เฮอร์แมน คนิปเปนเบิร์ก-ชาร์ลส โสภราช: การไล่ล่าฆาตกรต่อเนื่องผู้ไม่เคยได้รับโทษในไทย

เฮอร์แมน คนิปเปนเบิร์ก-ชาร์ลส โสภราช: การไล่ล่าฆาตกรต่อเนื่องผู้ไม่เคยได้รับโทษในไทย
ฝ่ายน้ำเงิน-เฮอร์แมน คนิปเปนเบิร์ก นักการทูตผู้ไล่ล่าอสรพิษ ฝ่ายแดง-ชาร์ลส โสภราช ฆาตกรอสรพิษผู้ไม่เคยได้รับโทษในประเทศไทย   ***บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนใน The Serpent   ฆาตกรต่อเนื่องอย่างชาร์ลส โสภราชอยู่ในยุคที่สังคมการเมืองไทยและโลกเป็นแบบไหน ค.ศ. 1975 เป็นปีที่สงครามเวียดนามกำลังตึงเครียดถึงขีดสุด ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญทางการเมืองตามทฤษฎีโดมิโนของสหรัฐอเมริกา บรรยากาศโลกในยุคสงครามเย็นที่ชาวโลกเสรีประชาธิปไตยกำลังไล่ล่ากวาดล้างชาวโลกคอมมิวนิสต์ ในประเทศไทยเหตุการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) ในทางหนึ่งนำมาซึ่งการค่อย ๆ ก่อตัวของแนวคิดขวาพิฆาตซ้าย จนนำไปสู่เหตุการณ์ฆ่าหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976)  ช่วง 1 ปีก่อนหน้า พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) ในหลืบมุมหนึ่งของสังคมไทยได้เกิดเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัวในหมู่บุปผาชน เหตุการณ์ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสู่ซีรีส์สุดตื่นเต้นที่มีชื่อว่า The Serpent ของ BBC ที่ออกอากาศใน Netflix ซีรีส์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของนักการทูตชาวดัตช์ที่ต้องกลายเป็นนักสืบจำเป็นในการไล่ล่าฆาตกรต่อเนื่องผู้หลงใหลงานปรัชญาของฟรีดิช นีทเชอ นักปรัชญาหัวขบถชาวเยอรมันผู้เลื่องชื่อ ฆาตกรผู้มีสมญานามว่า อสรพิษ (The Serpent)   สงครามเย็นและการตามหาตัวตนของเหล่าบุปผาชน ต้นปี ค.ศ. 1975 คู่รักนักท่องเที่ยวชาวดัตช์ได้พบกับพ่อค้าอัญมณีชาวฝรั่งเศสที่ฮ่องกง ทั้งคู่ตอบรับคำเชิญของพ่อค้าอัญมณีคนนั้นให้มาเยี่ยมเยือนบ้านพักที่ประเทศไทยของเขา จากนั้นทั้งคู่ก็หายสาบสูญไป  การหายตัวไปของนักท่องเที่ยวจนครอบครัวต้องติดตามกับสถานทูตในแต่ละประเทศว่าลูกหลานของตนได้เดินทางท่องเที่ยวไปบ้างหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับวัฒนธรรมบุปผาชนในช่วงทศวรรษ 1960 วัฒนธรรมดังกล่าวเกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านทุนนิยม วัตถุนิยม และสงคราม ด้วยการสร้างชุมชนถ้อยทีถ้อยอาศัย รักสันติ ไร้กฎเกณฑ์ตายตัว เป็นมิตรต่อกัน  วัฒนธรรมดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวค้นหาตัวตนของเหล่าบุปผาชนไปทั่วโลกจากลอนดอน สู่ยุโรปตะวันออก สู่เอเชียกลาง และจบที่อินเดีย จากนั้นก็เดินทางต่อเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เส้นทางนี้มีชื่อเรียกกันว่า ‘เส้นทางของบุปผาชน’ (The Hippie Trail) และแม้วัฒนธรรมบุปผาชนจะปฏิเสธทุนนิยมเพียงใด แต่เพื่อรองรับการตามหาตัวตนของบุปผาชน วัฒนธรรมการท่องเที่ยวในประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับเงินทุนอุดหนุนจากรัฐบาลโลกเสรีก็เติบโตขึ้นเท่านั้น สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดมาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม อันที่จริงการพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศไทยเริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยุคแรก ๆ นั้นยังเป็นกิจกรรมของชนชั้นนำของสังคม ส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกิดขึ้นราว ๆ ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2502) ที่ในยุคนั้นรัฐบาลไทยได้รับเงินอุดหนุนจากกองทัพอเมริกันกว่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถูกเปลี่ยนเป็นแหล่งฟื้นฟูและผ่อนคลาย (Relief and Recreation หรือ R and R) ให้กับเหล่าทหารที่ส่งมาประจำการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลไทยสร้างหน่วยงานอย่างองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ที่ในทางหนึ่งก็เป็นองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบอุตสาหกรรมในพื้นที่ชนบท และอีกทางหนึ่งเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐไทยในการต่อสู้กับโฆษณาชวนเชื่อของฝั่งคอมมิวนิสต์  ทั้งหมดเกิดไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างมหาศาล การพัฒนาถนนสายเอเชีย การพัฒนากรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางทางการบินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าโลกทุนนิยมนั้นสามารถสร้างความเจริญเติบโต เงินตรา และความกินดีอยู่ดี หรือแม้แต่กินหรูอยู่สบาย ได้มากกว่าโลกคอมมิวนิสต์อย่างไร ช่วง ค.ศ. 1975 เมื่อสงครามเวียดนามใกล้ยุติ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ทำเงินได้ราว ๆ ปีละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐก็ซบเซาลงเล็กน้อยจากการที่กลุ่มลูกค้าเปลี่ยนจากทหารอเมริกัน กลายเป็นเหล่าบุปผาชนผู้ตามหาตัวตน ซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นพวกต่อต้านสังคม ขี้ยา และเป็นคนจรจัด แต่ทั้งนี้สุดท้ายกรุงเทพฯ ก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของเหล่าบุปผาชนที่มุ่งหน้าเดินทางสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปในที่สุด  แม้ไม่มีการบันทึกสถิติรายได้จากการท่องเที่ยวที่ชัดเจน เพราะธุรกิจการท่องเที่ยวดังกล่าวเต็มไปด้วยด้านที่รัฐบาลไทยไม่ยอมรับ และผิดกฎหมายของรัฐไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทางเพศ ธุรกิจยาเสพติด หรือแม้แต่การฟอกเงิน แต่ก็มีการกล่าวว่า รายได้จากการท่องเที่ยวตั้งแต่ยุคสงครามเย็นคือสิ่งที่โอบอุ้มเศรษฐกิจของครอบครัวคนไทยจำนวนมากเอาไว้ ด้วยวัฒนธรรมบุปผาชนที่มักจะทำอะไรโดยไม่มีการวางแผน  มีเพียงการส่งข่าวกลับให้ครอบครัวผ่านช่องทางไปรษณีย์ และใช้ชีวิตร่วมกันกับมิตรสหายที่เพิ่งพบปะกัน การหายไปของนักท่องเที่ยวที่ถูกรัฐบาลอเมริกันรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐไทย หรือคนไทยทั่วไปมองว่าเป็นพวกตัวปัญหาเน่าเฟะ ต่อต้านสังคม ไม่ทำการทำงาน ขี้ยา บ้าเซ็กซ์ พร้อมเข้ามาสร้างปัญหาให้ปวดหัวตลอดเวลา แต่ในมุมหนึ่ง ปัญหาของกลุ่มบุปผาชนดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามหลับตาข้างเดียวเพราะผลประโยชน์ด้านการเงิน แต่ไม่ใช่สำหรับนักการทูตตำแหน่งเลขานุการตรีแห่งสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยอย่าง เฮอร์แมน คนิปเปนเบิร์ก (Herman Knippenberg) แน่นอน   ดอกไม้ที่หายไป ช่วงเวลาที่คนิปเปนเบิร์กประจำการที่ประเทศไทยนั้น เขามีอายุได้ 31 ปี (เขาเกิดปี ค.ศ. 1944) ในวันที่คนิปเปนเบิร์กได้รับคำร้องจากครอบครัวของนักท่องเที่ยวชาวดัตช์ 2 คนที่อายุยังไม่ถึง 30 ปี ทั้งคู่ขาดการติดต่อกับทางบ้านมานานกว่าปกติ ทั้งที่ปกติไม่เคยห่างหายจากการติดต่อกับครอบครัวยาวนานเกิน 2 สัปดาห์  ครอบครัวของทั้งคู่มีข้อมูลเพียงว่าทั้งสองคนเดินทางท่องเที่ยวตามเส้นทางของบุปผาชน และจุดสุดท้ายที่ทั้งคู่ติดต่อกับครอบครัวคือประเทศไทย  แวบแรกที่คนิปเปนเบิร์กเห็นจดหมายดังกล่าว เขาเองคิดว่า “มันมีอะไรแปลก ๆ แล้วละ” เขาจึงเสนอเรื่องนี้แก่สถานทูตให้ดำเนินการตามหานักท่องเที่ยวที่สูญหาย แต่กลับถูกสถานทูตปฏิเสธ และบอกให้เขาติดต่อขอความช่วยเหลือกับเจ้าหน้าที่ไทยแทน ทว่าเมื่อคนิปเปนเบิร์กเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขากลับได้รับการปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐในเวลานั้นมีภารกิจต้องกวาดล้างผู้ที่ถูกชักจูงโดยความคิดคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือเป็นภัยความมั่นคงลำดับสำคัญที่สุดของรัฐบาลไทย ณ เวลานั้น คนิปเปนเบิร์กเคยให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ว่า “พวกเขา (ตำรวจ) ดูไม่ใส่ใจ...แต่พวกเขา (ผู้สูญหาย) เป็นพลเมืองดัตช์ ผู้ปกครองของพวกเขามีสิทธิ์เต็มที่ที่จะคิดว่าพวกเรา (สถานทูต) สามารถช่วยเหลือได้ ผมเคยท่องเที่ยวสมัยช่วงอายุ 20 และคนอย่างพวกเขาไม่ควรจะติดต่อไม่ได้...เมื่อผมเริ่มสืบมากขึ้น ผมรู้อะไรมากขึ้น (การไม่ให้ความสนใจในคดีเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวที่อาจเกี่ยวพันกับการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐ) สถานทูตบอกว่าให้ผมหยุดสิ่งที่ผมทำ แต่ผมไม่ยอมแพ้แม้จะรู้ว่ามันทำให้อาชีพการงานผมอยู่ในอันตราย...” สุดท้ายจากการช่วยเหลือของภรรยาและเพื่อนนักการทูตเบลเยียม คนิปเปนเบิร์กใช้หลักฐานทางทันตกรรมจากหมอฟันชาวเบลเยียมที่ทั้งคู่เคยใช้บริการจนพบกับศพไร้ญาติ 2 ศพที่อยุธยา สภาพศพถูกเผาจนแทบไม่เหลือหลักฐานในการชี้ตัวอัตลักษณ์บุคคล แต่สิ่งที่ทำให้คนิปเปนเบิร์กตกใจมากที่สุดคือ จากเขม่าในปอดที่พบศพของทั้งคู่ชี้ให้เห็นว่าตอนที่พวกเขาโดนไฟเผา พวกเขายังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้จากการสืบสวนของเขา มันชี้ให้เห็นว่ามีนักท่องเที่ยวสูญหายอีก 6 กรณี และทุกกรณีมีความเชื่อมโยงกับพ่อค้าอัญมณีชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า อแลง กอติแยร์ (Alain Gautier)  เรื่องราวจะจบลงง่ายกว่านี้ถ้ากอติแยร์เป็นบุคคลที่มีอยู่จริง เพราะปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ก็คือผู้ที่ใช้ชื่อว่าอแลง กอติแยร์นั้น ในความเป็นจริงเขาเป็นนักต้มตุ๋น อาชญากรข้ามชาติ และฆาตกรต่อเนื่องที่ชื่อว่า ชาร์ลส โสภราช (Charles Sobhraj)   กำเนิดอสรพิษ โสภราชเกิดในวันที่ 6 เมษายน 1944 ปีเดียวกับปีเกิดของคนิปเปนเบิร์กผู้ไล่ล่าเขา แต่ในขณะที่คนิปเปนเบิร์กเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลาง และได้รับการศึกษาที่ดี โสภราชถือกำเนิดที่เมืองไซ่ง่อน ในเวียดนามใต้ (ปัจจุบันคือโฮจิมินห์ ซิตี้) พ่อของเขาเป็นช่างตัดเสื้อและคนปล่อยเงินกู้ชาวอินเดีย ส่วนแม่ของเขาเป็นสาวบาร์ชาวเวียดนาม หลังเขาเกิดไม่นานนัก พ่อกับแม่ของเขาหย่าร้างกัน แม่ของโสภราชแต่งงานใหม่กับทหารฝรั่งเศสผู้ซึ่งมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคน  หลังจากย้ายครอบครัวมาสู่เมืองมาร์กเซย ประเทศฝรั่งเศส ชีวิตในโรงเรียนของเขาก็ไม่มีความสุข เนื่องจากการถูกทุบตีและเหยียดชาติพันธุ์ ในวัยเด็ก โสภราชและน้องชายของเขาก่ออาชญากรรมลักเล็กขโมยน้อยอยู่เนือง ๆ จนในวัย 19 ปี โสภราชก็เริ่มก่ออาชญากรรมจนถูกคุมขัง หลังจากถูกพักโทษ โสภราชเลี้ยงตัวเองด้วยการต้มตุ๋น เหยื่อของโสภราชคือคนร่ำรวยที่หลงใหลในหน้าตา ท่าทางที่สะอาดสะอ้านและวิธีการพูดจาทรงภูมิแบบชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศสของเขา โสภราชพบรักกับภรรยาคนแรกของเขาผู้ซึ่งมีลูกสาวกับเขาหนึ่งคน และภรรยาคนแรกนี้เองที่ร่วมเดินทางกับโสภราชไปทั่วยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง โดยยังชีพด้วยการปล้น ย่องเบา ค้ายาเสพติด การพนัน และต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว  วิธีการของโสภราชคือการผูกมิตรกับนักท่องเที่ยวตามเส้นทางของบุปผาชน เมื่อตีสนิทได้แล้วก็จะเริ่มมอมยา ขโมย หรือปล้นทรัพย์สิน และใช้หนังสือเดินทางของเหยื่อมาปลอมแปลงเพื่อเดินทางหลบหนี ในปี ค.ศ. 1972 โสภราชต้องสงสัยว่าก่อเหตุฆาตกรรมครั้งแรกที่ปากีสถาน ช่วงปี ค.ศ. 1973 - 1975 โสภราชมีหนังสือเดินทางที่เขาปลอมแปลงขึ้นมาถึง 10 เล่ม ช่วงปีนี้เขาชักชวนน้องชายของเขาออกก่ออาชญากรรมที่ตุรกี แต่ก็ถูกจับกุมในที่สุด โสภราชทิ้งน้องชายของเขาให้รับโทษถึง 18 ปี ในขณะที่ตัวเขาหลบหนีมาที่อินเดีย ที่อินเดียนี้เอง โสภราชพบรักกับ มารี-อองแดร เลอแคลก์ (Marie-Andrée Leclerc) ทักท่องเที่ยวสาวชาวแคนาดา คนที่เขาชักชวนให้มาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ เวลานั้นเองโสภราชจ้างนักเลงชาวอินเดียชื่อ อาเจย์ เชาว์ธุลี (Ajay Chowdhury) เป็นลูกมือ ทั้ง 3 คนร่วมกันต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว โดยมีทีมงานหลักคือ โสภราช ที่ฉากหน้าอ้างว่าเป็นอแลง พ่อค้าอัญมณี และเจ้าของอะพาร์ตเมนต์ (เช่าอะพาร์ตเมนต์แต่อ้างว่าเป็นเจ้าของ) สำหรับชาวบุปผาชนในแถบศาลาแดง กรุงเทพฯ ส่วน เลอแคลก์ ใช้ชื่อ โมนีก (Monique) ภรรยาของโสภราช (แต่ฉากหน้าแจ้งว่าเป็นเลขาฯ ของอแลง) และเชาว์ธุลีในฐานะบอดี้การ์ดคนสนิท  โสภราชพยายามใช้อะพาร์ตเมนต์ของเขาเป็นแหล่งรวมของชาวบุปผาชน และสร้างกลุ่มอาชญากรรมขึ้นมาตามแบบของชาร์ล แมนสัน ผู้นำสุดคลั่งและทรงเสน่ห์ของเหล่าบุปผาชนหัวรุนแรง มีรายงานว่าโสภราชใช้ความรู้ด้านอัญมณีที่เขาได้รับมาตั้งแต่สมัยก่ออาชญากรรมที่ยุโรปตะวันออก แสดงตนว่าเป็นชนชั้นกลาง ที่มาจากชาวบุปผาชนที่ประสบความสำเร็จในการเดินทางมาแสวงโชคที่เอเชีย เขาชักชวนนักท่องเที่ยวให้เข้าพักในอะพาร์ตเมนต์ของเขาในฐานะที่พักสำหรับเพื่อนชาวบุปผาชนที่กำลังเดินทางแสวงหาความหมายของชีวิตอยู่บนเส้นทางของชาวบุปผาชน  โสภราชไม่ได้เลือกว่าเหยื่อคนใดจะเข้าพักที่อะพาร์ตเมนต์ของเขา แต่เมื่อเหยื่อเข้าพัก และโสภราชพบว่าเหยื่อคนใดที่มีทรัพย์สินมาก เขาจะวางยา ลักทรัพย์ ยึดหนังสือเดินทางของเหยื่อ จากนั้นก็กระทำการฆาตกรรม แล้วนำศพไปทิ้ง หรือเผาทำลายที่พัทยา ซึ่งในเวลาต่อมาโสภราชยอมรับว่าเหยื่อที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องที่เสียชีวิตมีจำนวน 6 ราย โดยโสภราชอ้างว่าทั้งหมดไม่ใช่การฆาตกรรม แต่เป็นการใช้ยาเสพติดเกินขนาด แต่ในกรณีเหล่านี้ คนิปเปนเบิร์กบันทึกไว้ว่าน่าจะเป็นเพราะเหยื่อเหล่านี้ล่วงรู้ความลับของโสภราชมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องการค้ายาเสพติดให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งนี้ในช่วงปีเดียวกัน โสภราชและพวกยังก่อเหตุฆาตกรรมอีก 4 คดีที่ประเทศเนปาลและอินเดีย ซึ่งทุกคดีมีรูปการเป็นการวางยา ฆาตกรรม และซ่อนหรือเผาทำลายศพ จากนั้นก็ชิงทรัพย์และหนังสือเดินทางของเหยื่อเหมือนกันทุกคดี จนในที่สุด โสภราชยอมรับในภายหลังว่าเขามีส่วนในการตายของนักท่องเที่ยวถึง 10 ราย ในช่วง ค.ศ. 1975 ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจากการประเมินภายหลัง โสภราชอาจมีส่วนในการตายของนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่าที่เขายอมรับอย่างน้อย 1 เท่า   บิกินีลายดอกไม้กับการไล่ล่าอสรพิษ ในระหว่างที่โสภราชและพวกก่ออาชญากรรมที่เนปาลนี้เอง คนิปเปนเบิร์กได้เริ่มดำเนินการสืบสวนการหายตัวไปของคู่รักนักท่องเที่ยว และเขาได้พบความเชื่อมโยงระหว่างการหายไปของเหยื่อกับพ่อค้าอัญมณีที่ชื่อ กอติแยร์ เขาพบหลักฐานเชื่อมโยงว่ากอติแยร์น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนักท่องเที่ยวสาวชาวอเมริกันที่ถูกพบว่าจมน้ำเสียชีวิตในชุดบิกินีลายดอกไม้ที่อ่าวไทย  มีชายคนหนึ่งซึ่งใช้หนังสือเดินทางอิสราเอล (ซึ่งก็คือตัวโสภราชที่เดินทางด้วยการปลอมแปลงหนังสือเดินทางของเหยื่อคนหนึ่งของเขาที่มีสัญชาติอิสราเอล) ถูกตำรวจเรียกสอบสวนว่ามีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์ดังกล่าว ทว่าการสืบสวนเป็นไปอย่างไม่จริงจัง ตำรวจมีทีท่าขำขันกับเรื่องราวของนักท่องเที่ยวสาวในชุดนุ่งน้อยห่มน้อยที่ดื่มหนักจนจมน้ำเสียชีวิต ในการสืบสวนดังกล่าวยังมีการติดต่อจากตำรวจฝรั่งเศสขอไกล่เกลี่ยกับตำรวจไทย ในเวลาต่อมามีหลักฐานว่าตำรวจฝรั่งเศสทั้งสองคนรู้จักกันดีกับโสภราช และเคยได้รับการช่วยเหลือปลอมแปลงหนังสือเดินทางให้เพราะทำหนังสือเดินทางหาย ทั้งที่ในความเป็นจริง เป็นโสภราชนั้นเองที่วางยาและขโมยหนังสือเดินทางนั้นไป ที่สำคัญคือคนิปเปนเบิร์กเชื่อว่ายังมีการปกปิดผลการสืบสวนเนื่องจากรัฐบาลไทยกลัวว่าหากการเสียชีวิตเป็นการฆาตกรรมแล้วจะกระทบภาพลักษณ์การท่องเที่ยว  ช่วงเวลา 1 เดือน คนิปเปนเบิร์กสืบจนพบความเชื่อมโยงระหว่างผู้ต้องสงสัยชาวอิสราเอลในคดีบิกินีลายดอกไม้ที่พัทยา กับหญิงที่ใช้ชื่อว่าโมนีกและพ่อค้าอัญมณีที่ใช้ชื่อว่ากอติแยร์ และกับอะพาร์ตเมนต์บุปผาชนที่ศาลาแดงที่ถูกเช่าโดยชายฝรั่งเศสเชื้อสายอินเดียที่ชื่อว่าโสภราช ซึ่งเป็นที่พักสุดท้ายของคู่รักนักท่องเที่ยวชาวดัตช์ที่หายสาบสูญไปจนพบเป็นศพที่พัทยา ด้วยความช่วยเหลือจากนักการทูตชาวเบลเยียม คนิปเปนเบิร์กได้รู้จักกับครอบครัวฌิแรส (Gires) เพื่อนบ้านชาวฝรั่งเศสของโสภราช และได้ทราบเรื่องที่พวกเขากำลังให้ความช่วยเหลือชายหนุ่มชาวฝรั่งเศสถึง 3 คน ที่อ้างว่าถูกโสภราชล่อลวง จากการช่วยเหลือครั้งนั้นทำให้ครอบครัวฌิแรสทราบเรื่องราวการใช้ยาเสพติด การก่ออาชญากรรม และการฆาตกรรมของโสภราชและพวก คนิปเปนเบิร์กแจ้งความจนนำมาสู่การพยายามจับกุมโสภราชและพวก โดยได้รับหมายอนุญาตการเข้าค้นอะพาร์ตเมนต์ของโสภราชจนพบหลักฐานเอกสาร และหนังสือเดินทางที่เชื่อมโยงกับนักท่องเที่ยวที่หายสาบสูญมากมาย และที่สำคัญคือยาเสพติดและยาพิษที่โสภราชใช้ก่อการฆาตกรรมจำนวนมากถึง 5 กิโลกรัม   หลบหนีและสิ้นเสรีภาพ? โสภราช เลอแคลก์ และเชาว์ธุลี หลบหนีการจับกุมสู่ประเทศมาเลเซีย แต่หลังจากนั้นมีเพียง 2 คน คือโสภราชและเลอแคลก์ที่เดินทางสู่ปารีสและประเทศอินเดียในที่สุด ไม่มีใครได้พบเชาว์ธุลีมือขวา ผู้สมรู้ร่วมคิด และพยานคนสำคัญในคดีของโสภราชในช่วง ค.ศ. 1975 - 1976 อีกเลย มีข้อสันนิษฐานว่าเชาว์ธุลีน่าจะเป็นเหยื่ออีกคนหนึ่งของโสภราชที่เขาต้องการกำจัดพยานรู้เห็นสำคัญในคดีอาชญากรรมของเขา  ข่าวฆาตกรรมต่อเนื่องของโสภราชเริ่มกลายเป็นที่สนใจช่วง ค.ศ. 1976 องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) ที่ติดตามตัวกอติแยร์ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล้นอัญมณี เริ่มเข้ามาสนใจคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย สถานทูตต่าง ๆ เริ่มถูกตั้งคำถามต่อการดูแลพลเมืองสัญชาติของตนในประเทศไทย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากความมั่นใจของนักท่องเที่ยวจากข้อครหาต่าง ๆ ที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของไทย ค.ศ. 1976 ที่อินเดีย โสภราชยังคงก่ออาชญากรรม ต้มตุ๋นและฆาตกรรม โดยมีเลอแคลก์เป็นผู้สมรู้ร่วมคิด พร้อมกันนั้นเขาได้สร้างทีมอาชญากรใหม่จากนักท่องเที่ยวสาว 2 คนที่หลงคารม และเสน่ห์ของเขา แต่กลุ่มอาชญากรรมใหม่นี้ก็มีอายุไม่นานนัก ไม่กี่เดือนต่อมาโสภราชและพวกถูกจับที่กรุงเดลฮี และถูกตัดสินจำคุก 12 ปีจากคดีฆาตกรรม 2 คดีที่อินเดีย ในระหว่างถูกคุมขัง โสภราชติดสินบนเจ้าพนักงานจนเขาสามารถที่จะมีโทรทัศน์ มีอาหารที่ดี มีบอดี้การ์ดจากบรรดานักโทษร่วมเรือนจำ เขามีอภิสิทธิ์ในการสู้คดีความ เรียกนักข่าวมาทำข่าวจนทำให้คดีของเขาเป็นที่สนใจ ด้านคนิปเปนเบิร์ก ด้วยความเครียดในการสืบสวน และความหวาดกลัวว่าจะถูกโสภราชและพวกแก้แค้น และการกดดันจากสถานทูตและรัฐบาลไทย คนิปเปนเบิร์กเกิดอาการหวาดระแวง เขาเริ่มพกปืน เริ่มไม่พบปะสุงสิงผู้คน ความสัมพันธ์กับภรรยาก็แย่ลงเรื่อย ๆ ค.ศ. 1977 เขาเดินทางออกจากประเทศไทย ไม่กี่ปีต่อมาเขาหย่ากับภรรยา และดำเนินชีวิตในฐานะนักการทูตอย่างเงียบ ๆ ค.ศ. 1983 เลอแคลก์ป่วยด้วยโรคมะเร็งรังไข่ เธอได้รับอนุญาตให้พักโทษและเดินทางกลับแคนาดา และเสียชีวิตลงในปีต่อมาด้วยวัย 38 ปี ก่อนเสียชีวิตเธอยืนยันว่าเธอไม่เคยเห็นด้วยกับการกระทำของโสภราช แม้เธอเชื่อว่าโสภราชรักเธอมากพอ แต่ก็ด้วยความต้องการมีชีวิตรอดประกอบกัน เธอจึงยอมตกเป็นเหยื่อให้โสภราชควบคุม เป็นนกต่อให้กับการก่ออาชญากรรมของเขา   อสรพิษผู้ไม่เคยได้รับโทษในประเทศไทย 3 ปีต่อมา ใน ค.ศ. 1986 เมื่อโสภราชจำคุกได้ 10 ปี เขารู้ว่าเมื่อพ้นโทษเขาย่อมต้องถูกส่งตัวกลับไปรับโทษประหารชีวิตที่ประเทศไทย เพื่อให้พ้นอายุความในคดีฆาตกรรม โสภราชลงทุนติดสินบนจัดงานเลี้ยงในเรือนจำ และจัดหายาเสพติดเพื่อวางยาเพื่อนนักโทษ และหลบหนีออกจากเรือนจำ ในเวลานั้นคนิปเปนเบิร์กกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา เขาได้รับคำเตือนว่าให้ดูแลตนเองดี ๆ เพราะโสภราชอาจมาแก้แค้นเขาก็เป็นได้  คนิปเปนเบิร์กที่เริ่มควบคุมตนเองได้จึงไม่ได้ตื่นตระหนกกับการหลบหนีของโสภราชมากนัก เขาเชื่อว่าโสภราชฉลาดพอที่จะไม่ยุ่งกับเขา ซึ่งก็เป็นจริง เพราะราวครึ่งเดือนต่อมา โสภราชโดนจับในขณะนั่งจิบเบียร์ฉลองวันเกิดในวัย 42 ปีของเขาที่รีสอร์ตในเมืองกัว ประเทศอินเดีย และเขาได้รับโทษจำคุกจากเดิม 12 ปี เพิ่มขึ้นมาอีกเป็น 22 ปีในเรือนจำที่อินเดีย ซึ่งก็มากพอที่จะทำให้อายุความคดีฆาตกรรมในประเทศไทยของเขาหมดลง   บั้นปลายที่ยังมาไม่ถึง โสภราชพ้นโทษใน ค.ศ. 1997 เขาเดินทางกลับสู่ฝรั่งเศส เขาจ้างตัวแทน และเปลี่ยนตนเองในวัย 52 ปี ให้กลายเป็นบุคคลที่น่าสนใจ เขาขายเรื่องราวของตนจนมีสำนักพิมพ์ที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของสหรัฐอเมริกาได้ลิขสิทธิ์ตีพิมพ์เรื่องราวของเขา และรวมถึงเขายังได้รับค่าลิขสิทธิ์เรื่องราวที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นซีรีส์ของ BBC แต่ในปี 2003 โสภราชที่เดินทางเข้ามาทำธุรกิจโรงงานน้ำแร่ และเล่นการพนันที่เนปาลถูกจับเนื่องจากคดีฆาตกรรมที่เนปาลของเขาไม่หมดอายุความ โดยทั้งนี้ตำรวจเนปาลสั่งฟ้องเขาทันทีโดยยึดเอาหลักฐานเมื่อ ค.ศ. 1976 ของคนิปเปนเบิร์ก และองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศในการเอาผิดเขา ค.ศ. 2008 โสภราชกลับมามีชื่อในหน้าสื่ออีกครั้งเมื่อเขาประกาศว่าได้หมั้นกับหญิงสาวชาวเนปาลวัย 20 ปี และวางแผนจะแต่งงานหลังจากเขาพ้นโทษ ต่อมาใน ค.ศ. 2018 มีข่าวว่าโสภราชต้องเข้ารับการผ่าตัดจากอาการโรคหัวใจหลายครั้ง แต่ในปัจจุบันในวัยเกือบ 80 ปี ชาร์ลส โสภราชยังใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำที่ประเทศเนปาล เขายังคงพร่ำบอกว่าตนเองนั้นไร้ความผิดใด ๆ และในปัจจุบันเช่นกัน เฮอร์แมน คนิปเปนเบิร์กในวัยเดียวกันกับโสภราช หลังจากเดินทางทำหน้าที่นักการทูตในหลายประเทศ เขาใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสงบที่ประเทศนิวซีแลนด์ และเป็นที่ปรึกษาให้กับการสร้างซีรีส์เรื่อง นักฆ่าอสรพิษ (The Serpent) ที่ทำให้เขามีโอกาสเปิดตัวเองสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก คนิปเปนเบิร์กกล่าวว่า “ผมอยากใช้โอกาสนี้เตือนเหล่านักเดินทาง พวกเขาต้องระมัดระวัง เพราะในสรวงสวรรค์มันจะต้องมีอสรพิษเลื้อยอยู่สักที่... ผมมองเห็นความอยุติธรรม (ในตอนนั้น) ผมถูกทำให้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตไปโดยไม่มีใครใส่ใจ ซึ่งแบบนั้น (การที่เหยื่อไม่ได้รับการเหลียวแลและความเป็นธรรม) มันก็เหมือนว่าประชาธิปไตยมันได้ล้มเหลวลงแล้วโดยสิ้นเชิง” สำหรับคนิปเปนเบิร์กนั้น เขายืนยันว่าไม่ได้มีความอาฆาตแค้นต่อโสภราช การที่เขาทุ่มเทชีวิตให้กับการตามหาความยุติธรรมให้แก่เหยื่อของโสภราช ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเขาไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดคนที่ฉลาดหลักแหลมอย่างโสภราชจึงใช้พรสวรรค์ไปในแนวทางของฆาตกร และการตามหาความยุติธรรมนั้นจะจบลงก็ต่อเมื่อ “สำหรับผมมันจะจบลงก็ต่อเมื่อเขาได้ไปสู่โลกที่ดีกว่านี้ หรือไม่ก็เป็นผมที่ได้ไปสู่โลกที่ดีกว่านี้ ก็มาพิสูจน์กันดู”   อ้างอิง ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2558). กำเนิด ‘ประเทศไทย’ ภายใต้เผด็จการ. มติชน. BBC News. (2014, 18 Sep). Nepal court convicts ‘Bikini killer’ Charles Sobhraj of second murder. Retrieved https://www.bbc.com/news/world-asia-29261120. Blair, E. (2011, 11 Jul). History of Marijuana Use and Anti-Marijuana Laws in Thailand. Retrieved http://thailawforum.com/history-of-marijuana-cannabis-thailand-2.html. Crutchley, R. (2019, 8 Sep). The golden age of the ‘Hippie Trail’. Retrieved https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/1745344/the-golden-age-of-the-hippie-trail Gribben, M. (n.d.) Charles Sobhraj. Retrieved  https://web.archive.org/web/20140224131111/http://www.crimelibrary.com/notorious_murders/famous/charles_sobraj/1.html. Headline Editor. (2018, 30 Aug). How Thailand Became a Tourist Hotspot during the 60’s. Retrieved https://www.thailand-business-news.com/video/70078-how-thailand-became-a-tourist-hotspot-during-the-60s.html HistoryvsHollywood.com. (2021). THE SERPENT (2021). Retrieved https://www.historyvshollywood.com/reelfaces/the-serpent/. HistroryExtra Editor. (2021, 11 Jan). The hippy trail: a pan-Asian journey through history. Retrieved  https://www.historyextra.com/period/20th-century/what-is-hippy-trail-asia/ Hollingsworth, J. and Renton, A. (2021, 15 Mar). From diplomat to detective, this man helped bring Asia’s notorious ‘Serpent’ killer to justice. Retrieved https://edition.cnn.com/2021/03/13/asia/serpent-bikini-killer-sobhraj-intl-hnk-dst/index.html. Mitchell, M. (2021, 24 Mar). The Serpent: Did Charles Sobhraj neighbours really help to try catch him?. Retrieved https://www.express.co.uk/showbiz/tv-radio/1414072/The-Serpent-did-Charles-Sobhraj-neighbours-help-Nadine-Gires-Remi. Morrissey, S. (2016, 10 Jan). Tourism in Thailand. Retrieved  http://peopleshistoryarchive.org/exhibit/tourism-thailand Murderpedia. (n.d.). Charles SOBHRAJ. Retrieved https://murderpedia.org/male.S/s/sobhraj-charles.htm. Nath, S. (2017, 23 Jun). ‘Bikini Killer’ Charles Sobhraj Critical in Hospital, Says Mother-in-Law. Retrieved https://www.news18.com/news/india/bikini-killer-charles-sobhraj-critical-in-hospital-says-mother-in-law-1441407.html. Saksena, A. (2021, 2 Feb). 12 Things You Didn’t Know About The Infamous Charles Sobhraj. Retrieved https://www.indiatimes.com/culture/who-we-are/12-things-you-didnt-know-about-the-infamous-charles-sobhraj-233025.html. Serial killer documentary Charles Sobhraj The bikini killer - The Best Documentary Ever. Retrieved  https://www.youtube.com/watch?v=Fq27o7tg5cw. Sippell,  M. (2021, 5 Apr). Here’s What the Real Herman Knippenberg Thinks of The Serpent. Retrieved https://www.moviemaker.com/herman-knippenberg-billy-howle-the-serpent/. St. Clair, J. (2021, 3 Apr). Where Is Herman Knippenberg, the Dutch Diplomat in Netflix’s The Serpent, Now?. Retrieved https://www.menshealth.com/entertainment/a35992345/herman-knippenberg-now-the-serpent-true-story/. Tomberlin, J. (2021, 5 Apr). The Serpent True Story: What Happened To Every Character After The Show. Retrieved https://screenrant.com/serpent-true-story-victims-killer-happened-next/. Trivedi, D. (2021, 1 Apr). Who Were Charles Sobhraj’s Victims?. Retrieved https://thecinemaholic.com/who-were-charles-sobhrajs-victims/. Where Is The Serpent’s Herman Knippenberg Now? He Shares His Charles Sobhraj Story | Loose Women. Retrieved https://www.youtube.com/watch?v=-opF24gCRis&t=81s.   เรื่อง: พิสิษฐิกุล แก้วงาม