สัญญะและประเด็นทาง 'การเมือง' ใด แฝงอยู่ในภาพยนตร์ The Hunger Games?

สัญญะและประเด็นทาง 'การเมือง' ใด แฝงอยู่ในภาพยนตร์ The Hunger Games?

The Hunger Games นิยายชุดขายดีของซูซาน คอลลินส์ ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน แม้ว่าภาคสุดท้าย จะออกฉายตั้งแต่ปี 2015 แต่ทั้งตัวนิยายและภาพยนตร์เองก็ถูกพูดถึงในแง่มุมการเปรียบเทียบทางการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้

The Hunger Games เป็นเรื่องราวของโลกอนาคต ที่อารยธรรมล่มสลาย แล้วโลกได้มีการจัดระเบียบใหม่โดยในประเทศ “พาเน็ม” ได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 เขต ขึ้นตรงต่อ “แคปิตอล” ซึ่งเป็นเมืองหลวง แต่ละเขตมีความถนัดในการผลิตทรัพยากรที่แตกต่างกัน อย่างเช่น เขต 12 ซึ่งเป็นเขตที่ตัวเอกของเรื่องทั้งสามคน นั่นคือ สาวน้อยสู้ชีวิต แคตนิส เอเวอร์ดีน, พีต้า หนุ่มลูกเจ้าของร้านขายขนมปัง และเกล หนุ่มนักล่าสัตว์ อาศัยอยู่ เป็นแหล่งผลิตถ่านหิน ซึ่งนับว่าเป็นเขตที่ยากจนแร้นแค้นที่สุดใน 12 เขต

พาเน็ม” สร้างกลไกเพื่อควบคุมพลเมืองในรัฐของตน ด้วยวิธีที่หลากหลาย อย่างเช่น การห้ามให้ผู้คนทั้ง 12 เขตติดต่อกัน แต่ที่สำคัญก็คือ การออกแบบเกมเรียลิตีโชว์ที่มีชื่อว่า Hunger Games เพื่อให้แต่รัฐเห็นความสำคัญในชีวิตของตน โดยในแต่ละปี แต่ละเขตจะส่งตัวแทนชายหญิงหนุ่มสาวอายุระหว่าง 12-18 ปี มาเล่นเกมนี้เขตละ 2 คน รวมทั้ง 12 เขตมีผู้เข้าร่วม Hunger Games อยู่ 24 คน โดยเกมนี้มีกติกาง่าย ๆ คือ ผู้ที่เหลือรอดจากเกมคนสุดท้ายคือผู้ชนะ ซึ่งนั่นก็หมายถึงผู้ร่วมแข่งขันที่เหลืออีก 23 คนต้องจบชีวิตลงในเกมนี้

จากโปรแกรมเกมดังกล่าว เรื่องราวของหนังในภาคต่อ ๆ ถูกขยายความไปไกลถึงประเด็นการต่อต้านรัฐเผด็จการโดยฝ่ายกบฏอันเป็นผลพวงจากความไม่พอใจของผู้ถูกกดขี่จาก "แคปิตอล" ซึ่งสัญญะ และประเด็นทาง "การเมือง" ที่น่าสนใจในภาพยนตร์เรื่องนี้ มีดังนี้คือ

1.สงครามสื่อ แบบโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) นี่คือประเด็นที่เห็นได้ชัดใน The Hunger Games: Mockingjay : Part 1 คือต่างฝ่ายต่างชิงนิยามคุณค่าของรัฐในแบบของตน ฝั่งรัฐบาลเผด็จการใช้สื่อกระแสหลักเพื่อตอกย้ำวาทกรรมว่า "แคปิตอล" คือ "หัวใจ" ที่ค้ำชูรัฐ และการต่อต้านการเคลื่อนไหวของฝ่ายกบฏอาจจะนำมาซึ่งความรุนแรงและสงครามกลางเมือง ในแง่นี้คือการสร้างโฆษณาชวนเชื่อของผู้กุมอำนาจรัฐเพื่อปกปิดความจริงที่ว่า การสร้างวาทกรรมว่า "แคปิตอล" คือหัวใจของรัฐ มันเป็นแค่คำหลอกลวงเพื่อให้ฐานอำนาจเก่าคงอยู่ และความอยุติธรรมอย่างการขูดรีดทรัพยากรจากทั้ง 12 เขต เข้าสู่เมืองหลวงอย่างแคปิตอล คือ สิ่งที่ต้องคงอยู่ต่อไป

ส่วนทางฝั่งกบฏ ได้ใช้ภาพคนรุ่นใหม่ สาวรากหญ้าอย่างแคตนิส เป็นสัญลักษณ์ "ม็อคกิ้งเจย์" ชูมือสามนิ้วต่อสู้เพื่อปลดแอกความอยุติธรรม ฝั่งนี้ใช้อาวุธด้านสื่อสารมวลชนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะลงทุนให้ทีมกำกับหนังตามไปถ่ายทำแคตนิสในทุกที่ที่เธอไป หาจังหวะที่ดีที่สุดของการแสดงออกของแคตนิส มาออกอากาศทางรายการนอกระบบ เพื่อนำมาปลุกระดมแนวร่วมในเขตอื่น ๆ ให้ช่วยกันต่อสู้ให้รัฐพาเน็มกลายเป็นประชาธิปไตย

การนำเสนอสื่อของฝั่งรัฐบาลจึงกลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อ(Propaganda) ที่ดูไม่ค่อยจะชวนเชื่อสักเท่าไหร่ แต่ด้วยความที่มีสื่อหลักอยู่ในมือ ทำให้ "เสียง" ของฐานอำนาจเก่ายังดังให้ได้ยินอยู่เสมอ ซึ่งเป็นเสียงที่ดังขึ้นมาฝั่งเดียว ความสนุกของหนังในภาคนี้จึงอยู่ที่ว่าฝั่งกบฏจะใช้วิธีใดที่ทำให้เสียงของตนดังขึ้นกว่านี้บ้าง

2. กลไกรัฐ อุดมการณ์รัฐ และการต่อต้านอำนาจรัฐ รัฐบาลเผด็จการของแคปิตอล ได้สร้างกลไกรัฐขึ้นมาเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้ หนึ่งในนั้น คือการสร้างโปรแกรมเกม The Hunger Games ขึ้นมา โดยให้ประชากรทั้ง 12 เขต ส่งตัวแทนมาแข่งขันเอาชีวิตกัน เพื่อทำให้เกิดทั้ง "ความกลัว" และ "ความหวัง" (เล็กๆ) ให้กับพลเมือง แน่นอนว่า เมื่อผู้คนมีความกลัว ต่อหน้าย่อมยอมศิโรราบให้กับรัฐเผด็จการ

แต่ประเด็นคือ ความหวังมาเกี่ยวอะไรด้วย? หากสร้างความหวังเล็ก ๆ ให้เกิดขึ้น (ความมหวังที่ว่าถูกมองผ่าน ความหวังที่จะรอดชีวิตของผู้เข้าแข่งขัน The Hunger Games) แม้ว่าระบอบจะเลวทราม ผู้คนจะรู้สึกว่า ชีวิตจะยังไปต่อได้อยู่ แต่หากหมดหวังแบบเต็มตัวแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็อาจจะเป็นการต่อต้านรัฐ ผู้คนจะพากันหันมาเปลี่ยนระบบเพื่อ "รีเซ็ต" ความหวังใหม่ให้เกิดขึ้นในรัฐ (ประเด็นเรื่อง "ความหวัง" เป็นประเด็นที่ประธานาธิบดีสโนว์แห่งพาเน็ม พูดขึ้นมา) หรืออย่างวาทกรรมเรื่อง "หัวใจ" ของรัฐ คือแคปิตอล ก็คือการสร้างอุดมการณ์ของรัฐลวง ๆ ขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจว่า หากแคปิตอลล่ม ทั้งพาเน็มก็ต้องล่ม ซึ่งมันอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ (ดูเพิ่มเติมในข้อ 3)

3. การนำเสนอสังคมในพาเน็ม เป็นสังคมที่อยู่ในรูปแบบ “ดิสโทเปีย” (Dystopian) ซึ่งเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความเลวร้ายจากเผด็จการและผู้คนทุกข์ยาก สังคมพาเน็มแห่งนี้ ได้มีการจัดระเบียบการปกครองเพื่อป้องกันการลุกฮือของคนในรัฐหลากหลายรูปแบบ เพราะในอดีตมีเขต 13 ซึ่งเป็นเขตที่ทำการปฏิวัติ ผู้คนที่มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายในแคปิตอลจึงต้องหาทางป้องกันตรงจุดนี้ไว้ อย่างเช่น การนำทรัพยากรจากเขตต่าง ๆ ไล่ตั้งแต่อาหารไปจนถึงอาวุธสงครามเข้าสู่แคปิตอล ซึ่งเป็นส่วนกลางเพียงเขตเดียว, ห้ามให้เขตเหล่านี้ติดต่อกัน, มี “พีซคีปเปอร์” เป็นตำรวจของรัฐที่คอยควบคุมดูแลแต่ละเขต และการจัดการแข่งขัน The Hunger Games ที่นอกจากจะทำให้ผู้คนในแต่ละเขตนึกถึงคุณค่าของชีวิตตนแล้ว การนำเสนอความบันเทิงในรูปแบบเรียลิตีโชว์ ยังเป็นการกล่อมให้พลเมืองสงบ(โดยเฉพาะคนในเขตแคปปิตอล)ด้วยการใช้ความบันเทิงเข้ามาหลอกล่อ ซึ่งไม่ต่างจากยุคที่จักรวรรดิโรมันรุ่งเรืองจากการรุกรานดินแดนต่าง ๆ แต่พวกเขาพยายามทำให้ผู้คนที่อยู่ในกรุงโรมอันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่อย่างสงบ ไม่มีการลุกฮือก่อจราจลด้วยการสร้างสถานบันเทิงอย่างโคลอสเซียมที่มีการจัดการประลองระหว่างทาส เชลยศึก และนักต่อสู้อาชีพ ให้ชาวโรมันได้ชมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจโดยเฉพาะ

ดิสโทเปีย” ในแบบ “The Hunger Games” จึงดูสนุกและหดหู่ไม่แพ้วรรณกรรมดิสโทเปียเรื่องดัง ๆ ในอดีตอย่าง “Brave New World” ของ อัลดัส ฮักซลีย์, “1984″ ของจอร์จ ออร์เวลล์ หรือ “Lord of the Flies” งานเขียนของวิลเลียม โกลดิ้ง แต่อย่างใด

4. การต่อสู้ทางชนชั้น (Class Struggles) ทรัพยากรในรัฐพาเน็มถูกดูดเข้าไปในส่วนกลาง นั่นคือ “แคปิตอล” อันเป็นชนชั้นนำของรัฐ แต่มีการกระจายผลผลิตกลับสู่เขตต่าง ๆ ด้วยสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับผลผลิตที่เจ้าของแรงงานในแต่ละเขตที่ควรจะได้ปมตรงนี้ทำให้ The Hunger Games มีเสน่ห์น่าติดตาม เพราะแน่นอนว่า เมื่อความแร้นแค้นและความไม่พอใจถูกสะสมมากขึ้น ผู้คนผู้เป็นชนชั้นฐานล่างของสังคมย่อมที่จะลุกฮือเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐเพราะถูกขูดรีด โดยเฉพาะผู้คนในเขต 11 และ 12 ซึ่งเป็นเขตที่ทำการเกษตรกรรมและทำเหมืองแร่ถ่านหิน อันเป็นพื้นที่ที่พาเน็มปล่อยปละละเลยจนผู้คนอดอยาก ย่อมเป็นมูลเหตุการต่อสู้ทางชนชั้นอันนำไปสู่การปฏิวัติได้

5. การเสียดสีสื่อในความเป็นเรียลิตี โชว์ (Reality Show) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นรูปแบบรายการยอดฮิตไปทั่วทุกมุมโลก The Hunger Games จะนำผู้ชมมายังประเด็นนี้ เหตุผลเพราะว่า ซูซาน คอลลินส์ได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งหนังสือจากการนั่งชมรายการโทรทัศน์ 2 ช่องรายการ ช่องรายการหนึ่งเป็นรายการเรียลิตีโชว์ แต่อีกช่องหนึ่งกลับเป็นข่าวที่อเมริกาบุกอิรักเมื่อปี 2003 ความรู้สึกขัดแย้งกันตรงนี้ทำให้เธออยากเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ทำให้ผู้ตกรอบจากเวที The Hunger Games ไม่ใช่เพียงแต่ถูกกรรมการวิจารณ์หรือตนเองต้องออกมายืนร้องไห้หน้าเวทีเหมือนรายการเรียลิตีโชว์ที่เห็นกันดาดดื่นแต่นั่นหมายถึงชีวิตที่จะต้องสังเวยเพื่อแสดงให้เห็นถึงความภักดีที่มีต่อรัฐพาเน็ม ในแง่นี้ จึงเปรียบเสมือนการล้อเลียนผู้ชมเรียลิตีโชว์ ในภาพที่ว่า ในขณะที่เรารับสื่ออยู่นั้น ผู้ชมไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างความรุนแรงจากการแสดงและความรุนแรงจากพื้นที่จริงออกได้แล้ว เพราะนี่เป็นเพียงความบันเทิงหนึ่งที่มีในชีวิตของพวกเขา, ผู้เลือกเสพความบันเทิงบนโซฟาในบ้านของตนเองเพียงเท่านั้น

Remember who the real enemy is.