The Shawshank Redemption จากที่ไม่ถูกเหลียวแลทั้งเงินและกล่อง กลายเป็นหนังยอดเยี่ยมตลอดกาล

The Shawshank Redemption จากที่ไม่ถูกเหลียวแลทั้งเงินและกล่อง กลายเป็นหนังยอดเยี่ยมตลอดกาล
ในปี 1994 ถือเป็นปีหนึ่งของยุคทองฮอลลีวูด เมื่อมีหนังมากมายกลายเป็นหนังอมตะยิ่งใหญ่และเป็นหมุดหมายสำคัญของยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น Forrest Gump / Pulp Fiction / The Lion King หรือแม้กระทั่ง Quiz Show ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนแต่ขับเคี่ยวช่วงชิงความเป็นหนึ่งบนเวทีประกาศรางวัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเวทีออสการ์หรือตารางหนังทำเงินบ็อกซ์ออฟฟิศ หากแต่ยังมีเรื่องหนึ่งที่แม้จะเข้าร่วมชิงชัย แต่สุดท้ายก็เป็นได้เพียงไม้ประดับเมื่อในค่ำคืนประกาศรางวัล หนังเรื่องนี้กลับบ้านมือเปล่า ซ้ำร้ายมันกลับกลายเป็นความล้มเหลวบนตารางหนังทำเงินอีกด้วย แต่เมื่อกาลเวลาพ้นผ่าน ทำไมหนังที่ไม่ได้สักรางวัลบนเวทีออสการ์ แถมยังทำเงินเข้าขั้นขาดทุนถึงกลายเป็นหนังยอดเยี่ยมยืนหนึ่งตลอดกาลบนหน้าเว็บไซต์ IMDb และเป็นความน่าตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อหนังเรื่องนี้กลับเข้ามาฉายบนสตรีมมิง เรามาร่วมย้อนความหลังถึงหนังที่ชะตากรรมไม่ต่างจากตัวเอกที่เฝ้ารอกาลเวลาพิสูจน์เนื้อแท้ และพร้อมประกาศอิสรภาพแห่งความยอดเยี่ยมที่เวลาได้บ่มเพาะจนกลายเป็นที่สุดแห่งหนังที่ไร้กาลเวลา   ...The Shawshank Redemption “นกบางตัว ไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่ในกรง ขนของมันเจิดจรัสจนเกินไป”  คำกล่าวในหนังแทบจะซ้อนทับกัน ไม่ต่างกับชะตากรรมของทั้งตัวเอกของเรื่อง และการเดินทางของหนังเอง เรื่องราวของ แอนดี้ ดูเฟรนส์ หนุ่มแบงก์ผู้ถูกปรักปรำว่าฆ่าภรรยาและชู้รัก เขาถูกจองจำที่ทัณฑสถานชอว์แชงค์ตลอดชีวิต แม้จะพยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงความบริสุทธิ์ แต่เขาก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากเจ้าหน้าที่ โชคยังดีที่ภายในเรือนจำนี้เขาได้รู้จักกับ เอลลิส ‘เร้ด’ เรดดิ้ง นักโทษแอฟริกันอเมริกันที่หาทุกอย่างให้เขาได้ตามที่ใจต้องการ ทำให้เขาได้เรียนรู้กับคำว่ามิตรภาพที่ยิ่งใหญ่ และทำให้เขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ แม้จะยากเย็นและทารุณกับเขาเท่าไรก็ตาม  หนังสร้างขึ้นจากนวนิยายขนาดสั้นที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1982 ชื่อว่า Rita Hayworth and Shawshank Redemption ของสตีเฟ่น คิง ราชาหนังสยองขวัญชื่อก้อง ซึ่งคิงได้พยายามหาแนวทางใหม่ของการเขียนนวนิยายให้แตกต่างจากผลงานที่ผ่าน ๆ มา จนกลายเป็นคอลเลกชันที่ชื่อ Different Seasons ซึ่งเปรียบได้ดั่งตัวแทนของ 4 ฤดูที่แตกต่าง ซึ่ง Rita Hayworth and Shawshank Redemption เป็นตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิ (หนึ่งในนั้นอีกเรื่องที่ประทับใจไม่ต่างกันนั่นก็คือ The Body ที่กลายมาเป็น Stand by Me ในช่วงเวลาต่อมา) ความสนใจในความทรงจำในอดีต ก่อร่างสร้างเป็นเรื่องราวชวนประทับใจ โดยเล่าถึงมิตรภาพในเรือนจำปลายยุค 40s-50s เรื่องราวหลากหลายของนักโทษ การต่อสู้กับผู้คุมสุดโฉด โดยมีโปสเตอร์ของนักแสดงสาวในยุคนั้นอย่าง ริต้า เฮย์เวิร์ธ เป็นกุญแจสำคัญให้กับนวนิยายเล่มนั้น ตัวนวนิยายได้รับการกล่าวถึงในแง่ของการจำลองบรรยากาศในอดีตได้อย่างทรงพลัง รวมไปถึงความเฉียบคมของภาษาดุจกวี นับเป็นการแสดงศักยภาพอันแตกต่างจากผลงานเรื่องก่อน ๆ ที่เน้นความสยองขวัญมาจับงานเขียนอันแสนละมุนได้อย่างงดงาม  และหนึ่งในผู้ที่หลงไหลในนวนิยายเรื่องนี้ก็คือ แฟรงค์ ดาราบอนต์ ผู้กำกับ The Shawshank Redemption ในเวลาต่อมานั่นเอง    มิตรภาพมูลค่า 1 เหรียญ และเช็คที่ไม่เคยขึ้นเงิน สตีเฟ่น คิง ในช่วงเวลาที่เขาเริ่มโด่งดังในฐานะนักเขียนระดับเบสต์เซลเลอร์ เขาตระหนักได้ว่าชื่อเสียงในตอนนั้น สิ่งสำคัญคือการได้รับการยอมรับนับถือเมื่อบทประพันธ์กลายร่างเป็นภาพยนตร์ คิงจึงอยากต่อยอดและคืนกำไรกลับคืนวงการบ้าง เขาจึงตั้งโครงการที่ชื่อ Dollar Baby เพื่อสานฝันและเปิดโอกาสให้เหล่านักทำหนังสมัครเล่นได้หยิบยกนำงานเขียนของเขาเอาไปทำเป็นหนังสั้นในเชิงศิลปะและไม่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยมีข้อตกลงที่การให้ค่าบทประพันธ์ไปใช้ในราคาเพียง 1 เหรียญเท่านั้น ดาราบอนต์ เด็กหนุ่มในวัย 20 ปี ที่เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยของฝรั่งเศสสำหรับชาวฮังกาเรียนที่หนีการปฏิวัติในปี 1956 และเติบโตอย่างแร้นแค้นในลอสแอนเจลิส แม้จะยากจนข้นแค้น แต่หนังก็ช่วยเยียวยาชีวิตของเขาจนอยากเข้ามาอยู่ในวงการ โดยช่วงที่ดาราบอนต์ยังเป็นนักเรียนหนัง เขาเป็นหนึ่งในนั้นที่ได้เขียนจดหมายเพื่อขอบทประพันธ์ของคิงเรื่อง The Woman in The Room เพื่อนำไปทำเป็นหนังสั้นเมื่อปี 1983 การพบกันในครั้งแรกของดาราบอนต์สร้างความประทับใจให้กับคิงอย่างมาก ในความกระตือรือร้น ความตั้งใจ และความทะเยอทะยานในการสร้างผลงาน จนสุดท้ายหนังสั้น The Woman in The Room ก็เป็นเรซูเม่ชั้นดีในการเข้าไปสมัครงานของดาราบอนต์ เขาได้ทำงานฮอลลีวูดยุคนั้นในฐานะคนเขียนบท  ดาราบอนต์มีความประทับใจในนวนิยาย Rita Hayworth and Shawshank Redemption เป็นพิเศษ เขาใฝ่ฝันว่าสักวันมันจะถูกแปรรูปจากนวนิยายมาเป็นหนัง แต่คิงกลับไม่เห็นวี่แววว่านวนิยายเล่มนี้จะทำเป็นหนังได้สักนิด มันอาจจะเป็นได้แค่หนังสารคดีทุนต่ำเรื่องหนึ่ง แต่มันไม่ใช่หนังที่สามารถทำเงินทำทองได้เลย แต่ดาราบอนต์ไม่คิดเช่นนั้น เขายืนกรานว่าจะทำหนังเรื่องนี้ให้กลายเป็นหนังที่ดีให้จงได้ เพราะเชื่อใจในความมุ่งมั่นจากครั้งก่อนตอนทำหนังสั้นของดาราบอนต์ คิงจึงยอมขายให้ในราคาแสนถูกเพียง 5,000 เหรียญ เพราะคิดว่าอย่างน้อยที่สุดดาราบอนต์ไม่น่าจะทำให้เขาผิดหวัง แม้จะได้รับไฟเขียวจากผู้ประพันธ์ก็ตาม แต่ดาราบอนต์ก็ใช้เวลาขลุกอยู่กับมันนานถึง 5 ปีในการปั้นเรื่องราวจากนวนิยายความยาว 96 หน้าให้กลายเป็นหนัง แต่ดาราบอนต์ก็ไม่ย่อท้อ ระหว่างที่เขาพัฒนาโปรเจกต์ในฝันของเขา เขาใช้เวลาอันแสนเนิ่นนานนี้หางานทำในฮอลลีวูด จนกระทั่งได้เริ่มเขียนบทในหนังสยองขวัญอย่าง หนังรีเมคเรื่อง The Blob (1983), The Fly II (1989) และงานที่สร้างชื่ออย่างภาคต่อของหนังตระกูลเฟรดดี้ ครูเกอร์ A Nightmare on Elm Street 3: Dream Warriors (1987) โชคเข้าข้าง เมื่อเขาได้บริษัททำหนังมืออาชีพอย่าง Castle Rock มาร่วมทำฝันให้เป็นรูปเป็นร่าง แต่เพราะความที่ดาราบอนต์ยังเป็นมือใหม่ Castle Rock จึงหวังดี ยื่นข้อเสนอไปว่ามีผู้กำกับในสังกัดสนใจโปรเจกต์นี้ นั่นก็คือ ร็อบ ไรเนอร์ ผู้เคยดัดแปลงงานของคิงเรื่อง The Body จนกลายมาเป็น Stand by Me ได้ยื่นข้อเสนอมูลค่า 3 ล้านเหรียญให้กับดาราบอนต์เพื่อที่จะทำหนังเรื่องนี้เอง  แม้แรงกดดันมากมายจะทำให้เขาท้อ แต่ดาราบอนต์ก็ยังคงยืนกรานว่าเขาจะทำหนังเรื่องนี้ด้วยตัวของเขาเอง “คุณสามารถมองข้ามความฝันเพื่อแลกกับเงินจำนวนมหาศาล แต่มันจะคุ้มไหมถ้าวันหนึ่งคุณตายไปโดยไม่ได้ทำมัน” ดาราบอนต์ย้อนกลับไปในช่วงเวลาแห่งความกดดันครั้งนั้น เขาไม่เคยกำกับหนังเลย มีเพียงสิ่งเดียวที่เขาถืออยู่ในมือก็คือบทหนังอันยอดเยี่ยมในมือเล่มนั้น แต่ท้ายที่สุด ความทุ่มเทและความดื้อรั้นของเขาก็ทำให้ Castle Rock ใจอ่อน สุดท้ายดาราบอนต์ก็ได้กำกับหนังเรื่องแรกสมใจด้วยค่าตัวเพียง 750,000 เหรียญ ในงบที่ถูกจำกัดจำเขี่ยเพียง 25 ล้าน  สตีเฟ่น คิง ที่รับรู้เหตุการณ์ทั้งหมดของดาราบอนต์ เข้าใจในความทะเยอทะยานและความดื้อรั้นของเขา สุดท้ายคิงก็นำเช็คเงินสดมูลค่า 5,000 เหรียญใบนั้นอัดกรอบอย่างดีและส่งคืนให้กับดาราบอนต์ และเขียนจดหมายกลับไปหาเขาว่า “เผื่อคุณต้องการเงินไปประกันตัว รักนะ, สตีฟ”    เฟ้นหานักแสดงสมบทบาท การค้นหานักแสดงเพื่อมารับสองบทบาทนำในหนังก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อตอนที่ ร็อบ ไรเนอร์ เสนอตัวมากำกับหนังเรื่องนี้ เขามีนักแสดงในใจ นั่นก็คือ ทอม ครูซ มารับบท แอนดี้ ส่วน เร้ด นั้น ไรเนอร์ได้เล็ง แฮร์ริสัน ฟอร์ด เอาไว้ โดยเฉพาะ ทอม ครูซ ที่ไรเนอร์ได้ใช้ความสัมพันธ์อันดีที่เคยร่วมงานกันในหนัง A Few Good Men เชิญให้มาอ่านบทที่ออฟฟิศมาแล้ว และครูซก็ตอบตกลงจะเล่นแล้ว แต่เมื่อเขาทราบว่าผู้กำกับใหม่มากำกับ เขาก็เกิดอาการไม่ไว้ใจว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ สุดท้ายเขาก็โบกมือลาจากโปรเจกต์นี้ไป  ดาราบอนต์จึงต้องหานักแสดงคนใหม่ ซึ่งในช่วงต้นล้วนแล้วแต่เป็นนักแสดงระดับ A-List แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เควิน คอสต์เนอร์ หรือแม้กระทั่ง ทอม แฮงค์ส แต่เมื่อทุนสร้างจำกัดจำเขี่ย เขาจึงต้องหานักแสดงระดับรองลงมา จนกระทั่งเขาได้ไปเจอกับ ทิม ร็อบบินส์ นักแสดงระดับกลาง ๆ ที่อาจไม่โด่งดังเท่า แต่บารมีของเขาก็ไม่ได้ด้อยไปกว่านักแสดงที่กล่าวมาข้างต้น ทิมเป็นนักแสดงขายฝีมือที่ต้องการบทชั้นดีที่จะเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นนักแสดงสายฝีมือ และเมื่อเขาได้อ่านบทนี้ก็ไม่ลังเลที่จะรับมัน  เช่นเดียวกันกับบทบาทของ เร้ด ที่ต้องมีบารมีไม่ต่างกัน จึงมีรายชื่ออย่าง คลินต์ อีสต์วูด, ยีน แฮ็คแมน และ พอล นิวแมน ในการถูกเสนอชื่อ แต่ดาราบอนต์ก็จนปัญญา สุดท้ายทิมเป็นคนแนะนำ มอร์แกน ฟรีแมน ให้มารับบทบาทนี้ ซึ่งผิดไปจากนวนิยายที่เป็นคนผิวขาวชาวไอริช จนเมื่อมอร์แกนได้อ่านบท เขาตอบตกลงทันทีโดยบอกกับดาราบอนต์ว่า “มันคือบทที่ดีที่สุดที่ผมเคยอ่าน...มันไม่สำคัญว่าผมจะอยู่ส่วนไหน แต่ผมอยากจะอยู่ในนั้น” ซึ่งการเลือกมอร์แกนมารับบท เร้ด ชายหนุ่มที่อยู่ในคุกจนเจนจัด และเฝ้าดูชีวิตของแอนดี้ตั้งแต่แรกเริ่มยันวันสุดท้ายนั้น ถือเป็นบทที่ดีที่สุดในชีวิตของเขาเลยทีเดียว   นอกจากนั้น ยังมีอีกบทบาทหนึ่งที่ดาราบอนต์เคยทาบทาม แบรด พิตต์ ที่ตอนนั้นกำลังมีชื่อเสียงให้มารับบท ทอมมี่ นักโทษรุ่นน้อง ไอ้หนุ่มร็อคแอนด์โรลที่กุมความลับบางอย่างของแอนดี้ แต่น่าเสียดายที่คิวการถ่ายทำไม่ตรงกัน   เปลี่ยนโทนหนังให้จริงจังแต่อบอุ่น  เมื่อเอ่ยว่าเป็นหนังคุก ภาพในหัวคือการต่อสู้ ความรุนแรงระหว่างผู้คุมกับนักโทษ ไปจนถึงกลวิธีแหกคุกต่าง ๆ นานา นับตั้งแต่ Cool Hand Luke, Papillon, Escape from Alcatraz และ Bad Boys (ฉบับ ฌอน เพนน์) ไปจนถึงหนังยุคใหม่อย่าง The Rock ล้วนแล้วแต่เสนอภาพความโหดร้ายและการตอกกลับของเหล่านักโทษด้วยความ ‘แรงมา’ ‘แรงกลับ’ แต่หนังเรื่องนี้หาได้นำเสนอภาพคุกในแบบที่คุ้นเคยไม่ ความรุนแรง ความโหดร้ายนั้นยังคงอยู่ แต่ตัวละครอย่างแอนดี้ กลับไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงนั้น  เขาโดนทั้งผู้คุมซ้อมปางตาย โดนจับขังในห้องมืด รวมไปถึงเพื่อนนักโทษที่พร้อมจะข่มขืนเขาตลอดเวลา หากแต่แอนดี้ใช้ความสามารถในตัวเขาจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาทางด้านภาษีกับผู้คุมจอมโหด เพื่อแลกกับเบียร์ให้เพื่อนร่วมเรือนจำ หรือจัดการเปลี่ยนห้องสมุดซอมซ่อให้กลายเป็นขุมทรัพย์แห่งปัญญา ละเมิดกฎด้วยการเปิดแผ่นเสียงเพลงอิตาลีผ่านเครื่องกระจายเสียงให้นักโทษฟัง กระทั่งการหนีของเขาก็ลึกล้ำและฉลาดอย่างไม่น่าเชื่อ  ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อบอกเล่าว่ายังมีอีกหลายวิธีบนโลกใบนี้ที่ไม่จำเป็นต้องแข็งขืนหรือโต้กลับด้วยความรุนแรง หนังนำเสนอความอดทนตลอด 19 ปีที่ถูกจองจำในคุกของแอนดี้ ที่เขาไม่อาจทนอยู่ในระบบที่เส็งเคร็งในคุกนี้ได้ หากใจที่โหยหาเสรีภาพนี้ก็สั่งให้เขาจำต้องกระทำบางอย่างเพื่อหาทางออกจากสถานที่ปิดตายนี้ โดยสมองสั่งการให้รอคอยจังหวะและเวลาที่ดีเพื่อที่จะหนีได้อย่างปลอดภัย แอนดี้จึงเป็นฮีโร่ของใครหลาย ๆ คนที่โหยหาอิสรภาพ และมีสติมากพอที่จะหลุดพ้นจากพันธนาการที่รัดตรึงชีวิตของเขาไว้อยู่ หากแต่ต้องรอโอกาส และอย่าหมดหวังและท้อถอย The Shawshank Redemption จึงเป็นหนังคุกที่แตกต่างจากหนังเรื่องอื่น ๆ ที่ใช้ความสุขุมในการแก้ปัญหา และตอบโต้ความรุนแรงด้วยสติ โดย ทิม ร็อบบินส์ นักแสดงนำของเรื่องนี้ได้กล่าวถึงหัวใจหลักของหนังเรื่องนี้ที่มัดใจคนทั่วทั้งโลกว่า “โลกของเราไม่ต่างจากคุก ไม่ว่าคุกของคุณจะเป็นอย่างไร จะมารูปแบบของเพื่อนร่วมงานที่คุณเกลียด ความขัดแย้งที่คุณชิงชัง ไม่ว่าผู้คุมของคุณจะเป็นเจ้านายหรือภรรยาหรือสามีที่แย่ก็ตาม มันมีความเป็นไปได้ที่เราทุกคนจะมีอิสรภาพภายในตัวเรา และในช่วงหนึ่งของชีวิตมีสถานที่พักใจที่อบอุ่นบนชายหาด และเราทุกคนสามารถไปถึงที่นั่นได้ แต่บางครั้งเราก็ต้องใช้เวลาสักพัก”   ความล้มเหลวในตอนต้น หาได้ล้มเหลวตลอดไป  อย่างที่กล่าวไว้ว่า The Shawshank Redemption เมื่อแรกออกฉาย กลายเป็นความล้มเหลวที่ยากเกินจะให้อภัย ทั้ง ๆ ที่นักวิจารณ์ต่างพากันเทใจให้หนังเรื่องนี้ในรอบสื่อมวลชน แต่เพราะในปีนั้นมีหนังที่แข็งมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น Forrest Gump ที่เป็นขวัญใจมหาชนและฉายต่อเนื่องมายาวนานถึงครึ่งปี หรือ Pulp Fiction ที่แสดงวิสัยทัศน์อันยอดเยี่ยมแหวกขนบหนังในยุคนั้น ทำให้หนังอย่าง The Shawshank Redemption หลุดจากวงโคจรความสนใจของผู้ชมไปอย่างรวดเร็ว  แต่กระนั้นก็ยังมีนักวิจารณ์บางรายที่โจมตีหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะจากหนังสือพิมพ์ L.A. Times ที่วิจารณ์หนังเรื่องนี้อย่างหนักหน่วงว่า “เปรียบเสมือนขนมสายไหม หวานเลี่ยน ไม่อร่อย เบาโหวง ไร้คุณค่าทางอาหาร” และบทวิจารณ์นั้นก็ทำให้คนดูหลายคนพากันส่ายหน้า ลิซ กอทเซอร์ ผู้อำนวยการของ Castle Rock กล่าวถึงวันแรกที่หนังเข้าฉายว่า “พวกเราไปสังเกตการณ์กันที่โรงหนังซีเนรามาโดมซึ่งเป็นโรงหนังที่เจ๋งที่สุดที่หนังเรื่องนี้กำลังฉาย โรงหนังที่สร้างขึ้นในปี 1960 ตั้งอยู่ที่ Sunset Boulevard มีที่นั่งมากกว่า 900 ที่ แต่ในวันนั้นที่นั่งมีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีใครสนใจมาดูหนังเรื่องนี้สักคน นอกจากพวกเรา”  มอร์แกน ฟรีแมน นักแสดงนำของเรื่องก็หัวเสียไม่ใช่น้อยเมื่อผลตอบรับในช่วงเวลานั้นเป็นลบจากคนดูหนังที่ไม่ยอมมาดู โดยเขากล่าวอ้างถึงชื่อหนังที่ทื่อจนเกินไป “มันสื่อสารกับคนหมู่มากลำบาก หลานผมทักผมว่า “ผมเห็นคุณอาเล่นหนังเรื่องหนึ่ง เรื่อง The. . . อะไรนะ? Shank, Sham, Shim? จนอยากจะตั้งชื่อหนังใหม่ว่า The Shrimpshunk Reduction ไปเลย” ฟรีแมนประชดโดยกล่าวถึงกุ้งที่ฟอร์เรสต์ทำบ่อกุ้งในหนังเอามาตั้งเป็นชื่อหนังเผื่อจะดังแบบเขา แต่ถึงแม้จะหัวเสียกับชื่อหนัง ฟรีแมนก็ตบท้ายว่า “แต่มันก็ยอดเยี่ยมมาก เพราะมันทำให้รู้ว่าหนังที่ชื่ออ่านยากมันทำงานสำหรับคนที่รักมันจริง ๆ”  แม้หนังจะไม่ได้รับการเหลียวแลเมื่อฉายในโรงหนัง แต่มันกลับทำได้ดีเมื่อออกขายเป็นวิดีโอ กลายเป็นหนังที่มียอดเช่าสูงที่สุดในปีที่วางจำหน่าย และกลายร่างเป็นหนังที่ได้รับการฉายทางทีวีที่มีเรตติ้งสูงทุกครั้งที่นำออกมาฉาย กระแสปากต่อปากบอกต่อจนหนังค่อย ๆ ไต่ระดับความนิยมชมชอบของคนดูหนัง และสุดท้ายหนังก็เขี่ยแชมป์เก่าอย่าง The Godfather ขึ้นเป็นอันดับ 1 ยอดเยี่ยมตลอดกาลบนเว็บไซต์ imdb.com ในปี 2008 และยังคงครองตำแหน่งนี้มาอย่างยาวนานและเหนียวแน่นจวบจนปัจจุบัน ดาราบอนต์ได้กลายเป็นผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ แม้ผลงานที่ตามมาจะน้อยในจำนวน แต่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นหนังที่ดี ไม่ว่าจะเป็น The Green Mile (1999) การจับมืออีกครั้งระหว่างเขาและสตีเฟ่น คิง / The Majestic (2001) และ The Mist (2007) ก่อนจะขลุกตัวอยู่กับการทำโปรเจกต์ซีรีส์ซอมบี้เรื่องดัง The Walking Dead จวบจนปัจจุบัน   แรงบันดาลใจแห่งการปลดแอก  แน่นอนว่าหนัง The Shawshank Redemption สร้างปรากฏการณ์และแรงบันดาลใจให้กับนักดูหนังทั่วโลก โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องเล่าอันเหลือเชื่อของ เฉิน กวงเฉิง นักเคลื่อนไหวตาบอดที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลจีนจนถูกจับกุมและถูกทารุณในคุกนานถึง 6 ปี แต่เขาใช้ช่วงเวลาแห่งความทรมานนี้หาทางแหกคุกที่แน่นหนาจนหลบหนีได้สำเร็จ ก่อนจะลี้ภัยไปอเมริกา ชาวเน็ตต่างพากันยกย่องเฉินว่ามีชีวิตราวกับหนัง The Shawshank Redemption จนรัฐบาลจีนต้องแบนและเซ็นเซอร์คำว่า Shawshank ในสื่อโซเชียลฯ ทันที รวมไปถึง เนลสัน แมนเดลา บุคคลสำคัญผู้ปลดแอกชาวแอฟริกาใต้จากการถูกกดขี่ และมีชีวิตที่เข้าออกในคุกเช่นกัน ก็ได้กล่าวชื่นชมหนังเรื่องนี้ว่า “The Shawshank Redemption คือหนังที่เขารักที่สุด” จึงไม่อาจจะปฏิเสธได้เลยว่า The Shawshank Redemption มีคุณค่ามากมายเกินกว่าหนังเรื่องหนึ่งพึงมี มันเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ คุณค่าที่กาลเวลาค่อย ๆ พิสูจน์ความเกรียงไกรในตัวหนัง รวมไปถึงสัญลักษณ์ของการโหยหาอิสรภาพ ที่ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องการของมนุษย์ทุกคนที่ต้องการความเสมอภาคและความเท่าเทียม การที่หนังได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งโลก จึงมีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่มากกว่าเงินตราหรือตัวรางวัลที่จะมากำหนดคุณภาพของมัน   ข้อมูล https://www.vanityfair.com/hollywood/2014/09/shawshank-redemption-anniversary-story