The Father - เมื่อใบไม้ร่วงหล่นจากต้นความทรงจำ

The Father - เมื่อใบไม้ร่วงหล่นจากต้นความทรงจำ
***มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์   “ผมรู้สึกเหมือนใบไม้ของผมกำลังร่วงหล่นจากกิ่ง” นัยน์ตาขุ่นฝ้าและผมเผ้าขาวโพลนแทบไร้สีดำแซม ชายชรากำลังร้องไห้ - ร้องอย่างขวัญเสียและตระหนกในใจอย่างที่สุด สองลาดไหล่คู้จนร่างดูหดเล็ก น้ำตาหยดแล้วหยดเล่า เขาสะอื้นราวทารก พร้อมกับพูดซ้ำ ๆ ว่า “แม่จ๋า ผมจะหาแม่” จนพยาบาลหญิงผู้ดูแลในบ้านพักคนชราต้องเฝ้าปลอบขวัญไม่รู้ห่าง ถ้อยคำที่ใครบางคนเคยกล่าวไว้ “เมื่อถึงคราวแก่ คนเราล้วนกลับไปเป็นเด็ก” ดังขึ้นในห้วงทรงจำของผู้เขียนทันทีที่ฉากสำคัญในภาพยนตร์ ‘The Father’ ฉายชัดบนจอเบื้องหน้า  หยดน้ำตาในภาพยนตร์นั้นทรงพลังมากพอที่จะทำให้ดวงตาของใครหลายคนสั่นไหว เสียงร้องไห้ของชายชราสะเทือนถึงหัวใจ ความพรั่นพรึงก่อตัวขึ้นพร้อมกับความเห็นใจ เข้าใจ ราวกับว่าเราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ซ้ำวนราวไร้ทางออกดังกล่าวด้วยตัวเอง เหล่านี้คือสิ่งที่ The Father หนังน้ำดีดีกรีเข้าชิงออสการ์ถึง 6 รางวัล กำลังสื่อสารกับผู้ชม ด้วยภาพฉากภายในแฟลตสองแห่ง โรงพยาบาล และบ้านพักคนชราในมหานครลอนดอน (ที่ปรากฏชื่อเมืองปารีสอยู่ประปราย) รายละเอียดอย่างนาฬิกา อาหารมื้อค่ำ รูปแขวนบนผนังที่สูญหาย - ผิดทิศผิดทาง บทสนทนาไม่ลื่นไหล ฟังคล้ายแผ่นเสียงตกร่อง และการปรากฏตัวของผู้คนแปลกหน้าคนแล้วคนเล่านั้นเป็นไปตามความตั้งใจของ ฟลอเรียน เซลเลอร์ (Florian Zeller) ผู้กำกับ ที่ต้องการจะสื่อสารให้คนดูรับรู้ถึงการปลิดปลิวแห่งความทรงจำของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ผ่านชายสูงวัยที่เป็นตัวละครหลัก ‘แอนโธนี’ รับบทโดย ‘แอนโธนี ฮอปกินส์’ นักแสดงวัยเก๋ามากฝีมือที่แสดงเป็นผู้ถูกความทรงจำของตัวเองทอดทิ้งได้อย่างไร้ที่ติ นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมแล้ว ‘The Father’ ยังเล่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ไม่ต่างอะไรจากชื่อหนัง ภาพยนตร์เริ่มต้นโดยเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของแอนโธนีและ ‘แอนน์’ ผู้เป็นลูกสาว  รับบทโดย โอลิเวีย โคลแมน) รวมทั้งความพยายามที่จะดูแลพ่อที่หลง ๆ ลืม ๆ ของเธอ  ท่ามกลางการดำเนินเรื่องที่เล่าผ่านมุมมองคนป่วยที่ยากจะบอกว่าฉากใดเป็นเรื่องจริง ฉากใดเป็นเพียงภาพลวงร้ายจากโรคหลงลืม เราก็ยังทันได้เห็นถึงความทุกข์ใจของแอนน์ตั้งแต่ต้นจนถึงวันที่เธอตัดสินใจให้พ่อของเธอที่ป่วยด้วยโรครักษาไม่หายใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายใกล้มือแพทย์ในบ้านพักคนชรา เรียกได้ว่าหนังได้ถ่ายทอดความเจ็บป่วยที่เป็นปัจเจกภายในสมองของคนไข้ออกมาให้เราเข้าใจ และถ่ายทอดความลำบากในบทบาทผู้ดูแลให้เราได้เห็นไปพร้อม ๆ กัน ใบไม้นอกหน้าต่างกำลังถูกลมพัดพลิ้ว บางใบปลิดปลิวลงจากกิ่งในจังหวะที่แอนโธนีเริ่มร้องไห้ ชายชราตั้งคำถามมากมายกับแคทเธอรีนผู้เป็นพยาบาล นับตั้งแต่ที่นี่ที่ไหน ลูกสาวผมไปไหน เธอเป็นใคร จวบจนคำถามสุดท้าย “แล้วผมล่ะ ความจริงแล้วผมเป็นใครกัน” สำหรับผู้เขียน คำถามดังกล่าวออกจะน่ากลัวยิ่งกว่าหนังสยองขวัญเสียด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันก็อ่อนโยนและเยาว์ต่อโลกอย่างถึงที่สุดเช่นกัน หลังจากผ่านเรื่องราวมากมายในหนึ่งชีวิต ความทรงจำทั้งร้ายและดี รักและหัวเราะ ร้องไห้และร้างรา สุดท้ายแล้วสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ในบั้นปลายอาจไม่มีอะไรมากไปกว่าเฝ้ามองสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านั้นค่อย ๆ หลุดลอยจากตัวตน แล้วลิ้มรสขมของการลืมเลือนแม้ไม่เต็มใจ ‘The Father’ คือภาพยนตร์ที่ไม่ได้จงใจชวนให้เราตั้งคำถามใด ๆ กับชีวิต หากเพียงแต่เล่าและพาเรานั่งดูความทรงจำถูกฉีกกระชากออกเป็นเสี่ยงเสี้ยว จากความบิดเบี้ยวเล็ก ๆ ที่ค่อย ๆ ขยาย ทวีความสับสนในใจให้มากขึ้นทุกขณะ และทลายทำนบน้ำตาเมื่อถึงจุดไคลแมกซ์ ด้วยสำนึกที่ว่าเมื่อถึงวันหนึ่ง เราก็อาจได้เผชิญเรื่องราวของผู้หลงลืมอย่าง ‘แอนโธนี’ หรือผู้เฝ้าดูแลอย่าง ‘แอนน์’ เข้ากับตัวก็เป็นได้ การจองบัตรภาพยนตร์และก้าวเท้าเข้าโรงเพื่อชม ‘The Father’ ในบางมุมจึงไม่ต่างอะไรกับการเตรียมตัวให้พร้อมกับด่านสุดท้ายของมนุษย์ก่อนสิ้นลมหายใจที่ชื่อว่าวัยชรา เพื่อให้ได้ครุ่นคิดกับตัวเองว่า หากใบไม้ของคุณกำลังร่วงหล่นจากต้นความทรงจำบ้างล่ะ หากเป็นเช่นนั้นจะทำอย่างไร