The Godfather: หนังที่คนดูไม่อาจจะปฏิเสธได้ถึงความเหนือกาลเวลา

The Godfather: หนังที่คนดูไม่อาจจะปฏิเสธได้ถึงความเหนือกาลเวลา
***บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์
“ฉันจะยื่นข้อเสนอที่เขาไม่อาจปฏิเสธได้”
คำพูดที่แฝงด้วยน้ำเสียงอันเรียบนิ่ง แต่กลับสร้างความสั่นสะท้านให้กับผู้ที่ได้ยิน ที่เจ้าของเสียงนั้นเต็มเปี่ยมด้วยอำนาจและบารมี และถ้อยคำคำนี้ได้เปลี่ยนหนังแก๊งสเตอร์ที่หลายคนปรามาสว่าตกยุคให้กลายเป็นภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ตลอดกาล ที่ทุกสำนักบนโลกใบนี้ต่างกล่าวขานให้ The Godfather ได้อยู่บนอันดับต้น ๆ ของภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แม้จะผ่านผันไปนานร่วม 50 ปี แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังโดดเด่นเป็นสง่า ไม่มีหนังเรื่องไหนโค่นล้มลงได้ และนี่คือเหตุผลที่ The Godfather เป็นมากกว่าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล ที่นักดูหนังทุกคนต้องหาโอกาสดูสักครั้งในชีวิตก่อนตาย เนื้อเรื่องยอดเยี่ยมที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ ความยาว 177 นาที หรือ 2 ชั่วโมง 57 นาที อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ชวนพิสมัยสำหรับคนที่ไม่ชอบดูหนังยาว ๆ แต่ The Godfather กลับใช้ช่วงเวลา 177 นาทีอย่างคุ้มค่าในทุกนาที โดยหนังเล่าเรื่องราวของ ดอน วีโต คอร์เลโอเน มาเฟียชาวซิซิเลียนจากประเทศอิตาลี ที่มาตั้งรกรากในดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1900s เขาสร้างอำนาจบารมีผ่านการรวบรวมพลพรรคยอดฝีมือผู้ทรงอิทธิพลหลากหลายสาขาอาชีพ ตั้งแต่นักฆ่าไปจนถึงทนายความ ที่ต่างเคารพและยำเกรงในความยิ่งใหญ่ของเขา  หนังเปิดเรื่องในปี 1945 วันแต่งงานของลูกสาวคนสุดท้องของตระกูลคอร์เลโอเน ท่ามกลางพิธีวิวาห์ที่คราคร่ำไปด้วยแขกที่มาร่วมยินดี ในห้องส่วนตัวของดอนที่ปัจจุบันอยู่ในวัยชรา ได้เปิดประตูให้การต้อนรับผู้คนมากมายที่ส่วนใหญ่ต้องการขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นพ่อที่ต้องการล้างแค้นให้ลูกสาวที่โดนทำร้าย แต่กลไกของกฎหมายกลับทำให้คนร้ายยังคงลอยนวล หรือนักร้องเจ้าเสน่ห์ที่ต้องการทางลัดเข้าสู่วงการหนัง ดอนเปิดประตูต้อนรับทุกคนที่มีปัญหามาให้เขาช่วยแก้มากมาย แลกกับความเคารพและความจงรักภักดีที่มีต่อเขา เงินทองสำหรับชายชราอย่างเขาถือว่าไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หากแต่อำนาจบารมีนั้นยิ่งสร้างกลับยิ่งแผ่ขยายซึ่งอิทธิพล จึงไม่แปลกใจหากทุกคนที่ร่วมเส้นทางสายอาชญากรรมกับเขา แม้จะไม่ใช่ลูกทางสายเลือด แต่ทุกคนล้วนต่างเรียกว่า ‘พ่อ’ กันทั้งนั้น หากแต่เวลาเปลี่ยน อำนาจก็ไม่ต่างกับเค้กก้อนใหญ่ที่ใคร ๆ ต่างก็ต้องการครอบครอง บางคนพอใจที่จะได้รับเค้กที่มีการแบ่งในสัดส่วนที่พอเหมาะ แต่บางคนกลับต้องการที่จะครอบครองเค้กก้อนนี้ไว้เพียงคนเดียว เมื่อการมาเยือนของมาเฟียรายใหญ่ที่ต้องการแรงสนับสนุนจาก ดอน วีโต้ ในด้านเงินทุนและบารมี เพื่อให้เส้นทางยาเสพติดของเขาเป็นไปได้ด้วยความสะดวก อย่างไรก็ตาม นี่เป็นครั้งแรกที่ดอนปฏิเสธคำร้องขอในครั้งนี้ เพราะความรักในครอบครัว และไม่ต้องการให้ยานรกมาแปดเปื้อนลูกหลานของเขา หารู้ไม่ว่าวงจรยาเสพติดที่มาเฟียรายใหม่ได้วางระบบเส้นสายอย่างดีแล้ว การปฏิเสธของดอนคือการสร้างศัตรูคนสำคัญที่พร้อมมาเอาชีวิตเขา และพร้อมทำลายอำนาจบารมีที่เขาสั่งสมมาอย่างยาวนาน หนัง The Godfather แม้จะเดินเรื่องด้วยการสนทนา แต่บทสนทนากลับคมคาย และการเฉือนคมด้วยอำนาจทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นที่กล่าวขวัญในฐานะหนังแก๊งสเตอร์ยอดเยี่ยมที่ตรึงใจคนดูหนังทั่วโลกตลอดกาล The Godfather: หนังที่คนดูไม่อาจจะปฏิเสธได้ถึงความเหนือกาลเวลา จากนวนิยายที่ยังไม่จบ สู่บทหนังที่ผู้เขียนไม่อาจจะปฏิเสธได้ The Godfather สร้างจากนวนิยายอาชญากรรมจากการประพันธ์ของ มาริโอ พูโซ นักเขียนนวนิยายที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของ แฟรงค์ คอสเทลโล มาเฟียอิตาลีที่ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ประเทศอเมริกา และแผ่อิทธิพลจนได้เป็นใหญ่ในดินแดนเสรีภาพแห่งนี้ พูโซผสานจินตนาการและเรื่องจริงจนกลายเป็นนวนิยายเรื่องใหม่ที่เขาคาดหวังว่ามันจะช่วยกอบกู้สถานะการเงินอันคลอนแคลนของเขาให้หมดไป  ระหว่างนั้น Paramount Pictures สตูดิโอค่ายใหญ่ยักษ์เองก็ต้องการโปรเจกต์ดี ๆ มาช่วยกอบกู้สถานะทางการเงินอันฝืดเคืองจากการขาดทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายทศวรรษ 1960s เช่นกัน จนเขาได้อ่านนวนิยายความยาว 60 หน้าที่ยังไม่จบเรื่องนี้ ก็ไม่รีรอที่จะซื้อลิขสิทธิ์ทันที โดยวางเงินมัดจำจำนวน 12,500 เหรียญฯ เพื่อให้พูโซเขียนนวนิยายต่อจนจบ และจ่ายอีก 80,000 เหรียญฯ ในการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ แม้เอเยนต์จะเตือนมาริโอว่า “อย่าไปรับเงินจำนวนน้อยนิดและไม่แฟร์กับนักเขียนแบบนี้” แต่เพราะตัวมาริโอเองต้องการเงินจำนวน 100,000 เหรียญฯ อย่างเร่งด่วน เพราะในช่วงเวลานั้นเขาติดหนี้จากการพนัน ในที่สุด ข้อเสนอที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ของค่ายหนัง...สุดท้ายเขาก็ยอมรับเงิน และก้มหน้าก้มตาเขียนมันจนจบ นับเป็นการลงทุนที่แสนคุ้มค่า เพราะเมื่อนวนิยาย The Godfather วางจำหน่ายในปี 1969 นวนิยายเล่มนี้กลับสร้างปรากฏการณ์หนังสือขายดีระดับ Bestseller โดยติดอันดับใน The New York Times ยาวนานถึง 67 สัปดาห์ และทำยอดขายมากกว่า 9 ล้านเล่มในเวลา 2 ปี มาริโอไม่รอช้าที่จะลงมือเปลี่ยนจากนวนิยายให้กลายเป็นบทภาพยนตร์ในทันที โดยมีข้อตกลงใหม่คือได้รับเงินจำนวน 100,000 เหรียญฯ และเปอร์เซ็นต์กำไรจากหนังเรื่องนี้ ผู้กำกับมือใหม่ที่ไม่กล้าปฏิเสธโปรเจกต์ ในช่วงปี 1970 ชื่อชั้นของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ยังไม่ถูกจัดในทำเนียบผู้กำกับยิ่งใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับ The Godfather ชื่อของเขาไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่สตูดิโอจะให้เขาทำ เพราะในตอนแรกนั้น จากงานเขียนเป็นเรื่องราวสไตล์อิตาเลียน/อเมริกัน Paramount จึงคิดว่าผู้กำกับที่จะวางทิศทางของหนังเรื่องนี้ก็ไม่แคล้วที่จะต้องสัญชาติเดียวกันกับตัวหนัง ซึ่งผู้กำกับสุดร้อนแรงในยุคนั้นไม่มีใครเหมาะสมไปกว่า เซอร์จิโอ ลิโอเน ผู้กำกับสายเลือดอิตาเลียน ที่บัญญัติศัพท์ ‘คาวบอยสปาเกตตี’ ให้โลกได้ประจักษ์ผ่านหนังคาวบอยแดนเถื่อนอย่าง A Fistful of Dollars (1964), For a Few Dollars More (1965), The Good, the Bad and the Ugly (1966) และ Once Upon a Time in the West (1968) แต่เซอร์จิโอกลับเลือกปฏิเสธ เพราะเขามีโครงการทำหนังมาเฟียอิตาลีในดวงใจอยู่แล้ว นั่นคือ Once Upon a Time in America (1984) แม้เซอร์จิโอจะไม่ยอมทำ แต่ชื่อของคอปโปลาก็หาได้เป็นตัวเลือกต่อมาไม่ เขาต้องต่อแถวเข้าคิว รอโอกาสจากผู้กำกับรุ่นครูอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ปีเตอร์ เยทส์, ริชาร์ด บรูค, อาร์เธอร์ เพนน์, ปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช แต่ทุกคนก็เซย์โนกันหมด เพราะในช่วงเวลานั้น หนังมาเฟียไม่ใช่เทรนด์หลักของตลาดหนัง จริงอยู่ว่ามันเคยเป็นหนังกระแสนิยมในยุค 1940s ที่ช่วงเรืองรองของหนังแนวฟิล์มนัวร์ แต่หาใช่ช่วงเวลายุค 1970s ที่ในตอนนั้น ตลาดหนังต้องการหนังสะท้อนสังคมในแบบ Easy Rider (1969) หรือ The Graduate (1967) มากกว่า ใครจะไปสนใจดูหนังมาเฟียเก่า ๆ โบราณ ๆ แบบนี้ ซึ่งอันที่จริง ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา เอง ในตอนแรกก็ไม่ได้สนใจนัก เพราะเขาได้อ่านนวนิยายที่ยังเขียนไม่จบของมาริโอ ก็พบว่ามันไม่ได้น่าสนใจอะไรขนาดนั้น แถมยังวิจารณ์อย่างหนักว่า “ก็แค่นวนิยายราคาถูกเรื่องหนึ่งเท่านั้น” แต่ภายหลังจาก THX 1138 (1971) หนังแจ้งเกิดของจอร์จ ลูคัส ภายใต้การดูแลของคอปโปลาในฐานะผู้อำนวยการสร้างเกิดคว่ำในตารางบ็อกซ์ออฟฟิศ นำไปสู่การเป็นหนี้ให้กับสตูดิโอวอร์เนอร์เป็นเงินถึง 400,000 เหรียญฯ ในที่สุด The Godfather จึงเป็นข้อเสนอที่ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ปฏิเสธที่จะทำมันไม่ได้ และด้วยชื่อชั้นและศักดิ์ศรีของตัวเขาในตอนนั้นยังไม่ได้ยิ่งใหญ่ Paramount ก็ยิ่งกดงบให้น้อยลงไปอีก แต่คอปโปลาก็ยอมทำโดยแลกกับการขอเขียนบทหนังเรื่องนี้ด้วยตัวเขาเอง ซึ่งโชคดีที่เมื่อเอาบทในฉบับของเขาที่ลุ่มลึกในภาษาภาพยนตร์ มาแมตช์กันกับเวอร์ชันของตัวผู้ประพันธ์ที่เพียบพร้อมในด้านการวิเคราะห์คาแรคเตอร์ ทำให้บทหนัง The Godfather คือบทหนังที่สมบูรณ์เรื่องหนึ่งที่ฮอลลีวูดยุคนั้นต้องการ The Godfather: หนังที่คนดูไม่อาจจะปฏิเสธได้ถึงความเหนือกาลเวลา บทบาทยิ่งใหญ่ที่สตูดิโอผู้สร้างไม่กล้าปฏิเสธ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ The Godfather ยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา นอกจากบทอันยอดเยี่ยมแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การแสดงอันทรงพลังของ มาร์ลอน แบรนโด มีส่วนสำคัญต่อหนังเรื่องนี้อย่างมาก  แต่มาร์ลอน แบรนโด หาใช่ตัวเลือกที่ทาง Paramount จะชื่นชอบมากนัก แม้ว่าบนจอแบรนโดจะขึ้นชื่อในด้านการแสดงระดับ method ที่ทรงพลังและให้มิติการแสดงอันแสนลุ่มลึก แถมผู้ประพันธ์นวนิยายอย่างพูโซเองระหว่างที่เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็นึกถึงภาพแบรนโดอยู่ตลอดเวลา  แต่ทว่านอกจอ แบรนโดในยุคนั้นคือคุณลุงขี้โมโห และชอบสร้างเรื่องสร้างปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าให้กองถ่ายอยู่เสมอ จนพฤติกรรมนอกจอนั้นสะเทือนไปถึงในจอ เมื่อหนังยุคหลัง ๆ ของเขาในช่วงนั้นล้วนแล้วแต่คว่ำในตารางหนังทำเงินแทบทั้งสิ้น แต่ทั้งนักเขียนและผู้กำกับก็เสนอชื่อของแบรนโดให้ทาง Paramount พิจารณา แต่ก็ถูกประธานขีดฆ่าแล้วก็บอกว่า “ไม่มีวันที่จะมีชื่อแบรนโดอยู่ในหนังเรื่องนี้”  สุดท้ายคอปโปลาก็เสนอชื่อลอว์เรนซ์ โอลิเวียร์ เข้าไปในบอร์ด แต่ปัญหาทางสุขภาพทำให้โอลิเวียร์ปฏิเสธเรื่องนี้ไป ร้อนถึงคอปโปลาที่หานักแสดงมากมาย แต่พวกเขาก็ปฏิเสธแบบไม่เหลือเยื่อใย จนพูโซเขียนจดหมายร้องขอถึงแบรนโดให้มาแสดงหนังเรื่องนี้ หลังจากแบรนโดได้อ่านบท เขาชอบมาก ๆ ถึงขนาดยอมลดค่าตัว และยอมเมคอัพตัวเองให้เป็นชายชราด้วยการยัดสำลีเอาไว้ในแก้ม ใช้ครีมทารองเท้าละเลงผมเพื่อเปลี่ยนสี พร้อมทั้งยอมแต่งหน้าของตนให้เป็นชายชรา ซ้ำยังเลียนเสียงการพูดอันแหบพร่าโดยการเลียนเสียงจากสุนัขพันธุ์บูลด็อก จนในที่สุด Paramount ก็พ่ายแพ้ในความพยายามของแบรนโด จึงยอมไฟเขียวให้แบรนโดแสดงหนังเรื่องนี้ ภายใต้การร่างสัญญาที่จะไม่สร้างปัญหาให้ในกองถ่าย  และการยอมลดอีโก้ตัวเองของแบรนโด ก็ส่งผลอย่างมหาศาลให้กับหนังอย่างมาก บทบาทดอน คอร์เลโอเน เต็มเปี่ยมด้วยการแสดงแบบขั้นสุด ไม่ว่าจะเป็นความนิ่งแต่เต็มไปด้วยบารมีอันน่ายำเกรง หรือการแสดงให้เห็นถึงช่วงเวลารุ่งเรืองจนถึงเวลาอันร่วงโรยได้อย่างทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ปัญหาในเรื่องการหานักแสดงไม่ใช่เพียงแค่แบรนโดเท่านั้น แต่ อัล ปาชิโน ที่รับบทเป็นคอร์เลโอเนรุ่นลูก ก็ถูกสตูดิโอปฏิเสธมาแล้วด้วยสาเหตุว่า “เขาเตี้ยจนเกินไปกับบทบาท ไมเคิล คอร์เลโอเน” โชคดีที่นักแสดงมากมายรุ่นราวคราวเดียวกันกับเขาในช่วงนั้นต่างปฏิเสธหรือไม่ก็ติดงานกันหมด จนทำให้ปาชิโนได้รับบทบาทนี้ ซึ่งการแสดงก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขานั้นสามารถรับบทลูกไม้ที่ในตอนแรกหล่นไกลต้น จากนายทหารผู้ไม่อยากเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทาในครอบครัว เปลี่ยนขั้วจากความแค้นและรับไม้ต่อจากผู้เป็นพ่อที่ร่างกายเสื่อมถอยจากการโดนลอบทำร้ายได้อย่างยอดเยี่ยมและสง่างามไม่แพ้กัน จนหลายคนละเลยส่วนสูงของเขาจนหมดสิ้น  รางวัลยิ่งใหญ่ที่พระเอกกล้าปฏิเสธ ช่วงเวลาของการถ่ายทำเต็มไปด้วยปัญหาและการลุ้นระทึกของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ตัวผู้กำกับที่ต้องควบคุมงบสร้าง แม้จะโชคดีที่มีการเพิ่มทุนสร้างหลังจากหนังสือขายดี แต่ก็ไม่ได้เพิ่มอะไรมากมายนัก แถมเมื่อนำร่างแรกฉายให้สตูดิโอผู้สร้างดู Paramount กลับไม่ค่อยพอใจเท่าไรนัก เพราะหนังนิ่งและอาร์ตจนเกินไป ไม่มีฉากรุนแรงพอจะเป็นจุดขายได้ จนผู้กำกับต้องไปเพิ่มฉากแอคชั่นเพิ่มอีก 2-3 ฉาก (หนึ่งในนั้นคือฉากลูกสาวคนสุดท้องที่ทนสามีไม่ได้ จึงระเบิดอารมณ์ด้วยการเขวี้ยงจานทำลายข้าวของ...นั่นแหละรุนแรงที่สุดแล้ว) หรือฉากสุดช็อกฉากหนึ่ง นั่นคือฉากศพหัวม้าบนเตียงนอนโปรดิวเซอร์หนัง เพื่อแสดงให้เห็นความโหดเหี้ยมเลือดเย็นของกลุ่มเจ้าพ่อ ซึ่งได้รับการเฉลยในตอนท้ายว่า ‘เป็นศพหัวม้าจริง ๆ ไม่ใช่พร็อพประกอบฉาก’ ถึงแม้ว่าม้าตัวนี้จะตายอยู่แล้ว และถูกทีมพร็อพขอซื้อก่อนที่จะถูกชำแหละไปเป็นอาหารสุนัขก็ตาม แต่ก็ไม่วายมีสมาคมคุ้มครองสัตว์เรียกร้องให้ถอดฉากนี้ออก ซึ่งผู้กำกับยืนกรานไม่เอาฉากนี้ออก เพราะหากเอาฉากนี้ออกไป หนังน่าจะสูญเสียพลังและการแสดงให้เห็นอำนาจของตัวดอนไปพอสมควร ในที่สุด The Godfather ก็แล้วเสร็จและได้ออกฉายให้สาธารณชนได้ดูในวันที่ 24 มีนาคม 1972 กลับสร้างเซอร์ไพรส์อย่างรุนแรง เพราะหนังสามารถทำรายได้ระดับมโหฬาร โดยขึ้นอันดับ 1 Box Office ติดต่อกันถึง 23 สัปดาห์ และถูกหนังใหม่เบียดตกลงมาอยู่อันดับที่ 2 ก่อนจะกลับขึ้นอันดับ 1 อีกครั้ง สิริรวมทั้งหมดเป็น 26 สัปดาห์ จนสามารถเขี่ยแชมป์หนังทำเงินตลอดกาลอย่าง The Sound of Music ที่ทำเอาไว้เมื่อปี 1965 ด้วยรายได้รวมเฉพาะในอเมริกาถึง 134 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างเพียง 6-7 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ไม่เพียงแค่เป็นหนังทำเงิน แต่หนังยังโดดเด่นบนเวทีออสการ์ในฐานะหนังที่ได้เข้าชิงรางวัลมากที่สุด แม้จะคว้าเพียงแค่ 3 รางวัล แต่หนึ่งในนั้นก็คือรางวัลสูงสุดนั่นก็คือรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมนั่นเอง แต่ที่ได้รับการกล่าวขวัญเป็นอย่างมากนั่นคือการคว้ารางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมของมาร์ลอน แบรนโด แต่เขากลับเลือกที่จะปฏิเสธการขึ้นไปรับรางวัล โดยส่งหญิงสาวพื้นเมืองขึ้นไปรับแทน เพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ถึงความไม่เป็นธรรมที่ฮอลลีวูดได้กระทำต่อชาวพื้นเมืองโดยเฉพาะอินเดียนแดง โดยเฉพาะการผลิตภาพจำอันซ้ำซากที่มองชาวอินเดียนแดงยังเป็นชนเผ่าที่ไร้อารยธรรมด้วยสายตาที่ดูถูกดูแคลน แบรนโดจึงส่งหญิงสาวขึ้นไปรับรางวัลนี้แทน นับเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์เหตุการณ์หนึ่งในการแจกรางวัลออสการ์ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงจวบจนปัจจุบัน ในส่วนของหนัง The Godfather กาลเวลาที่ยาวนานยิ่งบ่มเพาะความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ในระดับอมตะของหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าสถาบันไหนที่จัดลิสต์หนังยอดเยี่ยมตลอดกาล ไม่มีสถาบันไหนเลยที่ปฏิเสธหนังเรื่องยิ่งใหญ่เรื่องนี้ ที่ส่งผลต่อหนังอาชญากรรมในหลายต่อหลายรุ่นต่อมา ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจาก The Godfather แล้วทั้งสิ้น  หนังเจ้าพ่อที่เจ้าพ่อมิอาจปฏิเสธได้ แม้หนังจะสร้างชื่อเรื่องความยอดเยี่ยมในวงการภาพยนตร์ขนาดไหนก็ตาม แต่สำหรับวงการมาเฟีย อเมริกัน/อิตาเลียน กลับมีทั้งชอบและชัง โดยผู้กำกับคอปโปลา กล่าวว่าในตอนที่ถ่ายทำนั้น มีจดหมายจาก The Italian-American Civil Rights League ให้ระมัดระวังในการสร้างภาพลักษณ์ผิด ๆ ให้กับวงการมาเฟีย หรือหลังจากหนังฉายก็มีมาเฟียหลายรายที่ไม่ชอบหนังเรื่องนี้ที่ทำให้คนนอกมองภาพลักษณ์ของมาเฟียอเมริกัน/อิตาเลียนในทางที่ผิด แต่ก็มีมาเฟียหลายรายเช่นกันที่ตะลึงกับโลกอาชญากรรมในหนัง จนต้องปรับภาพลักษณ์ขององค์กรให้ใกล้เคียงกับหนังมากที่สุด รวมไปถึงยึดถือเรื่องราวของดอน คอร์เลโอเน เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตเลยทีเดียว อาชิ แอนโทนี ฟิอาโต นักเลงชื่อดังที่เติบโตในครอบครัวมาเฟีย เคยกล่าวไว้ว่าเขาต้องดูหนังเรื่องนี้เป็นร้อย ๆ รอบเพื่อปรับบุคลิก ท่าทาง และน้ำเสียง ให้ใกล้เคียงกับดอนมากที่สุด  แม้จุดเริ่มต้นของหนังจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามนานัปการ แต่อุปสรรคเหล่านั้นก็เป็นสิ่งกีดขวางชั้นดี ที่ช่วยก่อกำเนิดภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล ที่อยู่ในใจของคนดูหนัง/ผู้สร้างหนัง รวมไปถึงเหล่ามาเฟีย ที่ล้วนแล้วแต่บูชา The Godfather ให้เป็นพระเจ้าอย่างแท้จริง เรื่อง: สกก์บงกช ขันทอง ภาพ: Photo by Paramount Pictures/Fotos International/Getty Images ติดตาม Instagram ของ The People ได้ที่ https://www.instagram.com/thepeoplecoofficial/