The People: เสวนา ‘ผู้คนจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นจากวันนี้ได้อย่างไร’ สะท้อนความฝันและความหวังจากมุมมองประชาชน

The People: เสวนา ‘ผู้คนจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นจากวันนี้ได้อย่างไร’ สะท้อนความฝันและความหวังจากมุมมองประชาชน
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ณ คริสตัล บ็อกซ์ (Crystal Box) ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท (Gaysorn Urban Resort) แยกราชประสงค์ - The People สื่อรุ่นใหม่ที่นำเสนอเนื้อหาสร้างสรรค์ที่เป็นเรื่องราวของ ‘คน’ แบบเจาะลึกในทุกแง่มุม จนถึงบทวิเคราะห์วิธีคิดของบุคคล ผู้ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคม จากอดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต จัดเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ ‘ผู้คนจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นจากวันนี้ได้อย่างไร’ โดยมีผู้ร่วมวงสนทนาทั้งหมด 3 คน ได้แก่ อุกฤษ อุณหเลขกะ CEO และผู้ก่อตั้ง Ricult กิจการเพื่อสังคมด้านการเกษตร, พริษฐ์ วัชรสินธุ CEO และผู้ก่อตั้ง StartDee สตาร์ตอัปด้านการศึกษา และ ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน ผู้ร่วมก่อตั้ง Spaceth.co เพื่อให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ The People: เสวนา ‘ผู้คนจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นจากวันนี้ได้อย่างไร’ สะท้อนความฝันและความหวังจากมุมมองประชาชน อุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้เสวนาคนแรกเผยว่า ตนมีความสนใจในประเด็นความยั่งยืน อุตสาหกรรมเกษตรและการอาหาร พร้อมทั้งเชื่อว่าอุตสาหกรรมเกษตรและการอาหาร ย่อมเกี่ยวข้องกับเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ พร้อมทั้งตัวอย่างอาชีพเกือบ 40% ของประชากรไทยเป็นชาวนา ชาวไร่ แต่กลับเป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ กลับมีรายได้เฉลี่ยเพียงแค่ 6,000 กว่าบาทต่อเดือนเท่านั้น อุกฤษกล่าวต่อว่าหากไปดูโรงงานในอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจในประเทศไทย ตนเชื่อว่ามีธุรกิจไม่กี่ประเภทเท่านั้นที่เริ่มจากต้นทางไปปลายทางที่เกิดขึ้นภายในประเทศเดียวโดยเฉพาะภาคการเกษตร เพราะอุตสาหกรรมเกษตรส่วนใหญ่ แทบทุกอย่างปลูกจากผืนดินในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการปลูกอ้อยแล้วมาแปรรูปเป็นน้ำตาลเพื่อส่งออกไปยังยุโรป พร้อมทั้งอธิบายถึงปัญหาภาวะโลกรวน หรือ Climate Change ไว้ว่าโลกรวนสามารถสร้างปัญหาสังคมมากกว่าโรคภัยไข้เจ็บอย่างโควิด-19 หากโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาที่ตามมาจะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม ไปจนถึงฤดูกาลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เมื่อเกษตรกรซึ่งมีจำนวนกว่า 40% ไม่สามารถเพาะปลูกในที่ดินของตนเอง รายได้ของคนในประเทศก็จะหายไป อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารจะไม่มีสินค้าอยู่บนสายพาน เมื่อเป็นเช่นนั้นปัญหาทางสังคมย่อมเพิ่มสูงขึ้นตามมาด้วย The People: เสวนา ‘ผู้คนจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นจากวันนี้ได้อย่างไร’ สะท้อนความฝันและความหวังจากมุมมองประชาชน ด้าน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน ผู้เสวนาคนที่สอง กล่าวถึงประเด็นปัญหาทางสังคมที่สนใจไว้ว่า ตนและทีมงานมักจะพูดคุยกันอยู่เสมอว่าในประเทศหรือในสังคมที่เจริญรุ่งเรืองแล้ว การพูดคุยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เป็นเพียงบทสนทนาพื้นฐานในชีวิตประจำวันที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ ตนจึงมีความเชื่อมั่นว่าหากสามารถนำเนื้อหาของกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ มาเรียบเรียงและกลั่นกรองออกมาในรูปแบบใหม่ที่เข้าใจง่าย จะช่วยให้สังคมไทยเข้าใจกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น มากกว่าการท่องจำตำราเรียนเพื่อนำไปสอบเพื่อจบการศึกษา แต่เป็นการเข้าใจถึงวิทยาศาสตร์ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง “เมื่อก่อนศาสตร์ต่าง ๆ ไม่ได้แบ่งแยกเป็นฟิสิกส์ ชีววิทยา หรือว่าดาราศาสตร์ แต่ว่าจะรวมกันอยู่ทุกอย่าง เขาเรียกว่าปรัชญาธรรมชาติ หรือว่า Natural Philosophy ความเชื่อของเราก็คือต้องการเอาเนื้อหาเหล่านี้กลับมาอยู่บนหน้าจอโทรศัพท์ หรือว่าหน้าจอแท็บเล็ตต่าง ๆ ให้ทุกคนได้เห็นกันในชีวิตประจำวัน” ณัฐนนท์อธิบายต่อว่าวิทยาศาสตร์จะช่วยให้คนในสังคมเข้าใจความขัดแย้ง เพราะวิทยาศาสตร์คือการเข้าใจธรรมชาติ เมื่อเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งในเรื่องของความขัดแย้งทางสังคม และปัญหาการเมืองต่าง ๆ เมื่อคนในสังคมเข้าใจที่มาที่ไปของปัญหาและนำหลักของเหตุผลมาวิเคราะห์ จะช่วยให้สังคมเกิดความประนีประนอม และสามารถอยู่ร่วมกันท่ามกลางความขัดแย้งได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา The People: เสวนา ‘ผู้คนจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นจากวันนี้ได้อย่างไร’ สะท้อนความฝันและความหวังจากมุมมองประชาชน พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้เสวนาคนสุดท้ายกล่าวติดตลกว่าโดยปกติแล้ว ตนเป็นคนมีโลกสองใบ ใบแรกคือการทำธุรกิจสตาร์ตอัปเรื่องการศึกษาผ่านแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มชื่อว่า StartDee โลกใบที่สองคือการมีบทบาททางการเมืองเรื่องการรณรงค์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งความสนใจในทั้งการศึกษาและการเมือง ล้วนมีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือ ต้องการเห็นประเทศพัฒนา และต้องการทำให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น “ถามว่าอย่างไร อยากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพภาพหนึ่งก็แล้วกันครับ ลองจินตนาการประเทศของเราเหมือนเค้กก้อนหนึ่ง ให้เค้กก้อนนี้เป็นสัญลักษณ์ของการรวมรายได้ของประชาชนของทุกคนเข้าหากัน หรือศัพท์ทางวิชาการคือ GDP ถามว่าจะทำให้ประเทศดีขึ้นเนี่ย คือทำให้เค้กก้อนนี้มันดีขึ้น มันจะมีวิธีอย่างไรบ้าง” พริษฐ์อธิบายว่าการที่จะทำให้เค้กก้อนนี้มีความกลมกล่อมมากที่สุด จะต้องมีปัจจัย 3 อย่างด้วยกัน นั่นคือการทำให้เค้กมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือก็คือการทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโต ประชาชนมีรายได้ในองค์รวมเยอะขึ้น โดยต้องอาศัยปัจจัยอย่างที่สอง นั่นคือการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หากเค้กมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ในประเทศยังคงมีความเหลื่อมล้ำและไม่ยุติธรรมสูง เศรษฐกิจของประเทศย่อมไม่พัฒนา จึงต้องทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงเค้กก้อนนี้หรือทรัพยากรของประเทศได้อย่างเท่าเทียมโดยเฉพาะในประเด็นด้านการศึกษาที่ตนสนใจ และปัจจัยข้อสุดท้ายคือ การทำให้เค้กก้อนนี้อร่อย ซึ่งต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นสังคมประชาธิปไตยที่พร้อมโอบรัดทุกความหลากหลาย คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศ “ผมคิดว่าประเด็นการเมืองการศึกษาที่ผมทำอยู่ ส่งผลต่อทั้ง 3 มิติ ในมิติของการทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต คือทำอย่างไรให้เค้กใหญ่ขึ้น การศึกษามีส่วนสำคัญมาก เพราะว่าถ้าเราอยากให้เศรษฐกิจโตขึ้น เราก็ต้องติดอาวุธให้ประชากร บุคลากรเราให้มีทักษะที่ตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต มีทักษะในการสร้างงานใหม่ ๆ สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ การเมืองก็สำคัญเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเราอยากมีการเมืองที่ช่วยเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มันต้องสร้างการแข่งขันให้ได้ ถ้าเรามีการเลือกตั้ง มีระบบการเมือง มีกติกาการเมืองที่จะเลือกอย่างไรก็มีพรรคเดียวที่ชนะ เพราะว่ามันถูกออกแบบมาแบบนั้น ก็จะไม่ได้ทีมที่เก่งที่สุด ทีมที่แกร่งที่สุดที่จะเข้ามาพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มันเจริญเติบโตขึ้น เพราะฉะนั้นทั้งการเมืองการศึกษามันส่งผลแน่นอนต่อการที่เค้กจะโตขึ้น” The People: เสวนา ‘ผู้คนจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นจากวันนี้ได้อย่างไร’ สะท้อนความฝันและความหวังจากมุมมองประชาชน ส่วนผู้คนจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นจากวันนี้ได้อย่างไร ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 คน ล้วนมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือต้องการให้ประเทศพัฒนา ก้าวเข้าสู่สังคมคุณภาพ ผ่านการร่างนโยบายที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของประชาชน ซึ่งพริษฐ์มองว่าการจะแก้ไขปัญหาในประเทศไทยที่เรื้อรังมานาน อันดับแรกจะต้องแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้แข่งขันกับต่างชาติได้ พร้อมทั้งยกประเด็นรัฐสวัสดิการมาอธิบายประกอบ “เราต้องมานั่งคิดตั้งแต่แรกในการสร้างรัฐสวัสดิการ เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนในโลกที่เปราะบางขึ้น ไม่ว่าจะเจอเรื่องของวิกฤตอะไรก็ตาม อย่างน้อยเขามีตาข่ายรองรับเขาอยู่ อย่างน้อยเขาเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ เขาดื่มน้ำประปาสะอาดได้ เขามีขนส่งสาธารณะที่เข้าถึง เขามีอากาศที่สะอาด เขามีอินเทอร์เน็ตที่สามารถใช้งานได้ เพราะฉะนั้นการสร้างรัฐสวัสดิการตรงนี้ ไม่ใช่แค่การสร้างตาข่ายรองรับให้กับประชาชนที่ลำบาก แต่มันเป็นการลงทุนในประชาชนด้วย เพราะถ้าเราสร้างความมั่นคงในชีวิตให้พวกเขาได้ เขาจะมีเวลาไปคิดนวัตกรรม สร้างงาน สร้างมูลค่าให้กับทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ได้” อุกฤษกล่าวว่าการจะขับเคลื่อนประเทศได้นั้นจะต้องอาศัย 2 ประเด็น คือ นวัตกรรม และทุนนิยมแบบใหม่ที่มีหัวใจมากขึ้น ไม่เอารัดเอาเปรียบหรือกดขี่ชาวบ้านเหมือนในอดีต “ผมอยากเห็นอยู่สองประเด็นนะครับ อันแรกก็คือการที่ประเทศขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อันที่สองคือการคิดถึงทุนนิยมแบบใหม่ที่มีหัวใจ หรือ Stakeholder Capitalism ทำอย่างไรเราถึงจะเป็น Innovation-driven Country แทนที่จะเป็นขับเคลื่อนด้วยไสยศาสตร์ คือเรากำลังเข้าสู่โลกยุคใหม่ ที่มีข้อมูลอยู่มากมาย มีเอไอ มีบล็อกเชน ทำอย่างไรเราถึงจะใช้ข้อมูลพวกนี้เข้ามาช่วยในการตัดสินใจในการออกนโยบายใหม่ ๆ” The People: เสวนา ‘ผู้คนจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นจากวันนี้ได้อย่างไร’ สะท้อนความฝันและความหวังจากมุมมองประชาชน ในช่วงท้ายของการเสวนา ณัฐนนท์กล่าวว่าในสังคมประชาธิปไตย เสียงทุกเสียงมีคุณค่าเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขหนึ่งในล้าน หนึ่งในพันล้าน หมื่นล้าน แต่ตัวเลขหนึ่งตรงนั้น ประชาธิปไตยอนุญาตให้มีอยู่ ตนมองว่าทุกคนควรมองเห็นคุณค่าของเสียงแม้จะเป็นเพียงเสียงเดียวก็ตาม พริษฐ์เสริมว่าโดยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนล้วนมีความกล้าอยู่ในตัว คนที่มีความกล้ามากที่สุดก็คือ ‘เด็ก’ ดังนั้นสิ่งที่อยากจะเห็นสังคมเปลี่ยนแปลง คือการออกแบบสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีความหลากหลาย เพื่อหล่อหลอมให้อนาคตของชาติมีความกล้า มีไฟที่จะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงมากกว่าไปบอกว่าเขาควรหรือไม่ควรทำอะไร “อยากจะฝากไปถึงผู้ที่มีอำนาจ ผู้ออกแบบกติกา สภาพแวดล้อมภายในประเทศ ว่าทำอย่างไรให้เลี้ยงไฟในการเปลี่ยนแปลงของพวกเขา ทำอย่างไรให้เราส่งเสริมความหลากหลาย พร้อมที่จะรับฟัง และให้พื้นที่ให้กับคนที่คิดต่างจากเราอย่างสุดขั้ว ทำอย่างไรให้เราคุ้มครองสิทธิเสรีภาพความปลอดภัยของเขา ทำอย่างไรให้เขามีที่นั่งในโต๊ะที่จะตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ อัดฉีดกระบวนการประชาธิปไตยไปในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะในสถานศึกษา ในสภา ในพื้นที่ต่าง ๆ แล้วก็กระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ ทำอย่างไรให้ทั้งภาคประชาสังคม ภาคเอกชนสามารถกระจายรายได้โดยที่ไม่ให้ทุกอย่างกลับมารวมศูนย์กันที่ภาครัฐอย่างเดียว”