สัมภาษณ์ แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม จากเสียงไวโอลินของพ่อในอดีต สู่เสียงของตัวเองในวันนี้

สัมภาษณ์ แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม จากเสียงไวโอลินของพ่อในอดีต สู่เสียงของตัวเองในวันนี้
ถ้าพูดถึงนักร้อง นักแต่งเพลงชื่อดังอย่าง “แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม” หลายคนอาจจะรู้จักเขาในฐานะนักร้องร็อกมาดเข้ม เจ้าของเพลงฮิตอย่าง “คนของเธอ”, “ดาวประดับฟ้า” หรือ “เลิกรา” แต่รู้หรือไม่อีกหนึ่งบทบาทหลังม่านของชายคนนี้คือการเป็น “นักเศรษฐศาสตร์” ด้วย แม้แมวจะโด่งดังจากการเป็นนักดนตรี และเล่นดนตรีเพื่อเลี้ยงชีพแล้ว วิชาการเศรษฐศาสตร์ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขาอยู่เสมอ โดยเฉพาะความสนใจในเรื่องของ “การเล่นค่าเงิน” หรือ “FOREX” ที่ทำให้เขาแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลยทีเดียว นอกจากความหลงใหลในเสน่ห์และระบบวิธีคิดต่าง ๆ ในวิชาการเศรษฐศาสตร์แล้ว แมวยังเชื่อว่าความรู้ที่เขาได้จากสิ่งนี้ มีส่วนช่วยพัฒนาแนวคิดในการทำเพลงของเขาด้วย เขาคิดเสมอว่าดนตรีและเศรษฐศาสตร์ คือเรื่องเดียวกัน ก่อนมานั่งคุยกับชายคนนี้ ผมได้มีโอกาสนั่งอ่านหนังสือที่ชื่อว่า “ฟัง ฝึก เล่น กว่าจะเป็นนักดนตรี” หนังสือที่แมวเคยเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน ภายในเล่มได้มีการบอกเล่าเรื่องราวอดีตของเขากับเสียงไวโอลินอันขมขื่นของพ่อ ที่สุดท้ายกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มเล่นดนตรี ถ้าคุณเคยฟังหรืออ่านบทสัมภาษณ์ชายคนนี้เมื่อสิบปีที่แล้ว บอกได้เลยว่าตอนนี้เขาไม่ใช่แมว จิรศักดิ์ คนนั้นอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้เขาคือชายที่ใช้เวลากว่า 20 ปี เรียนรู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ชีวิต” วันนี้เราได้มีโอกาสมานั่งคุยกับแมว เกี่ยวกับหลายประเด็นที่ผ่านมาในชีวิตของเขา สัมภาษณ์ แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม จากเสียงไวโอลินของพ่อในอดีต สู่เสียงของตัวเองในวันนี้ The People : ตอนนี้ แมว จิรศักดิ์ ทำอะไรอยู่บ้าง จิระศักดิ์ : ตอนนี้ก็ทำงานเบื้องหลังนะครับ ก็ทำเพลงให้ศิลปินคนนั้นคนนี้ ทั้งลูกทุ่งฮิปฮอป ร็อกอะไรก็ว่าไปตามภาษาคนทำเพลงครับ ก็ทำเพลงแบบหลากหลายไม่จำกัดแนวเพลง แล้วก็มีรับงานคอนเสิร์ต อย่าเรียกว่าคอนเสิร์ตเลยครับ เป็นงานโชว์ตามร้าน ตามผับต่าง ๆ งานอีเวนต์ แล้วก็อีกอันหนึ่งอันนี้ก็คือรับส่งลูก อันนี้ถือว่าเป็นหน้าที่ครับเป็นงานหลัก The People : ตลอดระยะเวลาสิบปีกว่าปีที่ผ่านมา ชีวิตคุณเปลี่ยนมาก จิระศักดิ์ : ก็เยอะครับ เยอะ ถ้ายิ่งช่วงสิบปีหลังนี่ เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือก็ว่าได้นะครับ เพราะว่าในช่วงสิบปีแรกยังเป็นช่วงที่เรายังใหม่ต่อวงการ แล้วก็อาจจะยังหลงในแสงสี กับรายได้อะไรต่าง ๆ ที่ได้มา แล้วก็การใช้จ่าย การใช้ชีวิต lifestyle จะเป็นอีกแบบหนึ่ง จะค่อนข้างที่จะฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย แต่ว่าอีกสิบปีหลังนี่จะเป็นอีกแบบหนึ่ง จะเป็นแนวที่สมถะมากขึ้น คือเหมือนกับว่าตื่นละ ตื่นจากความฝันมาเป็นชีวิตจริงแล้วรู้ว่าชีวิตจริงจะต้องดำเนินไปยังไง เรียกว่าเป็นคนธรรมดา เป็นปกติ แต่ก่อนเป็นเทพ (หัวเราะ) แต่ก่อนทำตัวเหมือนเทพ The People : การมีครอบครัวเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เราเปลี่ยนไหม จิระศักดิ์ : จริง ๆ แล้วเนี่ย ในช่วงแรก ๆ ที่มีครอบครัวเนี่ย ตอนนั้นก็ยังไม่ได้อินกับเรื่องของการดูแลตัวเองหรือว่าดูแลคนรอบข้างสักเท่าไหร่ ก็ยังแบบว่า ยังมีรั่ว ๆ อยู่ แต่ว่าพอช่วงหลังที่เริ่มแบบว่ามันเริ่มอายุมากขึ้น กับประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา อะไรหลาย ๆ อย่างมันสอนเรา มันบอกเรา บอกอย่างรุนแรงด้วย ไม่ได้บอกแบบธรรมดา ถ้าเป็นเพื่อนก็ตบหัวคือไม่ใช่สะกิดหลัง คือเราเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น มันเลยทำให้เราต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง ทำให้ชีวิตช่วงสิบปีหลังนี่ก็จะเป็นชีวิตที่โอเคขึ้น The People : เคยอ่านเจอว่าเสียงไวโอลินของพ่อมันอยู่ในหัวคุณตลอด เสียงนั้นกลายมาเป็นเสียงของคุณในวันนี้ด้วยหรือเปล่า จิระศักดิ์ : ใช่... ในวัยเด็ก ๆ เสียงไวโอลินของพ่อเนี่ยเป็นเสียงที่น่ารำคาญนะครับ เพราะผมได้ยินทุกวัน ได้ยินจนมันเหมือนปลาที่อยู่ในน้ำแล้วไม่ใส่ใจน้ำ แล้วก็ไม่ได้มีความรู้สึกรักหรือเกลียดน้ำอะไร บางทีอาจจะรู้สึกรำคาญด้วยซ้ำไป แต่พอวันหนึ่งขาดน้ำ มัน...มันจะตายเอา มันก็เหมือนผมตอนเด็ก ๆ ที่ได้ยินเสียงดนตรี เสียงไวโอลินของพ่อมาตั้งแต่เด็ก แล้วพ่อก็จะซ้อมแบบงู ๆ ปลา ๆ คือเล่นไม่ได้เก่งมากแต่เขาก็ขยันฝึกจริง ๆ ซ้อมสีอยู่นั่น จนอยู่มาวันหนึ่งที่เสียงไวโอลินของพ่อเริ่มขาดหายไป คือยังไม่ได้หายไปซะทีเดียว แต่จากที่ได้ยินอาทิตย์ละเจ็ดวัน เริ่มได้ยินอาทิตย์ละสี่วัน เหลืออาทิตย์ละสองสามวัน ลดลงไปเรื่อย ๆจนไม่ได้ยินเลย หรือถ้านาน ๆ มันมีกลับมาให้ได้ยิน แต่ทำไมมันไม่เพราะเหมือนเดิม เราเลยสงสัยก็เลยไปถามพ่อ พ่อเบื่อแล้วเหรอ พ่อไม่อยากสีแล้วเหรอ เขาก็บอกไม่ค่อยว่าง เป็นเหตุผลที่ผู้ใหญ่มักจะตอบกับเด็กนะ ไม่ค่อยได้อยู่ ไม่ว่างเลยไม่ได้ซ้อม อะไรแบบนี้ พ่อก็ถามกลับว่า ทำไมเหรอ อยากฟังเหรอ ชอบเหรอ คือเราไม่ได้ชอบอ่ะ แต่เรารู้สึกว่ามันหายไปแล้วมันแปลก ๆ ปกติ ผมก็เลยบอก พ่อ ๆ ลองสอนผมมั่งดิ เผื่อผมจะชอบ เผื่อผมจะหัดสีบ้าง สุดท้ายพ่อก็สอนแล้วก็ไม่รอด จนที่สุดแล้วก็ไม่มีเสียงดนตรีให้ได้ยินอีก เพราะพ่อกับแม่แยกทางกัน หลังจากนั้นก็เลยเริ่มค้นหาตัวเองว่าจริง ๆ แล้วเรารักดนตรีจริงหรือเปล่า เราชอบดนตรีหรือเปล่า เดินไปก็เห็นคนเล่นกีตาร์โปร่งก็ไปยืนดูเขาเล่น ก็มีความรู้สึกว่า เออ มันเพลินเนอะ แต่ตอนนั้นก็ยังเด็กไม่ได้คิดว่าจะหัดเล่นเป็นจริงเป็นจัง ในความคิดเด็กตอนนั้นเนี่ยอยากจะเป็นตำรวจ อยากจะเป็นหมอ แต่ว่าไอ้ความที่ดนตรีหายไปแล้วรู้สึกแปลก ๆ เนี่ยมันเริ่มมีตั้งแต่ตอนนั้นละ สัมภาษณ์ แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม จากเสียงไวโอลินของพ่อในอดีต สู่เสียงของตัวเองในวันนี้ The People : นี่กลายเป็นที่มาของการเล่นดนตรีของคุณใช่ไหม จิระศักดิ์ : ใช่ครับ หลังจากนั้นมา พี่ ๆ ครอบครัวผมเล่นดนตรีทุกคน พี่น้อง อา น้า เล่นดนตรีหมดเลย แล้วก็เล่นเป็นวงเดียวกัน ตอนนั้นอยู่ที่อุดรธานีเล่นที่ไนต์คลับ ซึ่งทำให้เราได้เห็นพ่อกลับมาสีไวโอลินอีกครั้ง เราก็มีความรู้สึกดีใจ ที่ได้ยินเสียงดนตรีจากพ่ออีกครั้ง คราวนี้เห็นพี่ตีกลอง เห็นพี่เล่นเบส เห็นพี่เล่นเปียโน เล่นกีตาร์ น้าเป่าแซ็ก อาตีเพอร์คัชชั่น อะไรแบบนี้ทำให้เรามีความรู้สึกว่า เออ ครอบครัวเนี่ยมันก็มีความสุขเนอะ การอยู่เป็นครอบครัวใหญ่เนี่ยมันดีเนอะ โดยเฉพาะเป็นครอบครัวใหญ่ที่เล่นดนตรีกันทุกคนเลย ก็เริ่มชอบดนตรีมาเรื่อย ๆ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่แบบว่า push ตัวเองให้ไปฝึกเป็นวง แค่มีความชอบ ตอนนั้นยังเด็กก็ไปเต๊าะแต๊ะ ๆ ดูเขาเล่นดนตรี จนอยู่มาวันหนึ่งตอนนั้น สอบเข้าม.1 ได้นะครับ ที่อุดรฯ เนี่ยแหละ กำลังจะเรียนต่อชั้นม.1 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง แล้วปรากฏว่าพี่โทรมาชวนว่า แมวไปเล่นดนตรีด้วยกันไหม ที่ภาคใต้ ที่หาดใหญ่ ได้ตังค์นะ โห คำว่าตังค์นี่แหละครับที่มันเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ผมรู้สึกว่าเห้ยเอา เล่นดนตรี คำว่าเล่นดนตรีของผมเกิดขึ้นจากตัง เพราะว่ามันมีความรู้สึกว่าเออ ถ้ามันได้ตังค์มันเอาทำอะไรได้เยอะดี เอามาให้แม่ เอามาซื้อนู่นนี่นั่น ก็เลยตัดสินใจไปกับพี่ชายทั้ง ๆ ที่ยังเล่นอะไรไม่ค่อยเป็น แค่ชอบ ไปถึงก็ฝึกดนตรีอยู่ประมาณหนึ่งปีแรก ฝึกหนักเลยเหมือนกัน ฝึกเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงแรกที่เล่น ที่จับ ยังไม่รู้จักดนตรี ยังไม่รู้จักโน้ต ยังไม่รู้จักอะไรเลย นอกจากเพลง “ชะตาชีวิต” ซึ่งเราก็ไม่รู้ด้วยว่าใครเขียน เราเริ่มต้นด้วยเพลงบลูส์ แล้วก็พี่ก็สอนมาว่ารากเหง้าของดนตรีคือบลูส์ แล้วมันก็พัฒนามาเป็นแจ๊ส แล้วก็พัฒนามาเป็นป๊อป เป็นนู่นนี่นั่นเยอะแยะมากมาย อาร์แอนด์บี อะไรก็ว่าไป เราก็อ๋อเหรอ นี่คือกำเนิดของดนตรีเลยใช่ไหม ก็เริ่มศึกษาแล้วก็มาเพิ่งรู้ว่านี่คือบทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่เก้า ยิ่งแบบว่าโหย... ในหลวงเราเก่งขนาดนั้นเลยเหรอ พระราชาของเรายังแบบว่ารักดนตรีขนาดนี้แล้วเก่งด้วย ก็เลยมี motivation ทำให้เราเริ่มศึกษามากขึ้น เริ่มอยากจะเล่นให้เก่งให้ดี โดยเริ่มต้นจากดนตรีแจ๊ส The People : ดนตรีแจ๊ส หรือ ร็อก อันไหนหอมหวานสำหรับแมว จิรศักดิ์ มากกว่ากัน จิระศักดิ์ : ดนตรีแจ๊ส ทำให้ผมรู้จักรสชาติของสุนทรียภาพ เพราะฉะนั้นผมยังคงจำความรู้สึกสุนทรียภาพในการฟังดนตรีแจ๊สของผมได้อย่างดี แต่ว่าดนตรีร็อกมันเหมือนเป็นอะไรที่มีความจี๊ดจ๊าดใส่เพิ่มเติมเข้ามา เหมือนเป็นส้มตำ เหมือนเป็นส้มตำหรือเป็นอาหารที่มีการปรุงรสอะไรที่มันหลากหลายเข้ามา เฉกเช่นเดียวกับดนตรีแนวอื่นที่ผมก็ชอบเหมือนกัน ไม่ว่าจะ ฮิปฮอป นะครับ หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าผมชอบ ฮิปฮอปผมก็แอบมีแต่งแร็ป เองเล่นในรายการในนู่นนี่นั่น แต่ยังไงก็ตาม สำหรับผมแจ๊สยังเป็นสิ่งที่หอมหวานอยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งเวลาที่ผมเหนื่อยมาก ๆ เหนื่อย เพลีย ชีวิตไม่อยากทำอะไรแล้ว ขอโทษนะฮะ อาบน้ำเสร็จแก้ผ้าอยู่หยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่น ผมยังเล่นเป็นแจ๊ส เลย ผมยังนึกถึง โจ แพส เล่นกีตาร์ตัวเดียว ผมก็เล่นไปอะไรอย่างงี้ ผมไม่เคยคิดถึงร็อก ไม่เคยคิดถึงอย่างอื่นเลย เพราะมีความรู้สึกว่าอย่างอื่นผมจะต้องปรุงแต่งมากกว่าเดิม แต่ในขณะที่แจ๊ส ผมหยิบมาในสภาวะไหน ผมก็ยังอยู่กับมันได้อะไรอย่างงี้ จะเหนื่อย จะมีความสุข จะแต่งองค์แบบว่าเต็มยศ หรือจะแก้ผ้าอยู่ ผมก็เล่นแจ๊ส ได้ (หัวเราะ) จริง ๆ มันไม่เกี่ยวกันเลยนะ ว่าเห้ยทำไมอ่ะ ร็อก เราก็เล่นได้ตลอดเวลา ใช่ สำหรับบางคนเล่นได้ตลอดเวลา แต่สำหรับผม ผมมีความรู้สึกว่าผมชอบ calm ผมอยากจะอยู่กับความนิ่งมากกว่า แล้วเวลาเล่นแจ๊สแล้วผมนิ่ง สัมภาษณ์ แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม จากเสียงไวโอลินของพ่อในอดีต สู่เสียงของตัวเองในวันนี้ The People : ในฐานะ educator ที่สอนหรือลงแบบฝึกหัดในโซเชียลมีเดีย คุณมองการศึกษาดนตรีในไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง จิระศักดิ์ : ผมคิดว่าดีครับ ถือว่าพัฒนามาได้อยู่ในจุดที่ดีแล้ว แต่ว่าสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปก็คือ มันไม่ใช่แค่นักดนตรี คนฟังดนตรี ตรงนั้นเขาต้องมีโอกาสที่พัฒนาด้วย ถามว่าพัฒนายังไง พัฒนาได้จากหนึ่ง เราต้องเล่นดนตรีดี ๆ ผู้เล่นต้องเล่นดนตรีดี ๆ ทำดนตรีดี ๆ ทำเพลงดี ๆ ออกมา คนฟังจะได้รู้จักว่าดีมันคืออย่างงี้ อ๋อ เล่นดีเล่นเก่งคือแบบนี้ ดนตรีที่ดีที่น่าฟังคือแบบนี้ แล้วเขาจะพัฒนาการฟังของเขาขึ้นมา อันนั้นคืออันที่หนึ่ง อันที่สองเนี่ยเป็นเรื่องใหญ่ละ เป็นเรื่องยาว เป็นเรื่องของระบบ เป็นเรื่องของสังคม สังคมเราเป็นสังคมที่ไม่ค่อยมีเวลาในการเสพศิลปะ หรือเสพได้ผิวเผิน เราไม่ได้ ไม่ได้มีความดื่มด่ำอะไรกับศิลปะมากสักเท่าไหร่ มีอาจจะมีบางกลุ่มที่มันยังเป็นจำนวนน้อยเกินไปนะครับ เพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังจะต้อง...เรียกว่าใช้คำว่าดูแลปากท้อง (หัวเราะ) คือจะเอาเวลามานั่งฟังเพลงอะไรแบบดื่มด่ำ แบบลึกซึ้งอะไรยังงี้ มันยังไม่ได้ถึงขนาดนั้น ประเด็นที่สองนี่ใช้เวลาครับ แต่ว่าประเด็นแรกนี่ทำได้เลย เพราะว่าตอนนี้เรามีคนเก่ง ๆ เยอะแล้ว The People : คิดอย่างไรกับความเห็นของคนไทยโดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ยังเห็นเรื่องการศึกษาโดยเฉพาะดนตรี เป็นอาชีพเต้นกินรำกิน เลี้ยงชีพไม่ได้ จิระศักดิ์ : จริง ๆ มันไม่ได้ซับซ้อนเลยนะครับ เรียนดนตรีจบไปทำอะไร มันก็คือเล่นดนตรีนั่นแหละครับ คือผมอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีมาก็ยี่สิบกว่าปี ผมก็มีความรู้สึกว่ามันก็เป็นงานที่หากินได้เรื่อย ๆ ไม่จนนะครับ ไม่อายใครอะไรอย่างงี้ หรือแม้กระทั่งว่าผมจะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรี ผมจะเป็นนักดนตรีที่เล่นกลางคืน มันก็สามารถทำได้อย่างมีคุณภาพนะครับ อาชีพทุกอย่างยืนยาวหมดครับ ถ้าเราทำแล้วเราไม่เลิกทำ ถ้าไม่เลิกทำ บางคนก็บอกเห้ย แก่ไปแล้วจะร้องเพลงอยู่เหรอ มันมีอาชีพไหนบ้างที่ไม่แก่ มีอาชีพไหนบ้าง ขนาดเป็นข้าราชการยังต้องเกษียณ เกษียณไป อาชีพทุกอาชีพแก่ไปมันทำงานไม่ได้อยู่แล้ว อย่าว่าแต่ดนตรีเลย มันทุกอาชีพ ฉะนั้นอย่าไปกลัวกับคำว่ามันไม่ยืนยาว ที่มันไม่ยืนยาวน่ะมันไม่ใช่ว่าอาชีพทำให้เราไม่ยืนยาว เราทำตัวเองให้มันไม่ยืนยาว The People : เห็นว่ากิจวัตรประจำวันของ แมว จิรศักดิ์ คือต้องตื่นแต่เช้ามาดูหุ้นด้วย จิระศักดิ์ : ครับ ตื่นเช้าดูหุ้นนี่ ถ้าแต่ก่อนนี่ก็จะเป็นการที่อัปเดตกัน อย่าว่าวันต่อวันเลยฮะ นาทีต่อนาทีเลยด้วยซ้ำไป ผมก็จะมีแก๊งเทรดหุ้นอะไรอย่างงี้ ก็จะรู้กันว่าเห้ย เดี๋ยวตัวนี้ เดี๋ยวเราจะเล่นตัวนี้กันนะครับ ตัวนี้น่าสนใจนะ ก็แนะนำกัน เราน่าจะลงทุนตัวนี้อะไรก็ว่ากันไป อันนั้นคือหุ้นไทย ไอ้ตัวที่ทำให้ไม่ได้หลับไม่ได้นอนนี่คือ Forex (หัวเราะ) Forex นี่มัน 24 ชั่วโมงเลย แต่ก่อนนี้แบบว่าเล่นกันโหดร้ายกันมาก คือเล่นกันแบบ time frame 15 นาทีอย่างงี้ โอ้โห แต่ปัจจุบันนี้เล่น time frame day แบบว่าวัน หรือว่า สัปดาห์ ด้วยซ้ำไป เป็นอาทิตย์ คือซื้อแล้วก็ทิ้งไปเลย ผมเทรดแนว technical ดูเทคนิคเป็นหลัก ทั้ง Forex แล้วก็ทั้งหุ้นนะครับ ก็หลายอย่างในเรื่องของการลงทุนก็เอามาจากความรู้ทางสิ่งที่เราเรียนมานั่นแหละครับ ในเรื่องของการเป็น Wealth management ดูแลของตัวเอง ดู wealth ของตัวเอง ซึ่งไม่ได้ wealth อะไรมากนะครับ ไม่ได้มั่งคั่งอะไรมาก เอาเท่าที่มีแต่ก็พยายามดูแลมัน ใช้ความรู้เดิม ๆ สัมภาษณ์ แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม จากเสียงไวโอลินของพ่อในอดีต สู่เสียงของตัวเองในวันนี้ The People : คุณเอาหลักแบบเศรษฐศาสตร์มากลั่นกรองกับดนตรีอย่างไร เพราะเหมือนดนตรีเป็นพื้นที่เดียวที่คุณสามารถปลดปล่อยทุกสิ่งออกมาได้ จิระศักดิ์ : อันนี้น่าสนใจ เพราะว่าผมจำได้ว่าตอนผมเรียนเศรษฐศาสตร์เนี่ย ผมเรียนวิชาหนึ่งชื่อว่า “ทฤษฎีระบบ” ใช้ในวิชาเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องของการผลิต แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์กับทฤษฎีระบบ กับดนตรี มันอันเดียวกันหมดเลย คือเศรษฐศาสตร์มันก็คือการที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด มีคุณค่าที่สุด เพราะฉะนั้นทฤษฎีระบบก็เกิดขึ้นมาเพื่อ support สิ่งนั้น คุณต้องหา input ดี ๆ ที่มีอยู่แล้วมาทำ process อะไรให้มันสนองสอดคล้องกัน เพื่อที่จะให้เกิด output ดี ๆ ถ้า input ดี output ดีอยู่แล้ว อยู่ที่ process ด้วย ทุกอย่างมันต้องสัมพันธ์สอดคล้องกัน ดนตรีก็เหมือนกัน หู ถ้าได้ยินมาถูกต้องได้ยินมาดี เราก็คงจะเล่นได้ดี เพราะฉะนั้นถ้ามองที่ระบบการศึกษาบ้านเรา input คืออะไร คนที่จะผลิตการศึกษาคือครู คือครูที่แบบว่าครูเก่ง ๆ ตอนนี้เรามีแล้ว process ก็คือกระบวนการสอน พวกหลักสูตรต่าง ๆ วิชาการต่าง ๆ การเคี่ยวกรำของครูที่ทำต่อนักศึกษาว่าต้องฝึกยังงี้ ๆ นะ เพื่อที่จะผลิตนักศึกษาออกมาให้ได้คุณภาพ นักศึกษาวิชาดนตรี เสร็จแล้วก็มา feedback ตอนนี้เขาบอกว่าเรียนดนตรีจบไปทำไร ตรงนี้เป็น feedback หรือเปล่า ถ้ามันเป็น feedback เราต้องเอามาคิด ครูต้องมาคิดแล้วว่าเออ แล้วอะไรที่จะมารองรับปริมาณนักศึกษาที่ออกไปจบวิชาดนตรีไป ก็ต้องคิดกิจกรรมอะไรเพิ่มเติมเข้ามา ผมว่าเวทีมันมีเยอะ สนามมันมีเยอะ อันนี้ก็คือการที่เราเอาทฤษฎีระบบมาใช้ให้เกิดประโยชน์ The People : ถ้าเปรียบเพลงดัง ๆ ของอย่างเช่น คนของเธอ ดาวประดับฟ้า หรือไม่เลิกรา มาเป็นหุ้น คุณคิดว่าเพลงตัวเองว่าน่าจะเป็นหุ้นตัวไหน จิระศักดิ์ : โห เล่นอย่างงี้เลย ถ้าอย่าง “คนของเธอ” เนี่ยผมว่าน่าจะเป็น BBL (หัวเราะ) เป็นหุ้นสถาบันการเงินที่แบบว่าเออ คือเป็นหุ้นแบบว่า Big cap นะฮะ เออคือผมก็ชอบนะฮะตัวนี้ เป็นหุ้นที่แบบว่าทำรายได้ เพราะว่าเป็นเพลงที่ทำรายได้ให้ผม ผมก็เลยนึกถึงสถาบันการเงิน เป็นเพลงที่ทำให้คนรู้จักผม แล้วก็ทำรายได้อยู่พอสมควรนะครับ “เลิกรา” เนี่ย ผมว่าน่าจะเป็นปตท.นะฮะ เลิกราน่าจะเป็นปตท.เพราะว่าเป็นหุ้นที่พื้นฐานดี แต่มีความหวือหวามาก ตอนนี้ผมรอซื้ออยู่แต่ยังไม่มีโอกาสเข้าเลย เพราะว่าดูสัญญาณแล้วยังไม่ค่อยเกิด สัญญาณยังไม่เกิด แต่ว่าถ้าซื้อลงทุนระยะยาวได้ เพราะว่าเพลงนี้ เพลงเลิกรา เนี่ยมันเป็นเพลงที่รู้สึกว่าสร้างชื่อเสียงให้ผมก่อน คนของเธอ ด้วยซ้ำไป เพราะงั้นผมถือยาวมาตั้งแต่ปี 2542 หรือเท่าไหร่จนถึงตอนนี้ เพราะงั้นถ้าเป็นหุ้นผมก็ยังไม่ปล่อยเลยนะครับ แต่อีกตัวหนึ่งที่บอกว่าค่อนข้างที่จะเข้าถึงคนได้หลากหลายมาก ๆ เพลง “ดาวประดับฟ้า” อันนี้ผมว่าเป็น CP All นะเพราะว่าเข้าถึงคนในทุกระดับ ใครก็ต้องแวะเซเว่นน่ะ คุณคิดดู เพราะฉะนั้นเป็นเพลงที่ก็หล่อเลี้ยงชีวิตผมเหมือนกัน เพราะว่าเป็นเพลงที่สร้างรายได้เหมือนกัน เช่นเดียวกันครับเวลาผมไปไหนถ้าไม่มีเซเว่น ผมรู้สึกว่าชีวิตมันขาดอะไรไปก็ไม่รู้ มันผูกผันมาก ๆ เลย เพราะฉะนั้น CP All นี่ผมก็ถือยาวเหมือนกันครับ สัมภาษณ์ แมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม จากเสียงไวโอลินของพ่อในอดีต สู่เสียงของตัวเองในวันนี้