‘The Famine Memorial’ อนุสรณ์แห่งความอดอยากที่เกิดจากโรคระบาดในพืช หรือนโยบายของภาครัฐ ?

‘The Famine Memorial’ อนุสรณ์แห่งความอดอยากที่เกิดจากโรคระบาดในพืช หรือนโยบายของภาครัฐ ?
รูปปั้นมนุษย์ร่างผอมโซราวกับโครงกระดูกเดินได้ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ คืออนุสรณ์สถานแห่งความอดอยาก (The Famine Memorial) ฝีมือประติมากรนามว่า โรวัน กิลเลสปี (Rowan Gillespie) สร้างขึ้นในปี 1997 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ชาวไอริชสูญเสียประชากรนับล้านเพราะความกันดารและความหิวโหย ใบหน้าอันเศร้าสลด ทนทุกข์ และปวดร้าวในรูปปั้นเหล่านี้ ไม่ได้ดูเกินจริงแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับเรื่องราวชีวิตอันยากไร้และความอดอยากครั้งใหญ่ที่ชาวไอริชต้องเผชิญ   ชีวิตชาวไอริชผู้ยากไร้ ราวปี ค.ศ. 1800 ไอร์แลนด์เป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในซีกโลกตะวันตก ประชากรชาวไอร์แลนด์กว่า 8 ล้านคน มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่สามารถอ่านออกเขียนได้  ในยุคสมัยนั้น ไอร์แลนด์ต้องส่งผลผลิตไปยังเกาะบริเตนใหญ่ รวมทั้งมีกฎหมายกำหนดอัตราภาษีสูงลิ่วสำหรับเมล็ดพันธ์ุที่นำเข้าจากประเทศอื่น นั่นหมายความว่าผู้คนจำเป็นต้องใช้ที่ดินสำหรับการเพาะปลูกและดำรงชีพมากขึ้น กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จึงเป็นผู้ถือครองที่ดินในไอร์แลนด์ ทั่วไอร์แลนด์มักจะมีพ่อค้าคนกลางเช่าที่ดินจำนวนมากในชุมชนต่าง ๆ แล้วแบ่งย่อยที่ดินเป็นส่วนเล็ก ๆ ให้ชาวนาคาทอลิกแสนยากจนเช่า ตามกฎหมายแล้วหากผู้เช่าปลูกสร้างบ้านหรือที่อยู่ชั่วคราวบนพื้นที่เหล่านั้น ท้ายที่สุดจะกลายเป็นทรัพย์สินของเจ้าของบ้าน ทั้งยังสามารถขับไล่ผู้เช่าเมื่อใดก็ได้ ชาวไอริชผู้ยากจนจำนวนมากจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา อย่างน้อยก็ที่อยู่อาศัยอันปลอดภัยและมั่นคง พวกเขามักอนุญาตให้คนงานไร้ที่ดินมาอาศัยอยู่ในฟาร์มของตน แลกกับการทำงานบ้านและการช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิตต่าง ๆ  เนื่องจากการปิดกั้นเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ และผืนดินที่ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกมากนัก ทำให้ตัวเลือกของพืชพรรณที่ชาวไอริชปลูกลดน้อยลงเรื่อย ๆ ก่อนจะพบว่าพืชที่เติบโตได้ดีในพื้นที่แห่งนี้คือ ‘มันฝรั่ง’ โดยพวกเขาสามารถเก็บเกี่ยวมันฝรั่งได้ปริมาณมากในพื้นที่น้อย ๆ อีกทั้งมันฝรั่งยังให้ความอิ่มท้องและคุณค่าทางอาหารกับสมาชิกในครอบครัวผู้หิวโหย แต่ชาวไอริชกลับปลูกแค่ไม่กี่สายพันธุ์ และนับว่าพวกเขาพึ่งพามันฝรั่งเป็นอาหารหลักเพียงเท่านั้น เมื่อมันฝรั่งไม่ใช่พืชที่ปลูกและเติบโตได้รวดเร็วตลอดทั้งปี พวกเขาจึงใช้เวลาช่วงรอการเก็บเกี่ยวไปขอทานตามถนนและเรียกช่วงเวลาเหล่านี้ว่า ‘ความหิวกระหายในฤดูร้อน’ (summer hunger)    โรคระบาดในพืชที่กลืนกินชีวิตผู้คน ชีวิตเดิมอันแสนแร้นแค้น และพึ่งพาเพียงมันฝรั่ง ถูกตอกย้ำด้วยสายลมที่พัดเอาเชื้อราเข้ามาในเดือนกันยายน ปี 1845 หลังจากนั้นผลผลิตของพวกเขาได้กลายเป็นโรคใบไหม้ (late blight) ที่ทำให้ใบเขียวชอุ่มของมันฝรั่งเริ่มม้วนงอ เปลี่ยนเป็นสีดำ ส่วนผลมันฝรั่งเริ่มเน่าจนไม่สามารถกินได้  ‘The Famine Memorial’ อนุสรณ์แห่งความอดอยากที่เกิดจากโรคระบาดในพืช หรือนโยบายของภาครัฐ ?

By Daniel MacDonald - https://bit.ly/2SWkD5P 

ภายใต้สภาพความชื้นที่เหมาะสม ต้นมันฝรั่งที่ติดเชื้อเพียงต้นเดียวสามารถแพร่เชื้อได้อีกนับพันในเวลาเพียงไม่กี่วัน และในปี 1846 ถึง 1849 มันฝรั่งของประเทศไอร์แลนด์ถูกทำลายด้วยโรคใบไหม้จนเกือบหมดสิ้น แม้ในอดีตจะเคยพบปัญหาด้านการเพาะปลูกจากสภาพอากาศและปัญหาอื่น ๆ แต่ไม่เคยมีคราวไหนที่โรคระบาดในพืชจะรุนแรงมากถึงเพียงนี้ เมื่อเรื่องราวไปถึงหูนายกรัฐมนตรีเซอร์ โรเบิร์ต พีล เขาคิดจะสนับสนุนการยกเลิกกฎหมายปิดกั้นการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างชาติ แต่เหล่าชนชั้นสูงและนักการเมืองต่างคัดค้านและเชื่อว่าการขาดแคลนอาหารในปี 1845 คงสิ้นสุดลงในการเก็บเกี่ยวปีหน้า พวกเขาจึงแก้ปัญหาแบบเดียวกับที่ผ่านมา นั่นคือการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เช่น การกู้ยืม กองทุนสำหรับแจกจ่ายซุปและการจัดหางานให้คนไปสร้างถนนและงานสาธารณะอื่น ๆ โดยไม่ได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด ที่สำคัญคือไอร์แลนด์ยังต้องส่งออกผลผลิตไปยังเกาะบริเตนใหญ่อยู่เช่นเดิม  ‘The Famine Memorial’ อนุสรณ์แห่งความอดอยากที่เกิดจากโรคระบาดในพืช หรือนโยบายของภาครัฐ ?

By User AlanMc on en.wikipedia - taken by me (AlanMc) in 2006, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1342329

อำลาผืนดินอันสิ้นหวัง เหตุการณ์ทั้งหมดไม่ได้ทุเลาลงแต่อย่างใด เพราะประชากรของไอร์แลนด์ลดลงจากประมาณ 8.4 ล้านคนในปี 1844 เป็น 6.6 ล้านคนในปี 1851 โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคน และอพยพออกจากประเทศอีกนับล้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะอพยพไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา  เรือหลายพันลำแล่นออกจากฝั่งในดับลิน หนึ่งในนั้นคือ ‘the Perseverance’ เรือที่แล่นจากฝั่งในวันเซนต์แพทริก (St. Patrick’s Day) เดือนมีนาคม ปี 1846 ซึ่งมีลูกเรือและผู้โดยสารราว 210 คน พร้อมกัปตันคือ วิลเลียม สก็อตต์ ชาวดับลินวัย 74 ปี ที่พาชาวไอริชเดินทางถึงนิวยอร์กอย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1846 และนับเป็นหนึ่งในเรือไม่กี่ลำที่ออกเดินทางถึงฝั่งโดยที่ผู้โดยสารและลูกเรือยังคงรอดชีวิต ราว 150 ปีต่อมา อนุสรณ์แห่งความอดอยาก (The Famine Memorial) จึงได้ปรากฏขึ้นในดับลิน เพื่อรำลึกถึงความปวดร้าวและบทเรียนในวันเก่าอันสะท้อนถึงปัญหาที่มากกว่าโรคระบาดในพืช แต่ยังรวมถึงการจัดการของผู้มีอำนาจและนโยบายของรัฐบาลที่ชี้ชะตาชีวิตนับล้านของชาวไอริช   ที่มา: https://www.irishcentral.com/travel/famine-memorial-dublin  http://www.dublindocklands.ie/visiting-docklands/things-do/sightseeing/famine-memorial-and-work-poverty-stone https://www.atlasobscura.com/places/famine-memorial  https://www.irishamericanmom.com/famine-memorial-at-ireland-park-toronto/  https://irelandwesttours.com/locations/connemara/connemara-locations/61-national-famine-memorial https://www.britannica.com/event/Great-Famine-Irish-history    ที่มาภาพ By Chmee2 - Own work, CC BY 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=9104101