แว่นวิดีโอ: ร้านขายหนังเถื่อน ผู้ส่งต่อวัฒนธรรมหนังนอกกระแสให้แก่สังคมไทย 

แว่นวิดีโอ: ร้านขายหนังเถื่อน ผู้ส่งต่อวัฒนธรรมหนังนอกกระแสให้แก่สังคมไทย 
วิทยานิพนธ์ของขจิตขวัญ กิจวิสาละ (2546, น. 8-12) ได้นิยามความหมายของหนังนอกกระแสเอาไว้ 2 ความหมาย ความหมายแรก คือหนังที่ถูกสร้างโดยผู้สร้างที่มีความตั้งใจและมีกระบวนการสร้างที่เป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลของบริษัทหรือสตูดิโอหนังขนาดใหญ่ และปราศจากการครอบงำด้านการค้า สังคม และการเมือง ส่วนความหมายที่สอง คือหนังในตระกูลที่ไม่ได้เป็นที่นิยมของผู้ชมส่วนใหญ่ในสังคมหนึ่ง ๆ อาทิ หนังทดลอง หนังศิลปะ หรือหนังอุดมการณ์ทางเลือก เป็นต้น หนังประเภทนี้มักมีทุนสร้างต่ำ และมักได้ทุนมาจากบุคคลหรือการสนับสนุนจากรัฐเป็นหลัก  บทบาทพิเศษของหนังนอกกระแส คือการเป็นเครื่องมือหรือตัวแทนของการต่อสู้ทางความคิด จิตสำนึก และวัฒนธรรม รวมถึงเป็นตัวแทนความคิดของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยในสังคมหนึ่ง ๆ (ขจิตขวัญ กิจวิสาละ, 2546, น. 13-14) นอกจากนั้น ด้วยความเป็น “อิสระ” ของหนังประเภทนี้ หนังนอกกระแสหลายเรื่องจึงมีวิธีเล่าเรื่องในแบบที่หลากหลาย ผ่านการใช้เทคนิคภาพยนตร์ต่าง ๆ ทั้งการตัดต่อ การใช้แสง สี เสียง การลำดับเวลา ฯลฯ ในแบบที่หนังกระแสหลักที่เน้นการขายเป็นหลักไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้ผู้ที่รับชมหนังประเภทนี้ไม่ติดอยู่กรอบใดกรอบหนึ่ง และได้รับรู้ถึงความเป็นไปได้อื่น ๆ รวมถึงขยายขอบเขตจินตนาการและได้ฝึกการตีความทั้งในเชิงเหตุผล อารมณ์ และความรู้สึกให้กว้างไกลออกไป ความ “พิเศษ” เช่นนี้เอง ทำให้หนังนอกกระแสส่วนหนึ่งมีคุณค่าทางศิลปะและคุณค่าทางการศึกษา ในสังคมไทยเองก็เช่นเดียวกัน ในการศึกษาประวัติศาสตร์หรือเทคนิคภาพยนตร์นั้น มักใช้หนังนอกกระแสจากต่างประเทศมาเป็นตัวแบบในการเรียนการสอนอยู่เสมอ และสำหรับชุมชนคนดูหนังระดับ “ฮาร์ดคอร์” แล้ว การได้ดูหนังนอกกระแสดี ๆ เหล่านั้นในโรงภาพยนตร์ก็ถือเป็นความปรารถนาอย่างหนึ่งในชีวิต แต่ใครจะรู้บ้างว่า ช่วงต้นยุค 90 การเข้าถึงหนังเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝัน เนื่องจากไม่มีการนำเขาหนังเหล่านี้มาจัดจำหน่ายอย่างถูกลิขสิทธิ์ นักศึกษาภาพยนตร์ที่จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ที่อยู่ในหนังฝรั่งเศสตระกูล French New Wave ทำได้เพียงอ่านตำราหรือฟังเลคเชอร์แล้วจินตนาการตาม การได้ดูหนังสายนี้แบบ ‘ตัวเป็น ๆ’ คือการไปงานฉายหนังของสถานทูตหรือสมาคมต่างประเทศต่าง ๆ อย่าง สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย หรือบริติช เคานซิล ที่ล้วนกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และมีโปรแกรมฉายที่ไม่แน่นอน  “หน้าต่าง” บานเดียวที่พอจะทำให้คนกลุ่มนี้ส่องดูโลกหนังนอกกระแสได้ในช่วงเวลานั้นคือ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และนิตยสารภาพยนตร์อย่าง “ฟิล์มวิว” หรือ “หนังและวีดีโอ” ที่มักนำเสนอในเชิงวิชาการเป็นหลัก “สิ่งที่คนพูดกันเกี่ยวกับหนังนอกกระแสในวันนั้น มันเหมือนการพูดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รู้ว่ามีอยู่จริงแต่ไม่มีใครเคยเห็น” นั่นคือคำอธิบายของยุทธนา บุญอ้อม ที่สรุปสถานะของหนังนอกกระแสในไทยช่วงต้นยุค 90 ได้ครอบคลุมที่สุด จนกระทั่งการมาถึงของพี่คนหนึ่ง... พี่คนนั้นถูกเรียกจากคนในวงการว่า “พี่แว่น” เขาคือเจ้าของร้าน “แว่นวิดีโอ” (Van VDO) ร้านขายวิดีโอหนังนอกกระแส รวมถึงหนังคลาสสิกจากต่างประเทศแบบละเมิดลิขสิทธิ์ ที่เป็นที่ใฝ่หาของชุมชนนักดูหนังสายนี้แทบทั้งสิ้น  ในปี พ.ศ. 2557 นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ได้จับเอาเรื่องราวของร้านแว่นวิดีโอ หรือร้านพี่แว่น มาสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Master โดยใช้วิธีเล่าเรื่องผ่านการสัมภาษณ์ผู้ที่มีความทรงจำร่วมกับร้าน หรือพูดง่าย ๆ คือเคยเป็นลูกค้าของร้าน รวม 18 คน ประกอบด้วย ผู้กำกับหนัง นักวิจารณ์หนัง นักวิชาการด้านภาพยนตร์ ผู้ก่อตั้งโรงหนังนอกกระแส และผู้ที่เคยร่วมงานกับ “พี่แว่น” คนนี้มาแล้ว โดยใช้เทคนิคแบบ talking head หรือการถ่ายใบหน้าของผู้ให้สัมภาษณ์โดยตรง ผ่านโต๊ะที่ออกแบบเป็นพิเศษ แล้วให้ผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนพรั่งพรูเรื่องราวเกี่ยวกับพี่แว่นออกมา โดยมีนวพลเป็นผู้ถามคำถาม ซึ่งเนื้อในภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากจะเล่าถึงพี่แว่นแล้วยังมีประเด็นแวดล้อมอื่น ๆ ที่น่าสนใจหลายประการ งานเขียนชิ้นนี้จึงขอเล่าเรื่องราวของพี่แว่นและร้านแว่นวิดีโอผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหลัก จากปากคำของผู้ให้สัมภาษณ์ สินค้าของร้านแว่นวิดีโอปรากฏตัวครั้งแรกช่วงปี พ.ศ. 2539 ตามตลาดนัดต่าง ๆ ทั้งงานเปิดท้ายขายของหน้าห้างมาบุญครองและริมฟุตบาทถนนสีลม สร้างความฮือฮาให้แก่นักดูหนังนอกกระแสเป็นอย่างมาก “มันเหมือนเราพบขุมทรัพย์ มันเต็มไปด้วยหนังที่เราเคยอ่านในหนังสือ...รวมไปถึงชื่อผู้กำกับที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน” ยุทธนา บุญอ้อม ย้อนความรู้สึกแรกเมื่อพบสินค้าร้านพี่แว่นบริเวณถนนสีลมให้ฟัง  แต่ผู้ขายตามตลาดเหล่านี้เป็นเพียงผู้ขายรายย่อยที่รับเอาสินค้าจากพี่แว่นมาขายอีกทอดหนึ่งเท่านั้น ร้านแว่นวิดีโอของจริงตั้งอยู่ที่ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งมีการเปลี่ยนที่ตั้งร้านภายในตลาดและขยับขยายร้านตลอดเวลา ตามกำลังทรัพย์และการเติบโตของกิจการ  เมื่อผู้คนเริ่มทราบลายแทงของร้าน การเล่าลือถึงร้านพี่แว่นก็ถูกส่งต่อกันเป็นทอด ๆ โดยตัวแปลสำคัญตัวแปลหนึ่งก็คือรายการวิทยุ “หนังหน้าไมค์” ทางคลื่นแฟตเรดิโอ ที่มักกล่าวถึงหนังจากร้านพี่แว่นอยู่บ่อย ๆ และมีการถามถึงวิธีเดินทางไปที่ร้านผ่านสื่ออื่น ๆ อย่างเว็บบอร์ดพันทิป.คอม หรือเว็บบอร์ดนิตยสารไบโอสโคป จนร้านพี่กลายเป็นกระแส และเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของนักดูหนังนอกกระแสในที่สุด  คาดการณ์กันว่าร้านแว่นวิดีโอเปิดให้บริการเต็มตัวช่วงหลัง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งก้อง ฤทธิ์ดี นักหนังสือพิมพ์ ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ให้สัมภาษณ์ใน The Master ว่า พี่แว่นเองคือหนึ่งในเหยื่อวิกฤตครั้งนั้นด้วย “เท่าที่จำได้พี่แว่นนั่นแหละที่โดนเลย์ออฟ แล้วก็จำได้ว่าหลังจากนั้นไม่นาน แว่นวิดีโอมันก็เกิดขึ้น” ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านก็คือบรรดาผู้นิยมหนังนอกกระแส นักวิจารณ์หนัง และผู้กำกับหนัง รวมถึงนักเขียนและนักร้องที่มีชื่อเสียงที่สนใจหนังแนวนี้ด้วย ร้านพี่แว่นจะเติมหนังใหม่ทุกสัปดาห์โดยที่ผู้ซื้อไม่มีทางรู้ว่าจะเป็นเรื่องอะไร หนังที่ที่สร้างชื่อให้ร้านพี่แว่นหลายเรื่อง นอกจากหนังจากประเทศที่คนไทยแทบจะไม่เคยได้เสพ อย่างหนังอิหร่าน หรือแม้แต่หนังเกาหลีใต้ที่สมัยนั้นคนไทยแทบไม่รู้จัก ในยุคที่ยังไม่มีคลื่นเคป็อปถาโถมไปทั่วโลกเหมือนทุกวันนี้ ทั้งยังมีหนังที่ได้รับความนิยม “ก่อนกาล” อย่างหนังของหว่องการ์ไว หรือหนังอะนิเมะของจิบลิสตูดิโอในสมัยที่ยังไม่มีเจ้าไหนซื้อลิขสิทธิ์มาทำดีวีดีขายอย่างแพร่หลายอย่างทุกวันนี้ ทั้ง ๆ ที่มีผลงานอันโด่งดังอย่าง Spirited Away (2001) ที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมไปแล้วก็ตาม  นอกจากนั้น จากการสังเกตการณ์ของไกรวุฒิ จุลพงศธร นักวิชาการด้านภาพยนตร์ศึกษาและหนึ่งในลูกค้าร้านพี่แว่น ก็พบว่าพี่แว่นมักจะนำวิดีโอเกี่ยวกับศิลปะมาขายควบคู่กับหนังนอกกระแสด้วย ทั้งที่ขายไม่ได้ จุดแข็งของร้านพี่แว่นคือการตั้งราคาขายต่อม้วนไว้ที่ 120 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำและคนหลายระดับจับต้องได้ อีกอย่างที่โดดเด่นคือแพ็กเกจวิดีโอของร้านที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดและเข้าใจขนบการดูหนังนอกกระแส ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสติ๊กเกอร์บอกชื่อเรื่องบริเวณสันม้วนโดยใช้ฟอนต์ที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุดพร้อมระบุชื่อผู้กำกับซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการชมหนังนอกกระแส การสแกนใบปิดหนังแต่ละเรื่องมาทากาวติดไว้ด้านหน้ากล่องอย่างพิถีพิถัน การเขียนบทรีวิวไว้ด้านหลังเพื่อให้ผู้ซื้อได้ทราบข้อมูลของหนังเรื่องนั้น รวมถึงการตั้งทีมทำบทบรรยายภาษาไทยทำให้หนังสามารถเข้าถึงนักดูหนังที่ไม่ถนัดฟังภาษาต่างประเทศหรืออ่านซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษด้วย “ส่วนประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ มันรวมกันทำให้เห็นว่า คนคนนี้กำลังสื่อสารกับคนที่พูดภาษาเดียวกันอยู่ คนที่ชอบสิ่งใกล้เคียงกัน เป็นคอเดียวกัน มันก็มีผลทางจิตใจเหมือนกัน ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เราไปซื้อของจากร้านไหนก็ได้ มันเป็นร้านที่เป็นเพื่อนเรา” ก้อง ฤทธิ์ดี อธิบายความประทับใจที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์ร้านพี่แว่นให้ฟัง ร้านพี่แว่นขึ้นสู่จุดสูงในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่การบริโภคหนังนอกกระแสในประเทศไทยขยายตัวขึ้นอย่างมาก (ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดเทศกาลหนังที่เปิดพื้นที่ให้แก่หนังนอกกระแสในไทยหลังปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา อย่างเทศกาลภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทย เทศกาลภาพยนตร์ทดลองของโปรเจ็ค 304 ร่วมกับมูลนิธิหนังไทย และเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ, ขจิตขวัญ กิจวิสาละ, 2546, น. 119-120) รายได้ต่อปีของร้านพี่แว่นตกอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านบาท และรายได้ต่อวันตกเฉลี่ยประมาณ 3-4 หมื่นบาทขึ้นไป โดยวันที่มียอดขายดีที่สุดคือวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ร้านแว่นวิดีโอส่งอิทธิพลต่อวงการหนังในประเทศไทยหลายมิติ ตั้งแต่วิธีเข้าถึงหนังนอกกระแสที่ไม่ต้องรอสถาบันหรือสถานทูตต่างประเทศมาจัดให้ดูอีกต่อไป การเรียนการสอนภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยที่เลือกใช้วิดีโอจากร้านพี่แว่นมาเป็นสื่อการสอนมากขึ้น ไปจนถึงการสร้างหนังของผู้กำกับหลาย ๆ คนที่เป็นลูกค้าร้านพี่แว่น ที่นำเทคนิคจากหนังนอกกระแสมาปรับใช้กับงานของตนเอง นอกจากนั้น ร้านพี่แว่นยังเป็นตัวจุดประกายสำคัญให้เกิดการก่อตั้งโรงหนังอาร์ตเฮาส์แห่งแรกของประเทศไทยอย่าง “เฮาส์อาร์ซีเอ” เมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “เฮาส์สามย่าน” อีกด้วย  อิทธิผลและคุณูปการของร้านพี่แว่นมีความย้อนแย้งกับลักษณะธุรกิจสีดำของร้านอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการซื้อ-ขายหนังละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ประเด็นความย้อนแย้งนี้ทำให้เกิดบทสนทนาที่หลากหลาย ผู้ให้สัมภาษณ์ใน The Master ส่วนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาไม่รู้สึกผิดที่อุดหนุนร้านพี่แว่น สาเหตุใหญ่มาจากทางเลือกในการเสพหนังนอกกระแสในไทยถือว่าน้อยมาก ๆ และราคาของสินค้าถูกลิขสิทธิ์ก็ไม่สมเหตุสมผลกับต้นทุนจริง รวมถึงการเรียนการสอนวิชาภาพยนตร์ในไทยเองก็จำเป็นต้องพึ่งพาหนังจากร้านพี่แว่นหรือหนังละเมิดลิขสิทธิ์จากแหล่งอื่น ๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะหนังเหล่านี้มีตัวเลือกให้หยิบมาสอนได้หลากหลายกว่าสินค้าถูกลิขสิทธิ์ และหนังบางเรื่องที่จำเป็นต้องดูตามหลักสูตรพื้นฐานก็ไม่มีสินค้าถูกลิขสิทธิ์ขายในไทยแต่อย่างใด ขณะที่ฝ่ายผู้สร้างหรือผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์บางคนกลับมองในทางตรงข้าม ว่าการถูกละเมิดลิขสิทธิ์จะทำให้ตัวเขาและทีมงานไม่ได้รับค่าตอบแทนกลับมาอย่างที่ควรจะได้ โดยเฉพาะนักสร้างหนังอิสระที่ต้องตระเวนหาทุนการสร้างด้วยตนเอง และใช้เงินอย่างจำกัดในการสร้างหนังเรื่องหนึ่งทุกขั้นตอนแล้ว การถูกคัดลอกงานไปขายครั้งหนึ่ง ก็ถือเป็นเรื่องที่เจ็บตัวและเจ็บใจพอสมควร  อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะขาวหรือดำ ในเชิงประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของไทยแล้ว ร้านแว่นวิดีโอและพี่แว่นเป็นอะไรที่มากกว่าร้านขาย “หนังเถื่อน” หรือตัวบุคคลเท่านั้น สำหรับก้อง ฤทธิ์ดี ร้านพี่แว่นถือเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วงการหนังนอกกระแสและหนังอิสระในไทยเฟื่องฟู โดยที่เราจะมองข้ามหรือทำเป็นมองไม่เห็นไม่ได้ ร้านพี่แว่นเป็นประจักษ์พยานที่ทำให้ธุรกิจภาพยนตร์เชื่อได้ว่าหนังนอกกระแสและตลาดของมันมีอยู่จริงในประเทศนี้ ทำนองเดียวกันกับไกรวุฒิ จุลพงศธร ที่มองว่า ร้านพี่แว่นยังมีอีกสถานะหนึ่ง คือเป็นปรากฏการณ์ วัฒนธรรมย่อย วัฒนธรรมร่วม และความทรงจำร่วมของคนในสังคม โดยเฉพาะชุมชนคนดูหนังนอกกระแสในสังคมไทย ที่เกิดขึ้นช่วงปลายยุค 90 ต่อยุคต้น 2000  ร้านแว่นวิดีโอเดินทางผ่านกาลเวลาประมาณ 13 ปี มีการปรับตัวตามบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างสม่ำเสมอ จากการขายวิดีโอเปลี่ยนมาขายดีวีดี จากการขายเฉพาะหน้าร้านก็เปิดให้สั่งซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต รวมถึงมีบริการส่งไปรษณีย์ถึงบ้าน แต่การปรับตัวดังกล่าวก็มิอาจหยุดยั้งวิธีดูหนังที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตขยายตัวและพัฒนาความเร็วไปถึงระดับที่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดหนังเถื่อนมาดูได้ด้วยตนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือไม่ก็เข้าถึงหนังหรือซีรีส์คุณภาพผ่านระบบสตรีมมิงถูกกฎหมายได้ รวมถึงวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ด้วยระบบดิจิทัลที่ค่อย ๆ เข้ามายึดพื้นที่ของหนังแผ่นมากขึ้น ความสำคัญและจำเป็นของสินค้าของร้านพี่แว่นก็ค่อย ๆ จางหายไป จนในที่สุดร้านแว่นวิดีโอก็ปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2552 โดยได้ส่งอีเมลอำลาให้แก่ลูกค้าประจำ ซึ่งมีข้อความบางส่วนดังนี้ “...ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการชมภาพยนตร์ที่ท่านโปรดปราน...และโปรดให้การสนับสนุนภาพยนตร์ที่มีคุณภาพ...เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้สร้างและตัวแทนนำเข้าได้มีกำลังใจในการนำเสนอภาพยนตร์ดี ๆ แก่ท่านอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เช่นเดียวกับที่ร้านเราได้รับและดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้” และนี่คือเรื่องราวของร้านแว่นวิดีโอและพี่แว่น ตัวละครสามัญชนตัวเล็ก ๆ ที่มีความสำคัญและทรงอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการชมหนังนอกกระแสในประเทศไทย รวมถึงประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โดยรวมของไทย ผู้ที่มีส่วนในการเปิดพื้นที่ให้หนังนอกกระแสได้มีที่ทางและลงหลักปักฐานในสังคมนี้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น โดยที่เราอาจคาดไม่ถึงและอาจไม่รู้จักมาก่อน  เรื่อง: พงศ์ปรีดา ลิ้มวัฒนะกุล ภาพ: จากภาพยนตร์ The Master (2557) อ้างอิง: ขจิตขวัญ กิจวิสาละ. (2546). การวิเคราะห์เนื้อหาภาพยนตร์นอกกระแสหลักในประเทศไทย. (วิทยานิพนธ์วารสารศาตรมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะวารสารศาสตร์และ สื่อสารมวลชน, สาขาการสื่อสารมวลชน. นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (ผู้กำกับ). (2557). The Master [ภาพยนตร์]. ไทย: True Visions Original Pictures.