The Hunting Ground (2015) สารคดีต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา

The Hunting Ground (2015) สารคดีต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา

สารคดีต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา

ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมอเมริกัน (ไม่ต่างจากสังคมไทยเลย) โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา แต่ที่น่าสนใจก็คือ มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาต่อต้านความรุนแรงนี้ด้วยการใช้ "สื่อ" มาปลุกกระแสต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ ภาพยนตร์สารคดี The Hunting Ground (2015) คือหนึ่งในสื่อที่พูดถึงเรื่องนี้อย่างเข้มข้น และกระตุ้นให้ผู้คนตะหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง จนกลายเป็นกระแส #MeToo ที่เคลื่อนไหวในประเด็นนี้อย่างจริงจังในเวลาต่อมา ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.2016 หนึ่งในห้วงเวลาสุดประทับใจในงานประกาศผลรางวัล “อะคาเดมี อะวอร์ดส์” หรือรางวัล “ออสการ์” ครั้งที่ 88 ในช่วงเดือนปลายกุมภาพันธ์ ค.ศ.2016 ก็คือช่วงเวลาที่ศิลปินสาว เลดี้ กาก้า ขึ้นไปแสดงในเพลง Til It Happens to You ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Hunting Ground (2015) การแสดงนี้เรียกน้ำตาจากผู้ชมทั้งนอกและในดอลบี้ เธียร์เตอร์ สถานที่จัดงานได้อย่างท่วมท้น โดยเฉพาะใน “ซีน” ที่บรรดานักศึกษาหนุ่มสาวร่วม 50 คนขึ้นมาบนเวที พวกเขาเหล่านี้เขียนข้อความตรงข้อมือว่า Survivor, Not your fault, Unbreakable และ I believe you เพื่อสื่อสารกับวงกว้างว่า พวกเขาทั้งหมดรวมไปถึงตัวเลดี้ กาก้าเอง เคยตกเป็น “เหยื่อ” ความรุนแรงทางเพศในสมัยที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัย ก่อนหน้าที่เลดี้ กาก้าจะขึ้นเวที รองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาอย่าง โจ ไบเดน (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้ขึ้นมาแนะนำโชว์นี้ท่ามกลางเสียงปรบมืออย่างยาวนาน โจ ไบเดนได้ กล่าว speech สั้น ๆ ก่อนที่จะมีการแสดง ใจความว่า  “แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็มีผู้หญิงและผู้ชายจำนวนมากทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยที่ยังคงเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ และในค่ำคืนนี้ ผมขอให้พวกเราร่วมกับคนอเมริกันนับล้าน รวมถึงตัวผมเอง, ประธานาธิบดี บารัค โอบามา, นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ผมเคยพบมาหลายพันคน ไปจนถึงศิลปินที่อยู่ที่นี่ ร่วมกันปฏิญาณ” สิ่งที่โจ ไบเดน เรียกร้องให้มีการปฏิญาณ นั่นคือการกระตุ้นเตือนชาวอเมริกันให้เปลี่ยนวัฒนธรรมที่มีต่อประเด็นการละเมิดทางเพศของทั้งชายและหญิงซึ่งไม่ควรมีอีกต่อไป ซึ่งคำปฎิญาณของโจ ไบเดน สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการละเมิดทางเพศของอเมริกา นั้นเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่แม้แต่ทำเนียบขาวยังต้องหาทางรับมือกับปัญหานี้ นี่คือซีนสำคัญบนเวที ที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของภาพยนตร์เรื่อง The Hunting Ground The Hunting Ground (2015) สารคดีต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา The Hunting Ground ผลงานกำกับของเคอร์บี้ ดิค นี่คือภาพยนตร์สารคดีที่พูดถึงประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศจากการ “ข่มขืน” โดยเฉพาะประเด็นของการถูกข่มขืนในสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยไว้อย่างแหลมคม ซึ่งทำให้เห็นว่า การมีเซ็กส์ของนักศึกษา ไม่ใช่เรื่องของความยินยอมพร้อมใจหรือเรื่องเสน่หาของคนทั้งคู่เสมอไป แต่หลายต่อหลายครั้ง มันคือการบังคับในลักษณะของการ “ข่มขืน” ปัญหาก็คือ เมื่อเกิดการข่มขืนเช่นนี้ มหาวิทยาลัยในอเมริกากลับเพิกเฉย ไม่สนใจ แล้วมองว่ามันคือการมีเซ็กส์ด้วยความยินยอม และหากมีกรณีที่จับได้ว่ามีการข่มขืนขึ้นจริง มันจะถูกมหาวิทยาลัยทำโทษเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งที่การข่มขืนมันคือการละเมิดผู้อื่นในเรื่องร่างกายที่ชัดเจนมาก จนหลายครั้งไปถึงระดับทำร้ายร่างกายขณะข่มขืน และปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งก็คือ “เหยื่อ” ผู้ถูกข่มขืน จากสถิติที่ปรากฏใน The Hunting Ground ปรากฏว่า 20% ของนักศึกษาหญิงในสหรัฐอเมริกา เคยถูกข่มขืนในมหาวิทยาลัยแต่ 88% ของพวกเธอ ตัดสินใจไม่รายงานให้ผู้บริหารสถาบันรับรู้ ด้วยความอายและด้วยความรรู้สึกที่ว่ามหาวิทยาลัยไม่สามารถที่จะจัดการปัญหาให้กับเธอได้ เลยทำให้ผู้ถูกกระทำกลายเป็น “เสียงเงียบ” ที่ผู้คนไม่ได้ยิน แต่หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ กำลังถ่ายทำ จนถึงในช่วงหลังการฉาย ทำให้ผู้คนมากมายต่างมองเห็นปัญหานี้ ผู้ที่เคยเป็น “เหยื่อ” ในการข่มขืนในมหาวิทยาลัยกล้าจะที่เปิดเผยตัวตน กลายเป็นกลุ่มที่มีพลังในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ซึ่งนับวันการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้เริ่มขยายวงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ นี่คือพลังของภาพยนตร์ นอกจากเราจะดูหนังเพื่อความบันเทิงแล้ว ภาพยนตร์ก็เป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ... The Hunting Ground เปิดเรื่องโดยฉากที่แสดงอารมณ์สดใส พูดถึงวัยรุ่นที่ได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยที่มาพร้อมกับฟุตเทจภาพของอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่กล่าวสุนทรพจน์เพื่อให้สัญญาในทำนองว่า เด็ก ๆ ที่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะได้รับความปลอดภัย แต่อีกมุม ชีวิตในมหาวิทยาลัยกลับไม่เป็นเช่นนั้น สถานศึกษาไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยเสมอไป... The Hunting Ground บอกกับเราว่า มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ถูกข่มขืนในวัยเรียนในมหาวิทยาลัยทั่วอเมริกา ซึ่งในตอนแรกหนังเล่าเรื่องโดยพูดถึงปัญหาการข่มขืนในเชิงปัจเจก ก่อนที่จะค่อย ๆ นำพาเรื่องเพื่อไปสู่การมองปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างมีชั้นเชิง เพื่ออธิบายว่า ทำไมสถาบันหลักของชาติอย่าง มหาวิทยาลัย หรือตำรวจ ถึงค่อนข้างเพิกเฉยกับปัญหาเหล่านี้? ซึ่งนั่นก็เพราะว่า มหาวิทยาลัยนั้นเชื่อมโยงกับผลประโยชน์มหาศาลในรูปแบบของเงินบริจาคที่ทางศิษย์เก่าสมาคมบริจาคให้ทุกปี (งานปาร์ตี้ในสมาคมเหล่านี้ คือจุดกำเนิดหนึ่งของปัญหาการ “ข่มขืน”) ไปจนถึงผลประโยชน์ที่ได้จากกีฬาอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยที่มีมากมายมหาศาล (ในเรื่อง มีกรณีที่นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลถูกกล่าวหาว่าข่มขืนนักศึกษา แต่ทางมหาวิทยาลัยกลับเพิกเฉยที่จะสอบสวนเรื่องนี้) การที่นักศึกษาถูกข่มขืน ซึ่งในหนังมีทั้งกรณีที่เป็นนักศึกษาหญิงและชาย จึงกลายเป็นเรื่องที่สถาบันศึกษาที่รับประกันความปลอดภัยให้กับลูกหลานชาวอเมริกันกลับเพิกเฉยเพราะผลประโยชน์ที่มหาศาลในข้างต้น จนบางคนหมดหวัง เลือกที่จะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายก็มี (ฉากฆ่าตัวตายเป็นซีนที่ตรึงอารมณ์ในหนังเรื่องนี้มาก ๆ) คำถามคือ สังคมนี้กำลังหมดหวังกับการแก้ปัญหาเรื่อง “การข่มขืน” ใช่ไหม? ท่าทีของ The Hunting Ground กลับบอกว่า โลกนี้ยังมีความหวังอยู่ ผ่านการเคลื่อนไหวในเชิง “สันติวิธี” หลายต่อหลายทาง อย่างเช่น แคมเปญการแบกเตียงไปเรียนหนังสือเพื่อประท้วงความเฉยเมยในการแก้ปัญหาของมหาวิทยาลัย และที่เป็นแกนกลางในการเล่าเรื่องของหนังก็คือ แอนเดรีย ปิโน กับแอนนี่ คลาร์ค สองนักศึกษาสาวแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลน่า ผู้เป็น “เหยื่อ” ของการข่มขืน เธอทั้งสองพยายามตีความกฎหมาย “Title 9” ที่พูดถึงความเท่าเทียมทางเพศในสถาบันศึกษาและยื่นฟ้องเรื่องนี้ต่อมหาวิทยาลัย แม้ว่ายกแรกนี้เธอจะยังไม่ชนะ แต่มันนำไปสู่การพัฒนากลุ่มที่มีชื่อว่า End Rape on Campus เพื่อรณรงค์ต่อต้านการข่มขืนในมหาวิทยาลัยต่อไป ในสังคมที่ให้ความสำคัญเรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียม อย่างสังคมประชาธิปไตย อาวุธที่สำคัญในสังคมนี้จึงกลายเป็นเรื่องของ “เสียง” ยิ่งสังคมที่มีความเท่าเทียมสูง “เสียง” ที่นำเสนอออกมายิ่งมีพลัง และพลังตรงนี้นั้นล่ะที่ช่วยผลักดันให้เกิด “ความยุติธรรม” ในสังคมขึ้นมาได้ หาก “เสียง” ที่เรียกร้องออกมาคือ “เหตุ” และ “ความยุติธรรม” ที่ตามมา นั่นคือ “ผล” “เสียง” จากผู้ถูกกระทำที่อยู่รายรอบปรากฏการณ์จากภาพยนตร์ The Hunting Ground จึงเป็นเสียงที่มีพลังในการสร้างผลในการผลักดันสังคมในเวลาต่อมา...