The People Talk: ‘ความเป็นส่วนตัวต้องมาอันดับหนึ่ง’ สุนทรพจน์ที่ ‘ทิม คุก’ แห่งแอปเปิล ส่งสัญญาณรบกับ Facebook

The People Talk: ‘ความเป็นส่วนตัวต้องมาอันดับหนึ่ง’ สุนทรพจน์ที่ ‘ทิม คุก’ แห่งแอปเปิล ส่งสัญญาณรบกับ Facebook

The People Talk: ‘ความเป็นส่วนตัวต้องมาอันดับหนึ่ง’ สุนทรพจน์ที่ ‘ทิม คุก’ แห่งแอปเปิล ส่งสัญญาณรบกับ Facebook

*The People Talk เซ็กชันรวมสุนทรพจน์เปลี่ยนโลก *** ‘Data Privacy First’ สุนทรพจน์ของทิม คุก ซีอีโอบริษัทแอปเปิล ในการประชุมออนไลน์ว่าด้วยเรื่องคอมพิวเตอร์ ความเป็นส่วนตัว และการปกป้องข้อมูล เมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2021

“เราต้องร่วมกันส่งเสียงที่มีมนุษยธรรมและเป็นสากลตอบโต้พวกเขาเหล่านั้นที่อ้างสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน เพื่อบอกให้เขารู้ว่า อะไรที่ไม่ควรทำและเราจะไม่ยอมอดทน”

ทิม คุก ประกาศกร้าวให้ทั่วโลกร่วมกันจัดการปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัวในโลกเทคโนโลยี ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในวัน Data Privacy (ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล) ที่จัดขึ้นออนไลน์\ สุนทรพจน์ดังกล่าวแม้จะไม่เอ่ยชื่อ Facebook บริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ในซิลิคอน แวลลีย์ ออกมาตรง ๆ แต่เนื้อหาบ่งบอกชัดเจนว่า เป็นการเปิดสงครามกับ Facebook ซึ่งมีรายได้หลักมาจากโฆษณาที่พึ่งพาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ทิม คุก ยืนยันหลักการของแอปเปิล ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวต้องมาอันดับแรก และสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวผู้บริโภคให้เข้มงวดมากขึ้นทั่วโลก ขณะเดียวกันยังเปิดเผยเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาใช้กับอุปกรณ์ของแอปเปิลทุกชิ้น เพื่อป้องกันข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานรั่วไหล และให้อำนาจผู้ใช้สามารถควบคุมข้อมูลของตนเองได้มากขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ Facebook นำข้อมูลของสมาชิกไปใช้ประโยชน์ได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมาและนี่คือสุนทรพจน์เต็มความยาว 12 นาทีของทิม คุก ที่ประกาศว่า อนาคตของโลกเทคโนโลยีจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป   “สวัสดียามบ่ายครับ และขอบคุณจอห์น (เอ็ดเวิร์ดส) มาก ๆ สำหรับบทนำเข้าสู่งานที่ยอดเยี่ยม และมาเป็นผู้ดำเนินรายการให้กับพวกเราในวันนี้ มันเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมประชุมกับพวกท่าน และได้เรียนรู้จากคณะผู้บรรยายผู้ทรงคุณวุฒิ ในโอกาสประจวบเหมาะนี้ที่ตรงกับวันความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เมื่อประมาณ 2 ปีนิด ๆ ที่ผ่านมา ผมได้ไปพูดในกรุงบรัสเซลส์ เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของกลุ่มอุตสาหกรรมข้อมูล โดยงานนั้นมีจิโอวานนี บุตตาเรลลี เพื่อนรักที่ผมคิดถึงมาก และผู้กำกับดูแลด้านการปกป้องข้อมูลจากทั่วโลกเข้าร่วมด้วย เราถามตัวเองในการรวมตัวกันครั้งนั้นว่า ‘เราต้องการมีชีวิตอยู่ในโลกแบบไหน?’ 2 ปีต่อมา เราควรพิจารณาอย่างจริงจังในตอนนี้ได้แล้วว่า เราควรตอบคำถามนั้นอย่างไร ข้อเท็จจริงก็คือ ระบบนิเวศที่โยงใยกันระหว่างบริษัทกับนายหน้าขายข้อมูล, ผู้ปล่อยข่าวปลอมกับผู้เผยแพร่ให้เกิดความแตกแยก, ผู้เฝ้าติดตามกับนักเก็งกำไรที่แค่มองหาโอกาสทำเงินให้ได้รวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ปรากฏในชีวิตของเรามากกว่าที่เคยเป็นมา และมันไม่เคยชัดเจนอย่างนี้มาก่อนว่า มันได้ลดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องความเป็นส่วนตัวต้องมาอันดับแรกลงอย่างไร และเนื้อผ้าของสังคมเป็นผลที่เกิดขึ้นตามมา เหมือนที่ผมเคยพูดก่อนหน้านี้ว่า ‘หากเรายอมรับว่ามันเป็นเรื่องปกติและหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ว่า ทุกอย่างในชีวิตเราสามารถเก็บรวบรวมและนำไปขายได้ เราก็จะสูญเสียไปมากกว่าแค่ข้อมูล เราจะสูญเสียอิสรภาพในการเป็นมนุษย์’ แต่นี่คือฤดูกาลใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง เป็นช่วงเวลาของการใช้วิจารณญาณและการปฏิรูป และขอบคุณพวกท่านหลายคนที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างเข้มแข็งที่สุดสำหรับทุกคน การพิสูจน์ว่าพวกมองโลกในแง่ร้ายและนักทำนายวันโลกาวินาศเหล่านั้นผิด GDPR (General Data Protection Regulation-กฎหมายปกป้องข้อมูลทั่วไป) ได้วางรากฐานสำคัญสำหรับสิทธิความเป็นส่วนตัวไว้ทั่วโลก และการปฏิบัติตาม รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายนี้จำเป็นต้องดำเนินต่อไป แต่เราก็ไม่สามารถหยุดอยู่แค่นั้น เราต้องทำมากกว่านั้น และเรากำลังได้เห็นก้าวที่เปี่ยมไปด้วยความหวังเพื่อมุ่งไปข้างหน้าเกิดขึ้นแล้วทั่วโลก รวมถึงแผนริเริ่มที่ผ่านการโหวตรับรองอย่างประสบความสำเร็จเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับการปกป้องผู้บริโภคที่นี่ในแคลิฟอร์เนีย เราต้องร่วมกันส่งเสียงที่มีมนุษยธรรมและเป็นสากลตอบโต้พวกเขาเหล่านั้นที่อ้างสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน เพื่อบอกให้เขารู้ว่า อะไรที่ไม่ควรทำและเราจะไม่ยอมอดทน เหมือนที่ผมเคยพูดไว้ในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อ 2 ปีก่อน มันถึงเวลาแล้วอย่างแน่นอน ไม่ใช่แค่การมีกฎหมายความเป็นส่วนตัวที่ครอบคลุมอย่างที่นี่ในสหรัฐฯ แต่ต้องเป็นกฎหมายสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศใหม่ ๆ ที่บูชาหลักการเรื่องการลดการเก็บข้อมูล ให้ความรู้แก่ผู้ใช้งาน ให้ผู้ใช้งานได้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ และเน้นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลทั่วโลกที่แอปเปิล สิ่งเหล่านี้คือช่วงเวลา 2 ปีแห่งการปฏิบัติอย่างไม่รู้จบ โดยได้แรงกระตุ้นจากภาวะผู้นำของท่านหลาย ๆ คนในชุมชนว่าด้วยความเป็นส่วนตัว เราทำงานกันไม่ใช่แค่ลงลึกไปถึงแก่นแห่งหลักการด้านความเป็นส่วนตัวของเราเองเท่านั้น แต่เพื่อสร้างคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้เกิดกับอุตสาหกรรมนี้ทั้งอุตสาหกรรมด้วย เราป่าวประกาศครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อเรียกร้องการเข้ารหัสข้อมูล (encryption) ที่แน่นหนาปราศจากทางลับเข้าประตูหลัง (backdoors) เพื่อให้ตระหนักว่า ความมั่นคงปลอดภัยคือรากฐานของความเป็นส่วนตัว เรากำหนดมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมในเรื่องการลดการเก็บข้อมูล เพิ่มการควบคุมของผู้ใช้งาน และกระบวนการบนอุปกรณ์เพื่อทุกสิ่ง ตั้งแต่ข้อมูลสถานที่ไปจนถึงรูปภาพและบันทึกการติดต่อของท่าน ในเวลาเดียวกับที่เราเป็นผู้นำออกฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ช่วยดูแลรักษาสุขภาพให้กับท่าน เราต้องแน่ใจว่า เทคโนโลยีอย่างเซนเซอร์ตรวจออกซิเจนในเลือด และ ECG (การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) จะทำให้สบายใจได้ว่า ข้อมูลสุขภาพของท่านยังคงเป็นของท่านเท่านั้น และอันดับสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน เรากำลังเคลื่อนพลอย่างทรงพลังไปสู่ข้อกำหนดใหม่ในการพัฒนาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานทั่วทั้งระบบนิเวศของแอปสโตร์ (App Store) ขั้นแรกมีความเรียบง่ายแต่เป็นแนวคิดของการปฏิวัติซึ่งเราเรียกว่า ฉลากโภชนาการความเป็นส่วนตัว (privacy nutrition label) แอปทุกตัว รวมถึงของเราเองด้วย ต้องแชร์การเก็บรวบรวมข้อมูลและวิธีปฏิบัติเรื่องความเป็นส่วนตัว เป็นข้อมูลที่แอปสโตร์จะแสดงในแบบที่ผู้ใช้งานทุกคนสามารถเข้าใจและปฏิบัติตามได้ ขั้นที่สองเรียกว่า ความโปร่งใสด้านการติดตามของแอป (App Tracking Transparency- ATT) โดยรากฐานของ ATT คือการคืนอำนาจควบคุมให้กับผู้ใช้งาน มันเกี่ยวกับการให้ปากเสียงพวกเขาว่าอยากจัดการกับข้อมูลของตนเองอย่างไร ผู้ใช้งานได้ร้องขอฟีเจอร์นี้มายาวนาน เราจึงทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักพัฒนาเพื่อให้พวกเขามีเวลาและทรัพยากรในการสร้างมันขึ้นมา และเราก็หลงรักมันมาก เพราะเราคิดว่ามันมีศักยภาพสูงที่จะทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นสำหรับทุกคน นั่นเป็นเพราะ ATT ตอบสนองต่อประเด็นที่เป็นจริงมาก ๆ  ก่อนหน้าการประชุมในวันนี้ เราเพิ่งเผยแพร่รายงานชิ้นใหม่ที่เรียกว่า ‘ชีวิตข้อมูลของท่านใน 1 วัน (A Day in the Life of Your Data)’ มันบอกเล่าเรื่องราวว่า แอปต่าง ๆ ที่เราใช้กันทุกวันนั้น มีตัวติดตามข้อมูลบรรจุอยู่เฉลี่ยแอปละ 6 ตัวได้อย่างไร โค้ดนี้มักปรากฏเพื่อตามสอดแนมและระบุตัวตนผู้ใช้งานไปทั่วทุกแอป เฝ้ามองและบันทึกพฤติกรรมของพวกเขา ในกรณีนี้ สิ่งที่ผู้ใช้งานมองเห็นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาได้รับเสมอไป ณ ขณะนี้ ผู้ใช้งานอาจไม่ทราบว่าแอปต่าง ๆ ที่พวกเขาใช้ไม่ว่าจะเพื่อฆ่าเวลา เพื่อ ‘เช็กอิน’ กับเพื่อน ๆ หรือเพื่อหาของกิน แท้จริงแล้วอาจกำลังส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับรูปที่พวกเขาถ่าย ผู้คนในลิสต์ที่ใช้ติดต่อ หรือข้อมูลสถานที่ ซึ่งสะท้อนสถานที่ที่พวกเขากิน หลับนอน หรือสวดมนต์ รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ดูเหมือนจะไม่มีข้อมูลชิ้นใดที่เป็นเรื่องส่วนตัว หรือเฉพาะบุคคลเกินไปจนไม่ถูกสอดแนม นำไปหารายได้ และเก็บรวบรวมเป็นมุมมอง 360 องศาของชีวิตพวกท่าน ผลลัพธ์สุดท้ายทั้งหมดของสิ่งนี้ก็คือ ท่านไม่ได้เป็นแค่ลูกค้า แต่ท่านคือผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งด้วย เมื่อ ATT มีประสิทธิภาพเต็มที่ ผู้ใช้งานจะได้มีปากเสียงเกี่ยวกับการติดตามลักษณะนี้ บางคนอาจคิดว่า การแชร์ข้อมูลระดับนี้มันคุ้มค่ากับการมีโฆษณาที่ตรงเป้าเข้ามามากขึ้น แต่ผมสงสัยว่าคนอื่นอีกหลายคนไม่ได้คิดอย่างนั้น เหมือนกับคุณค่าสูงสุดที่เราได้รับรู้มาตอนเราสร้างการทำงานที่คล้ายกันในซาฟารี (Safari) เพื่อจำกัดตัวติดตามตรวจจับการเข้าเว็บ (เว็บไซต์) เมื่อหลายปีก่อน เรามองการพัฒนาฟีเจอร์และนวัตกรรมที่มีเรื่องความเป็นส่วนตัวเป็นศูนย์กลางในลักษณะเหล่านี้ เป็นดั่งความรับผิดชอบหลักในการทำงานของเรา เรามีสิ่งนี้เสมอมา และจะมีตลอดไป ข้อเท็จจริงก็คือ การถกเถียงเกี่ยวกับ ATT เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของข้อถกเถียงที่เรามีมาช้านาน เป็นเรื่องหนึ่งที่มุมมองความคิดของเราชัดเจนมาก เทคโนโลยีไม่ต้องการขุมทรัพย์ขนาดมหึมาของข้อมูลส่วนบุคคลที่ร้อยต่อกันทั่วทั้งเว็บไซต์และแอปนับสิบ ๆ เจ้าเพื่อประสบความสำเร็จ โฆษณาสามารถคงอยู่และงอกงามมาหลายทศวรรษโดยไม่มีมัน และเรามาอยู่ที่นี่ในวันนี้ เพราะหนทางที่เจอแรงต้านทานน้อยที่สุดมักไม่ใช่หนทางแห่งปัญญา หากธุรกิจสร้างขึ้นมาจากผู้ใช้งานที่ถูกชี้นำไปในทางที่ผิด จากการฉกฉวยประโยชน์ของข้อมูล จากตัวเลือกที่ไม่ให้ทางเลือกใด ๆ ธุรกิจนั้นก็ไม่สมควรได้รับคำชื่นชม มันสมควรต้องปฏิรูป เราไม่ควรหมางเมินภาพที่ใหญ่กว่านั้น ณ ช่วงเวลาแห่งข้อมูลเท็จและทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแพร่หลายถูกโหมกระพือด้วยอัลกอริทึม เราไม่สามารถปิดตาไม่รับรู้ทฤษฎีของเทคโนโลยีที่บอกว่า การมีส่วนร่วม (engagement) ทั้งหมดคือการมีส่วนร่วมที่ดี ยิ่งนานเท่าไรยิ่งดี และทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยังมีอีกหลายคนมากมายที่กำลังถามคำถามว่า ‘เราสามารถทำได้มากเท่าไร?’ ในยามที่พวกเขาควรถามว่า ‘ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาคืออะไร?’ อะไรคือผลของการให้ความสำคัญกับทฤษฎีสมคบคิด และการปลุกเร้าความรุนแรงเพียงเพราะว่ามันทำให้ยอดการมีส่วนร่วมสูง?อะไรคือผลของการไม่ใช่แค่อดทนอดกลั้น แต่ยังให้รางวัลเนื้อหาที่บั่นทอนความไว้ใจของสาธารณะต่อการรับวัคซีนเพื่อรักษาชีวิต? อะไรคือผลของการได้เห็นผู้ใช้งานหลายพันคนเข้าร่วมกลุ่มสุดโต่ง และจากนั้นก็สร้างอัลกอริทึมมาต่อเนื่อง เพื่อแนะนำให้สุดโต่งยิ่ง ๆ ขึ้นไป? มันเลยเวลาที่จะหยุดเสแสร้งมานานแล้วว่า วิธีการแบบนี้ไม่ได้มาพร้อมราคาที่ต้องจ่าย - จ่ายให้กับการแบ่งขั้วเป็นฝักฝ่าย จ่ายให้ความเชื่อใจกันที่หายไป และแน่นอนครับ จ่ายให้กับความรุนแรง สภาวะหนีเสือปะจรเข้ทางสังคมไม่สามารถยอมให้กลายเป็นความหายนะทางสังคมได้  ผมคิดว่าปีที่ผ่านมา และแน่นอนเหตุการณ์ต่าง ๆ ล่าสุด ได้นำความเสี่ยงนี้กลับมายังบ้านของพวกเราทุกคน ทั้งในมุมสังคม และมุมส่วนตัวของแต่ละคนมากพอ ๆ กับสิ่งอื่นทั้งหลาย เวลายาวนานหลายชั่วโมงที่ใช้กักตัวอยู่ที่บ้าน ความท้าทายของการทำให้เด็ก ๆ ยังคงเรียนหนังสือได้ในยามที่โรงเรียนปิด ความวิตกกังวลและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตข้างหน้า สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามที่โดดเด่นขึ้นมาทันทีว่า เทคโนโลยีจะสามารถช่วยได้อย่างไร? และมันสามารถทำอันตรายอย่างไร? อนาคตจะเป็นของนวัตกรรมที่ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น ได้รับการเติมเต็มมากขึ้น และมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นหรือไม่? หรือมันจะตกเป็นของเครื่องมือเหล่านั้นที่ให้รางวัลกับความสนใจของเราที่มีต่อการทำตัวแปลกแยก ก่อความหวาดกลัวให้กับเรา และส่งเสริมลัทธิสุดโต่ง เพื่อรับใช้โฆษณาที่ตรงเป้าซึ่งรุกรานเรายิ่งขึ้น และอยู่เหนือความปรารถนาอื่นใดทั้งมวล? ที่แอปเปิล เราตัดสินใจเลือกมานานแล้ว เราเชื่อว่า เทคโนโลยีที่มีศีลธรรมคือเทคโนโลยีที่เหมาะกับพวกท่าน มันคือเทคโนโลยีที่ช่วยให้ท่านนอนหลับ ไม่ใช่ทำให้ท่านตื่นตลอดเวลา ช่วยบอกท่านเมื่อถึงเวลาที่ต้องพอ เว้นที่ว่างให้สร้างสรรค์ หรือวาด หรือเขียน หรือเรียนรู้ ไม่ใช่ทำให้เบิกบานอยู่แค่ครั้งเดียว  มันเป็นเทคโนโลยีที่สามารถหายไปในฉากหลังในยามที่ท่านออกไปเดินหรือไปว่ายน้ำ แต่จะอยู่ตรงนั้นเพื่อเตือนท่านในยามที่อัตราการเต้นของหัวใจพุ่งสูง หรือคอยช่วยในยามหัวใจเต้นต่ำจนน่าตกใจ และนั่นคือทั้งหมดนี้ที่ให้ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเป็นอันดับแรกเสมอ เพราะไม่มีใครต้องการแลกสิทธิผู้ใช้งานของเขากับการส่งมอบผลิตภัณฑ์อันยิ่งใหญ่ จะเรียกเราว่าไร้เดียงสาก็ได้ แต่เรายังเชื่อว่า เทคโนโลยีสร้างขึ้นมาโดยประชาชน เพื่อประชาชน และมีความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอยู่ในหัวใจ เป็นคุณค่าที่มากกว่าเครื่องมือชิ้นหนึ่งจะละทิ้งได้  เรายังคงเชื่อว่า ตัวชี้วัดเทคโนโลยีที่ดีที่สุด คือชีวิตผู้คนที่มันช่วยทำให้ดีขึ้น พวกเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ เราจะยังทำสิ่งผิดพลาดต่าง ๆ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ แต่คำมั่นสัญญาของเราที่มีกับพวกท่าน ทั้งตอนนี้และตลอดไปนั่นคือ เราจะยังคงศรัทธากับคุณค่าที่ให้แรงบันดาลใจแก่ผลิตภัณฑ์ของเรามาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะสิ่งที่เราแบ่งปันกับโลกนี้จะไม่มีค่าอันใด หากปราศจากความไว้วางใจที่ผู้ใช้งานมีให้กับมัน  ถึงทุกท่านที่ร่วมกันกับเราในวันนี้ โปรดช่วยกันผลักดันพวกเราทุกคนให้ไปข้างหน้า รักษามาตรฐานที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวต้องมาอันดับหนึ่งให้สูงเข้าไว้ และก้าวต่อไปสู่ขั้นใหม่ ๆ ที่จำเป็นเพื่อปฏิรูปสิ่งที่แตกเสียหาย เราสร้างความก้าวหน้าไปด้วยกัน และเราต้องทำให้มากยิ่งขึ้นไป เพราะมันเป็นเวลาที่ถูกเสมอที่จะกล้าหาญและเข้มแข็งในการรับใช้โลกที่จิโอวานนี บุตตาเรลลี เคยพูดไว้ว่า เทคโนโลยีรับใช้ประชาชน ไม่ใช่ประชาชนรับใช้เทคโนโลยี ขอบคุณมากครับ”    ข้อมูลอ้างอิง:  https://9to5mac.com/2021/02/02/apple-shares-new-video-of-tim-cooks-privacy-speech-at-cpdp-conference/