The Farewell จะเลือกอะไร? ระหว่างคำโกหกที่สบายใจ หรือความจริงที่เจ็บปวด

The Farewell จะเลือกอะไร? ระหว่างคำโกหกที่สบายใจ หรือความจริงที่เจ็บปวด
หากดูจากรายชื่อ ‘หนังรางวัล’ ที่เริ่มประกาศในช่วงปลายปีนี้ จะพบว่ามีหนังเอเชียอยู่ 2 เรื่องที่มีบทบาทสำคัญบนเวทีรางวัลหลายแห่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสาขาหลักอื่น ๆ ด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีเพราะที่ผ่านมาหนังเอเชียถือเป็นลูกเมียน้อยบนเวทีรางวัลเหล่านี้มาตลอด หนังเรื่องแรกก็คือ Parasite หนังเกาหลีใต้เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจากคานส์ ซึ่งหลายคนได้ดูไปแล้วเมื่อช่วงกลางปี 2019 เรื่องที่สองคือ The Farewell หนังจีนที่ได้ชิงลูกโลกทองคำสาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม สาขาหนังตลกและเพลง ที่จริงเราไม่อาจเรียก The Farewell ว่าเป็นหนังจีนได้เต็มปาก เพราะถึงแม้หนังจะดำเนินเรื่องส่วนใหญ่ในจีน, นักแสดงเป็นจีนและพูดจีนแมนดารินเกือบทั้งเรื่อง แต่มันก็มีความเป็นหนังอเมริกันด้วย เนื่องจากทีมงาน ผู้สร้าง ผู้จัดจำหน่ายเป็นอเมริกัน บวกกับหนังเป็นการมองผ่านมุมมองคนอเมริกัน (นางเอก ซึ่งถือเป็นอวตารของผู้กำกับที่ เป็นชาวจีนอพยพและเป็นพลเมืองสหรัฐแล้ว) การที่ The Farewell ไม่ได้อยู่ในฝั่งหนังจีนหรือหนังอเมริกันแบบเต็มตัว แต่เป็นการผสมผสานจากทั้งสองฝั่ง ส่งผลให้มุมมองที่ปรากฏในหนังมีความแปลกใหม่น่าสนใจ The Farewell บอกเล่าเรื่องราวของบิลลี (รับบทโดยอควาฟิน่า) หญิงเชื้อสายจีนวัย 30 ซึ่งย้ายมาอยู่ที่นิวยอร์กกับพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเธอเป็นนักเขียนถังแตกที่พลาดจากการสมัครทุน วันหนึ่งพ่อแม่ของเธอแจ้งข่าวว่าอาม่าของเธอซึ่งอยู่ที่จีนป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายและจะอยู่ได้แค่ไม่กี่เดือน สมาชิกครอบครัวปิดบังเรื่องนี้ไม่ให้อาม่ารู้เพราะกลัวว่าจะทำให้อาการทรุดเร็วขึ้น พวกเขาตัดสินใจจัดงานแต่งงานหลอก ๆ ให้หลานชายของบ้านซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของบิลลี กับแฟนชาวญี่ปุ่น เพื่อเป็นข้ออ้างให้สมาชิกครอบครัวกลับมารวมตัวกันเพื่ออยู่กับอาม่าเป็นครั้งสุดท้าย The Farewell จะเลือกอะไร? ระหว่างคำโกหกที่สบายใจ หรือความจริงที่เจ็บปวด บิลลีเดินทางไปร่วมงานแต่งงานที่จีนด้วยเพราะต้องการไปหาอาม่าที่เธอรัก ถึงแม้พ่อแม่จะคัดค้านเพราะบิลลีเป็นคนเก็บอารมณ์ความรู้สึกไม่เก่งซึ่งอาจทำให้ความลับแตกได้ บิลลีไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของครอบครัวเพราะคิดว่าควรบอกความจริงให้อาม่ารู้ หน้าหนังของ The Farewell ชวนให้คิดถึงหนังฮิตเมื่อปี 2018 อย่าง Crazy Rich Asians ด้วยความที่หนังทั้งคู่ล้วนพูดถึงความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรมระหว่างตะวันตกกับตะวันออก, เหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นช่วงเตรียมงานแต่งงาน, มีนักแสดงอย่างอควาฟิน่าเหมือนกัน จนมีบางคนเรียกหนังเรื่องนี้ ขำ ๆ ว่าเป็น Crazy Middle-Class Asians แต่เอาเข้าจริงแล้วหนังสองเรื่องนี้มีการนำเสนอที่แตกต่างกันคนละขั้ว ในขณะที่ Crazy Rich Asians เป็นหนังโรแมนติกคอเมดีที่เน้นความแฟนตาซีชวนฝันแบบเทพนิยาย แต่ The Farewell เป็นหนังคอเมดีที่ไม่มีโรแมนติกผสมที่ตัวเอกไม่มี love interest เลยตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หนังมีสไตล์แบบหนังอเมริกันอินดี้ทุนต่ำที่มักฉายในเทศกาลหนังซันแดนซ์ (ซึ่ง The Farewell ก็ได้เข้าฉายในเทศกาลนี้ด้วย) นั่นคือ เน้นความสมจริง เรียบง่าย เป็นธรรมชาติ เน้นถ่ายทอดเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน มีความเป็นหนังส่วนตัว ไม่บิลด์อารมณ์ฟูมฟายหรือใส่ดรามาความขัดแย้งมากเกินเหตุ ตัวละครเก็บอารมณ์ความรู้สึก ถึงแม้ The Farewell จะจัดอยู่ในกลุ่มหนังตลก แต่ความตลกของมันไม่ได้มาจากการปล่อยมุกโฉ่งฉ่างแต่มาจากสถานการณ์ผิดที่ผิดทาง เช่น การที่สมาชิกครอบครัวต้องทำตัวรื่นเริงทั้งที่ในใจเศร้าหมอง, การเป็นคนแปลกที่แปลกทางของบิลลี ฯลฯ การที่ The Farewell มีความเป็นหนังส่วนตัวไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจากสร้างมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับ ‘ลูลู่หวัง’ ผู้กำกับ/เขียนบทหนังเรื่องนี้ ซึ่งถึงแม้จะเป็นหนังส่วนตัว แต่ด้วยความที่ประเด็นในหนังมีความเป็นสากลบวกกับมีการนำเสนอที่สมจริง ส่งผลให้ผู้ชมทั่วไปซึ่งต่อให้ไม่ใช่คนจีน ก็รู้สึกอินและมีส่วนร่วมไปกับหนังได้ไม่ยาก โดยเฉพาะคนที่มีประสบการณ์ร่วมกับตัวเอก เช่น คนที่จากบ้านเกิดไปไกลแล้วกลับมางานรวมญาติ, คนที่อยู่ในครอบครัวใหญ่, คนที่มีสมาชิกในบ้านเป็นคนแก่หรือคนที่กำลังเจ็บป่วย ฯลฯ The Farewell จะเลือกอะไร? ระหว่างคำโกหกที่สบายใจ หรือความจริงที่เจ็บปวด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังนั้นเป็นสิ่งที่คนในครอบครัวเชื้อสายจีน รวมถึงครอบครัวชาวเอเชียชาติอื่น ๆ คุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็น การสอบถามสารทุกข์สุขดิบหรือพูดคุยตกลงเรื่องต่าง ๆ บนโต๊ะอาหาร, การไปคารวะหลุมศพผู้ล่วงลับ, การพูดอวดลูกหลานให้คนอื่นฟัง, การทำตัวเป็นแม่สื่อแม่ชักให้ลูกหลาน, การจัดงานแต่งงานให้ออกมาใหญ่อลังการที่สุด, การร้องเพลงคาราโอเกะในงาน, การที่อาม่าแอบเอาซองอั่งเปาให้หลานคนโปรด, การที่คนในครอบครัวไม่ยอมพูดหรือแสดงความรู้สึกว่ารักให้แก่กันจนมารู้ตัวในวันที่สายไป ฯลฯ สำหรับตัวเอกอย่างบิลลีนั้น เธอเป็นคนนอกทั้งต่อ ‘ครอบครัว’ และต่อ ‘ประเทศจีน’ เธอย้ายไปอยู่นิวยอร์กกับพ่อแม่ตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นคนอเมริกันเกือบเต็มตัวทั้งมุมมองความคิดและภาษา แสดงจากเธอพูดภาษาอังกฤษกับพ่อแม่ตลอด แต่ในอีกมุมหนึ่งเธอก็ไม่ลืมความเป็นจีน เธอพูดกับฟังภาษาจีนได้ และยังติดต่อพูดคุยกับสมาชิกครอบครัวที่จีนตลอดโดยเฉพาะอาม่า การใช้ชีวิตในโลกตะวันตกสมัยใหม่แต่ก็ยังมีการยึดติดกับรากเหง้าและวัฒนธรรมจีนแบบที่บิลลีเป็น ถือเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปของ ‘ชาวจีนอพยพในอเมริกา’ ยุคนี้ พวกเขาถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ด้วยจำนวนเกือบ 4 ล้านคน อีกทั้งยังมีประวัติศาสตร์ของตัวเองยาวนานนับ 100 ปี แต่ที่ผ่านมากลับไม่ค่อยมีหนังที่ถ่ายทอดแนวคิดมุมมองของพวกเขาให้ได้เห็นสักเท่าไร ต่างจากหนังที่เกี่ยวกับผู้อพยพอิตาลีที่มีอยู่มากมาย ซึ่ง The Farewell เป็นหนังที่ถ่ายทอดความคิดมุมมองของพวกเขาผ่านตัวละครบิลลีและพ่อแม่ของเธอได้อย่างน่าสนใจ การที่บิลลีกลับมาที่จีนอีกครั้งทำให้เธอพบกับคัลเจอร์ช็อคหลายอย่าง เช่น การทำพิธีกรรมต่าง ๆ, การมีคนไม่คุ้นเคยมาถามเรื่องส่วนตัว ฯลฯ หนึ่งในนั้นก็คือการที่สมาชิกครอบครัวปิดบังเรื่องความเจ็บป่วยไม่ให้อาม่ารู้ ซึ่งในตะวันตกถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควรและอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย นอกจากนั้นบิลลียังมองว่ามันไม่เป็นธรรมกับอาม่า เพราะการที่อาม่าได้รู้ความจริงว่าเวลาในชีวิตเหลือน้อย อาม่าจะได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ไปในที่ที่อยากไป และได้กล่าวคำอำลากับคนที่เธอรัก ในขณะที่ครอบครัวในจีนมองการปิดบังดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ รวมถึงคุณหมอเองก็ตาม (อาม่าเองก็เคยทำแบบเดียวกันนี้ในตอนที่สามีเธอป่วยหนัก) ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวเป็นผลมาจากความเชื่อของคนจีนที่ว่า “สิ่งที่พรากชีวิตไม่ใช่โรคมะเร็ง แต่เป็นความหวาดกลัวของคนไข้” นอกจากนั้นคุณลุงของบิลลียังอธิบายว่า “คนตะวันตกคิดว่าชีวิตเป็นของใครของมัน แต่สำหรับคนตะวันออก ชีวิตของเขาถูกมองว่าเป็นของส่วนรวม” และนั่นทำให้การตัดสินใจดังกล่าวจึงไม่ต่างจากการเสียสละของคนในครอบครัว เพราะพวกเขามองว่ามันคือการที่พวกเขาแบกรับอารมณ์หวาดกลัว เศร้า ความเจ็บปวด ความทุกข์ แทนอาม่านั่นเอง The Farewell จะเลือกอะไร? ระหว่างคำโกหกที่สบายใจ หรือความจริงที่เจ็บปวด คำถามสำคัญที่หนังหยิบยื่นให้คนดูเอากลับไปคิดก็คือ “White Lies” หรือคำโกหกที่เป็นประโยชน์นั้นเป็นสิ่งที่ดีจริงหรือไม่? หนังแสดงให้เห็นถึงประเด็นนี้ตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องในซีนที่บิลลีกับอาม่าโทรศัพท์คุยกัน บิลลีโกหกว่ากำลังใส่หมวกที่อาม่าซื้อให้อยู่ ทั้งที่จริงไม่ได้ใส่ ส่วนอาม่าโกหกว่าเธออยู่ที่บ้าน ทั้งที่จริงอยู่โรงพยาบาล ทั้งคู่พูดโกหกโดยมีจุดประสงค์คือเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกสบายใจ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็คงไม่มีใครขัดข้อง แต่ถ้าคำโกหกนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นความตาย White Lies จะยังถือว่าเป็นประโยชน์และจำเป็นอยู่ไหม? ซึ่งหนังไม่ได้ให้คำตอบชี้ชัดในเรื่องนี้โดยปล่อยให้ผู้ชมกลับไปคิดเอง การที่บิลลีคัดค้านเรื่องการปิดบังความจริงนั้น นอกจากจะเป็นเพราะวิธีคิดแบบตะวันตกแล้ว ยังเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวด้วย เนื่องจากตอนเด็ก ๆ เธอต้องย้ายไปอยู่อเมริกาโดยไม่ทันได้รู้ล่วงหน้า จนไม่มีโอกาสบอกลาคนที่เธอรู้จัก ซึ่งนั่นได้กลายเป็นปมในใจเธอและทำให้เธอไม่อยากให้อาม่าต้องเจอแบบนั้น โดยสรุปแล้วหนังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางความคิดระหว่างคนตะวันตก-ตะวันออก รวมถึงคนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ ซึ่งหนังไม่ได้ชี้ชัดว่าฝั่งไหนดีกว่า แต่แสดงให้เห็นว่าแต่ละฝั่งต่างก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ทั้งสังคมจีนและอเมริกาต่างก็มีปัญหาของตัวเองที่รอการแก้ไข ซึ่งซีนหนึ่งที่น่าสนใจคือตอนที่สมาชิกครอบครัวคนหนึ่งได้บอกว่า ‘สังคมจีนดีกว่าตะวันตก’ แต่ก็ยังยืนยันที่จะส่งลูกหลานไปเรียนที่ประเทศตะวันตกอยู่ดี ซึ่งถือเป็นการกระทำที่หลายท่านน่าจะคุ้นเคยกันดีของ ‘คนรักชาติ’ แถวนี้ นอกจากนั้น หนังยังพูดถึงความไม่จีรังของสิ่งต่าง ๆ เช่น ‘ผู้คน’ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวที่เราเคยได้พบเจอหรือพูดคุยอยู่บ่อย ๆ นั้นอาจจากเราไปเมื่อไรก็ได้ ซีนที่บิลลีสวมกอดอาม่าในตอนท้ายของหนังนั้นชวนให้รู้สึกใจสลาย เนื่องจากบิลลีรู้ดีว่าครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเขาจะได้สวมกอดหรือเจอหน้ากัน รวมถึงความไม่จีรังของ ‘บ้านเมือง’ ซึ่งเมืองฉางชุนก็ไม่ต่างจากเมืองใหญ่อื่น ๆ ในจีนที่ด้วยการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วของจีนส่งผลให้สถานที่เก่า ๆ ค่อย ๆ ถูกทำลายไป รวมถึงบ้านหลังเก่าของอาม่าที่บิลลีเคยอาศัยอยู่ด้วย และถึงแม้อาม่าจะจากไป แต่เธอก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของบิลลีรวมถึงผู้คนที่ผูกพันกับเธอ นอกจากนั้นคำพูดและคำสอนของเธอก็ยังคงแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิต, ความคิด, การกระทำของคนรอบข้างเธอ เห็นได้จากการที่บิลลีได้นำวิถีไท่เก๊กของอาม่าติดไปกับเธอทุกที่ แม้แต่ที่นิวยอร์กซึ่งอยู่ห่างจากจีนคนละซีกโลก ... หมายเหตุ 1.มันเป็นหนังที่ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะได้ไฟเขียวให้สร้าง เนื่องจากนายทุนล้วนพากันส่ายหน้า เพราะมองว่าหนังมีความเป็นจีนหรืออเมริกันไม่มากพอจนกลุ่มเป้าหมายไม่ชัดเจน นอกจากนั้นผู้กำกับยังไม่ยอมเปลี่ยนหนังให้แมสขึ้น เช่น ใส่ตัวละครชาวตะวันตกลงไป, ทำให้หนังออกมาตลก/เมโลดรามา/โรแมนติกขึ้น) จนต่อมาลูลู่หวังได้นำเรื่องราวที่อยู่ในหนังไปเล่าในรายการวิทยุชื่อดังอย่าง The American Life ซึ่งได้รับความสนใจเป็นจำนวนมากจนมีโปรดิวเซอร์สนใจและผลักดันให้หนังได้สร้างในที่สุด 2.หนังถูกเก็งว่าจะได้ชิงออสการ์ในสาขานักแสดงนำหญิงอย่างอควาฟิน่า ซึ่งพลิกบทบาทจากบทที่เน้นการแสดงแบบโอเวอร์ในเอ็มวีเพลงแรปและหนังเรื่องอื่น ๆ มาเป็นบทที่เน้นความสมจริงและเก็บซ่อนความรู้สึก และนักแสดงสมทบหญิงอย่างเจ้าซูเจิ้น นักแสดงหญิงวัย 76 ปีที่คร่ำหวอดในวงการหนังจีนซึ่งเล่นหนังอเมริกันเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก โดยเธอรับบทอาม่าที่อ่อนโยนใจดีแต่ก็มากไปด้วยบารมีได้อย่างลงตัว