The Sound of Silence พลังเงียบอันทรงพลังแห่ง ’60 ของ Simon & Garfunkel

The Sound of Silence พลังเงียบอันทรงพลังแห่ง ’60 ของ Simon & Garfunkel
Hello darkness, my old friend I've come to talk with you again ท่ามกลางความเงียบงันที่เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านของผู้คนในยุค 60s ภายหลังจาก ในปี 1963 กระสุนปริศนาได้พุ่งตรงมายังสมองของ จอห์น เอฟ เคนเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้เป็นขวัญใจของอเมริกันชน ไม่เพียงแต่จะสร้างความช็อคให้กับผู้คนในวันนั้น แต่อเมริกาและโลกใบนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เสียงวิ้ง ๆ ในหูที่อื้ออึงไปด้วยเสียงกรีดร้อง เสียงร่ำไห้ และความวุ่นวายนั้นก็นำไปสู่ความเงียบที่แสนเจ็บปวด และมันก็ได้สร้างบทเพลงที่แสดงให้เห็นว่าความเงียบนั้นก็มีความหมายมากมายแค่ไหน แม้ความทรงจำนั้นจะแสนเลือนราง แต่พอล ไซมอน 1 ในศิลปินคู่หูแห่งยุคสมัย Simon & Garfunkel ยังจำได้ดีถึงช่วงเวลาแห่งความอ่อนไหวจนเกิดเป็นเพลงเงียบงันแห่งศตวรรษนั้นได้ดี เพลงนั้นก็คือ The Sound of Silence นั่นเอง พอล ไซมอน และ อาร์ต การ์ฟังเกล คือเพื่อนซี้ในวัยเด็กที่เติบโตในชุมชนชาวยิว เขาเกิดและเติบโตในยุคที่ดนตรีร็อคแอนด์โรลล์กำลังผลิบาน และมันเป็นเครื่องมือโชว์หญิงที่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ ไซมอน เห็นความสามารถในการร้องเพลงของการ์ฟังเกล จึงเชิญชวนมาร่วมทำวงดนตรีร่วมกัน โดยมีวงอย่าง The Everly Brothers เป็นต้นแบบ และร่วมกันเข็นเพลงออกมาพร้อมเซ็นสัญญากับค่ายเพลงอิสระ Big Records โดยที่ทั้งสองยังเรียนอยู่มัธยม ในชื่อวง Tom & Jerry โดยปล่อยซิงเกิ้ลแรก Hey Schoolgirl ในปี 1957 แม้จะประสบความสำเร็จพอประมาณ แต่พวกเขาก็ฉลาดพอที่จะจดทะเบียนลิขสิทธิ์เพลงจนเขาได้รับส่วนแบ่งที่ค่อนข้างสมน้ำสมเนื้อกับบทเพลงของพวกเขาแม้ยังเรียนไม่จบดี แต่เมื่อพวกเขาได้ปล่อยซิงเกิ้ลที่ 2 ที่ 3 ก็พบกับความล้มเหลวเมื่อมันไม่ประสบความสำเร็จซักเท่าไร ภายหลังจากจบการศึกษาระดับไฮสคูล ทั้ง 2 ต่างแยกย้ายไปต่อมหาวิทยาลัยตามแต่ตัวเองถนัด โดยไซมอน เลือกเรียนทางด้านภาษาที่ Queens College และ การ์ฟังเกล ศึกษาด้านศิลปะที่ Columbia College ในช่วงเวลาที่ทั้ง 2 แยกย้าย ไซมอนก็แอบไปออกงานเดี่ยวของตน สร้างความร้าวฉานในความสัมพันธ์ระหว่างเขากับการ์ฟังเกล ที่เรียกไซมอนว่า “เพื่อนทรยศ” แต่แล้วไซมอนก็รู้ตัวดีว่าเขาเองนั้นไม่สามารถไปต่อได้ สายสัมพันธ์ที่ขาดก็ได้รับการต่อติดอย่างรวดเร็ว ทั้ง 2 เปลี่ยนชื่อเป็น Simon & Garfunkel ได้เซ็นสัญญาในค่ายยักษ์ใหญ่ นั่นคือ Columbia Records ทำอัลบั้มแรกในชื่อ Wednesday Morning, 3 A.M. ที่ออกในปี 1964 พร้อมทั้งการเปลี่ยนแนวดนตรีตามสมัยนิยมที่ซีนดนตรีโฟล์คกำลังผลิบาน และการเปลี่ยนผ่านของสังคมยามเมื่อ จอห์น เอฟ. เคเนดี ได้จากไป ช่วงเวลาแห่งการสูญเสียคนที่อเมริกันชนรัก สร้างความเงียบงัน สับสน และหดหู่ให้กับไซมอน เขาใช้ช่วงสุญญากาศในวันแห่งความผิดหวังนั้นเขียนเพลงที่ชื่อ The Sound of Silence ที่บอกเล่าถึงช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดที่แยกไม่ออกในห้วงเวลาถึงยามตื่นหรือยามฝัน รวมไปถึงความโดดเดี่ยวในช่วงเวลาที่เขายังเป็นเด็กน้อยที่ความฝันในการเป็นศิลปินนักร้องนั้นมันเกินเอื้อมคว้า แต่เมื่อถึงเวลาที่ได้อยู่ตรงหน้ามันก็เต็มไปด้วยความเงียบงัน

 

ไซมอนใช้เวลาในการแต่งเพลงที่เปรียบเสมือนบทกวีแห่งความเงียบนี้ถึง 6 เดือน แต่การเดินทางของเพลงกลับยาวนานยิ่งกว่า เมื่อเพลงนี้ได้ปล่อยออกไป พร้อมกับความเงียบงันจากกระแสตอบรับที่ไม่ได้ดีเอาเสียเลย ทั้งสองถูกเปรียบเทียบกับเทพเจ้าหัวฟู บ็อบ ดีแลน ที่ช่วงนั้นดังและโดนใจกว่า ความผิดหวังนั้นนำมาซึ่งการที่ทั้ง 2 ทบทวนตัวเองใหม่ แล้วทั้ง 2 ก็แยกย้ายกันอีกครั้ง ทิ้งไว้เพียงอัลบั้มแรกและอัลบั้มเดียวไว้เป็นอนุสรณ์เตือนใจ แต่แล้วบทเพลง The Sound of Silence กลับค่อย ๆ ทวีความดังขึ้น เมื่อเหล่านักศึกษาได้ยินเพลงต่างพากันขอเพลงนี้ให้รายการวิทยุเปิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากที่เงียบงันกลายเป็นเพลงที่แผดความดังตลอด 1 ปีให้หลัง มันเป็นเพลงขับกล่อมในช่วงเวลายามค่ำคืน เป็นเพื่อนใจที่เหล่านักศึกษาใช้มันเพื่อฟังคลอประกอบการอ่านหนังสือสอบ จนค่ายเพลง Columbia ต้องกลับมาประชุมกันอีกครั้งเพื่อผลักดันเพลงนี้ให้กลับมามีกระแสไม่ใช่เพลงฮิตในช่วงเวลาสนธยาเท่านั้น และคนที่ปลุกชีพบทเพลงแห่งความเงียบงันให้เป็นเพลงที่ดังอีกครั้งก็คือ ทอม วิลสัน โปรดิวเซอร์ที่ดูแลผลงานของศิลปินทั้ง 2 นั่นเอง เมื่อเขามองว่าในเวลานั้นบทเพลงโฟล์คร็อคที่ผสานดนตรีในแบบออร์แกนิครวมกันเข้ากับดนตรีไฟฟ้าที่ บ็อบ ดีแลน ได้แผ้วถางมันมาจากบทเพลง Like a Rolling Stone กำลังโด่งดัง เป็นกระแสและเป็นเพลงที่ทอมโปรดิวส์เองกับมือ เขาจึงเสนอให้ The Sound of Silence กลับมาผสมผสานดนตรีไฟฟ้าเข้าด้วยกันใหม่ และปล่อยเพลงนี้อีกครั้ง และแน่นอน บทเพลงที่เงียบงันกลับกระหึ่มในทุก ๆ พื้นที่ สามารถค่อย ๆ ไต่อันดับแบบเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ จนสามารถติดชาร์ทอันดับ 1 Billboard Chart ต้อนรับวันปีใหม่ 1967 ทั้ง 2 หวนคืนกลับสู่การทำอัลบั้มร่วมกันอีกครั้ง เพื่อตอบรับความสำเร็จที่เป็นตะกอนนอนก้นมานานแสนนาน นอกจากนั้น บทเพลงยังไปเตะหูของ ไมค์ นิโคลส์ ผู้กำกับหนังเข้าอย่างจังจนเขานำเพลงนี้ไปประกอบภาพเรื่อง The Graduate(1967) ที่เล่าเรื่องของเด็กหนุ่มว้าวุ่นที่ถูกสังคมของผู้ใหญ่กดทับจนต้องระเบิดออกมา มันกลายเป็นหนังแห่งยุคสมัยที่หลายคนโปรดปรานจนได้รับรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และเป็นกระบอกเสียงของหนุ่มสาวที่โหยหาอิสรภาพและต้องการปลดแอกจากพันธนาการที่สังคมยุคเก่าเข้าครอบงำ และ The Sound of Silence ก็ประกอบอย่างลงตัวในซีนสุดท้ายของหนังที่เผยให้เห็นความเงียบงันในตอนจบของชะตากรรมพระเอกนางเอกบนทางที่ทอดยาวที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะลงเอยอย่างไรได้อย่างยอดเยี่ยมและเป็นที่จดจำตราบนานเท่านาน บทเพลงนี้ยังเป็นหนึ่งในเพลงชาติที่บ่งบอกถึงความสภาวะเงียบงันที่ถูกปิดหูปิดตาจากผู้ใหญ่ ในจังหวะเดียวกันที่อเมริกาผ่านการนำของริชาร์ด นิกสัน ที่นำเด็กหนุ่มบริสุทธิ์มากมายไปตายในสมรภูมิสงครามเวียดนาม ยิ่งส่งผลให้บทเพลงนี้มีพลังอย่างน่าเหลือเชื่อเข้าไปอีก เมื่อมันถูกบรรจุให้อยู่ในบทเพลงต่อต้านสงครามที่ยิ่งใหญ่เคียงข้างบทเพลง Imagine ของ จอห์น เลนนอน แม้ทั้ง 2 พอล ไซมอน และ อาร์ต การ์ฟังเกล ท้ายที่สุดนั้นแยกทางกันอย่างเด็ดขาดในปี 1970 และรียูเนียนบ้างเป็นครั้งคราว แต่ The Sound of Silence ก็เป็นตัวแทนเพลงอันยิ่งใหญ่ที่ทดแทนได้ถึงพลังเงียบ การต่อสู้ระหว่างรุ่น และเพลงแห่งเสรีภาพที่ทั้งอ่อนหวานและแผดกล้า เพื่อบ่งบอกว่า “เราจะไม่มีวันเงียบอีกต่อไป”