The Scream: เสียงกรีดร้องของความป่วยไข้ จากภาพที่เคยถูกตราหน้าว่ามีแต่ ‘คนบ้า’ ที่วาดได้

The Scream: เสียงกรีดร้องของความป่วยไข้ จากภาพที่เคยถูกตราหน้าว่ามีแต่ ‘คนบ้า’ ที่วาดได้
“ผมเดินอยู่บนถนนกับเพื่อนสองคน พระอาทิตย์กำลังลับลา ทันใดนั้นท้องฟ้าก็ฉาบทาด้วยสีแดงเลือด ผมหยุดเดิน รู้สึกหมดแรงจนต้องพิงรั้ว เลือดและไฟลามเลียอยู่เหนือแหว่งและเว้าของอ่าวสีดำและน้ำเงิน - เพื่อนของผมยังคงเดินต่อ ทว่าผมยืนแน่นิ่ง ปั่นป่วนด้วยความเศร้าเคล้ากังวล หูทั้งสองข้างราวได้ยินเสียงกรีดร้องไร้สิ้นสุดจากธรรมชาติ” ภายในไดอารีที่ถูกเขียนด้วยภาษานอร์เวย์ บันทึกเวลาวันที่ 22 มกราคม 1882 กลายเป็นหลักฐานชั้นดีที่ชี้ให้เห็นว่า ท่ามกลางเสียงหวีดหวิว ‘กรีดร้อง’ ที่ดังก้องผ่านผืนฟ้าสีเลือดและทะเลสีน้ำเงินเข้ม ‘เอ็ดเวิร์ด มุงก์’ (Edvard Munch) ได้แรงบันดาลใจสำหรับประดับฝีแปรงวาดภาพที่โด่งดังที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจาก ‘Mona Lisa’ ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ในช่วงย่ำค่ำของวัน ขณะที่เขาเดินเตร่บนสะพาน ‘The Scream’ (ชื่อเต็มตามภาษาต้นฉบับว่า ‘Der Schrei der Natur’ แปลได้ว่า ‘The Scream of Nature’) คือชื่อของภาพเขียนชื่อดังชุดนั้น ‘เสียงกรีดร้อง’ เป็นภาพชุดที่มีด้วยกันทั้งหมด 4 เวอร์ชัน ที่องค์ประกอบของภาพไม่ต่างกัน แต่มุงก์ผู้เป็นศิลปินได้ทดลองใช้สีและเทคนิคที่ต่างกันออกไป - นับจากเวอร์ชันแรกเมื่อปี 1893 จนถึงเวอร์ชันหลังสุดเมื่อปี 1910 โดยเวอร์ชันที่โด่งดังที่สุดคือเวอร์ชันที่สอง ภาพของสิ่งมีชีวิตไร้เส้นผมกำลังยกสองมือขึ้นทาบทับใบหน้า - อาจจะปิดหูเพื่อหลีกเร้นจาก ‘เสียงกรีดร้องของธรรมชาติ’ ที่แว่วโหยหลอกหลอนประสาท แต่ขณะเดียวกัน ปากของเขาก็เผยออ้า ดวงตาสองข้างเบิกโพลง ราวกับว่าเขากำลังกรีดร้องกลับคืนสู่ทุกสรรพสิ่งอยู่เช่นกัน ‘The Scream’ คือเซลฟ์พอร์เทรต หรือภาพวาดตนเองของมุงก์ หลายคนวิเคราะห์ไว้เช่นนั้นเมื่อได้อ่านไดอารีของเขา เพียงแต่ผู้เขียนอยากจะระบุให้ชัดไปอีกสักหน่อยว่า ภาพเขียนชิ้นนั้นไม่ใช่ภาพวาดตนเองธรรมดา ๆ แต่ยังบรรจุความเจ็บป่วยทางจิตใจของมุงก์เอาไว้มากเกินประมาณอีกด้วย และหากเราจ้องหนึ่งในสี่ของภาพเซตนี้ดี ๆ เราจะเห็นถ้อยคำที่ทำให้ ‘The Scream’ กรีดร้องบ้าคลั่งและแสนเศร้าได้ยิ่งกว่าเดิม เพราะมุมบนซ้ายของภาพนั้นมีรอยคาร์บอนของดินสอบางเบา ขีดเขียนภาษานอร์เวย์อ่านได้ใจความว่า ‘Can only have been painted by a madman’ หรือ ‘วาดโดยไอ้บ้าหนึ่งคน’ ซึ่งถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นลายมือของมุงก์เอง เอ็ดเวิร์ด มุงก์ ทุกข์ทรมานจากสิ่งใดเมื่อเขียนภาพนี้ และทำไมเขาถึงเรียกตัวเองว่าคนบ้า? เรื่องทั้งหมดมันอาจจะเริ่มต้นตั้งแต่มุงก์อายุได้ห้าขวบ เมื่อเขาต้องเสียแม่ไปเพราะวัณโรค ครั้นอายุสิบสามย่างสิบสี่ พี่น้องคนหนึ่งของเขาก็ตายจากไปเพราะโรคเดียวกัน ส่วนน้องสาวอีกคนก็รักษาโรคไบโพลาร์และใช้ชีวิตในโรงพยาบาล พ่อของมุงก์ตายเมื่อมุงก์อายุยี่สิบห้า และน้องชายของเขาก็ป่วยและตายเมื่อมุงก์อายุสามสิบสอง มุงก์จมอยู่กับความสูญเสีย แต่เท่านั้นยังไม่ร้ายแรงพอ เพราะตั้งแต่เด็กจนขวบปีที่ยี่สิบห้า เขาถูกผู้เป็นพ่อทรมานจิตใจมาโดยตลอด - มุงก์บอกว่าเขาได้ ‘เมล็ดพันธุ์ความบ้าคลั่ง’ มาจากผู้เป็นพ่อที่เป็นหมอและเคร่งศาสนาแบบสุดโต่ง การทารุณกรรมทางใจที่คนเป็นพ่อกระทำต่อมุงก์นั้นหนักข้อขึ้นในปี 1881 ที่มุงก์ตัดสินใจลาออกจากสายการเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อผันตัวมาเขียนภาพอย่างจริงจัง พ่อของมุงก์ต่อต้านสิ่งเดียวที่เขารักและยึดเป็นอาชีพตลอดชั่วชีวิตอย่างการวาดรูป และบอกเสมอว่า “ถ้าแม่แกยังมีชีวิตอยู่ เธอต้องผิดหวังในตัวแกมากแน่ๆ” กระนั้น มุงก์ก็ยังวาดภาพต่อไป โดยภาพวาดส่วนใหญ่ของเขามักออกมาหม่นเศร้าและขึ้งโกรธ อีกทั้งบางภาพ ยกตัวอย่างเช่น ‘The Sick Girl’ ยังบอกเล่าถึงการป่วยและตายของพี่สาวของเขาเองด้วย ทำให้เราพอจะทราบได้ว่าภายในจิตใจของศิลปินลัทธิสำแดงอารมณ์ และสัญลักษณ์นิยมคนนี้นั้นปั่นป่วนไปด้วยพิษของโรคทางใจหลายประการเพียงไหน วิตกกังวล หวาดระแวง ซึมเศร้า เหล่านี้คือความรู้สึกที่ผลัดกันยึดครองพื้นที่ในจิตใจของมุงก์อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และย่ำค่ำวันที่ 22 มกราคม 1882 ร่วมสิบปีก่อนภาพเขียน The Scream อันลือชื่อจะถูกเปิดเผยต่อโลกนั้นเอง ที่ความรู้สึกด้านลบทุกอย่างเริ่มโจมตี - ถล่มทับมุงก์ในคราวเดียวขณะที่เขาย่างก้าวอยู่บนสะพาน น้ำหนักของโรคร้ายที่กระหน่ำซัดจิตใจพาให้เขาได้ยินเสียงหวีดหวน ครวญคร่ำของโลก มุงก์เป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับนับจากวันแรก ๆ ของการทำงาน ผู้คนไม่ได้เมินเฉยหรือด้อยค่าผลงานของเขา แต่ไม่ได้แปลว่าความโศกาอาดูรเหล่านั้นจะถูกต้อนรับโดยอบอุ่นจากผู้ชมทุกคนที่ผ่านไปเห็น ‘The Scream’ เวอร์ชันที่หนึ่งและสองสำเร็จเสร็จสิ้นในปี 1893 และอีกสองปีถัดมา ระหว่างนิทรรศการภาพเขียนของเขา นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งได้พูดต่อหน้าจิตรกรผู้นี้ว่า  “คนที่วาดภาพแบบนี้ขึ้นมาได้ก็มีแต่คนบ้าเท่านั้นแหละ ผมว่าคุณมีปัญหาทางจิต” คำพูดนั้นกระทบใจมุงก์เข้าอย่างจัง - เขาเศร้ากว่าที่เคย และคงสับสนอยู่ไม่น้อย ตอนที่กลับที่พักไปและเขียนคำ ‘Can only have been painted by a madman’ ลงกับภาพเขียนของตน (ก่อนหน้านี้เคยเกิดความสับสนว่าใครเป็นผู้เขียนคำนั้นกันแน่ มุงก์ หรือคนอื่นที่ซื้อภาพไปและเคยเป็นเจ้าของมัน แต่สุดท้ายก็พิสูจน์ออกมาว่าคนเขียนเป็นมุงก์นั่นเอง) ตามความเห็นของ ‘ไม บริตต์ กูเลง’ (Mai Britt Guleng) ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะของมุงก์ ได้บอกกับ The New York Times ว่า “เขาไม่ได้เขียนมันด้วยตัวอักษรที่ใหญ่ เราต้องมองอย่างตั้งใจถึงจะเห็น จุดมุ่งหมายของคำนั้นคงไม่ใช่การประท้วงหรือประชดด้วยความมั่นใจ เพราะไม่อย่างนั้นเขาคงเขียนตัวเบิ้ม ๆ ไปแล้ว” กูเลงเชื่อว่ามุงก์เขียนคำนั้นลงบนผืนผ้าใบในขณะที่จิตใจของเขาเจ็บแค้นจากการโดนกล่าวหาว่า ‘บ้า’ ขณะเดียวกันก็กลัวด้วยที่ต้องโดนคนอื่น ๆ ตัดสิน - หรือแม้กระทั่ง ‘ดูออก’ ว่าเขากำลังเผชิญกับความเจ็บป่วยทางจิตใจอยู่ ความเศร้าโศกในตัวอักษรจึงได้ถูกเขียนด้วยขนาดเล็ก และซ่อนไว้ในกลุ่มเมฆ หลายปีหลังจากนั้น มุงก์ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชอยู่ร่วมปี โดยมีชีวิตบั้นปลายที่ค่อนข้างเปลี่ยวเหงา และตกอยู่ในหล่มหลุมของนักดื่ม เขายังยึดอาชีพศิลปินต่อไปจนวันสุดท้ายของชีวิต เมื่อวันที่ 23 มกราคม 1944 อายุ 80 ปี ทิ้งผลงานหลากชิ้นของเขา รวมทั้ง ‘The Scream’ ไว้เป็นมรดกชิ้นสำคัญของโลก ‘The Scream’ กลายเป็นตัวแทนแห่งความเศร้าชวนขนหัวลุก และเสียงกู่ร้องใจสลายไร้สิ้นสุด ไม่ใช่แค่สำหรับมุงก์ แต่สำหรับผู้คนทั้งหมดด้วย - ภาพวาดนัยน์ตาเบิกโพลงและปากอ้ากว้างที่มองมาที่เรานั้นชวนให้คนทั้งหลายหวนระลึกถึง ‘ความเศร้า’ ของตัวเอง ขณะเดียวกันภาพลักษณ์ที่แปลกตาทว่าทรงพลังของมันก็บันดาลใจให้ศิลปินในยุคถัดไปหลายราย หยิบเสี้ยวส่วนของ ‘เสียงกรีดร้อง’ ไปใส่ในงานของตน ‘The Scream’ ถูกวาดใหม่โดย ‘แอนดี วอร์ฮอล’ (Andy Warhol) ในปี 1984 ‘เทรซี เอมิน’ (Tracey Emin) ศิลปินแนวคอนเฟสชันอาร์ตเคยทำภาพยนตร์ถึงภาพวาดนี้ ในปี 1998 เช่นเดียวกับศิลปินหลายคนที่ทำ ‘tribute’ ถึงมุงก์ด้วย ‘The Scream’ อยู่บ่อย ๆ ส่วนใน pop culture หลาย ๆ คนก็คงเคยเห็นหน้ากากสีขาว ตาโหลลึก ปากอ้ากว้าง คางยาวยื่น นาม ‘ghostface’ กันมาบ้าง นั่นก็ได้รับอิทธิพลมาจาก ‘The Scream’ เช่นกัน ‘The Scream’ เคยถูกหัวขโมยฉกไปจากพิพิธภัณฑ์ถึงสองครั้ง แต่โชคยังดีที่สามารถสืบและนำภาพกลับมาได้ทั้งสองหน ปัจจุบัน ภาพเขียนขนาดไม่ใหญ่นี้ตั้งอยู่ที่ The National Museum ในออสโล และยังคงจดจ้อง ร้องตะโกนมายังผู้คนอย่างไม่หยุดยั้ง หลายคนที่เคยได้จ้องตากับภาพที่ว่าก็ยังคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าภาพวาดของมุงก์ถ่ายทอดอารมณ์ได้ถึงขนาดที่ทำให้ผู้ชมเข้าใจว่าที่จริงแล้ว บนโลกที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดใบนี้  ‘เราทุกคนก็คือ The Scream’   ที่มา: https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-56127530 https://www.bbc.com/culture/article/20160303-what-is-the-meaning-of-the-scream https://www.architecturaldigest.com/story/revealed-secret-history-behind-edvard-munch-scream https://blog.singulart.com/en/2019/09/10/the-scream-the-story-behind-edvard-munchs-haunting-masterpiece/ https://www.theguardian.com/artanddesign/2021/feb/22/edvard-munch-the-scream-painted-by-a-madman-graffiti https://medium.com/everything-art/the-scream-a-deeper-analysis-of-edvard-munchs-anxiety-wrought-piece-c36d9bbbb4cd ภาพ: Photo 12 / Contributor Photo by APIC/Getty Images ติดตาม Instagram ของ The People ได้ที่ https://www.instagram.com/thepeoplecoofficial/