มาซาฮิโระ โมริ: ผู้ศึกษาว่าทำไมคนมักขนลุกเมื่อเห็นหุ่นยนต์? และเสนอแนวคิด ‘The Uncanny Valley’ หรือ ‘หุบเขาแห่งความประหลาด’

มาซาฮิโระ โมริ: ผู้ศึกษาว่าทำไมคนมักขนลุกเมื่อเห็นหุ่นยนต์? และเสนอแนวคิด ‘The Uncanny Valley’ หรือ ‘หุบเขาแห่งความประหลาด’
เคยรู้สึกกลัวหุ่นยนต์กันไหม? เคยรู้สึกไหมในบางคราวที่เรามองไปที่หุ่นลองเสื้อผ้า หุ่นยนต์ที่เหมือนคน หรือตุ๊กตาเด็กทารก ไม่ว่าจะสีหน้าและอารมณ์ การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือรูปลักษณ์ภายนอก แล้วมันทำให้เรารู้สึกน่ากลัวแปลก ๆ ทำไมเราจึงรู้สึกขนลุกกับตุ๊กตาผีในภาพยนตร์หลายเรื่อง ทำไมเราจึงรู้สึกไม่อยากเข้าใกล้กับหุ่นยนต์ที่พยายามจะยิ้มเหมือนคน ทำไมหุ่นลองเสื้อที่หน้าตาดูร่าเริงกลับทำให้เรารู้สึกแปลก ๆ เราอาจจะไม่ใช่คนเดียวที่มีความรู้สึกเหล่านี้ผุดขึ้นมาในหัวเมื่อต้องเจอกับมนุษย์เทียมประเภทต่าง ๆ ยังมีคนอีกมากมายที่รู้สึกในแบบเดียวกัน แถมยังมีคำนิยามและคำอธิบายปรากฎการณ์นี้อย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นคุณไม่ได้คิดไปเองแน่ ๆ ถ้าหุ่นพวกนี้ทำให้คุณรู้สึกขนหัวลุกอยู่ลึก ๆ  ตั้งแต่ผมยังเด็ก ผมไม่เคยชอบหุ่นขี้ผึ้งเลย มันดูน่าขนลุกและแปลก ๆ ชอบกล แรกเริ่มมาซาฮิโระพยายามจะทำให้เราเห็นว่าความสัมพันธ์แบบแปรผันตรงของสรรพสิ่งอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป กล่าวคือการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพิ่มขึ้นไม่ได้แปลว่าคู่สัมพันธ์มันจะเปลี่ยนแปรไปดังความสัมพันธ์แรกเริ่มของมันแบบตลอดรอดฝั่ง คำถามคือแล้วมันเกี่ยวอะไรกับปรากฎการณ์หุบเขาแห่งความประหลาดนี้?  มาซาฮิโระ โมริ: ผู้ศึกษาว่าทำไมคนมักขนลุกเมื่อเห็นหุ่นยนต์? และเสนอแนวคิด ‘The Uncanny Valley’ หรือ ‘หุบเขาแห่งความประหลาด’

Figure 1. The graph depicts the uncanny valley, the proposed relation between

the human likeness of an entity and the perceiver's affinity for it.

  มาซาฮิโระได้อธิบายปรากฎการณ์นี้ออกมาในรูปแบบกราฟ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรูปร่างของหุ่นยนต์ที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ (แกน Y) และความรู้สึกของมนุษย์ที่มีต่อมัน (แกน X) เริ่มต้นที่หุ่นยนต์ที่มีรูปร่างห่างไกลจากความเป็นมนุษย์ที่สุดอย่างหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Industrial Robot) ด้วยความที่หน้าที่ของมันคือการผลิตสินค้าโดยการขยับไปมาอยู่ในโรงงานเท่านั้น มันเลยมีรูปร่างแบบเครื่องจักรและไม่มีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ความรู้สึกของเราที่มีต่อมันจึงไม่คุ้นเคยกับมันเลย หากขยับความคล้ายคลึงกับมนุษย์ขึ้นมาหน่อยอย่างของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ ความรู้สึกของเราที่มีต่อมันก็จะดูคุ้นเคยเพิ่มขึ้นมาทันทีทันใด เพราะหน้าที่ของมันคือการทำให้ดูน่าสน (เด็ก ๆ จึงชอบเล่นของเล่นยังไงล่ะ) ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์สีขาวดังชื่อดังนามว่า ‘อาซิโม’ (Asimo) ที่ดูน่ารักน่าเอ็นดู เพราะมีองค์ประกอบหลายประการขึ้นที่ดูคล้ายมนุษย์กว่าเครื่องจักรในโรงงาน  จากจุดนี้เราจะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์แบบแปรผันตรงของความคล้ายคลึงมนุษย์และความรู้สึกที่มนุษย์มีต่อมัน—ยิ่งเพิ่มความเหมือนคนเข้าไป เราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็จะยิ่งรู้สึกคุ้นเคยกับมันมากขึ้นเท่านั้น   แต่มันจะเป็นเช่นนั้นเสมอไปจริงหรือ? แล้วทำไมหุ่นยนต์ที่พยายามยิ้มหรือทำท่าทำทางเหมือนคนจริง ๆ แทนที่เราจะรู้สึกคุ้นเคยกับมัน กลับกลายเป็นว่าเราไม่อยากจะเข้าใกล้ ดังเช่นหุ่นหลอน ๆ อย่าง ‘I Feel Fantastic’ ที่ผุดเป็นทฤษฎีต่าง ๆ นา ๆ ที่ลือกันในโลกอินเทอร์เน็ตมากมาย บ้างก็ว่าเป็นหุ่นที่ไล่ฆ่าคน บ้างก็ว่าเป็นหุ่นที่ถูกสร้างโดยฆาตกรต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนเห็นตรงกันคือความน่าขนหัวลุกของมัน นี่จึงเป็นเหตุที่มาซาฮิโระพยายามจะชี้ให้ผู้อ่านเห็นผ่านบทความของเขาว่าความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งอาจจะไม่คงเดิมแบบนั้นเป็นนิรันดร์ จากกราฟที่ถูกนำเสนอในบทความ แม้ว่าความสัมพันธ์แบบแปรผันตรงจะมีอยู่ในช่วงหนึ่ง แต่เมื่อถึงจุด ๆ ที่ความเหมือนของหุ่นยนต์นั้นเหมือนมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ความรู้สึกของผู้คนที่น่าจะคุ้นเคยกับมันมากขึ้นตามไปกลับ ‘ตกฮวบ’ เหมือนเหวลึกหรือหุบเขา (Valley) นั่นเอง  แล้วความคล้ายคลึงไม่เพียงตกลงไปอยู่ที่ระดับของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเท่านั้น แต่มันกลับตกลงไปถึงขั้นติดลบ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่เพียงแต่เราไม่รู้สึกคุ้นเคยกับมัน แต่เรารู้สึก ‘กลัว’ และ ‘ไม่อยากเข้าใกล้’ เลยต่างหาก ก็เหมือนกับเวลาที่เรารู้สึกกลัวกับหุ่นบางตัวที่ (พยายาม) มีหน้าตาเหมือนคน  อย่างไรก็ตาม เมื่อหุ่นยนต์เหล่านั้นมีความเหมือนกับมนุษย์เพิ่มขึ้นถึงระดับ 100% (หรือใกล้เคียงมาก ๆ) ความรู้สึกคุ้นเคยของคนเราก็พุ่งทยานตามไปดั่งที่มันควรจะเป็นตามความสัมพันธ์แบบแปรผันตรงตอนแรกเริ่ม จากจุดนี้ชี้ให้เราเห็นว่าไม่ใช่ว่าหุ่นยนต์ที่เหมือนมนุษย์เกินไปที่จะทำให้เรากลัว แต่เป็นหุ่นที่ ‘เหมือน’ แต่ ‘เหมือนไม่พอ’ ต่างหากที่ทำให้เรารู้สึกขนลุก  นอกจากรูปลักษณ์แล้ว มาซาฮิโระก็ยังได้อธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวในกรณีที่มีการเคลื่อนไหวด้วย โดยมีการชี้ให้เห็นว่าเมื่อมีการขยับเขยื้อนมันจะยิ่งทำให้ระดับความคุ้นเคยเข้มข้นขึ้น—จากคุ้นเคยอยู่แล้วก็ยิ่งคุ้นเคยขึ้นไปอีก และจากที่น่ากลัวอยู่แล้วก็ยิ่งทำให้อยากวิ่งหนีเลยทีเดียว—โดยที่ถูกแสดงให้เห็นผ่านเส้นกราฟของความสัมพันธ์ที่เหวี่ยงแบบขึ้นสูงลงต่ำมากกว่าเดิม หากจะอธิบายแบบให้เห็นภาพ ในกรณีของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม หากมันอยู่นิ่งเฉย ๆ ไม่ทำงาน เราก็จะมองมันเป็นเครื่องจักรจากเหล็กธรรมดา ๆ แต่หากมันมีการขยับและทำงานคล้ายมือมนุษย์เราก็จะรู้สึกคุ้นเคยมันมากกว่าเครื่องที่ปิดอยู่ (ลองนึกถึง R2D2 จากภาพยนตร์เรื่อง Star Wars) และเช่นเดียวกันกับในกรณีของหุ่นยนต์ของเล่นด้วย  แต่หากมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในบรรดาหุ่นที่ตกอยู่ใน The Uncanny Valley แน่นอนว่ามันจะทำให้ทุกอย่างน่าขนหัวลุกขึ้นไปกว่าเดิม มาซาฮิโระยกตัวอย่างการยิ้มของหุ่นยนต์ (ที่ถูกออกแบบมาให้เหมือนมนุษย์มาก ๆ) โดยที่หุ่นยนต์เหล่านั้นจะมีชิ้นส่วนกล้ามเนื้อเทียมบนใบหน้าเป็นจำนวน 29 ชิ้น ซึ่งเท่ากับใบหน้าของมนุษย์จริง ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้แปลว่ามันจะสามารถยิ้มได้แบบมนุษย์ เพราะขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงใบหน้าจากปกติไปสู่การยิ้มของหุ่นยนต์กับมนุษย์ใช้เวลาแตกต่างกัน หมายความว่าเปลี่ยนไปเป็นหน้ายิ้มของหุ่นยนต์อาจใช้เวลานานกว่ามนุษย์ ซึ่งจุดนี้แหละคือประเด็น การเปลี่ยนรูปร่างหน้าจากปกติไปเป็นการยิ้มที่เปลี่ยนแปลงไปแบบช้า ๆ ของหุ่นยนต์ ที่ควรจะดูมีความสุขและเป็นมิตรกลับกลายเป็นอะไรที่น่าขนลุกแทน นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวดังกล่าวยังรวมถึงอะไรที่ไม่ควรขยับได้แต่กลับขยับได้อีกด้วย ดังเช่น ‘ศพ’ (Corpse) ที่จัดอยู่ในจุดที่ลึกที่สุดของหุบเขานี้อยู่แล้ว ซึ่งหากมันสามารถขยับได้ดั่ง ‘ผีดิบ’ (Zombie) แน่นอนว่ามันต้องน่ากลัวกว่าการที่มันนอนแน่นิ่งอย่างแน่นอน   แล้วเหตุใดเราจึงรู้สึกแบบนั้น? ในบทความ มาซาฮิโระระบุว่าความน่ากลัวที่เกิดขึ้นมันคือปฏิกิริยาโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ในการป้องกันตัวเองจากภัยอันตราย อย่างในกรณีของหุ่นยนต์ที่ดูเกือบจะเหมือนมนุษย์นั้น สัญชาตญาณของคนจะจัดมันเข้าอยู่ในประเภทภัยใกล้ตัว (Proximal Danger) เช่นศพหรือสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ ร่างกายของเราจะสับสนว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าคืออะไร ใช่คนหรือไม่? ทำไมดูแปลก ๆ? จึงก่อให้เกิดความรู้สึกที่น่าขนลุกและอยากจะถอยหนีออกมา เพราะสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอาจเป็นอันตรายก็ได้ ในเวลาต่อมา มีการศึกษาเกี่ยวกับปรากฎการณ์ดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งผลก็เป็นไปในแนวทางเดียวกัน แม้ว่าหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นจะดูเหมือนมนุษย์มากเพียงใด แต่ก็คงไม่สามารถที่จะเหมือนมนุษย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ จึงทำให้สมองมนุษย์ไม่ไว้วางใจในเส้นแบ่งที่คลุมเครือระหว่างเพื่อนร่วมสายพันธุ์กับสิ่งประดิษฐ์  นอกจากนั้นสมองเราก็ถูกวางระบบมาให้สามารถตรวจจับความผิดปกติ ความบิดเบือนของลักษณะร่างกายหรือท่าทางของสิ่งมีชีวิตอื่นได้ แม้จะเป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อยก็ตาม เหตุเพราะเราจะได้สามารถรับรู้ได้ถึงโรคภัยหรือความผิดปกติซึ่งเป็นกลไกการป้องกันตัวแบบหนึ่ง   มุมมองของมาซาฮิโระ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างหุ่นยนต์ มาซาฮิโระเองก็ไม่เห็นด้วยที่จะทำให้หุ่นยนต์มีความเหมือนมนุษย์ขนาดนั้น เหตุผลประการแรกก็เพราะจะก่อให้เกิดปรากฎการณ์หุบเขาแห่งความประหลาดดังที่ใครหลายคนได้เคยประสบ ส่วนเหตุผลประการต่อมา ตัวเขามองว่ามันไร้ความจำเป็นที่จะทำให้หุ่นยนต์มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ แม้ว่าผู้ออกแบบจะลงมือลงแรงคิดค้นจนสามารถกระโดดข้ามหุบเขาดังกล่าวมาได้ แต่คำถามคือ ‘จะทำไปเพื่ออะไร?’ มาซาฮิโระมองว่าหากจะสร้างหุ่นยนต์ก็หยุดตรงจุดที่มันยังให้ความรู้สึกที่ดูคุ้นเคยกับมนุษย์ก็พอ แม้จะไม่เหมือนขนาดนั้นแต่มันก็ไม่น่ากลัว ยกตัวอย่างเช่นหุ่นยนต์อาซิโมที่ไม่ได้ดูน่ากลัวสักนิดเลย แถมยังดูน่าเข้าหามากกว่าหุ่นยนต์หลาย ๆ รุ่นที่พยายามจะเหมือนมนุษย์ ท้ายที่สุด เขาเชื่อว่าหุ่นยนต์ไม่สามารถมาทดแทนหรือแทนที่มนุษย์ได้ แม้จะเป็นเลิศด้านการทำงานอย่างเป็นระบบแต่ท้ายที่สุดสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์คือ ‘จิตใจ’ แม้ใครหลายคนจะคิดว่าจิตใจความรู้สึกนั้นสามารถสร้างกันได้ แต่มาซาฮิโระไม่ได้มองแบบนั้น ไม่ใช่เพราะเราปราศจากความสามารถที่จะทำ แต่เรายังไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตใจ’ มากกว่า นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้เราไม่สามารถสร้างจิตใจดั่งมนุษย์ได้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นวิศวกรหุ่นยนต์ที่ทำงานอยู่กับเทคโนโลยีเป็นหลักแล้ว มาซาฮิโระ โมริก็มุ่งศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเขามองว่ามันเป็นเส้นทางสู่การเข้าใจจิตใจของมนุษย์มากที่สุดแล้ว 
จะสร้างหุ่นยนต์ เราต้องเข้าใจมนุษย์
  เรื่อง: รัฐฐกรณ์ ศิริฤกษ์ ภาพ: (ขวา) Masahiro Mori ให้สัมภาษณ์กับ CNN ภาพจาก Tokyo Institute of Technology (ซ้ายล่าง) หุ่นยนต์ Sophia, Hanson Robotics Ltd. ในงาน AI for GOOD Global Summit ภาพจาก ITU Pictures (CC BY 2.0) และ หุ่น Child Robot with Biomimetic Body (CB2) ภาพจาก Asiantown.NET   อ้างอิง: Mori, Masahiro. (1970) “The Uncanny Valley: The Original Essay by Masahiro Mori Translated by Karl F. MacDorman and Norri Kageki.” IEEE Spectrum. Accessed. https://spectrum.ieee.org/the-uncanny-valley Kageki, Norri. (2012). “An Uncanny Mind: Masahiro Mori on the Uncanny Valley and Beyond” IEEE Spectrum. Accessed. https://spectrum.ieee.org/an-uncanny-mind-masahiro-mori-on-the-uncanny-valley Hsu, Jeremy. (2012). “Why "Uncanny Valley" Human Look-Alikes Put Us on Edge”. Scientific American. Accessed. https://www.scientificamerican.com/article/why-uncanny-valley-human-look-alikes-put-us-on-edge/ StrucciMovies. (2017). “HORROR THEORY: the uncanny valley”. Accessed. https://www.youtube.com/watch?v=qv47dL-qbXk