‘ลาว คำหอม’ กับเรื่องสั้น ‘กระดานไฟ’ (ฟ้าบ่กั้น) ความเชื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของ ‘ผู้เป็นใหญ่ในหมู่บ้าน’

‘ลาว คำหอม’ กับเรื่องสั้น ‘กระดานไฟ’ (ฟ้าบ่กั้น) ความเชื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของ ‘ผู้เป็นใหญ่ในหมู่บ้าน’
/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่องสั้น ‘กระดานไฟ’ จากหนังสือ ‘ฟ้าบ่กั้น’ เขียนโดย ลาว คำหอม /
“สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้สร้างคนขึ้นมา แต่คนสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาเพื่อขี่คอกันเอง”
นี่คือบทสรุปของเรื่อง ‘กระดานไฟ’ หนึ่งใน 17 เรื่องสั้นจากวรรณกรรมชิ้นเอก ‘ฟ้าบ่กั้น’ เขียนโดย ‘ลาว คำหอม’ นามปากกาของ ‘คำสิงห์ ศรีนอก’ นักเขียน และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (2535) ผู้เคยหลบหนีเข้าป่าในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ขึ้นครองอำนาจ และสั่งปราบปรามนักเขียนหัวก้าวหน้าหลายคน เมื่อพูดถึงหนังสือเรื่อง ฟ้าบ่กั้น เป็นที่รู้กันว่าสถานที่ในเรื่องสั้นเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นบนแผ่นดินแถบอีสาน แต่สิ่งที่ลาว คำหอมต้องการสะท้อนผ่านเรื่องสั้นกว่าสิบเรื่องไม่ใช่เพียง ‘ความเป็นอยู่’ ‘วิถีชีวิต’ หรือ ‘ความเชื่อ’ ของประชาชนในแถบอีสานเท่านั้น เพราะผู้เขียนยังแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ และ ‘การลดทอนความเป็นมนุษย์’ ที่เกิดจาก ‘ความใหม่’ ของระบบราชการและองค์ความรู้ที่เข้าสู่พื้นที่ชนบท โดยปราศจากความเข้าใจในมิติความเป็นมนุษย์และวัฒนธรรมที่หล่อหลอมหลายชีวิตขึ้นมา สำหรับกระดานไฟ ถือเป็นตัวแทนเรื่องสั้นที่พูดถึง ‘ความเชื่อ’ ในแง่ ‘เครื่องมือ’ ที่ผู้มีอำนาจใช้ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นจนสามารถสร้างอำนาจ และรักษาอำนาจของตนเองไว้ได้ โดยลาว คำหอม เริ่มเล่าจากจุดเชื่อมโยงของทุกคนในพื้นที่ชนบทแห่งนี้ นั่นก็คือ ‘ที่มา’ ของหมู่บ้าน ‘มาบตายัง’ [caption id="attachment_35928" align="aligncenter" width="489"] ‘ลาว คำหอม’ กับเรื่องสั้น ‘กระดานไฟ’ (ฟ้าบ่กั้น) ความเชื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของ ‘ผู้เป็นใหญ่ในหมู่บ้าน’ หนังสือเรื่อง ‘ฟ้าบ่กั้น’ เขียนโดย ‘ลาว คำหอม’ ตีพิมพ์ครั้งที่ 22 สำนักพิมพ์อ่าน[/caption] กระดานไฟแห่งมาบตายัง หมู่บ้านมาบตายังเป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติ ‘นายยัง เดือนขาว’ หรือผู้เฒ่าคนแรกที่เริ่มลงหลักปักฐาน ณ พื้นดินแห่งนี้ เท่านี้ก็คงจะพอทราบแล้วว่า ‘ผู้เป็นใหญ่ในหมู่บ้าน’ อย่างตายังจะเป็นที่รักและเคารพของผู้คนขนาดไหน แต่สำหรับเรื่องราวส่วนตัวของตายัง แทบจะไม่มีใครในหมู่บ้าน รวมไปถึงลูกหลานของแกเองที่รู้จริงว่า ตายังเป็นใคร มาจากไหน เหตุใดจึงมาลงหลักปักฐานที่นี่ กระนั้น ในหมู่บ้านยังมีอีกหนึ่งเรื่องราวที่ผู้คนรู้ดีมากกว่า นั่นก็คือเรื่องของ ‘เจ้าแม่ตะเคียน’ แน่นอนว่า เจ้าแม่ตะเคียนคือชื่อเรียกตอไม้ผุที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ไม่ว่าใครจะผ่านไปผ่านมาก็ต้องยกมือไหว้ด้วยความเคารพศรัทธา แม่สอนลูกยกมือไหว้ ลูกสอนลูกยกมือไหว้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ ทั้งความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ยังถูกเพิ่มด้วย ‘พิธีกรรม’ เซ่นไหว้และบวงสรวง เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของหมู่บ้าน โดยมี ‘พ่อยัง’ คนเดิมที่เป็นผู้นำสวด ความเชื่อเหล่านั้นคือความจริงที่ไม่ถูกตั้งคำถาม กระทั่งคืนหนึ่ง ‘เคน’ ชายหนุ่มผู้กำลังจะกลายเป็นพ่อคนรีบเดินทางไปยังบ้านของตายังเพื่อขอ ‘กระดานไฟ’ ที่ถูกเรียกว่า ‘อีแม่ตะเคียนทอง’ ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นไม้สีดำมีรอยขวานจาม กว้างประมาณ 2 ศอก (1 เมตร)  ยาววาเศษ ๆ (2 เมตรกว่า) ที่ปลายทั้งสองข้างมีคราบขมิ้นและน้ำหอม ช่วยเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ และบ่งบอกถึงการถูกใช้งานมาอย่างยาวนานเพื่อให้ผู้หญิงอยู่ไฟหลังคลอด แต่เมื่อไปถึง เคนกลับพบว่า ‘น้าเขียว’ ชาวบ้านอีกคนที่ภรรยากำลังจะคลอดลูกก็มาขอกระดานไฟจากตายังเช่นกัน เคนอ้อนวอนขอให้น้าเขียวยกกระดานไฟให้ เพราะผู้คนต่างเชื่อว่า กระดานของตายังจะช่วยให้เด็กเกิดมาสมบูรณ์แข็งแรง และอยู่รอดปลอดภัยทั้งแม่ทั้งลูก ด้วยความที่กระดานไฟมีเพียงแผ่นเดียว ตายังจึงใช้การตัดสินว่าลูกใครเกิดก่อนคนนั้นได้กระดานไฟไป ปรากฏมีเสียงร้องดังมาจากบ้านของน้าเขียว เคนจึงได้แต่เดินหน้าซีดลงเรือน แต่ก่อนที่เขาจะกลับบ้าน เขาเดินไปทางยุ้งข้าว และจัดการดึงกระดานจากใต้ถุนยุ้งข้าวออกมา มันคือ ‘กระดานพื้นคอกหมู’ “กูว่าแล้ว มันจะต้องพบเข้าสักวันหนึ่ง” ชายแก่บนเรือนพึมพำ หลังจากที่เคนกลับมาบ้าน เขาจัดแจงล้างกระดานพื้นคอกหมูจนสะอาด เขาโกหกหมอตำแยและภรรยาว่านี่คือกระดานไฟที่ว่า “ไม่ตายแน่ ๆ” เคนบอก และปรากฏว่าไม่มีใครตายจริง ๆ ลูกของเขาคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์ ส่วนภรรยาก็แข็งแรงดี ความสุขของเคนในวันนั้นไม่ใช่แค่ความสุขที่เห็นภรรยาและลูกปลอดภัย แต่มันคือความสุขของคนที่ตาสว่างจากการที่รู้ว่า ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ ที่ถูกบอกต่อกันมาเป็นเพียงเรื่องโกหก และวันนี้เขาจะต้องเปิดเผยมันให้จงได้ อนิจจา หลังจากเขากลับบ้านเพื่อจะบอกความจริงให้ทุกคนรู้ ตายังก็เดินลงมาพร้อมกระดานพื้นคอกหมูที่มีขมิ้นทาอยู่ “พ่อยังมาทำพิธีสรงน้ำกระดาน และรับขวัญลูกของเราด้วย ฉันสมนาคุณแกไปบาทนึง” ภรรยาของเคนเอ่ยอย่างดีใจ แต่สำหรับเคนแล้ว เขารู้ดีว่าตัวเองพ่ายแพ้แก่ความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อเสริมความศักดิ์สิทธิ์ในการรักษาอำนาจของคนคนหนึ่งแล้ว [caption id="attachment_35929" align="aligncenter" width="989"] ‘ลาว คำหอม’ กับเรื่องสั้น ‘กระดานไฟ’ (ฟ้าบ่กั้น) ความเชื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของ ‘ผู้เป็นใหญ่ในหมู่บ้าน’ การอยู่ไฟหลังหญิงสาวคลอดบุตร[/caption] เครื่องมือรักษาอำนาจที่เรียกว่า ความเชื่อ ความเชื่อนั้นมีมานานเกินจะหาที่มาอย่างชัดเจน มันคือการยอมรับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นความจริง แม้จะยังไม่ได้พิสูจน์ด้วยเหตุผลก็ตาม เช่นเดียวกับที่มาของการสร้างหมู่บ้าน เรื่องราวของตายัง เจ้าแม่ตะเคียน และกระดานไฟ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีสิ่งใดเป็นความจริงแท้บ้าง แต่ด้วยพลังของความเคารพที่มีต่อผู้เป็นใหญ่ในหมู่บ้าน ตายังจึงกลายเป็นผู้ควบคุมชุดความเชื่อที่นำไปสู่การสร้างความจริงของตัวเอง เมื่อความเชื่อทำงานในเชิงความคิด ตายังสามารถสร้างความชอบธรรมในสิ่งที่ตนเองปฏิบัติได้เสมอ เขากลายเป็นผู้นำหมู่บ้านที่รับหน้าที่นำสวดต่อเจ้าแม่ตะเคียน เขาคือผู้ครอบครองกระดานไฟที่กำหนดชะตาชีวิตเด็กทารกได้ว่าจะอยู่หรือตาย เขาทำให้ตัวเอง ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ทำให้ตอไม้ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ และทำให้กระดานพื้นคอกหมู ‘ศักดิ์สิทธิ์’ แต่การรักษาอำนาจของตายังก็เกือบจะถูกทำลาย เมื่อเคนได้รับรู้ความจริงด้วยความบังเอิญเพียงเพราะเขาต้องการทำให้หมอตำแยและภรรยาสบายใจ หากเด็กทารกเสียชีวิต กระดานพื้นคอกหมูจะทำให้เคนอยู่กับความรู้สึกผิดไปตลอดกาล แต่เมื่อเด็กรอด ความจริงว่า ‘เจ้าแม่ตะเคียนทองหรือกระดานคอกหมูมันก็ไอ้ไม้เหมือนกัน’ จะถูกเปิดเผย ตายังต้องรีบจัดการสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่า ‘ความจริง’ ให้เรียบร้อย มิเช่นนั้นความเชื่อจะถูกสั่นคลอน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมตายังถึงไปปรากฏตัวที่บ้านของเคน พร้อมพิธีกรรมสรงน้ำและรับขวัญเด็กเสร็จสรรพเรียบร้อย เพราะอย่างน้อยภรรยาของเคนก็จะคิดว่า ‘เด็กมีชีวิตที่ดีเพราะตายังมาช่วยไว้’ ส่วนเคนก็ต้องเสียทั้งกระดานอยู่ไฟ กับเงินหนึ่งบาทไปฟรี ๆ นอกจากเรื่องราวที่ล้อเลียนกับความเชื่อและอำนาจ รายละเอียดปลีกย่อยอย่าง เรื่องเล่า ประเพณี เจ้าแม่ตะเคียน พิธีกรรม หรือกระดานไฟ ยังทำให้เห็นการผสมรวมกันของ ‘คติชน’ (ข้อมูลที่เป็นผลผลิตทางความคิดของชุมชน) 3 แบบ ได้แก่ แบบ ‘มุขปาฐะ’ คือการถ่ายทอดด้วยคำพูด แบบ ‘อมุขปาฐะ’ ที่ไม่ได้ถ่ายทอดด้วยคำพูด แต่ใช้การปฏิบัติหรือสังเกตแทน และแบบผสมระหว่างคำพูดและการปฏิบัติ ซึ่งทั้ง 3 อย่างจะช่วยสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับความเชื่อจนผู้คนละเลยการตั้งคำถาม ยกตัวอย่าง ความเป็นมาของหมู่บ้าน ถือเป็นคติชนแบบมุขปาฐะที่เล่ากันปากต่อปาก สิ่งนี้สร้างความดีความชอบให้แก่นายยังตั้งแต่แรกเริ่ม หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยเรื่องราวของตอไม้ตะเคียนที่นายยังจามขวานลงไป นำมาซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ในการทำพิธีกรรม ซึ่งเป็นคติชนแบบผสมมีทั้งการสวดและการเซ่นไหว้ นอกจากนี้ยังมีกระดานไฟที่เป็นตัวแทนของคติชนแบบอมุขปาฐะ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ของกันและกัน ความเชื่อในตัวบุคคลจึงเกิดขึ้นอย่างไม่อาจเลี่ยง เรียกว่าทุกอย่างลงล็อกตามที่ผู้มีอำนาจจัดไว้ แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 63 ปี นับตั้งแต่ฟ้าบ่กั้นได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2501 แต่เรื่องราวของความเหลื่อมล้ำและอำนาจที่ลดทอนความเป็นมนุษย์จากเรื่องสั้นทั้ง 17 เรื่องก็ยังปรากฏให้เห็นจวบจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงความเชื่อที่กระจายอยู่ในทุกสังคมเพื่อรักษาฐานอำนาจและควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาเช่นเดียวกับในมาบตายัง ฟ้าบ่กั้นในวันที่ความเชื่อปะทะความจริง หนังสือรวมเรื่องสั้นฟ้าบ่กั้นของลาว คำหอม ไม่ใช่แค่ทำให้คนเมืองย้อนดูความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่นชนบทอันห่างไกลเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้คนได้ย้อนมองตนเองด้วยว่า เหตุใดจึงยอมรับในความเหลื่อมล้ำ และยอมจำนนต่อการถูกกดขี่จากผู้มีอำนาจ? เพราะในปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ถูกแก้ไข ทั้งยังกระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ส่วนเรื่องกระดานไฟ ความเชื่อถือเป็นสิ่งที่ตัดไม่ขาดจากสังคม แถมยังน่ากลัวขึ้นทุกที เมื่อหลายครั้งความเชื่อกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ดีในการกลบเกลื่อนความจริง เบี่ยงเบนความสนใจ และสร้างความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งที่ความจริงหรือข้อเท็จวางอยู่ตรงหน้าให้พิจารณา กระทั่งถึงวันนี้ ฟ้าบ่กั้น ยังคงเป็นหนังสือขึ้นหิ้งอีกเล่มที่ควรอ่านเช่นเดียวกับ ‘ปีศาจ’ ของ ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ แต่นอกจากจะกล่าวถึง การปะทะกันของความเชื่อใหม่และความเชื่อดั้งเดิมของคนสองรุ่นอย่างในเรื่องปีศาจ ลาว คำหอมได้นำเสนอผลลัพธ์ของ ‘ความใหม่’ จากระบบราชการและความทันสมัยที่เกิดจาก ‘รัฐ’ และ ‘ผู้มีอำนาจ’ โดยปราศจากความเข้าใจเรื่องความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น หากใครที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงนับจากอดีตเมื่อ 60 ปีก่อน เรื่องสั้นเรื่องอื่น ๆ ในฟ้าบ่กั้นก็คงจะไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง หลังจากยุคมืดที่หนังสือถูกเผา และไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่าย การต่อสู้ผ่านตัวอักษรของลาว คำหอม ก็ได้กลับมาสู่สังคมอีกครั้ง หนังสือของเขายังคงทำหน้าที่สะกิดไหล่ผู้คนให้มองหาความจริงมากกว่ายึดติดในความเชื่อ ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจว่าหลายคนในปัจจุบันก็กำลังต่อสู้กับระบบความคิดและความเชื่อดั้งเดิมที่มองคนไม่เป็นคนอย่างเต็มที่ เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี อ้างอิง: หนังสือเรื่อง ‘ฟ้าบ่กั้น’ เขียนโดย ‘ลาว คำหอม’ บทนำโดย ‘ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์’ ตีพิมพ์ครั้งที่ 22 สำนักพิมพ์อ่าน http://www.udru.ac.th/oldsite/attachments/elearning/02/13.pdf http://ithesis-ir.su.ac.th/dspace/bitstream/123456789/2385/1/56251802.pdf ภาพ: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%9F#/media/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Siamese_mother_and_children.gif http://thisisabook2734.lnwshop.com/ ช่องยูทูบ WriterThailand https://www.youtube.com/watch?v=k-8hfDTWizc