สมเถาร่วมมือกับผู้กำกับชื่อดังชาวอังกฤษสร้างภาพยนตร์แนวระทึกขวัญเรื่อง THE MAESTRO: A SYMPHONY OF TERROR (ดุริยางค์มรณะ)

สมเถาร่วมมือกับผู้กำกับชื่อดังชาวอังกฤษสร้างภาพยนตร์แนวระทึกขวัญเรื่อง  THE MAESTRO: A SYMPHONY OF TERROR (ดุริยางค์มรณะ)
กรุงเทพฯ 11 กุมภาพันธ์ 2564  วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ศิลปินจำนวนมากต้องปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานต่าง ๆ  สำหรับสมเถา สุจริตกุล วาทยกร คีตกวี และผู้อำนวยการมหาอุปรากรกรุงเทพ วิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้เขากลับไปทำงานในสายงานเดิมที่ห่างเหินไปนานประมาณ 2 ทศวรรษ โดยร่วมมือกับพอล สปูริเออร์ อดีตนักแสดงเด็กในวงการภาพยนตร์และละครเวที ทั้งยังเป็นผู้กำกับมือรางวัลจากภาพยนตร์เรื่อง The Forest ศิลปินทั้งสองได้ตัดสินใจหาทางออกด้วยกันภายใต้วิกฤตการแพร่ของโรคระบาดด้วยโครงการสร้างภาพยนตร์ สมเถามีออร์เคสตร้าวงใหม่กับงานคอนเสิร์ตมากมายที่ถูกเลื่อนกำหนดการแสดง เขายังเคยทำงานในวงการภาพยนตร์แบบไม่จริงจังมาก่อน โดยกำกับการแสดงภาพยนตร์ประเภททุนต่ำที่ฮอลลีวูด 2 เรื่อง รวมทั้งเรื่องที่เคยได้รับรางวัลอย่าง Ill Met by Moonlight ในฐานะนักเขียนนวนิยายแนวสยองขวัญที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นมาก่อนหน้านี้ทำให้เขาตัดสินใจเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานที่นอกเหนือจากงานดนตรีคลาสสิกที่ผู้คนยอมรับนับถือในปัจจุบัน พอลมีทีมงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่พร้อมสรรพอยู่ในมือ ขณะที่ตัวเขาเองยังเป็นผู้กำกับภาพที่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังมีทีมงานคุณภาพอย่างภรรยาของเขาที่ทำงานด้านเสียง รวมทั้งน้องของภรรยาของเขาที่เป็นผู้ช่วยช่างภาพมากประสบการณ์ พอลเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการภาพยนตร์จากผลงาน 2 เรื่องของเขาที่แพร่ภาพผ่านทางเน็ตฟลิกซ์ รวมทั้งภาพยนตร์ซีรีส์ทางโทรทัศน์เรื่อง Eullenia ซึ่งได้เปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์แห่งอาเซียน สมเถาได้หารือกับพอลว่า “เราพอจะสร้างภาพยนตร์ทุนต่ำร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้นักดนตรีในออร์เคสตร้าเยาวชนของผมมีโอกาสได้ทำงานในช่วงนี้” พอลตอบกลับสมเถาในทันทีว่า “ผมอยากทำหนังเกี่ยวกับปรมาจารย์ทางดนตรีที่สติเฟื่อง โดยตัวละครนี้พยายามหลอกล่อวงออร์เคสตร้าเยาวชนให้เล่นผลงานเพลงชิ้นเอกระดับมาสเตอร์พีสของเขา แต่แล้วทุกอย่างก็เริ่มดำเนินไปผิดแผน... ผมมีข้อแม้อย่างเดียวคือคุณต้องรับบทเป็นปรมาจารย์สติเสียคนนั้นเอง” นี่คือจุดกำเนิดของภาพยนตร์เรื่อง The Maestro: A Symphony of Terror (ดุริยางค์มรณะ) จากนั้นสมเถาได้ลงมือเขียนบทภาพยนตร์ แต่แล้วโครงการดังกล่าวได้เริ่มมีปัญหาเพราะมันไม่ใช่เพียงแค่โครงการเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 12 วันอย่างที่คิดไว้ สมเถากล่าวว่า “ผมเคยทำงานให้โรเจอร์ คอร์แมน มาแล้วเมื่อประมาณปี 2533 ผมจึงรู้วิธีการทำงานใหญ่แต่ลงทุนน้อย” สมเถาร่วมมือกับผู้กำกับชื่อดังชาวอังกฤษสร้างภาพยนตร์แนวระทึกขวัญเรื่อง  THE MAESTRO: A SYMPHONY OF TERROR (ดุริยางค์มรณะ) สำหรับสถานที่ในการถ่ายทำภาพยนตร์คือบางนากับปากช่อง The Maestro: A Symphony of Terror (ดุริยางค์มรณะ) เป็นเรื่องราวความหลงผิดของนักดนตรีอัจฉริยะผู้มีปัญหาทางจิตอันท่วมท้นชื่อ ดร. อรุณ แสงสมนึก หลังจากที่เขาถูกปฏิเสธโดยสถาบันดนตรีมีชื่อเสียงในยุโรป เขาซมซานกลับบ้านเกิดในเมืองไทยและได้เริ่มงานสอนดนตรีภายใต้โครงการดนตรีเยาวชน  ดร. อรุณถูกหญิงสาวที่คลั่งไคล้อยากเป็นนักร้องโอเปร่าตามตื้อ ไปไหนก็ถูกหัวเราะเยาะ ซ้ำร้ายความหวังที่จะเปิดตัวผลงานชิ้นเอกยังพังทลายเพราะถูกวาทยกรมีชื่อระดับโลกช่วงชิงไป  ดร.อรุณจึงก้าวเข้าไปสู่ภาวะวิปริตทางจิตเต็มขั้น นอกจากนี้ยังมีตัวละครวัยรุ่นสองคนคือนักไวโอลินแบหมวกขอทานกับนักเปียโนอัจฉริยะจากครอบครัวที่มีปัญหา ดร. อรุณเริ่มสร้างสวรรค์แห่งการดนตรีที่ความเพ้อฝันให้กลายเป็นจริง... แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างกลับกลายเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ เมื่อแผนของโครงการสร้างภาพยนตร์ได้แพร่ออกไป กิตติศัพท์ของพอล สปูริเออร์ ได้ดึงดูดนักแสดงไทยที่โด่งดังในระดับนานาชาติมารวมตัวกัน อาทิ เดวิด อัศวนนท์ นักแสดงมือรางวัลจากภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ เช่น Countdown สหจักร บุญธนกิจ จาก The Beach, Broke Down Palace และ No Escape  วิทยา ปานศรีงาม จาก Only God Forgives และ The Last Executioner รวมทั้งไมเคิล เชาวนาศัย จาก Metrosexual ทั้งนี้มีเยาวชนกว่า 160 คนมาร่วมออดิชั่นเพื่อรับบทตัวละครเด็กพิเศษ 2 คน ผลปรากฏว่าชนิศพงษ์ กังวานเลิศอุไร (เจแปน) ได้รับคัดเลือกให้แสดงบทนักเปียโนวัยรุ่นปากเสียผู้มีพรสวรรค์ และกิตติธัช กาญจนบวร (อินคัม) รับบทเป็นหนุ่มน้อยนักไวโอลินแบหมวก ทั้งคู่เป็นนักแสดงมือใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวครั้งแรก ร่วมด้วยนักแสดงอีกรายคือศิรินญา ปึงสุวรรณ ผู้รับบท ลียา สาวิตรี หญิงสาวผู้มีความมุ่งมั่นแรงกล้า ส่วนนักแสดงหน้าเก่าที่คร่ำหวอดในโลกมายาคือจิม สุนทร มีศรี “นี่คือเรื่องราวของอัจฉริยภาพกับวิกลจริตและเส้นเบาบางระหว่างกลางของสองสิ่งนี้” พอลกล่าว “มันเป็นการแสดงที่ต้องใช้ความประณีตเป็นพิเศษ” สมเถาเสริม “ต้องมีองค์ประกอบที่ลงตัวและสมดุลทั้งในส่วนของความระทึกขวัญ และประเภทของการสร้างสรรค์ซึ่งต้องใคร่ครวญอย่างหนัก รวมทั้งมุขขำขันในรูปแบบตลกร้ายหรือ dark comedy พอลกำลังพาพวกเราลุยท้องน้ำที่เชี่ยวกรากด้วยความระมัดระวัง” ในการสร้างภาพยนตร์ด้วยทุนต่ำสุด สมเถาต้องติดต่อนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาและคานาดาให้เข้ามามีส่วนร่วม อีกทั้งบริษัทเอกชนในประเทศที่สนับสนุนสถานที่ถ่ายทำและบริการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผลงานสำเร็จด้วยดี สมเถากล่าวว่า “ผมภูมิใจมากที่การผจญภัยเล็ก ๆ ของเรามีส่วนนำเงินเข้าประเทศเพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแม้จะน้อยนิดเพียงใดก็ตาม” หนึ่งในจุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้คือดนตรีจากวงออร์เคสตร้าเยาวชนที่มีดีกรีรางวัลระดับโลกอย่างสยามซินโฟนิเอตต้าภายใต้การอำนวยเพลงโดยทฤษฎี ณ พัทลุง จะบรรเลงดนตรีซาวด์แทรคที่ประพันธ์โดยสมเถา สุจริตกุล ซึ่งถ่ายทอดดนตรีในจินตนาการของ ดร. อรุณ ทั้งยังมีนักดนตรีเยาวชนมือหนึ่งของประเทศไทยร่วมโซโลเปียโนและไวโอลิน ทั้งนี้คาดว่าภาพยนตร์เรื่อง The Maestro : Symphony of Terror (ดุริยางค์มรณะ) จะเปิดแสดงรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติต่อไป