต่ำกว่า 1,000 ครั้ง จัดเป็นเพลงฮิตที่บรรเลงบ่อยที่สุด เป็นอันดับที่ 3 ต่อจากเพลงฮิต Desperado และ Take it Easy

ความยิ่งใหญ่ของ Hotel California ยังสะท้อนจากการที่มีศิลปินคนอื่น ๆ นำเพลงนี้ไปร้องบรรเลง แม้จะไม่มากนัก ทั้งนี้ เป็นเพราะลายเซ็นอันเด่นชัดของ ดิ อีเกิลส์ นั่นเอง แต่มีเวอร์ชันอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ฝีมือการบรรเลงของวง ยิปซี คิงส์ และ ริธึม เดล มุนโด ฟีเจอริ่ง เดอะ คิลเลอร์ส 

Hotel California เป็นเพลงยอดฮิตที่ผู้คนรู้จักกันทั้งโลก จากวันวานตราบจนวันนี้ สุ้มเสียงทางดนตรีของเพลงนี้ได้สถาปนาความเป็น ‘คันทรี ร็อค’ ที่หนักแน่นให้แก่ ดิ อีเกิลส์ ให้ติดอยู่ในกลุ่มบทเพลงที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล ทั้งจากการจัดอันดับของนิตยสาร เดอะ โรลลิง สโตน และทำเนียบเกียรติยศ ร็อค แอนด์ โรล ฮอลล์ ออฟ เฟม 

 

อ้างอิง:

https://abcnews.go.com

songfacts

Ultimate Classic Rock

Genius