The Trial of the Chicago 7 : การต่อสู้ของ 7 แกนนำ ในกระบวนการยุติธรรมที่ "โลกกำลังเฝ้าดู"

The Trial of the Chicago 7 : การต่อสู้ของ 7 แกนนำ ในกระบวนการยุติธรรมที่  "โลกกำลังเฝ้าดู"

*มีการเปิดเผยเนื้อหาในเรื่อง*

 
"ทั่วโลกกำลังเฝ้าดู! ทั่วโลกกำลังเฝ้าดู! ทั่วโลกกำลังเฝ้าดู!"
มวลชนมหาศาล เสียงตะโกนกึกก้อง สัญลักษณ์ธงชาติ ป้ายกระดาษที่บ้างก็สื่อถึงความอัดอั้น บ้างก็แสดงอารมณ์ขัน และบ้างก็สะท้อนความหมายที่ต้องการออกมาอย่างแท้จริง ทั้งหมดคือองค์ประกอบที่ถูกหยิบมาใช้ในการประท้วงเพื่อต่อต้านการเข้าร่วมสงครามเวียดนาม ของผู้ชุมนุมในอเมริกาช่วงปี 1968 และเมื่อเหล่าแกนนำ 7 คน จากการชุมนุมดังกล่าว ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม นี่จึงเป็นการต่อสู้ ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจ สู่การสร้างภาพยนตร์ที่แม้จะดำเนินเรื่องส่วนใหญ่ในห้องพิจารณคดีของศาล แต่กลับสามารถร้อยเรียงเนื้อเรื่องและบทสนทนาออกมาได้อย่างชาญฉลาด แหลมคม ชวนตั้งคำถาม นี่คือผลงานกำกับเรื่องล่าสุดของ แอรอน ซอร์คิน (Aaron Sorkin) "The Trial of the Chicago 7" ย้อนไปถึงสาเหตุที่ผู้คนตัดสินใจออกมาชุมนุมประท้วงในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเพราะรัฐบาลอเมริกามีคำสั่งเกณฑ์คนหนุ่มจำนวนมากไปเป็นทหารในประเทศเวียดนามซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามรบ ก่อนจะพาพวกเขากลับบ้านพร้อมโลงศพและชื่อที่เหลือไว้ให้ครอบครัวได้ไว้อาลัย ทั้งความโศกเศร้าจากการสูญเสีย ความสิ้นหวังในหมู่คนรุ่นใหม่ และความกังวลต่ออนาคตของคนรุ่นถัดไป มวลชนจำนวนมากจึงตัดสินใจเดินทางมาชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมองข้ามการแพ้ชนะ และยุติสงคราม The Trial of the Chicago 7 : การต่อสู้ของ 7 แกนนำ ในกระบวนการยุติธรรมที่  "โลกกำลังเฝ้าดู" กระแสต่อต้านและออกมาประท้วงให้ยุติสงครามดังกล่าว เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงปี 1967 เหตุเพราะตอนนั้นมีสถิติทหารอเมริกันตายในสงครามเดือนละกว่าพันคน แต่เพราะนาย ลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ที่กำลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ในขณะนั้น เพิกเฉยต่อการประท้วงและยังคงเพิ่มจำนวนทหารเกณฑ์ที่จะส่งไปรบ การชุมนุมจึงยืดเยื้อต่อมาอีกหลายเดือน และยิ่งทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ ณ เมืองชิคาโก ในปี 1968 ก็มีการประท้วงต่อต้านสงครามขนาดใหญ่ (มีผู้เข้าร่วมกว่า 15,000 คน) เกิดขึ้น และมันคงจะไม่เป็นปัญหาอะไร หากการ "ประท้วงโดยสันติ" ที่เป็นเป้าหมายแรกเริ่มของกลุ่มผู้ชุมนุม จะไม่กลายเป็น "ความโกลาหล" เพราะมีคำสั่งให้ตำรวจและทหารเกือบ 20,000 นาย เข้าสลายการชุมนุมด้วยกระบองและแก๊สน้ำตา The Trial of the Chicago 7 : การต่อสู้ของ 7 แกนนำ ในกระบวนการยุติธรรมที่  "โลกกำลังเฝ้าดู" ผลจากการปะทะ ทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายร้อยราย และกลายเป็นคดีใหญ่โตบนชั้นศาล เมื่อรัฐบาลของนาย ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยต่อมา ตั้งข้อหาเอาผิดแกนนำ 8 คน ในโทษฐาน สมคบคิดกันก่ออาชญากรรม และเดินทางข้ามเส้นแบ่งเขตรัฐ เพื่อปลุกปั่นให้เกิดการจลาจล การพิจารณาคดีเริ่มต้นครั้งแรก ในวันที่ 24 กันยายน 1969 ก่อนจะลากยาวมาจนถึงปีต่อมา รวมแล้วพวกเขาใช้เวลาต่อสู้ในคดีนี้ถึง 5 เดือน และแม้ชื่อหนังจะบอกว่ามีแกนนำ 7 คน แต่ที่จริงช่วงแรก พวกเขาต้องการดำเนินคดีกับจำเลยจำนวน 8 คนต่างหาก และเพราะการไต่สวนเริ่มต้นจากทางฝ่ายอัยการ ที่กล่าวว่าเหล่าแกนนำทั้ง 8 คนนั้น "สบคบคิด" และนัดหมายกันมาก่อความวุ่นวาย แต่ข้อกล่าวหานี้ถูกแก้ต่างจากฝ่ายทนาย ว่าที่จริงแล้วพวกเขาทั้ง 8 ไม่ได้สมคบคิดกัน เพราะต่างก็มาจากคนจะกลุ่ม บางคนไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนด้วยซ้ำ ในการชุมนุมครั้งนั้น ผู้ชุมนุมที่มารวมตัวกัน ต่างก็มาจากหลายฝ่าย พวกเขาเพียงแค่มีเป้าหมายเดียวกันคือ "การยุติสงคราม" แต่ความคิด อุดมการณ์ และความมั่นใจในกระบวนการที่จะได้มาซึ่งผลลัพธ์นั้น ล้วนแตกต่างกันออกไป The Trial of the Chicago 7 : การต่อสู้ของ 7 แกนนำ ในกระบวนการยุติธรรมที่  "โลกกำลังเฝ้าดู" ฝ่ายของ ทอม เฮย์เดน (Tom Hayden) กับ เรนนี เดวิส (Rennie Davis) สองนักศึกษาผู้มาจากกลุ่ม นักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย (Students for a Democratic Society – SDS) พวกเขาคือกลุ่มเคลื่อนไหวที่เชื่อมั่นว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงระบบและยุติสงครามได้ด้วยการต่อสู้อย่างสันติ ใครจะไปนึกว่าภายหลัง 1 ใน 2 คนนี้ จะเป็นคนพูดออกไมค์โครโฟนว่า "ถ้าเลือดมันจะนอง ก็ให้มันนองไปทั่วเมือง" ด้าน แอ็บบี ฮอฟฟ์แมน (Abbie Hoffman) กับ เจอร์รี รูบิน (Jerry Rubin) ก็เป็นแกนนำจากกลุ่ม Youth International Party (พวกเขาเรียกตัวเองว่า ยิปปีส์) ที่เรียกร้องสันติภาพ ไปพร้อมกับการเสพกัญชา และแสดงท่าทียียวนชวนโมโห พวกเขาบอกว่ามันคือ "การต่อต้านอำนาจรัฐ" ด้วยการแสดงความเย้ยหยัน และไม่เกรงกลัวต่อผู้กดขี่ สองจึงกลายเป็นผู้สร้างสีสัน และทำให้การไต่สวนเป็นที่จดจำ จอห์น ฟรอยน์ส (John Froines) กับ ลี วายเนอร์ (Lee Weiner) สองอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ดูเหมือนจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหล่าแกนนำน้อยมาก หลายฝ่ายเชื่อว่าพวกเขาถูกดำเนินคดี เพื่อเป็นตัวอย่างของกลุ่มนักวิชาการที่กล้าออกมาต่อต้านสงคราม ภายหลังจากการพิจารณาคดี มีเพียง 2 คนนี้ที่ถูกตัดสินให้พ้นผิดทุกข้อกล่าวหา ทั้งสองต่างมองว่ามันคือ "ตราบาป" ที่ชื่อว่า "อิสรภาพ" เพราะเพื่อน ๆ ที่เหลือต่างก็ต้องติดคุก และเสียอนาคตไปหลายปี คนต่อไปคือ เดวิด เดลลิงเจอร์ (David Dellinger) แกนนำจากกลุ่ม Mobilization Committee to End the War in Vietnam (MOBE) ที่ก่อตั้งขึ้นก่อนการประท้วงใหญ่ ถ้าเทียบกับคนอื่น เขาถือว่าไม่ใช่เยาวชนเลือดพุ่งพล่านที่ออกมาต่อต้านสงครามเพื่ออนาคตของตัวเองแล้ว แต่เพราะเขาเป็นคุณพ่อ ที่ไม่อยากให้ลูกชาย (เรื่องจริงคือลูกสาว) ต้องเติบโตมาในสังคมเช่นนี้ เขาจึงออกมาประท้วงเพื่อปกป้องอนาคตของคนรุ่นหลัง The Trial of the Chicago 7 : การต่อสู้ของ 7 แกนนำ ในกระบวนการยุติธรรมที่  "โลกกำลังเฝ้าดู" จำเลย 7 คนข้างต้น คือ กลุ่มคนที่ภายหลังถูกเรียกขานว่า The Chicago Seven ซึ่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่อย่างที่กล่าวไปว่าในช่วงแรก พวกเขาตั้งใจจะเอาผิดคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันในการพิจารณาคดี เพราะ บ็อบบี ซีล (Bobby Seale) คือหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มแบล็คแพนเธอร์ (Black Panther) กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อคนผิวดำ ที่เชื่อในการต่อต้านระบบด้วยวิธีแรงมาแรงกลับ พวกเขาคือคนดำ และคนดำหมายถึงพลเมืองชั้นสอง ที่ถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรงและโหดร้ายมาโดยตลอด คงไม่แปลกอะไรหากพวกเขาจะไม่ไว้พวกคนขาวหรือฝ่ายรัฐบาล และไม่มีทางเชื่อเรื่องตลกอย่าง "สันติวิธี" กลับมาที่การพิจารณาคดี อันที่จริงในภาพยนตร์คงไม่สามารถใส่เรื่องราว และเหตุการณ์ระหว่างการไต่สวนตลอด 5 เดือน ลงไปในหนัง 130 นาทีได้หมด แต่ก็ถือว่าแอรอน ซอร์คินสามารถเก็บรายละเอียด และเลือกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในชั้นศาลออกมาถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจ เขาใช้วิธีการดำเนินเรื่องในชั้นศาล ตัดสลับกับภาพเหตุการณ์ขณะที่มีการชุมนุม (ทั้งถ่ายใหม่และเทปจากเหตุการณ์จริง) เพื่อให้คนดูค่อย ๆ เข้าใจว่าข้อกล่าวหาต่าง ๆ มีที่มาจากอะไรบ้าง "นี่คือคดีทางการเมือง ยังไงพวกเค้าก็ตัดสินเราไปแล้ว" คำพูดของแอ็บบี ฮอฟฟ์แมน สามารถอธิบายวิธีการพิจารณาคดีในศาลของ จูเลียส ฮอฟฟ์แมน (Julius Hoffman) ผู้พิพากษาวัย 74 ปี ได้เป็นอย่างดี อันที่จริงหนังเองก็เฉลยตั้งแต่แรกแล้ว ว่ารัฐบาลต้องการเอาผิดคนเหล่านี้เพื่อเป็นตัวอย่างแก่กลุ่มคนที่หาญกล้าเผยอขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐ The Trial of the Chicago 7 : การต่อสู้ของ 7 แกนนำ ในกระบวนการยุติธรรมที่  "โลกกำลังเฝ้าดู" ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเบิกตัวพยานกว่า 30 ปาก ที่ล้วนเป็นคนของรัฐทั้งหมด มาให้การว่าร้ายเหล่าแกนนำ การปฏิเสธคำขอของ บ็อบบี ซีล ที่ต้องการให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อน เพราะทนายของเขาเข้ารับการผ่าตัด การตั้งข้อหาหมิ่นศาลหลายกระทงกับจำเลยเพื่อเพิ่มโทษ และการพยายามโน้มน้าวให้เหล่าลูกขุนเชื่อว่า จำเลยเป็นกลุ่มแสวงหาความรุนแรง และไม่รักชาติ ของฝั่งอัยการ ก็พอจะทำให้เราสรุปได้ว่าการพิจารณาคดีครั้งนี้ เป็นการต่อสู้กับ "ความอยุติธรรม" ผ่านกระบวนการ "ยุติธรรม" ที่มีตาชั่งเอียงกระเท่เร่ เรื่องจริงของ บ็อบบี ซีล คือเขาเพียงแค่เดินทางมาปราศรัยที่ชิคาโกเป็นเวลา 4 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ปะทะและไม่เคยรู้จักกับเหล่าแกนนำ เขาเพียงมาเข้าร่วมเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กลับกลุ่มตัวเอง แต่กลับถูกออกหมายจับ หลายฝ่ายเชื่อว่า รัฐตั้งข้อกล่าวหากับเขาเพื่อที่กลุ่มแกนนำจะได้มีคนดำรวมอยู่ด้วย และดูเป็นพวกน่ากลัวมากขึ้น ครั้งหนึ่งที่ บ็อบบี้ ซีล สบถด่าในชั้นศาล ว่าผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนเป็น "ไอ้หมูเหยียดเพศ" การด่าครั้งนั้นนอกจากจะทำให้เขาโดนข้อหาหมิ่นศาลไปอีกกระทง ก็ยังทำให้เขาถูกเจ้าหน้าที่มัดปาก ใส่กุญแจมือ และล่ามติดกับเก้าอี้ แม้ในภาพยนตร์ เหตุการณ์ดังกล่าวจะถือว่าชวนช็อกสุด ๆ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนอย่างร้ายแรง จนฝ่ายอัยการอย่างริชาร์ด ชูลต์ส (Richard Schultz) ต้องออกปากต่อศาล ขอให้ถอดเขาออกไปจากคดีนี้ (เพราะไม่สามารถเอาผิดเรื่องสบคบคิดได้) สำหรับเหตุการณ์จริง บ็อบบี้ ซีล ถูกถอดออกจากคดีนี้ในภายหลัง แต่ช่วงเวลาที่เขาถูกมัดปากล่ามไว้ ไม่ได้เป็นแค่ไม่กี่นาทีแบบในหนัง แต่เขาถูกกระทำแบบนั้นอยู่ถึง 3 วันตลอดการพิจารณาคดี The Trial of the Chicago 7 : การต่อสู้ของ 7 แกนนำ ในกระบวนการยุติธรรมที่  "โลกกำลังเฝ้าดู" หลังผ่านการพิจารณาคดีที่ยืดเยื้อมากว่า 5 เดือน ภาพยนตร์ก็ยังคงดำเนินเรื่องไปตามเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าเมื่ออำนาจถูกใช้โดยฝั่งของรัฐ และไม่มีฮีโร่ หรือผู้มีพลังวิเศษคนไหนมาช่วยพวกเขา จำเลยทั้ง 5 ได้แก่ เดวิด เดลลิงเจอร์, เรนนี เดวิส, ทอม เฮย์เดน, แอ็บบี ฮอฟฟ์แมน และเจอร์รี รูบิน จึงถูกตัดสินว่า มีความผิดฐานเดินทางข้ามรัฐเพื่อก่อการจลาจล พวกเขาต้องโทษจำคุก 5 ปี และปรับคนละ 5,000 เหรียญ อย่างไรก็ตาม 2 ปีให้หลัง ดูเหมือนความยุติธรรมจะวนกลับมาอยู่ข้างพวกเขาเสียที เพราะในวันที่ 21 พฤศจิกายน 1972 ศาลอุทธรณ์ภาคเจ็ดแห่งสหรัฐอเมริกา ได้กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นทั้งหมด และยังมีการสอบสวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนได้ข้อสรุปในเวลาต่อมา ว่าที่จริงแล้วเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการประท้วงปี 1968 เริ่มขึ้นจาก 'ตำรวจ' [caption id="attachment_28486" align="aligncenter" width="816"] The Trial of the Chicago 7 : การต่อสู้ของ 7 แกนนำ ในกระบวนการยุติธรรมที่  "โลกกำลังเฝ้าดู" เหล่า 8 แกนนำตัวจริง[/caption] "ผมคิดว่าระบอบประชาธิปไตยของเราเป็นเรื่องอัศจรรย์ แต่ตอนนี้มันกลับถูกหยิบใช้โดยคนน่ารังเกียจ" ดูเหมือนคำพูดของ แอ็บบี ฮอฟฟ์แมน ที่ตอบคำถามที่ถาม “คุณเกลียดรัฐบาลไหม” ของอัยการ อาจจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริง