จากยูทูบเบอร์ฉายา ‘Filthy Frank’ และชายชุดชมพูผู้จุดกระแส ‘Harlem Shake’ สู่นักร้องแซดบอยตัวพ่อ ‘Joji’

จากยูทูบเบอร์ฉายา ‘Filthy Frank’ และชายชุดชมพูผู้จุดกระแส ‘Harlem Shake’ สู่นักร้องแซดบอยตัวพ่อ ‘Joji’
นับตั้งแต่ท่วงทำนองสุดเศร้าใน ‘Slow Dancing in the Dark’ จากอัลบั้ม ‘Ballads 1’ (2018) ไปจนถึงเรื่องราวการรอรัก ความตาย และการไปสู่สรวงสวรรค์ใน ‘Sanctuary’ เพลงเนื้อหาดีจากอัลบั้ม ‘Nectar’ (2020) ผลงานของ ‘Joji’ ต่างพากันทะยานขึ้นชาร์ตเพลงทั้งอินดี้และกระแสหลักเป็นว่าเล่นในช่วงหลายปีมานี้ ชื่อเสียงของ ‘Joji’ หรือ ‘โจจิ’ นั้นถูกยอมรับจากทั่วโลกในฐานะ ‘แซดบอย’ ตัวพ่อ ผู้มีเอกลักษณ์เป็นความขมในเนื้อเพลง ชนิดที่ถ้าคุณอกหักจากสาวใดหรือหนุ่มหน้าไหนมา ก็อาจต้องขอแนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงการเปิดเพลงของเขา ถ้าไม่อยากซ้ำแผลเก่าให้รวดร้าวไปกว่าเดิม (แต่แน่ละว่านักอกหักทั้งหนุ่มและสาวไม่ค่อยจะฟังคำแนะนำนี้นัก และยังคงเปิดเพลง ‘Slow Dancing in the Dark’ ในช่วงเวลาวิกฤติของชีวิตรักกันบ่อย ๆ) แต่เบื้องหลังความเศร้าทางดนตรีของนักร้อง แรปเปอร์ และนักแต่งเพลงลูกครึ่ง ญี่ปุ่น - ออสเตรเลียนคนนี้ อีกตัวตนหนึ่งซึ่งเป็นพาร์ตอดีตของโจจิ แซดบอย ก็ทำให้เหล่าแฟนคลับหน้าใหม่ถึงกับตกใจไปตาม ๆ กัน เมื่อรู้ว่าเขาคือคนเดียวกันกับไอ้หนุ่มยูทูบเบอร์จอมเกรียนแตกฉายา ‘Filthy Frank’ หรือ ‘แฟรงก์จอมโสโครก’ แถมยังเคยสวมคาแรกเตอร์โปกฮา บ้า และ(ออกจะ)หยาบคายในนาม ‘Pink Guy’ อีกด้วย เรามาย้อนอดีตของแซดบอยตัวเอ้คนนี้กัน   แฟรงก์สุดฮาและจอมบ้าพิงก์กาย จอร์จ ‘โจจิ’ มิลเลอร์ (George ‘Joji’ Miller) คือชื่อกำเนิดที่ครอบครัวของเขาตั้งให้ในวันที่เด็กชายลืมตาดูโลก ท่ามกลางคืนและวันอันเงียบสงบในโอซากา ประเทศญี่ปุ่น - ก่อนที่จะย้ายไปเรียนต่อในอเมริกา ได้หล่อหลอมให้ครึ่งหนึ่งของโจจิโหยหาในความสงบที่สวยงามหลายรูปแบบ ซึ่งดนตรีก็เป็นหนึ่งในนั้น โจจิหลงใหลในเสียงดนตรีแม้ว่าจะล้มเหลวในการเรียนกลอง อูคูเลเล่ กีตาร์ และเปียโน - เมื่อเล่นเครื่องดนตรีไม่เก่ง เขาจึงหัดทำเพลงจากแอปพลิเคชันติดมือถือ GarageBand “ผมทำเพลงก่อนที่จะรู้ว่าตัวเองทำได้” คือถ้อยคำที่บ่งบอกหลาย ๆ อย่างในตัวตนของชายคนนี้ได้เป็นอย่างดี แต่แม้จะรักในเสียงดนตรีมากเท่าไร หากสิ่งที่ทำให้โจจิกลายเป็นที่รู้จักของโลกทั้งใบในคราแรกกลับไม่ใช่ผลงานเพลงของเขา แต่เป็นคลิปวิดีโอตลกร้ายที่กลายเป็นไวรัล และตัวละครสมมติในนาม ‘Filthy Frank’ ปี 2008 คือจุดเริ่มต้นของโจจิและการเป็นยูทูบเบอร์ พร้อมด้วยการเปิดแอคเคานต์ ‘DizastaMusic’ ในช่วงกลางปี และเริ่มลงคลิปฮา ๆ ประสาหนุ่มคะนอง สองปีให้หลังเขาเปิดแอคเคานต์ทวิตเตอร์ @FilthyFrank และเริ่มสวมคาแรกเตอร์ไอ้หนุ่มจอมเกรียน หรือ ‘แฟรงก์จอมโสโครก’ อย่างจริงจังเมื่อราว ๆ ปี 2011 โดยเริ่มจากคลิป ‘Filthy Shit’ ที่เขาตั้งกล้องบอกเล่าประสบการณ์สุดโชคร้ายในห้องน้ำโรงเรียน และเริ่มแนะนำตัวเองว่า ‘Filthy Frank’ ในคลิปถัดมา แน่นอนว่าด้วย sense of humor ของโจจิ ทำให้ตัวละคร ‘แฟรงก์’ ของเขากลายเป็นที่นิยมด้วยสารพัดมุกหยาบคาย มุกใต้สะดือ และบ้างก็เป็นมุกล้อเลียนอัตลักษณ์ของหลากชาติพันธุ์ มาถึงตรงนี้ เราคงต้องดอกจันตัวโต ๆ เอาไว้ทำนองว่า ‘พฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ห้ามลอกเลียนแบบ’ หรือ ‘โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม’ เช่นเดียวกับสิ่งที่โจจิมักจะใส่เป็นคำอธิบายในช่องของตัวเองว่า ‘Filthy Frank เป็นศูนย์รวมของทุกสิ่งที่คนไม่ควรจะเป็น’ และ ‘คลิปวิดีโอในช่องนี้ไม่ใช่ทุกสิ่งที่ผมเป็น นอกจากความฮาแล้ว ผมมีอีกหลายสิ่งที่อยากแบ่งปันกับโลก แต่จนกว่าวันนั้นจะมาถึง, ยินดีต้อนรับสู่ความวุ่นวายบนอินเทอร์เน็ต’ หลังจากตัวละคร ‘แฟรงก์’ ดังเป็นพลุแตกพร้อมด้วยทั้งคำด่าและคำชม โจจิก็ได้ฤกษ์สร้างตัวละครใหม่อันมีนามว่า ‘Pink Guy’ ที่หลาย ๆ คนก็อาจคุ้นหน้าค่าตามากขึ้น เพราะนับจากปี 2012 ที่ Pink Guy ได้ออกโรง พ่อหนุ่มชุดชมพูพฤติกรรมประหลาดคนนี้ก็ได้กลายเป็นมีมบนโลกอินเทอร์เน็ตอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ Pink Guy กับเพื่อนในหน้ากากซูโม่ มนุษย์ต่างดาว และพาวเวอร์เรนเจอร์ได้บุกเบิกกระแส ‘Harlem Shake’ ให้กลายเป็นไวรัลในปี 2013 จากวิดีโอ ‘Do the Harlem Shake (Original)’ ในปีเดียวกันนั้นเองที่โจจิได้ทำการสร้าง ‘ช่องสอง’ หรืออีกแอคเคานต์แยกในยูทูบที่ชื่อว่า ‘TVFilthyFrank’ ขึ้นมา พร้อมกับพาก๊วนตัวละครสมมติมาป่วนโลกอินเทอร์เน็ตในอีกช่องทาง นอกจากทำตัวโปกฮาและเล่นมุกเรียกเสียงขำ (ระคนเสียงด่า) ไปวัน ๆ แล้ว พ่อหนุ่ม Pink Guy ยังเป็นตัวละครที่ทำให้ผู้คนบนโลกได้เห็นแววความสามารถทางดนตรีของชายคนนี้ด้วย เรียกได้ว่าก่อนอีพีแรกของโจจิ อย่าง ‘In Tongues’ (2017) จะถูกปล่อย Pink Guy ก็แซงหน้าปล่อยอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองออกมาถึง 2 อัลบั้มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้ม ‘Pink Guy’ เมื่อปี 2014 หรือ ‘Pink Season’ อัลบั้มยาวเฟื้อย 35 แทร็ก ในปี 2017 ซึ่งแม้เนื้อหาจะวน ๆ อยู่กับไข่ จิ๊มิ ก้น และคำแรปสองแง่สองง่าม หากในพาร์ตการเรียบเรียงดนตรีกลับแปลกใหม่และน่าฟังไม่น้อยทีเดียว   หลังม่านตัวโจ๊ก เป็นเวลาหลายปีที่ ‘Filthy Frank’, ‘Pink Guy’ และอีกหลายตัวละครทางอินเทอร์เน็ตที่โจจิเป็นผู้เล่น ถูกผู้คนมองเห็นในฐานะผู้สร้างความบันเทิง คนตลก หรือตัวตลกตามแต่ใครจะเรียก หากในช่วงเวลาเหล่านั้น น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเบื้องหลังหน้ากากมนุษย์สารพัดมีม ตัวตนที่แท้จริงของ ‘โจจิ’ เป็นอย่างไร ท่ามกลางความสงสัยถึงที่มาที่ไปของ ‘แฟรงก์’ ในกล้อง ปี 2014 โจจิได้เปิดเผยชื่อและตัวตนที่แท้จริงของเขาภายใต้วิดีโอ ‘Filthy Frank Exposes Himself’ และเขาก็ได้แนะนำตัวเองด้วยชื่อ ‘จอร์จ ‘โจจิ’ มิลเลอร์’ เป็นครั้งแรก พร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวหลายเรื่องของตัวเอง รวมไปถึงเรื่องที่ว่าเขาเป็นโรคลมบ้าหมู ที่จะมีอาการชักเกร็งตอนเครียดหนัก ๆ ซึ่งภายหลังวิดีโอดังกล่าวก็ถูกเจ้าตัวลบไป เพราะโจจิในเวลานั้นอยากจะโฟกัสกับการทำคลิปตลกมากกว่ามานั่งอธิบายหรือถ่าย ‘Vlog’ เล่าความเป็นตัวเอง หลังจากแจกความฮากระจายให้โลกอินเทอร์เน็ตอยู่หลายปี โจจิก็ประกาศอย่างเป็นทางการภายในทวิตเตอร์ของตัวเอง เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2017 ว่าเขามาถึงจุดอิ่มตัวของการทำคลิปแนว comedy แล้ว อีกทั้งการทุ่มสุดตัวทำคลิปให้คนขำมานานปี ยังส่งผลร้ายทั้งต่อสุขภาพกายและใจจนทำต่อไปก็มีแต่เสียกับเสีย แล้วปิดท้ายด้วยการฝากฝังโปรเจกต์ที่เขาจะปล่อยออกมาในอนาคต ในชื่อ ‘Joji’ “ผมเริ่มทำช่องนั้นตอนผมอยู่ไฮสคูล ก็ตามธรรมชาติเลย ผมโตขึ้น เบื่อหน่ายมุกแบบเดิม ๆ รสนิยมของคนเปลี่ยนได้ ความขบขันของคนก็เหมือนกัน ตอนนั้นผมเหมือนคนไม่มีที่ไป ผมหมกมุ่นกับความชั่วร้ายและดื่มหนักขนาดที่ว่าพอผมไปแสดงหรือถ่ายทำที่ไหน PA ก็จะเตรียมเบียร์ 6 แพ็กไว้ให้ที่นั่น”   แซดบอยrising ข่าวการแขวนมุกของโจจิไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไรสำหรับแฟน ๆ เพราะก่อนหน้านั้นโจจิเคยได้ประกาศเอาไว้ตั้งแต่ปี 2016 แล้วว่านอกจากแก๊งตัวละครสมมติสุดฮาแล้ว พี่โจ้ของแฟน ๆ ยังมีอีกตัวตนให้ได้ติดตาม คราวนี้ไม่มีฮาเหมือนตัวตนก่อน ๆ เพราะภายใต้ชื่อ ‘Joji’ นี่แหละ ที่เขาได้เริ่มทำเพลงสายเศร้าและปล่อยออกมาในรูปแบบโปรเจกต์ชื่อว่า ‘Chloe Burbank Volume 1’ ที่ประกอบด้วยเพลงหม่น ๆ นัวร์ ๆ สองแทร็ก พ่วงด้วยเพลงอื่น ๆ อีกหลายเพลงที่โจจิทยอยปล่อยลง Soundcloud อยู่เป็นระยะ ในที่สุดอดีตดาวตลกของเราก็ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของก๊วน 88rising - กลุ่มวัยรุ่นเอเชียที่รักในเสียงดนตรีและทำเพลงฮิปฮอป ใต้ร่มเงาของ 88rising โจจิผลิตอีพีแรกอย่าง In Tongues ออกมา ด้วยเพลงดังจากอีพีดังกล่าวอย่าง ‘Will He’ ที่ประกอบไปด้วยเลือด มาสคอตแพนด้า และท่อนจำ ‘Cause I don’t need to know. I just wanna make sure you’re okay’ ก็พอจะทำให้เราพูดได้เต็มปากว่า ‘แซดบอยโจจิ’ ถือกำเนิดแล้ว “In Tongues ไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นในอาชีพของผม แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นในชีวิตด้วย ผมรู้สึกเหมือนตัวเองเกิดใหม่ เริ่มต้นอย่างสดใส และทิ้งเรื่องเลวร้ายไว้ด้านหลัง”   กระแสต้านโจจิที่ไร้บทสรุป จาก ‘Will He’ ถึง ‘Slow Dancing in the Dark’ และ ‘Sanctuary’ ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี โจจิพาให้ชื่อและบทเพลงของตัวเองติดหู ติดตา ติดตลาด และติดใจใครหลาย ๆ คนในระดับแมส ข้อดีของความแมสคือเขาขายเพลงได้ และมีทุนมากพอสำหรับทำสิ่งที่เขามีแพสชันเต็มสูบต่อไป แต่ข้อเสียของมันก็พอจะมีอยู่ นั่นก็คือ หลังจากกลายเป็นคนดังเพราะเพลงเศร้า ครั้งหนึ่งในปี 2020 เรื่องราวของโจจิได้กลายเป็นประเด็นร้อนบนแพลตฟอร์ม Twitter เมื่อผู้ใช้งานรายหนึ่งทวีตข้อความว่า ‘เพิ่งรู้ว่า Joji คือคนเดียวกับ Filthy Frank นะเนี่ย’ จนกลายเป็นกระแสแฮชแท็ก #jojiisover ที่เรียกร้องให้โจจิยุติบทบาทในงานเพลง อันเนื่องมาจากการกระทำในอดีต สมัยเป็น ‘เกรียนแฟรงก์’ ของเจ้าตัว อย่างที่ได้เกริ่นไปในช่วงต้นว่าสมัยทำช่องยูทูบ โจจิได้ใส่ดอกจันตัวโต ๆ ในคำอธิบายของช่องเอาไว้ว่า ‘Filthy Frank เป็นศูนย์รวมของทุกสิ่งที่คนไม่ควรจะเป็น’ และบอกว่าเขาทำเช่นนั้นเพื่อ “สะท้อนว่าการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ คลั่งกฎหมาย ไร้ความยุติธรรม และเป็นพวกเพิกเฉยต่อเหตุการณ์บ้านเมืองนั้นไร้สาระชวนขันแค่ไหน และยังสะท้อนว่าในโซเชียลมีเดียปัจจุบัน เป็นเรื่องง่ายเพียงใดที่ใครบางคนจะหาประโยชน์และผู้ติดตามได้จากการเผยแพร่ความคิดที่เป็นพิษ และก้าวร้าวก้าวล่วงผู้อื่น Filthy Frank จะไม่ปฏิเสธถึงการล่วงละเมิดเหล่านั้นว่าไม่มีอยู่ แต่การล่วงละเมิดเหล่านั้นเป็นการล้อโดยเจตนาสะท้อนสังคม หรือบางทีฉัน (Filthy Frank) ก็อาจจะแค่ปัญญาอ่อนน่ะ” (Filthy Frank is the embodiment of everything a person should not be. He is anti-PC, anti-social, and anti-couth. He behaves and reacts excessively to everything expressly to highlight the ridiculousness of racism, misogyny, legalism, injustice, ignorance and other social blights. He also sets an example to show how easy it is in the social media for any zany material to gain traction/followings by simply sharing unsavoury opinions and joking about topics many find offensive. There is no denying that the show is terribly offensive, but this terrible offensiveness is a deliberate and unapologetic parody of the whole social media machine and a reflection of the human microcosm that that social media is. OR MAYBE IM JUST FUCKING RETARDED.) สำหรับโจจิ ตัวละคร ‘Filthy Frank’ ของเขาอาจเป็นบางสิ่งที่คล้าย ๆ กับการทดสอบสังคม โดยฉาบเคลือบไว้ด้วยความบันเทิงสำหรับคนบางกลุ่ม (และแน่นอนว่ามันคือตลกร้าย เรื่องหยาบคาย หรือแม้แต่การเหยียดหยามสำหรับคนอีกกลุ่ม) ส่วนสำหรับผู้เขียนที่ไม่ได้ต้องการเอาความคิดของตนไปครอบงำผู้อ่านแต่อย่างใด จึงขอปล่อยเรื่องราวของโจจิ และอดีตของเขาเอาไว้เพียงเท่านี้ พร้อมกับเสียงเพลงที่เล่นวน   ที่มา: https://knowyourmeme.com/memes/people/filthy-frank https://medium.com/@miguelgetsmail/from-filthy-frank-to-joji-the-growth-and-development-of-a-once-bleeding-heart-b45b7cea666a https://time.com/5535187/joji-interview/ https://www.tmrwmagazine.com/features/music/joji-turning-emotions-into-music https://www.billboard.com/articles/columns/hip-hop/8061822/joji-interview-will-he-filthy-frank