The Platform: หนังในเทรนด์ “Eat the Rich” คุกแนวตั้ง สะท้อนถึงยุคสมัยวิกฤต

The Platform: หนังในเทรนด์ “Eat the Rich” คุกแนวตั้ง สะท้อนถึงยุคสมัยวิกฤต
หมายเหตุ - บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของภาพยนตร์  ในช่วงเวลาที่โรงหนังปิดทำการเนื่องจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่ดูหนังจากเว็บสตรีมมิง ซึ่งหนังในกลุ่มนี้ที่ได้ความสนใจอย่างมากช่วงนี้ได้แก่ภาพยนตร์สเปนแนวสยองขวัญเรื่อง The Platform (El Hoyo) ก่อนหน้าที่จะฉาย The Platform ถือเป็นม้านอกสายตาซึ่งไม่ค่อยถูกพูดถึงสักเท่าไร หนังได้รับความสนใจอยู่บ้างจากการคว้ารางวัล People's Choice ในสาย Midnight Madness จากเทศกาลหนังโตรอนโตมาครอง (เป็นสายสำหรับหนังคัลท์ หนังใต้ดิน หนังสยองขวัญ มีหนังหลายเรื่องที่ได้รางวัลนี้ ที่ต่อมากลายเป็นหนังคัลท์คลาสสิค เช่น The Raid, Why Don't You Play in Hell?, What We Do in the Shadows) แต่พอหนังเรื่องนี้เริ่มกระจายในช่องทางสตรีมมิง ก็ได้รับการพูดถึงอย่างมาก และมีคนดูเยอะจนติด Top 10 หนังที่มีผู้ชมสูงที่สุดของ Netflix ทั้งในไทยและต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา  ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงฮิตเกินคาด? สาเหตุหลักมาจากพล็อตเรื่องที่แปลกใหม่และน่าทึ่งว่าคิดได้อย่างไร บวกกับตัวหนังที่จัดเต็มทั้งด้านความสนุก ลุ้นระทึก เซอร์ไพรส์ รวมถึงความรุนแรงสยองขวัญจนผู้ชมต้องเบือนหน้าหนี ทำให้มันตอบโจทย์ในแง่ความเป็นหนังลึกลับ/หนังทริลเลอร์/หนังสยองขวัญเลือดสาดได้เป็นอย่างดี ส่วนคุณภาพหนังในด้านต่าง ๆ ก็ทำออกมาได้ยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นงานด้านภาพ, การออกแบบฉาก, การแสดง, ดนตรีประกอบ, เทคนิคพิเศษ และอื่น ๆ (ทำให้ทึ่งเมื่อทราบว่าผู้กำกับกัลเดอร์ กัซเตลู-อูรูเตีย เพิ่งเคยกำกับหนังยาวเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก) ซึ่งหนังมีจุดเด่นมากพอจนสามารถมองข้ามจุดอ่อนอย่างพล็อต ที่มีช่องโหว่และการกระทำของตัวละครที่ไม่สมเหตุสมผลไปได้ แต่ลำพังแค่ความสนุกหรือคุณภาพก็คงไม่ทำให้หนังถูกพูดถึงมากขนาดนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมก็คือการที่หนังฉายถูกช่วงจังหวะเวลา เพราะหนังเรื่องนี้พูดถึงประเด็นอย่างเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนที่พบได้ในหนังหลายเรื่องช่วงนี้จนเป็นประเด็นร่วมสมัย, มีความเป็นสากล และยิ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจหลายอย่างพังทลาย หลายคนตกงานไม่มีเงิน ประชาชนต้องกักตัวไม่ออกไปไหน เกิดการกักตุนสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ไข่ไก่ อาหารต่าง ๆ ในขณะที่พวกคนมีเงินนั้นพอหาวิธีเอาตัวรอดได้ แต่คนจนกลับต้องรับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวไปแบบเต็ม ๆ ด้วยความที่สถานการณ์ในโลกจริงพ้องกับสิ่งที่เกิดในหนังเรื่องนี้หลายอย่าง เช่น การกักตัว การกักตุนอาหาร ส่งผลให้ The Platform ซึ่งเป็นหนังแนวเหนือจริงและเหมือนอยู่คนละโลกกับผู้ชม กลับกลายเป็นหนังที่สะท้อนถึงโลกความจริงในตอนนี้ได้เป็นอย่างดี จนทำให้ผู้ชมอดเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับตัวละครในหนังไม่ได้ว่า ถ้าเป็นเราตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวจะทำเช่นไร?  The Platform: หนังในเทรนด์ “Eat the Rich” คุกแนวตั้ง สะท้อนถึงยุคสมัยวิกฤต ผู้คนหลากหลายในคุกแนวตั้ง The Platform เป็นหนังสยองขวัญไฮคอนเซปต์ที่สามารถจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับหนังอย่าง Cube (1997), Saw (2004) หนังเหล่านี้มีจุดร่วมกันตรงที่ฉากหลังของหนังเป็นพื้นที่ที่มีกฎเกณฑ์พิเศษ ซึ่งตัวละครถูกขังเอาไว้อย่างไม่เต็มใจ และต้องพยายามหาทางเอาตัวรอดออกไปให้ได้  ฉากหลังใน The Platform ถูกเรียกว่า 'หลุม' หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ‘ศูนย์ดูแลตัวเองแนวตั้ง’ มันเป็นคุกในอาคารคอนกรีตที่ปิดทึบ ทรุดโทรม และมีความสูงหลายร้อยชั้น โดยเลขชั้นน้อยอยู่ด้านบน เลขชั้นมากอยู่ด้านล่าง แต่ละชั้นมีคนอยู่สองคน ผู้ที่ถูกขังมีทั้งนักโทษและอาสาสมัครที่เข้ามาเพื่อรางวัลตอบแทน พวกเขาจะถูกสุ่มไปอยู่ที่ชั้นต่าง ๆ ซึ่งไม่อาจคาดเดาได้ว่าชั้นไหน และจะได้อยู่ชั้นนั้นเป็นเวลา 30 วันก่อนที่จะถูกสุ่มไปอยู่ชั้นอื่นต่อไป ช่องว่างตรงกลางห้องเป็นพื้นที่สำหรับลิฟต์ส่งอาหาร ซึ่งจอดแวะชั้นละไม่กี่นาทีด้วยความถี่วันละครั้ง ทำให้มีเวลากินอาหารไม่นาน และไม่สามารถเก็บไว้กินภายหลังได้ ถ้าทำเช่นนั้นจะทำให้อุณหภูมิในห้องร้อนจัดหรือเย็นจัดจนอยู่ไม่ได้ ด้วยความที่ลิฟต์ส่งอาหารเคลื่อนที่จากบนลงล่าง ทำให้คนชั้นบนมีโอกาสได้กินก่อน ซึ่งอาหารนั้นมีเพียงพอสำหรับทุกชั้นถ้าทุกคนกินแค่เท่าที่จำเป็น แต่ความเป็นจริงคือคนข้างบนได้กินอย่างอิ่มหนำ ส่วนคนชั้นล่างกลับอดอยากเพราะไม่มีอาหารเหลือให้กิน  ตัวเอกของหนังได้แก่ ‘โกเรง’ เริ่มแรกนั้นเขาตื่นขึ้นมาบนชั้น 48 และได้พบกับชายแก่ที่เป็นเพื่อนร่วมห้องอย่าง ‘ตรีมากาซิ’ ฝ่ายหลังได้อธิบายกฎเกณฑ์ของสถานที่แห่งนี้ให้โกเรง (รวมถึงผู้ชม) ได้เข้าใจ ทั้งสองได้สร้างมิตรภาพที่ดีต่อกัน แต่พอเวลาผ่านไปหนึ่งเดือน พวกเขาถูกเปลี่ยนให้ไปอยู่ข้างล่างกว่าเดิมอย่างชั้น 171 ซึ่งไม่มีอาหารหลงเหลือทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป ตรีมากาซิจับโกเรงมัดไว้เพราะต้องการกินเนื้อเขาเพื่อประทังชีวิต แต่เหตุการณ์กลับพลิกผันเมื่อตรีมากาซิถูกฆ่า และโกเรงต้องกินเนื้อของอีกฝ่ายเพื่อประทังชีวิตแทน โกเรงได้พบกับคนในคุกอีกหลายคน ได้แก่ อิโมกิรี-รูมเมทคนใหม่ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของที่นี่ เธออาสาเข้ามาในคุกเพราะต้องการทำให้ระบบดีขึ้น, บาฮารัต-รูมเมทอีกคนของโกเรง ซึ่งพยายามหาทางหนีจากที่นี่,  มิฮารุ-หญิงใบ้คลุ้มคลั่งที่บุกไปตามชั้นต่าง ๆ โดยมีคนบอกสาเหตุว่าเธอกำลังตามหาลูกของเธอที่หายตัวไปในคุกนี้ ฯลฯ หนังแทบไม่มีการเล่าภูมิหลังหรือใส่รายละเอียดของตัวละครแบบลงลึกสักเท่าไร ผู้ชมจะรู้จักตัวละครผ่านพฤติกรรมที่พวกเขาแสดงออกมา ในสภาวะปกติพวกเขาน่าจะเป็นคนปกติไม่ต่างจากเรา ๆ แต่พอมาอยู่ในสถานที่แห่งนี้ซึ่งเต็มไปด้วยสภาวะบีบคั้น กดดัน สิ้นหวัง โดยเฉพาะคุกชั้นล่าง ๆ มันก็ได้ขับเน้นให้พวกเขาแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริง, สัญชาตญาณเอาตัวรอด และนิสัยลึก ๆ ทั้งในแง่ลบ (ความขี้ขลาด, เห็นแก่ตัว) กับแง่บวก (ความกล้าหาญ, เสียสละ)  The Platform: หนังในเทรนด์ “Eat the Rich” คุกแนวตั้ง สะท้อนถึงยุคสมัยวิกฤต ห้องทดลองที่จำลองถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม เราสามารถมองคุกใน The Platform ได้ว่าเป็น ‘ห้องทดลอง’ ที่จำลองให้เห็นถึงสังคมทุนนิยมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำแบบเป็นรูปธรรม การที่คนแต่ละชั้นได้กินอาหารในปริมาณมากน้อยต่างกัน เป็นการสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา มันเป็นสังคมที่ผู้คนประมาณ 1% ครอบครองเงินทองและทรัพยากรส่วนใหญ่ ส่วนคนยากจนนั้นถูกสังคมทอดทิ้งและต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก ซึ่งนับวันช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยก็ยิ่งเพิ่มระยะห่าง และยากที่จะกลับมาเชื่อมต่อกันได้  ด้วยองค์ประกอบดังกล่าว ทำให้เราสามารถจัด The Platform ให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับหนังที่พูดถึงความเหลื่อมล้ำและการปะทะระหว่างชนชั้น ซึ่งกำลังได้รับความสนใจในช่วงนี้ เช่น Parasite, Joker, Knives Out,  Hustlers, Shoplifters, The Florida Project, Burning เป็นต้น รวมถึงหนังเก่าอย่าง Snowpiercer ที่มีคอนเซปต์คล้ายกัน ซึ่งชนชั้นในหนังเรื่องนั้นถูกแบ่งตามตู้รถไฟ สื่อต่างประเทศเรียกหนังประเภทนี้ว่าหนัง ‘Eat the Rich’ เป็นสำนวนมาจากคำกล่าวของนักปรัชญาอย่าง ฌอง-ฌาค รุสโซ ที่ว่า ‘When the people shall have nothing more to eat, they'll eat the rich.’ จะสังเกตได้ว่า The Platform รวมถึงหนังในกลุ่มดังกล่าวหลายเรื่อง มีการนำเสนอประเด็นดังกล่าวแบบชัดเจน โฉ่งฉ่าง ไม่คิดจะซ่อนให้เนียนหรือทำเป็นสัญลักษณ์แอบแฝง นอกจากนั้น ยังสัมผัสได้ถึงความโกรธเกรี้ยวของคนทำหนังที่ถือเป็นเรื่องเข้าใจได้ หากพิจารณาว่าความเหลื่อมล้ำถือเป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วน ซึ่งไม่ควรถูกนำเสนอแบบเงียบ ๆ ลึก ๆ สงบเสงี่ยมอีกต่อไป The Platform ยังมีส่วนผสมของหนังแนวตลกร้ายและหนังเซอร์เรียลเหนือจริงอยู่ด้วย ผู้ชมจะเห็นถึงความเซอร์เรียลได้ตั้งแต่ต้นเรื่องจากฉากการเตรียมอาหารสำหรับคนในคุกแห่งนี้ อาหารได้รับการสร้างสรรค์โดยเชฟและเหล่าทีมงานมืออาชีพ อาหารซึ่งประกอบเนื้อสัตว์หลากหลาย, สลัด, ของหวาน, ไวน์ ฯลฯ ถูกตกแต่งขึ้นอย่างวิจิตรบรรจงราวกับอยู่ในภัตตาคารระดับมิชลิน แต่อีกไม่กี่ซีนต่อมา หนังกลับหักอารมณ์ดังกล่าวด้วยภาพของคนที่ยัดอาหารเหล่านี้เข้าปาก และรื้ออาหารจนกระจุยกระจายในระดับที่ไม่แคร์ความอร่อยหรือความสวยงามของอาหารเหล่านั้นเลย  อย่างไรก็ตาม ชนชั้นของคนในคุกแห่งนี้ไม่ได้คงอยู่เหมือนเดิมตลอดไป แต่จะถูกเปลี่ยนใหม่แบบสุ่มทุกเดือน ทำให้คนที่เคยอยู่ชั้นล่างอาจพลิกสถานะขึ้นมาอยู่ข้างบนได้ แต่ก็มีบางคนที่ได้อยู่แค่ชั้นล่างติดต่อกัน จนทำให้เขายอมแพ้และจบลงด้วยความตาย ดังประโยคที่ตรีมากาซิกล่าวไว้ว่า “มีคนอยู่ 3 ประเภท คนที่อยู่ข้างบน คนที่อยู่ข้างล่าง และคนที่ร่วงหล่น”  จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีแต่ชนชั้นบนที่เป็นฝ่ายกระทำหรือเอารัดเปรียบชนชั้นล่าง แต่ชนชั้นล่างยังเป็นฝ่ายกระทำกันเองด้วย (ซึ่งเป็นประเด็นที่ชวนให้คิดถึงหนัง Parasite) ทั้งการแย่งชิงอาหารและทำร้ายกัน มิหนำซ้ำบางคนที่เคยลำบากตอนอยู่ชั้นล่าง พอได้ขึ้นไปอยู่ข้างบนกลับทำตัวในแบบที่ตัวเองตำหนิ อย่างการกอบโกยอาหารและปล่อยให้คนข้างล่างอดตาย แต่ทั้งหมดนี้จะโทษที่ ‘ตัวบุคคล’ หรือมองว่าทางแก้อยู่ที่การรณรงค์ให้ทุกคนมีจิตสาธารณะอย่าเห็นแก่ตัวแต่เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะสาเหตุหลักอยู่ที่ ‘ตัวระบบ’ ซึ่งเอื้อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเกิดการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งสถานการณ์จะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ระบบแบบนี้ยังอยู่ และไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น The Platform: หนังในเทรนด์ “Eat the Rich” คุกแนวตั้ง สะท้อนถึงยุคสมัยวิกฤต นักโทษต่ำศักดิ์นักฝัน ผู้ที่ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้แก่ โกเรง ซึ่งความยากลำบากในคุกไม่อาจทำให้เขาถอดใจจากการเป็นผู้ปฏิวัติ ผู้ชมจะเห็นได้ถึงความพิเศษของตัวละครนี้ได้ตั้งแต่เริ่มแรก เขาไม่ได้เป็นนักโทษ แต่เป็นอาสาสมัครที่เข้ามาอยู่ที่นี่เพราะอยากเลิกบุหรี่และได้ใบรับรองกลับไป ส่วนสิ่งของที่เขาเลือกเอาเข้าไปในคุกด้วยคือหนังสือเพื่อเอาไว้อ่านเล่น (เขาเป็นคนแรกที่เลือกหนังสือ ส่วนคนอื่นมักเลือกอาวุธเป็นหลัก) หนังสือที่เขาเลือกได้แก่ Don Quixote ของ มิเกล์ เด เซร์บันเตส ซาเบดฺร้า (มีแปลไทยในชื่อ ‘ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน’ โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) วรรณกรรมสเปนคลาสสิกที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ.1605 และได้รับความนิยมจนถึงตอนนี้ ตัวเอกของนิยายอย่างดอนกิโฆเต้ เป็นชายชราที่มุ่งทำตามความใฝ่ฝันด้วยการทำตัวเป็นอัศวินพเนจรที่ออกเดินทางเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้และกำจัดความอยุติธรรมให้หมดสิ้นไป ซึ่งเป็นภารกิจที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เพราะตัวเขาไม่ค่อยมีความสามารถสักเท่าไร นอกจากนั้น เขายังถูกคนอื่นมองว่าเป็นคนบ้าและฝันเฟื่อง เพราะในยุคนั้นไม่มีอัศวินหลงเหลือแล้ว  การที่โกเรงเลือกหนังสือเล่มนี้ สื่อถึงความเป็นปัญญาชนที่มุ่งทำตามอุดมการณ์ความใฝ่ฝัน แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจมองได้ว่าเป็นนักอุดมคติที่ล้มเหลวในชีวิตจริง เมื่อมองว่าหนังสือที่เขานำเข้ามา แทบไม่ได้ช่วยเหลือเขาในสถานที่นี้เลย เมื่อเทียบกับของที่คนอื่นเลือกมา จะมีประโยชน์อยู่บ้างก็ตรงที่เป็นอาหารรองท้องให้โกเรงไว้ฉีกกินเพื่อประทังชีวิต กลวิธีของโกเรงในการแก้ไขสถานที่แห่งนี้ให้ดีขึ้นมีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือแบ่งอาหารเป็นสัดส่วนให้เท่ากันทุกชั้น (สิ่งที่ย้อนแย้งคือเมื่อตรีกามาซิได้ยินไอเดียนี้ทีแรก ก็ถามกลับว่า “นายเป็นคอมมิวนิสต์หรือ?”) โดยโกเรงได้ร่วมมือกับบาฮารัตด้วยการลงลิฟต์ไปทุกชั้น แล้วขอร้องแกมใช้กำลังบังคับให้ทุกคนกินอาหารตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ ผลก็คือพวกเขาต้องบาดเจ็บปางตาย อย่างที่สองคือการส่งสาส์นไปถึงผู้วางระบบที่ชั้น 0 จากตอนแรกที่โกเรงต้องการส่งขนมพานาคอตต้าที่ยังไม่ได้ถูกแตะต้องกลับขึ้นไปเพื่อเป็นสาส์น แต่เขากลับเปลี่ยนใจเมื่อได้พบกับเด็กหญิงที่คาดว่าเป็นลูกของมิฮารุ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ที่ชั้นล่างสุดอย่าง 333  (จากตอนแรกที่เขาคิดว่าเด็กคนนี้ไม่มีตัวตน เพราะมันขัดกับกฎที่ว่าไม่มีคนอายุต่ำกว่า 16 ปีอยู่ในสถานที่นี้) และส่งเธอขึ้นไปข้างบนเพื่อเป็นสาส์นแทน ทำไมถึงต้องส่งเด็กขึ้นไปเป็นสาส์น? เนื่องจากเด็กคือสัญลักษณ์ของความหวัง ความเปลี่ยนแปลง และอนาคต การส่งเด็กขึ้นไปให้ผู้ดูแลระบบเห็นคือการกระตุ้นเตือนให้พวกเขาคิดคำนึงถึงคนรุ่นใหม่ ซึ่งยังมีคนอีกหลายรุ่นที่ต้องทนอยู่กับระบบนี้ไปเรื่อย ๆ หากไม่เกิดการแก้ไข การกระทำของโกเรงอาจมองได้ว่าเป็นการหาเรื่องใส่ตัว เพราะตอนที่เริ่มปฏิบัติการนั้น เขาอยู่ที่ชั้น 6 ซึ่งมีอาหารเหลือเฟือ แถมยังเหลือเวลาอยู่ในคุกแค่ไม่กี่วัน นอกจากนั้น ยังไม่มีอะไรการันตีได้ว่าภารกิจที่ทำให้เขาบาดเจ็บปางตายนั้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ระบบได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยหนังก็จบแบบเห็นถึงประกายความหวังว่าท่ามกลางความมืดมิด ยังมีคนที่กล้าจุดไฟในสายลม และไฟนั้นก็อาจถูกส่งต่อไปสู่คนอื่น ๆ ให้เกิดเชื้อไฟแห่งการปฏิวัติได้ในไม่ช้า